22 ประตูสู่ความสุขแห่งชีวิต (11-22)
  จำนวนคนเข้าชม  11181

22 ประตูสู่ความสุขแห่งชีวิต (11-22)


โดย... ปริญญา ประหยัดทรัพย์


11. อยู่อย่างมีภูมิคุ้มกันใจ

          อันที่จริงจิตใจเราจะไม่เจ็บปวดเป็นทุกข์มากเลย ถ้าเรามีธรรมเป็นวัคซีน เป็นภูมิคุ้มกันกิเลสต่าง ๆ ที่จะมาสร้างเชื้อโรคแห่งความทุกข์ใจแก่ชีวิตของเรา เราควรใคร่ครวญพินิจพิจารณาอยู่เป็นเนืองนิจ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกดุนยาแห่งนี้ล้วนต้องพินาศแตกสลาย คนเราเกิดมาอยู่บนโลกนี้ต้องมีวันแก่ชรา มีวันเจ็บป่วย มีวันตายจากโลกนี้ไป คนเราพบเจอกันก็มีวันจากพราก คนเคยทำไม่ดี วันหนึ่งก็ย่อมได้รับผลตอบแทนแห่งการกระทำของตน เมื่อวันหนึ่งเราถูกโยกย้าย หรือ ถูกปลดจากตำแหน่งหน้าที่ เราก็จะไม่ป่วยทางใจ เราจะไม่เป็นทุกข์มาก เพราะเรารู้ดีอยู่แล้วว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ไม่แน่นอน ไม่จีรัง ไม่มีอะไรเป็นของเราได้ตลอดไป เมื่อเรามีภูมิคุ้มกันทางใจอยู่แล้ว อะไรก็จะมากระทบใจเราให้อ่อนแอ อ่อนไหวไม่ได้เลย  

จากอัล-กุรอาน

" ทุกสิ่งที่อยู่บนพื้นแผ่นดินย่อมเสียหายทิ้งสิ้น และคงเหลือเป็นอมตะ อยู่เพียงองค์อภิบาลของเจ้า ผู้ทรงเกรียงไกร และทรงเกียรติ "

(ซูเราะฮฺ อัรเราะห์มานโองการที่ 26)

 

12. อยู่อย่างคิดดีต่อผู้อื่น

          คนที่มีความสุขใจเสมอนั้นมิใช่คนที่มีเงินมีทองมากมาย หรือมีความสำเร็จสูงในชีวิต แต่เป็นคนที่มีจิตใจอันสะอาดใสบริสุทธิ์อยู่เป็นนิจ อันเนื่องมาจากความคิดดีต่อผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา จิตใจจึงเป็นเสมือนกระจกใสไม่มัวหมอง ไม่มีฝุ่นละอองเกาะจับ เราจะคิดดีต่อผู้อื่นได้ถ้าเรามีความเมตตาอยู่ในใจ กล่าวคือ มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น อยากเห็นคนอื่นเขามีความสุข อยากให้เขาได้ดี

          เราจะคิดดีต่อผู้อื่นได้ถ้าเรามีความกรุณา มีจิตใจที่คิดสงสาร อยากช่วยเหลือให้เขาพ้นทุกข์ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์ก็ตาม เมื่อคนอื่นเป็นสุขแล้วเราก็ควรจะมีจิตใจเบิกบานยินดีไปกับเขา เพราะฉะนั้นความคิดที่ดีจะทำให้ใจเราสงบเยือกเย็น ไม่มีความร้อนด้วยริษยา หรือด้วยความเห็นแก่ตนอีกเลย ดังที่พระองค์อัลเลาะฮฺ ตรัสไว้ความว่า

" ศรัทธาชนทั้งหลายจงออกให้ห่างไกลจากการสงสัย (การคาดเดา) เพราะการคาดเดาบางอย่างเป็นบาป

และพวกเจ้าอย่าสอดแนม และบางคนในหมู่พวกเจ้าอย่าได้นินทาใส่ร้ายอีกบางคน

คนหนึ่งในหมู่พวกเจ้าชอบหรือ ที่จะกินเนื้อพี่น้องของเขาที่ตายไปแล้ว แน่นอนพวกเจ้าเกลียดชังมัน

และพวกเจ้าพึงยำเกรงอัลเลาะฮฺ แท้จริงอัลเลาะฮฺทรงอภัยโทษและทรงเมตตายิ่ง"

(ซูเราะฮฺ อัลหุญร๊อต โองการที่ 12)

 

13. อยู่อย่างอัตภาพ

          อัตภาพ หมายถึง ธรรมชาติของตน สภาพของตน และฐานะความเป็นอยู่เฉพาะตน นั่นหมายถึงว่า ถ้าเราทำงานหาเงินได้เท่านี้ก็ควรใช้แต่เท่านี้ในการเลี้ยงดูตัวเอง หรือ ครอบครัว ไม่พยายามใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นจนเกิดการสร้างหนี้สินเกินตัว การมีความสุขตามอัตภาพ คือ อยู่ได้อย่างเป็นสุขในขอบเขตของเงินตามที่เราหามาได้โดยสุจริต เราใช้จ่ายเงินนั้นในทางที่ถูกที่ควรในการเลี้ยงชีพ และแบ่งปันทำทานตามสมควร

          ความสุขตามอัตภาพ คือ ควรอยู่ได้อย่างอบอุ่นใจที่ไม่มีหนี้สิน ไม่มีความทรมานจากความอยากได้ในสิ่งที่เกินกำลัง ไม่คิดที่จะหาเงินมาในทางทุจริตวิธี ถ้าเราอยู่อย่างเป็นสุขตามอัตภาพได้ เราก็จะมีความสุขได้อย่างแท้จริง เพราะเป็นความสุขอย่างชาวบ้านแท้ ๆ มิว่าจะยากจนอย่างไร ถ้าคิดว่าอยู่ตามอัตภาพของตนได้ ก็ถือว่าห่างไกลทุกข์แล้ว  

จากอัล-กุรอาน

" และพวกเจ้าจงกิน และจงดื่ม และพวกเจ้าจงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริงพระองค์ไม่ทรงรักบรรดาผู้ฟุ่มเฟือย"

(ซูเราะฮฺ อัล-อะอฺรอฟ โองการที่ 31)

 

14. อยู่อย่างมีเมตตาธรรม

          โลกเรามีสงคราม ในสังคมมีการเข่นฆ่าทำร้ายกัน ด้วยเพราะทุกวันนี้มนุษย์เราขาดหลัก “เมตตาธรรม” ในจิตใจอย่างน่าวิตกนัก คนเราโหดเหี้ยมกันมากขึ้น ฆ่าชีวิตผู้คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง เพราะไม่รู้จักการให้อภัยต่อกัน คิดแต่จะต้องห้ำหั่นฆ่าฟันกันให้ตาย คิดแต่ว่ายอมไม่ได้ ศักดิ์ศรีเป็นสำคัญ และตนเองต้องเป็นผู้ชนะ

          ถ้าเราเปิดใจให้กว้าง คิดแต่สิ่งดี ๆ กับคนอื่น ปรารถนาให้คนอื่นมีความสุข อย่างนี้เรียกว่ามีเมตตาธรรมในจิตใจแล้ว ถ้าเราโกรธใครแล้วรู้จักระงับความโกรธ ไม่อาฆาตผูกใจเจ็บอย่างนี้แหละคือความเมตตา คนเราจะมีจิตใจเมตตาได้มากก็ต้องเป็นคนที่มีจิตใจปล่อยวางให้มาก ควบคุมความโกรธได้ ให้อภัยเป็น มีจิตใจแผ่เมตตา มิว่าจะคิด จะพูด หรือจะกระทำ เมตตาจิตนี้มิเพียงแต่จะสร้างสุขให้ชีวิต แต่ยังเป็นอานิสงส์หนึ่งซึ่งจะส่งเสริมบุญบารมีแก่เราเองอีกด้วย

 

          ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เอง อิสลามได้เชิดชูความหมายของ “เมตตาธรรม” ทั้งในแง่ทฤษฎี และวิถีปฏิบัติ ด้วยการปลูกฝังความรู้สึกแห่งมนุษย์ธรรมที่ดีที่สุด นั่นคือความปรารถนาดีต่อมนุษย์ทั้งหมด และปลูกสำนึกให้เห็นแก่ความสุขของผู้อื่นมากกว่าความสุขส่วนตน   จากอัล-กุรอาน

 

" และพวกเขาเห็นแก่สุขของผู้อื่นก่อนตัวของพวกเขาเองถึงแม้พวกเขาต้องการมัน

และผู้ใดที่ได้รับการปกป้องให้พ้นจากความตระหนี่ในตัวเขา พวกเขาเหล่านั้นคือผู้ประสบความสำเร็จ"

(ซูเราะฮฺ อัล-อัซรุ )

อิสลามได้กำชับให้เราทุกคนมีเมตตาธรรม แม้กระทั่งกับสัตว์ดังที่มีรายงานจากฮาดิษว่า

“ประตูสวรรค์ได้เปิดรับชายผู้หนึ่งที่ตักน้ำให้สุนัขที่กำลังกระหายให้ดื่ม และนรกได้เปิดประตูรับหญิงนางหนึ่งที่ขังแมวไว้ ไม่ยอมให้มันกินอาหาร"

กระทั่งบรรดาอัครสาวกต่างก็แปลกใจพากันถามว่า มีผลบุญสำหรับการทำดีกับสัตว์ด้วยหรือ

ท่านรอซูล ได้ตอบว่า “ใช่” ทำดีกับทุกชีวิตที่ยังมีหัวใจเต้นอยู่นั้นมีผลบุญ”

          จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความหมายแห่งมนุษย์ธรรมเหล่านั้นจะซึมซาบเข้าไปในตัวของมนุษย์ และสะท้อนให้เขาเห็นถึงคุณค่าแห่งเมตตาธรรมระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

 

15. อยู่อย่างรู้วิธี

          การคลายทุกข์จิตใจ เราจะไม่เจ็บป่วยเป็นทุกข์มากเลยถ้าเรามีธรรมเป็นวัคซีน เป็นภูมิคุ้มกันกิเลสต่าง ๆ ที่จะมาสร้างเชื้อโรคแห่งความทุกข์ใจให้แก่ชีวิตของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ล้วนมีอันต้องสลายสิ้น คนเราเกิดมาต้องมีวันแก่ชรา มีวันเจ็บป่วย มีวันตายจากโลกนี้ไป เมื่อวันหนึ่งเราถูกโยกย้าย หรือถูกปลดจากตำแหน่งหน้าที่เราก็จะไม่ป่วยทางใจ เราจะไม่เป็นทุกข์มากเพราะเรารู้ดีอยู่แล้วว่าไม่มีอะไรเป็นของเราตลอดไป เมื่อเรามีภูมิคุ้มกันทางใจอยู่แล้ว อะไรก็จะมากระทบใจเราให้อ่อนแอ อ่อนไหวไม่ได้เลย

          คนที่รู้ว่ายาเสพติดเป็นสิ่งไม่ดีต่อให้เขาอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่เสพยาเขาก็จะปฏิเสธ และไม่มีวันลองเสพยาอย่างเพื่อน ๆ อย่างนี้ก็เรียกว่ามีภูมิคุ้มกันใจดีมากเมื่อเรารู้สึกเป็นทุกข์เราจะจมอยู่กับความรู้สึกนั้นไม่ได้ เพราะเราจะมองไม่ออกเลยว่าที่จริงนั้นอะไรเล่าเป็นสาเหตุของทุกข์นั้น

 

16. อยู่อย่างมีปัญญาดี

          ทุกคนที่เกิดมาอาศัยอยู่บนโลกใบนี้มิใช่ว่าเกิดมาแล้วมีแต่ความฉลาดปราดเปรื่องที่ติดตัวมา แต่เราทุกคนสามารถลับคมปัญญาให้เฉียบแหลมโดยการแสวงหาความรู้ ไม่มีคำว่า "สายเกินไป" เลย แม้ว่าจะมีอายุเท่าใดก็ตามในโลกแห่งความรู้อันไพศาล ความรู้อันหลากหลาย สุดแท้แต่เราจะขวนขวายแสวงหามันโดยไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ว่าด้านใดก็ตาม เมื่ออยากรู้ก็ให้ไต่ถาม อย่ากลัวจะเสียหน้า อย่ากลัวว่าความไม่รู้ จะหมายถึงความโง่เขลา ถึงอย่างไรถ้ายอมเป็นคนโง่ 2-3 นาที แล้วกลายเป็นคนฉลาด ก็ยังดีกว่าต้องโง่เขลาในเรื่องนั้น ๆ ไปจนชั่วชีวิต

          คนที่ชอบถามไถ่เป็นคนที่รักการเรียนรู้ การแสวงหาความรู้โดยกล้าแสดงว่าเราไม่รู้นี้เป็นบุคลิกของคนใฝ่รู้ และคนที่ใฝ่รู้นี้แหละคือ คนที่มีปัญญาดี มีความรอบรู้กว้างขวาง มีความคิดความอ่านลึกซึ้ง ซึ่งสามารถดูแลชีวิตให้ราบรื่น และไร้ปัญหาได้เป็นอย่างดี  จากอัล-กุรอาน

"พวกท่านจงถามผู้รู้ หากพวกท่านไม่รู้"

จากอัล-หะดีษ

" พวกท่านจงแสวงหาความรู้ตั้งแต่อยู่ในเปลจนกระทั่งถึงหลุมฝังศพ"

 

17. อยู่อย่างระงับความโกรธ

          เราทุกคนที่เกิดมา มิอาจตัดอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง ดีใจ เสียใจได้ แต่เราจำเป็นต้องรู้จักกลวิธีที่จะระงับความโกรธได้ บางคนอายุมากแล้ว แต่ก็ยังระงับความโกรธไม่เป็น ยังเป็นคนหงุดหงิดง่าย โกรธง่าย ลูกหลานก็หนีห่าง เพื่อนฝูงก็ขยาด ต้องอยู่โดเดี่ยวกับความโกรธ ที่มีแต่จะทำให้ยิ่งเป็นทุกข์ คนที่ใช้อารมณ์ฟุ่มเฟือยจะเป็นคนอดทนน้อย อะไรนิดอะไรหน่อยก็ไม่อดทน และความไม่อดทนนี้เองย่อมจะนำมาซึ่งความทุกข์ทรมาน และยังจะตัดหนทางแห่งความเจริญก้าวหน้าอีกด้วย ถ้ารู้จักฝึกจิตใจให้มีความอดทน รู้จักระงับยับยั้งอารมณ์โทโสโมโหให้ผ่อนเบาลงได้ เราก็จะสามารถรับมือกับเรื่องยาก ๆ ได้สบาย 

จากอัล-กุรอาน ความว่า

"บุคคลใดที่คล้อยตามอารมณ์ของเขาเอง เขาจะต้องพบกับความตกต่ำในชีวิต"

 

18. อยู่กับธรรมชาติแห่งการสร้างสรรค์ของพระเจ้า

          การนำพาตัวเองไปอยู่กับธรรมชาติให้มากขึ้นนั้นจะเป็นการช่วยให้จิตได้ผ่อนคลายและสวยงามมากขึ้น คนเราเมื่ออยู่เงียบ ๆ สงบ ๆ บ้าง สติและปัญญาก็จะก่อเกิด เราจะมีสติมากพอที่จะพิจารณาสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวได้ชัดเจนว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับเราบ้างเมื่อสงบพอ ก็จะมีสติมากพอที่จะพิจารณาให้รู้และเข้าใจได้มากขึ้นว่าควรจะทำอย่างไรกับสิ่งนั้นสิ่งนี้

          การนำตัวเองให้อยู่กับธรรมชาติบ้างนั้นคือ อยู่ในที่สงบ อยู่กับใบไม้ใบหญ้า ที่มีเสียงนกกา เสียงน้ำที่มีแวดล้อมด้วยสายลม ด้วยทิวเขา หรือแมกไม้ที่มีแต่จะให้ความสุข ให้ความเป็นจริง ไม่มีสิ่งปรุงแต่งมาทำให้เราเกิดความอยากได้อยากมี ธรรมชาติแห่งการสร้างสรรค์ของพระองค์นั้นจะทำให้จิตใจของเราสงบ เมื่อจิตสงบ กายก็จะสงบ จนไม่เกิดกิเลส อันเป็นความอยากต่าง ๆ แม้แต่ความทุกร้อนในใจก็จะหมดสิ้นไป  จากอัล-กุรอาน ความว่า

"แท้จริงในการสสร้างบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน และการที่กลางวัน และกลางคืนตามหลังกันนั้น แน่นอนย่อมมีหลายสัญญาณ สำหรับผู้มีปัญญา"

(อาลิอิมรอน โองการที่ 190 )

 

19. อยู่อย่างไม่ว่าง

          ชีวิตของเราทุกคนที่เกิดมาอยู่บนโลกใบนี้อย่าอ้างว่า เราไม่มีเรี่ยวแรงมากพอจะทำอะไรอย่าอ้างว่าเจ็บป่วยไม่เเข็งแรง เราเป็นเด็ก เราเป็นคนชรา หรือเรามีเงินทอง มีผู้คอยดูแลรับใช้มากมายอยู่แล้ว คนเรานั้นจำเป็นต้องทำโน่นทำนี่อยู่บ้างในตลอดวันหนึ่ง ๆ คนเราเกิดมาแล้วต้องมีหน้าที่อย่างน้อยก็มีหน้าที่รดน้ำต้นไม้ในตอนเช้าและเย็น ถ้าหากว่าแก่ชรามากแล้วจิตใจของคนเราจะต้องได้คิดได้จำ สมองต้องได้ทำงานบ้าง ร่างกายควรต้องได้เคลื่อนไหว นี่เป็นอุบายหนึ่งที่จะทำให้เราแข็งแรง และมีเรื่องที่จะต้องทำ หากปล่อยให้ว่างมากเกินไป ร่างกายจะยิ่งไร้เรี่ยวแรง จะยิ่งเจ็บป่วยง่าย จิตใจที่ว่างเกินไปก็จะหาเรื่องต่าง ๆ มาครุ่นคิดให้เป็นกังวล คนที่หางานหาอะไรทำให้ใจไม่ว่าง ก็จะมีความทุกข์น้อย แต่จะเกิดความสุขใจกับสิ่งที่ได้จับได้ทำอย่างตั้งใจนั้นอีกด้วย

 

20. อยู่อย่างลุกมานสอนลูก

          อันที่จริงหลักธรรมคำสอนทางศาสนาก็คือ ความจริง คือ สัจธรรม คือ ความถูกต้อง ถ้าพ่อแม่สอนลูกด้วยหลักธรรมคำสอนทางศาสนาก็เท่ากับว่าเราสอนลูกด้วยความจริง สอนลูกด้วยความถูกต้อง ผู้เป็นพ่อเป็นแม่จะต้องไม่เลี้ยงลูกด้วยกิเลส การที่พ่อแม่ตามใจลูกอย่างผิด ๆ นั่นแหละคือใช้กิเลสสอนลูก

          ถ้าเราอยากให้ลูกสบาย นั่นก็คือ นัฟซูกิเลสของเราเอง ที่คอยตามใจลูกทุกอย่าง จนลูกโตขึ้นเป็นคนที่ทำอะไรไม่เป็น และอยากได้อะไรก็ต้องได้ เพราะไม่เคยเรียนรู้ถึงเหตุผล ความเหมาะสม และไม่เคยทำอะไรด้วยตัวเอง

          การที่ลูกของเราก้าวร้าว หรือขี้ขลาดขี้กลัว นั่นล้วนแต่เป็นเพราะการเลี้ยงลูกด้วยกิเลสโดยแท้ ถ้าพ่อแม่สอนลูกให้มีระเบียบวินัย ให้เกรงใจผู้อื่น ให้คิดดีทำดี อย่างนี้เรียกว่าเลี้ยงลูกด้วยหลักธรรมคำสอนทางศาสนาที่หล่อหลอมด้วยคุณธรรม จริยธรรม เป็นภูมิคุ้มกัน ซึ่งความถูกต้องและความเป็นจริงนั้นจะไม่มีวันทำให้ลูกเสียผู้เสียคนได้เลย จากอัล-กุรอาน

"โอ้ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าได้ตั้งภาคีใด ๆ ต่ออัลเลาะฮฺ เพราะแท้จริงการตั้งภาคีนั้นเป็นความผิดอย่าง มหันต์โดยแน่นอน

โอ้ลูกเอ๋ย แท้จริง (หากว่าความผิด) มันจะหนักเท่าเมล็ดผักสักเมล็ดหนึ่ง มันจะซ่อนอยู่ในหิน หรืออยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลาย หรืออยู่ในแผ่นดิน อัลเลาะฮฺก็จะทรงนำมันออกมา

แท้จริงอัลเลาะฮฺเป็นผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง

โอ้ลูกเอ๋ยเจ้าจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด

โอ้ลูกเอ๋ย และจงใช้กันให้กระทำความดีและจงห้ามปรามกันให้ละเว้นการทำความชั่ว

โอ้ลูกเอ๋ย และเจ้าจงอดทนต่อสิ่งที่ประสบกับเจ้า แท้จริงนั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่หนัก แน่นมั่นคง

โอ้ลูกเอ๋ย และเจ้าอย่าหันแก้ม (ใบหน้า) ของเจ้าให้แก่ผู้คนอย่างยโส และอย่าเดินไปตาม แผ่นดินอย่างไร้มารยาท

แท้จริงอัลเลาะฮฺมิทรงชอบทุกผู้หยิ่งจองหอง และผู้คุยโวโอ้อวด

และเจ้าจงก้าวเท้าของเจ้าพอประมาณ และจงลดเสียงของเจ้าลง แท้จริงเสียงที่น่าเกลียดยิ่งคือเสียง (ร้อง) ของลา

 

21. อยู่อย่างรู้หาทรัพย์ รู้รักษา

          มนุษย์ทุกคนที่เกิดมาอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ ถ้าขยันทำงานหาเงิน แต่ไม่รู้วิธีรักษาทรัพย์ รักษาเงินไว้ มิว่าจะหาเงินได้มากมายเท่าใดก็คงจะมิมีวันสร้างฐานะให้มั่งคั่งร่ำรวยได้ เมื่ออยากจะร่ำรวยเงินทอง เราก็ต้องมุ่งมั่น ทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างจริงจัง รู้จักประมาณตนว่าหาเงินได้เท่าใด ควรจะเก็บออมเท่าใด ใช้จ่ายมากน้อยเท่าใด และสร้างรายได้เพิ่มเท่าใด

           หากอยากรวย อยากมีฐานะมั่งคั่งแล้ว แต่ขาดความขยันหมั่นเพียรต่อหน้าที่การงาน ก็คงจะได้แค่คิด วาดวิมานอยู่ในอากาศเท่านั้น ครั้นเมื่อทำงานหาเงินได้แล้วก็ต้องรู้จักรักษาทรัพย์ของตนให้ดี ด้วยการรู้จักประหยัด ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย คู้จักคบเพื่อนดี ๆ ไม่ชวนกันเที่ยวเตร่เสเพลคนที่รู้จักขยันทำงานหากิน และรู้จักเก็บรักษาเงินทอง รักษาทรัพย์มรดกของตนไว้ ย่อมกลายเป็นคนมั่งคั่งได้ในเร็ววัน โดยมิต้องหาทางลัดที่ทุจริตแต่อย่างใด

 

22. อยู่อย่างไม่ประมาท

          คนที่ประมาทคือ คนที่ใช้ชีวิตอย่างไม่ระมัดระวัง มิว่าจะจับทำอะไรก็ไม่เคยคิดไม่เคยตรองให้รอบคอบ ไม่มีสติในการกำหนดรู้ หรือควบคุมตนเองคิดจะพูดอะไรก็พูดออกไป ไม่ตรองให้ดีก่อนว่า ควรพูดหรือไม่ เมื่อพูดไม่ดีก็กลัวทำให้เขาโกรธ เป็นการสร้างศัตรูให้กลับมาทำร้ายตนในภายหน้าอย่างนี้เรียกว่า อยู่อย่างประมาท มีเงินน้อยแต่อยากได้ของราคาแพง ก็ไปกู้ไปยืมเงินเขามาซื้อหาของราคาแพงเกินตัว วันหน้าก็จะเป็นทุกข์ เพราะต้องหาเงินมาใช้หนี้ อย่างนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการใช้ชีวิตโดยประมาททั้งสิ้น

          การจะทำอะไรโดยหยุดคิดสักนิดก่อน ตั้งสติสักนิด เตือนตัวเองสักหน่อย แล้วก็เชื่อตัวเองด้วย เชื่อคำเตือนคนรอบข้างบ้าง รู้จักระวัง ถ้าอยู่อย่างใส่ใจชีวิต ไม่เผลอไม่ชุ่ยแล้วเราก็จะอยู่อย่างไม่ประมาท และห่างไกลจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งปวงจากอัล-กุรอาน

" โอ้บรรดาผู้ศรัทธา เอ๋ย พวกเจ้าจงยำเกรงอัลเลาะฮฺเถิด และทุกชีวิตจะพิจารณาดูว่าอะไรบ้างที่ตนได้เตรียมไว้สำหรับวันพรุ่งนี้ "

(ซูเราะฮฺ อัล-อัชรฺ โองการที่ 18 )


          การรักษาความสุขความสุขก็เหมือนทุกสิ่งในโลก เมื่อสร้างขึ้นมาแล้วก็ต้องรักษาให้ดี หากไม่รักษาความสุขก็เหมือนคนที่ไม่รักษาร่างกาย ที่สุดแล้วร่างกายก็จะอ่อนแอ หรือเจ็บป่วยได้โดยง่าย ไม่อาจใช้ร่างกายได้เต็มที่ ความสุขที่อ่อนแอก็เช่นกัน เป็นความสุขคุณภาพต่ำที่ไม่อาจพัฒนาสู่คุณค่าอื่น ๆ ได้ เมื่อสร้างความสุขแล้ว อย่าทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ จงรักษาด้วยดี ดั่งรักษาทรัพย์แห่งดวงใจ จึงจะได้ประโยชน์จากความสุขเต็มที่

          ดังนั้นการแสวงหาความสุข การสร้างความสุข การสร้างสภาวะที่เกี่ยวกับความสุข การรักษาความสุข หรือสิ่งที่เกี่ยวกับสุขภาวะของบุคคลจึงต้องย้อนกลับไปหาผู้ที่สร้างมนุษย์ คือ อัลเลาะฮฺ ซึ่งทรงสร้างมนุษย์ และทรงสร้างทั้งหมดที่เป็นวิถีของมนุษย์ ทั้งจิตใจ ร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ เพื่อที่จะประกอบขึ้นมาให้ได้เป็นคนอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และลึกซึ้ง หากบุคคลคิดแต่เพียงแสวงหาความสุข โดยทิ้งความศรัทธาต่ออัลเลาะฮฺไว้ข้างหลัง ซึ่งมีแต่จะทำให้บุคคลได้รับความสุขอย่างฉาบฉวยในตอนต้นและชีวิตในบั้นปลายจะพบความทุกข์ยาก

ดังที่อัลเลาะฮฺ ตรัสความว่า

ومن اعرض عن ذكرى فإنّ له معشة ضنكا

"ใครก็ตามหากว่าหันหลังไม่สนใจที่จะรำลึกถึงฉัน อัลเลาะฮฺ จะให้เขามีชีวิตที่คับแคบ และสับสน"

(ซูเราะฮฺ ตอฮา โองการที่ 124 )

 

 

สำนักจุฬาราชมนตรี