22 ประตูสู่ความสุขแห่งชีวิต (4-10)
  จำนวนคนเข้าชม  6631

 

22 ประตูสู่ความสุขแห่งชีวิต (4-10)


โดย ...ปริญญา ประหยัดทรัพย์


4. ความเป็นอยู่ที่ดี 

          สภาพความเป็นอยู่ที่ดีเป็นอีกบันไดขั้นหนึ่งที่จะก้าวไปสู่ความสุขแห่งชีวิตของมนุษย์เรา ความเป็นอยู่ หมายถึง การอยู่ในสถานที่ที่อาศัย รวมถึงสภาพที่อยู่อาศัย ซึ่งควรจัดให้เอื้อความสุขดังนี้ “สะอาด” ที่อยู่อาศัยที่ดีต้องมีความสะอาดเป็นเบื้องต้น หากสกปรกจะเป็นรังแห่งโรค ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาวะโดยตรง การอยู่อาศัยที่ดีต้องรักษาความสะอาดของตัวเอง บ้านเรือน ที่ทำงาน ข้าวของเครื่องใช้ และจัดให้เรียบร้อยพร้อมใช้อยู่เสมอ

          ความสะอาดเป็นหลักเกณฑ์ขั้นต้น ๆ ที่องค์การอนามัยโลกใช้ประเมินมาตรฐานสังคมที่พัฒนาแล้วกับด้อยพัฒนา จะดูว่าใครเจริญหรือไม่เจริญดูที่ความสะอาดได้เป็นพื้นฐาน ดังนั้นอยากมีชีวิตที่เจริญสุขก็ต้องรักษาความสะอาดให้ดี   จากอัล-กุรอาน

" แท้จริงอัลเลาะฮฺทรงรักบรรดาผู้หมั่นทำการสารภาพผิด และทรงรักบรรดาผู้มีความสะอาดทั้งหลาย"

(ซูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ โองการที่ 222)

จากฮาดิษ

"ความสะอาดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา"

จากอัล-กุรอาน

" และเสื้อผ้าของเจ้านั้นจงทำความสะอาดเสีย "

(ซูเราะฮฺ อัล-มุดดัรษีร โองการที่ 4)

 

5. ความสัมพันธ์ที่ดี 

          ความสัมพันธ์ที่ดีย่อมเพิ่มพลังทั้งภายในและภายนอกให้มากขึ้นได้ เช่น มีความสุขมากขึ้น ความเชื่อมั่นมากขึ้น ความบริสุทธิ์มากขึ้น ส่วนความสัมพันธ์ที่เลวย่อมกัดกร่อนพลังภายในและภายนอก ความสุขสูญหาย ความเชื่อมั่นลดลง ความวุ่นวายและความไร้สาระมากขึ้น ความโง่งอกงาม อบายมุขมากขึ้น ปัญหาบานปลายนำมาซึ่งความเสียหายและทุกข์นานาประการ

         ดังนั้นความสัมพันธ์ที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญของความสุขด้วยเหตุนี้จะมีความสัมพันธ์ทั้งทีต้องมีให้ดี การมีความสัมพันธ์ที่ดีนั้นต้องบริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ให้ได้ด้วยดี อาทิการเลือกคบคน

เล่าจากอะบีมูซา อัล-อัชอะรีย์  ว่า ท่านนบี ได้กล่าวว่า

" ถ้าจะเปรียบเพื่อนที่ดีและเพื่อนที่เลวก็เปรียบได้กับผู้ที่ถือชะมดเชียง และช่างตีเหล็กที่กระพือให้ไฟลุกด้วยสูบลมที่ทำมาจากหนังดิบ

สำหรับผู้ถือชะมดเชียงนั้น บางครั้งเขาอาจยกมันให้ท่าน บางครั้งท่านอาจขอซื้อมันมันจากเขา และบางครั้งท่านอาจได้กลิ่นหอมจากเขา

สำหรับช่างตีเหล็กแล้วที่กระพือให้ไฟลุกด้วยสูบลมที่ทำจากหนังดิบนั้น บางครั้งเขาอาจทำให้เสื้อผ้าของท่านไหม้ และบางครั้งท่านก็อาจได้รับกลิ่นเหม็นจากมัน"

 (รายงานโดยมุสลิม)

          การเลือกคบคนอย่างเหมาะสมเป็นบัญญัติข้อแรกของความสัมพันธ์ที่ดี ความสัมพันธ์ที่มีปัญหาทั้งหลายล้วนเป็นเพราะเราเลือกคบคนผิด หรือคบโดยไม่ได้เลือก หรือเลือกไม่ได้ เมื่อความไม่ลงตัวปรากฏก็เป็นทุกข์ และเสียหายกันถ้วนหน้า ดังนั้นจะมีความสัมพันธ์กับใครเลือกให้พิถีพิถันว่าเข้ากันได้โดยปัญญา ทัศนคติ รสนิยม และมาตรฐานพฤติกรรม ก่อนจะเดือดร้อนใจภายหลัง หากไม่กล้าจัดระบบให้ตนเองก็จะยังเป็นเหยื่อของสถานการณ์ ถูกผู้คนรอบข้างครอบงำอยู่อย่างควบคุมอะไรไม่ได้ จำไว้หากใจอ่อนจะต้องอ่อนใจในที่สุด การคบกันด้วยดี ค่าของความสัมพันธ์นั้นไม่สำคัญว่ารู้จักคนมากแค่ไหน หรือนานแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่ามีความลงตัวกันแค่ไหน ความสัมพันธ์ที่ไม่ลงตัวนั้นจะนำมาซึ่งปัญหานานาประการทั้งในปัจจุบัน และอนาคต ส่วนความสัมพันธ์ที่ลงตัวนั้นจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต

          ดังนั้นเมื่อคบกับใคร จงบริหารความลงตัวให้เกิดขึ้นก่อนและมันจะลงตัวกันในเป้าหมาย ประโยชน์ ศักดิ์ศรี ยุทธวิธี หากทำได้ดังนี้ความสัมพันธ์ย่อมเป็นไปด้วยดี และมีค่า โดยสมควรการรักษาความสัมพันธ์ให้ยั่งยืน ความสัมพันธ์ที่แปรปรวนง่ายก็เหมือนกับฟองสบู่ที่แตกแวบ ๆ วับ ๆ ยังความเสียหายเนือง ๆ

ดังนั้นจงรักษาความสัมพันธ์ที่ลงตัวดีแล้วให้ยั่งยืนด้วยการ

♦ เยี่ยมเยียนกันเนือง ๆ แต่อย่าคลุกคลีกัน

มีกิจการเอื้อประโยชน์ร่วมกันแต่อย่ารบกวนกัน

มีกิจการ อุดมการณ์ร่วมกันบ้าง แต่อย่ายัดเยียดอุดมคติให้แก่กัน

เกื้อกูลเสมอในยามมีภัย และอย่าดูหมิ่นกันเป็นอันขาด

ดังนั้นความสัมพันธ์อันลงตัวดีจะยั่งยืนยังความอบอุ่นใจให้เสมอ

 

6. ความสามัคคี 

          ความสามัคคีเป็นบันไดขั้นสำคัญอีกขั้นหนึ่ง ที่จะนำพาหมู่เราไปสู่ความสุขอันแท้จริง ความสามัคคีของหมู่คณะที่ดีเป็นที่ตั้งของความสุขที่ยิ่งใหญ่ เพราะเมื่อคนที่คบกันด้วยความจริงใจ สามัคคีกันด้วยดีจะนำพลังของตนมารวมกันเพื่อพลังสร้างสรรค์  จึงสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้สำเร็จมากกว่า ยิ่งใหญ่กว่า และดีกว่าที่คนเดียวสามารถทำได้ และหากสามารถรักษาความสามัคคีให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงได้ก็จะยังความสุขอันอุ่นใจให้มั่นคงด้วย คนที่สามัคคีกันดีแล้ว นึกถึงกันทีไรก็อุ่นใจ เมื่อพบกันก็สบายใจ และเมื่อร่วมงานหรือกิจกรรมกันก็สนิทใจ และพร้อมใจกัน ดังนั้นเมื่อเลือกคบคนดีแล้ว จงยังความสามัคคีให้เกิดขึ้น และรักษาความสามัคคีให้ยั่งยืน

          การที่จะสมานสามัคคีกันได้นั้นทุกคนจะต้องลดความสำคัญแห่งตน และความสำคัญของคนใดคนหนึ่งลง แล้วหาและสร้างความสำคัญร่วมกันเพื่อความสุข ความเจริญร่วมกัน จึงจะสมานสามัคคีได้ และเพื่อรักษาสามัคคีสุขให้ยั่งยืน จงอย่าเอาคนที่บั่นทอนความสามัคคีเข้ามาในหมู่คณะ คนที่มีนิสัยหรือสันดานทำลายความสามัคคีคือนักวิพากษ์วิจารณ์ นินทา และคนที่หลงตนว่าตัวดีกว่าคนอื่น ดูหมิ่นคนอื่นโดยลีลาพฤติกรรมต่าง ๆ คนเหล่านี้อยู่ที่ไหนก็หายนะที่นั่น

         อันที่จริงศาสนาอิสลามได้กำหนดให้มุสลิมทุกคนเป็นพี่น้องกันและกำชับให้รักและสามัคคีกัน และให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมื่อมีข้อขัดแย้งกันก็ให้ประนีประนอมกัน อัลเลาะฮฺ  ตรัสไว้ในพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัล-หุญุรอต โองการที่ 10

"แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายนั้นเป็นพี่น้องกัน ดังนั้นสูเจ้าจงไกล่เกลี่ย (ให้เกิดความสามัคคี) ในระหว่างพี่น้องทั้งสองฝ่ายของสูเจ้า (ที่เขาขัดแย้งกัน)

และพวกเจ้าจงยำเกรงอัลเลาะฮฺ เถิด เพื่อพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา"

 

ท่านบรมศาสดามูฮำหมัด  ได้กล่าวว่า : เล่าจากท่านญาบิร  ท่านรอซู้ล ได้กล่าวว่า

"ศรัทธาชนทั้งหลายต้องมีความสมานฉันท์กัน และจะไม่มีความดีใด ๆ เลยในบุคคลที่ไม่ยอมสมานฉันท์ และไม่ได้รับการสมานฉันท์

และมนุษย์ที่ดีที่สุดคือผู้ที่บำเพ็ญประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์มากที่สุด"

 (รายงานโดย อัดดารุกุฏนีย์)

 

7. การเกื้อกูลกัน

         อันการเกื้อกูลกันเป็นบันไดนำความรักความจริงใจมาสู่รูปธรรมและทำความสุขที่มีให้ชัดเจน เจริญ และมั่นคงยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อเมตตาปราณีต่อกันแล้วก็จงเกื้อกูลกันโดยสมควร การเกื้อกูลกันนั้นเป็นทั้งการยอมรับ การให้เกียรติ การสร้างคุณค่า และการสมานกันไว้ในระบบสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ ที่สำคัญการเกื้อกูลที่ดีต้องต่างฝ่ายต่างเกื้อกูล มิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกื้อกูลอยู่ด้านเดียวอีกฝ่ายก็รับอย่างเดียว เพราะนั่นไม่ใช่ความสัมพันธ์สร้างสรรค์ แต่เป็นการเบียดเบียนที่จะลากกันไปสู่ปัญหาระหว่างกัน และความล้มเหลวในที่สุด

          ส่วนความเห็นแก่ได้ ถ่ายทอดเป็นกิเลส กิเลสไม่เคยกตัญญูใคร การปรนเปรอกิเลสไม่ใช่การเกื้อกูลที่ดี ความเกื้อกูลเอื้ออาทรกันนั้นเป็นคุณธรรมข้อหนึ่งของอิสลาม เป็นคุณสมบัติของการเป็นคนดี เป็นลักษณะที่ทำให้มนุษย์มีจิตใจที่เอื้ออาทร ผู้ที่เป็นเจ้าของคุณลักษณะดังกล่าวนี้หัวใจของเขาจะมีแต่ความเอ็นดูสงสาร เห็นอกเห็นใจให้การช่วยเหลือเกื้อกูลแก่คนที่ตกทุกข์ได้ยาก คนที่ด้อยโอกาส

 ท่านนบีมูฮำหมัด  ได้กล่าวว่าความว่า

" ผู้ใจบุญที่เอื้ออาทรเกื้อกูลนั้น ย่อมมีความใกล้ชิดกับอัลเลาะฮฺ ใกล้ชิดกับเพื่อนมนุษย์ ใกล้ชิดกับสวรรค์ และห่างไกลจากขุมนรก

ส่วนผู้ที่ตระหนี่ขี้เหนียวนั้นย่อมห่างไกลจากอัลเลาะฮฺ ห่างไกลจากเพื่อนมนุษย์ ห่างไกลจากสวรรค์ใกล้ชิดกับนรก

ผู้ขาดความรู้ที่มีความใจบุญเอื้ออาทรนั้น อัลเลาะฮฺทรงรักยิ่งกว่าผู้ที่เคร่งครัดในการปฏิบัติอิบาดะห์"

 (รายงานโดยติรมีซีย์)

จากอัล-กุรอาน

" และพวกเจ้าจงช่วยเหลือกันในเรื่องคุณธรรมและความยำเกรง แต่พวกเจ้าอย่าได้ช่วยเหลือในเรื่องบาปและเป็นศัตรูกัน"

 

8. ความเป็นธรรมต่อกัน

          ความเป็นธรรม คือระบบของพระผู้เป็นเจ้าแห่งความลงตัวระหว่างบุคคล และระหว่างสังคมที่ยังประโยชน์สุขทุกฝ่ายได้มากที่สุด ความไม่เป็นธรรมนั้นจักนำมาซึ่งหายนะแน่นอน ไม่วันนี้ก็วันหน้า ดังนั้นไม่อยากหายนะก็อย่าทำสิ่งใดที่ไม่เป็นธรรม

          คนดันทุรังในความไม่เป็นธรรมล้วนกำลังก้าวเดินเข้าสู่หายนะก็อย่าร่วมเดินทางไปด้วย คนที่เป็นธรรมนั้นเวลาจะทำอะไรก็จะคิดถึงประโยชน์สุขทุกฝ่ายเสมอ หากหมู่คณะใดทำเพื่อประโยชน์สุขทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ย่อมอยู่กันด้วยความสุขความลงตัว และเจริญยั่งยืน  ปัญหาหลายอย่างหลายประการระหว่างบุคคล มักก่อตัวมาจากความไม่ลงตัวกันนั่นเอง ซึ่งถ้าไม่ปรับแก้ เกลี่ยให้ลงตัว ชีวิตจะพานพบปัญหาระหว่างกันไปตลอด คนที่ไม่เป็นธรรมคือคนที่มีแนวคิดและพฤติกรรมที่เบียดเบียนตนเพื่อคนอื่น เบียดเบียนคนอื่นเพื่อตน เบียดเบียนคนหนึ่งเพื่ออีกคนหนึ่ง 

เหตุที่ทำให้คนไม่เป็นธรรมคือ 

     ♣ ความเห็นแก่ได้ พวกนี้มักคิดว่าขอให้ฉันได้ก็แล้วกัน คนอื่นจะเป็นอย่างไรช่างมัน เอาความต้องการของตนเป็นตัวตั้งไม่สนความต้องการของคนอื่น

     ♣ ความหลงใหล พวกนี้สำคัญตนหรือสำคัญคนอื่นเกินคุณค่าที่แท้จริง

     ♣ ความเหลวไหล พวกนี้เหมือนแมลง สมองเล็กที่ไร้ความคิด เขาว่าอย่างไร หรือใครดีก็เห่อเออออว่าดีดีไปกับเขาด้วย พวกนี้ไร้แก่นสารสติปัญญาในตัวเอง เมื่อด้วยวุฒิภาวะทางปัญญาจึงไม่อาจยังความเที่ยงธรรมอันเป็นปัญญาชั้นสูงได้ เพียงไหลไปตามสถานการณ์หนึ่ง ๆ

     ♣ ความกลัว พวกนี้มักหลับหูหลับตาเดินตามหลังคนที่ไม่เป็นธรรมทั้ง ๆ ที่รู้อยู่เพราะความขลาดที่จะแก้และพัฒนา

     ♣ ความโง่ พวกนี้ไม่เป็นธรรมเพราะความหลงผิดคิดว่าการได้เปรียบคนอื่นเป็นความฉลาด 

คนเหล่านี้คือ คนที่ต้องหลีกให้ไกล หาไม่ชีวิตจิตใจจะเสียหาย ความสุขจะไม่อยู่ด้วย

 

9. จัดระบบระเบียบแก่ชีวิต (อัล-อิสติกอมะฮฺ)

          ชีวิตของคนที่ไร้หลักการ ปราศจากระบบและขาดระเบียบนั้นจะต้องเต็มไปด้วยปัญหาซ้ำซากวันแล้ววันเล่า ใช้ชีวิตอย่างไร้สาระและไม่พัฒนา เมื่อพระผู้เป็นเจ้าให้เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ดังนั้นควรบริหารชีวิตให้ดี หาไม่จะไม่คุ้มที่เกิดมาเป็นมนุษย์ หลักการดำเนินชีวิตที่คุ้มค่าควรเป็นไปตามกระบวนการแห่งการยกระดับชีวิตจิตใจให้สะอาด

          หลักการดำรงชีวิตที่ดีคือการดำเนินไปโดยธรรม เมื่อมีครอบครัวก็อยู่ร่วมกันโดยธรรม เมื่อบริหารงานก็บริหารโดยธรรม เมื่อประกอบธุรกิจก็ประกอบธุรกิจโดยธรรม เมื่อปกครองก็ปกครองโดยธรรม เมื่อระบบดีแล้วก็ทำตนให้มีระเบียบ และจัดทุกอย่างที่รับผิดชอบ หรือที่เกี่ยวข้องให้เป็นระบบชัดเจนมั่นคง พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอานได้ระบุว่า

" แท้จริงบรรดาผู้มีศรัทธาทั้งหลายได้กล่าวว่า องค์อภิบาลของเราคืออัลเลาะฮฺ จากนั้นพวกเขายืนหยัด(มั่นคงกับแนวทางศาสนาอันเที่ยงตรง)

แน่นอนที่สุด มลาอีกะฮฺจะลงมา (ปลอบประโลมพวกเขา) โดยพูดว่า พวกท่านอย่าได้หวาดกลัว และอย่าได้เศร้าโศกไปเลย!

และพวกท่านจงปิติยินดีเถิดกับสวนสวรรค์ ซึ่งพวกท่านได้เคยถูกสัญญาไว้"

 (ซูเราะฮฺ สะยะดะฮฺ โองการที่ 30)

 

10. อยู่อย่างมีเกียรติ

          คนที่มีเกียรติงดงาม ให้ใคร ๆ นับถือยำเกรงนั้น มิใช่เป็นคนที่มีเงินทอง มีตำแหน่งหน้าที่การงานสูงส่งแต่อย่างใด แต่คนเรามักจะนิยมยกย่องและให้เกียรติแก่คนที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรีน่าชื่นชมเท่านั้น เกียรติศักดิ์ศรีของคนเรามาจากความประพฤติดี ประพฤติชอบในทางธรรม 3 อย่าง คือ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต

♦ รักษาร่างกายให้อยู่ในกรอบแห่งธรรมะ คือการไม่ลักขโมย ไม่ผิดลูกเมียของผู้อื่น ฯลฯ

รักษาปากให้สะอาดด้วยการไม่พูดโกหก ไม่พูดให้ร้ายใคร ไม่พูดเพ้อเจ้อ และไม่พูดหยาบคายแข็งกร้าว

รักษาใจให้สะอาด ด้วยการพอใจในสิ่งที่เรามี ไม่โลภ ไม่พยาบาทความสุจริตทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ

         นี้แหละจะทำให้ชีวิตเปี่ยมด้วยบารมี และมากด้วยเกียรติอย่างสูง ซึ่งด้วยประการดังกล่าวนี้เองมันจะนำพาเราสู่อาณาจักรแห่งความสุขที่แท้จริง   จากอัล-กุรอาน

" แท้จริงผู้มีเกียรติที่สุดในหมู่พวกเจ้า ณ อัลเลาะฮฺคือ ผู้มีความยำเกรงอัลเลาะฮฺที่สุดในหมู่พวกเจ้า"

(ซูเราะฮฺอัลหุญุร็อต โองการที่ 13 )

 

 

สำนักจุฬาราชมนตรี