มา เตาบะฮฺ กันเถิด
  จำนวนคนเข้าชม  19157

มา “เตาบะฮฺ” กันเถิด


โดย อาจารย์ อับดุรเราะห์มาน กรีมี


ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย

           ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา บางเวลาก็มีความสบายอกสบายใจ บางเวลาก็มีความยุ่งยากบ้าง บางครั้งก็ทำความดีบ้าง บางครั้งก็กระทำสิ่งที่ไม่ดีบ้างปะปนกันไป หากเราพบว่าการกระทำของเราเป็นการงานที่ดี เป็นที่พึงพอพระทัยของอัลลอฮ์มีผลดีต่อผู้อื่น ต่อสังคมส่วนรวม ก็จงกล่าวสรรเสริญขอบคุณต่อพระองค์ที่ประทานความดีงามให้แก่เรา และขอพระองค์ทรงให้การงานนั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี แต่ถ้าหากเราพบว่าการงานนั้นไม่ดีก็อย่าไปโทษใครเขาเลย นอกจากตัวเอง ว่าต้องสำนึกผิด แล้วอย่าให้เกิดขึ้นอีก

 ท่านร่อซูล ได้กล่าวไว้ในฮะดีษกุดซีย์ว่า อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ ซึ่งมีความว่า

 “โอ้ บ่าวของข้า แท้จริงการงงานของพวกเจ้า ข้าได้เตรียมเอาไว้สำหรับพวกเจ้าแล้ว ข้าก็จะให้รางวัลอย่างครบถ้วน

 ดังนั้น ผู้ใดพบว่าการงานที่เขาได้กระทำนั้นเป็นความดี ก็จงชุกุรต่อ อัลลอฮฺ

 และผู้ใดพบว่างานที่เขาได้กระทำไป เป็นอื่นไปจากนั้น ก็จงอย่าตำหนิผู้ใด นอกจากตัวเขาเอง”

 

         การที่เราจะดำรงตนให้เป็นมุสลิมที่มีคุณค่า มีศรัทธา มีมารยาท อันดีงาน มีประโยชน์ต่อตนเอง และสังคมส่วนรวมนั้น จะต้องตั้งอยู่บนหลักสี่ประการ ดังต่อไปนี้


1. อัล-มุรอกอบะฮฺ

         คือ ให้สำนึกตนอยู่เสมอว่า อัลลอฮฺ ทรงเฝ้ามองเราอยู่ทุกขณะ ทรงรู้ ทรงเห็นในทุกๆการกระทำดังนั้น เราจะต้องซื่อสัตย์ต่อตนเอง ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ มีความหนักแน่น มีจิตใจที่มั่นคง ไม่หลงใหลไปตามการชักนำของชัยฏอน

อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อันนิซาอฺ อายะห์ ที่ 125 ว่า

 “และใครเล่า ที่ดียิ่งไปกว่า ผู้ที่มอบใบหน้าของเขาให้แก่อัลลอฮ์ ในฐานะที่เป็นผู้กระทำความดี (หมายถึง มอบชีวิตร่างกายให้อยู่ในบัญญํติในศาสนาของอัลลอฮฺ)

และในซูเราะหฺ อันนิซาอฺ อายะฮฺ ที่ 1 ว่า

 “แท้จริง อัลลอฮฺนั้น  ทรงเป็นผู้สอดส่องเฝ้ามองการกระทำของพวกเจ้าอยู่”


2.อัล-มุญาฮะดะฮฺ

          คือ การมุมานะ บากบั่น ขยันขันแข็ง มีความกระฉับกระเฉงในการทำงาน พยายามเอาชนะอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโกรธ ความเกียจคร้าน อารมณ์ความใคร่ใฝ่ต่ำ และความไม่รู้ ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อรักษาและเชิดชูศาสนาอิสลาม อันเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายเอาไว้ ดังที่อัลลอฮฺ ได้ตรัสไวในซูเราะหฺ อัลอังกะบู๊ต อายะฮฺ ที่ 69 ว่า

 “ และบรรดาผู้ที่เสียสละชีวิต ต่อสู้ในหนทางของเรา (อัลลอฮฺ) แน่นอน เราจะชี้นำพวกเขาสู่หนทางที่ถูกต้องของเรา

และแท้จริง อัลลออฺ ทรงอยู่ร่วมกับผู้กระทำความดีทั้งหลาย”


 3.อัลมุฮาซะบะฮฺ

        คือ การตรวจสอบ ทบทวนการกระทำของตนที่ได้กระทำไปว่า ถูกต้องหรือไม่ ? สมควรจะต้องแก้ไข เปลี่ยนแปลงอย่างไร ?

 ดังที่อัลลอฮ์ ได้ตรัสในซูเราะห์ อัล-ฮัชรฺ อายะห์ ที่ 18 ว่า

“โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และใคร่ครวญถึงสิ่งที่จะมาประสบกับเจ้าในวันพรุ่งนี้(วันกิยามะฮฺ)

และจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺ ทรงรอบรู้ในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน


 4.อัตเตาบะฮฺ

         คือ การสารภาพผิด ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ในสิ่งที่ได้กระทำมาแล้ว ไม่ว่าด้วยการพลาดพลั้ง หลงลืม หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ฯลฯ  ให้แสดงความเสียใจ อย่างจริงจัง ในฐานะที่เป็นผู้ละเมิด และตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า จะไม่กลับไปทำในสิ่งนั้นอีก และให้รีบเร่งกระทำความดี เพื่อลบล้างในความผิดที่ได้กระทำมา

 อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ในซูเราะห์ อัตตะฮฺรีม อายะห์ที่ 8 ว่า

 “โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงสารภาพผิดกับอัลลอฮฺ ด้วยการสารภาพผิดอย่างจริงจังเถิด

 บางที พระเจ้า ของ พวกเจ้าจะลบล้างความผิดของพวกเจ้าออกจากตัวของพวกเจ้า”

 

และอัลลอฮฺ ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัลมาอิดะฮฺ อายะฮฺ ที่ 39 ว่า

 “และผู้ใดสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัว หลังจากการอธรรมของเขา และแก้ไขปรับปรุงแล้ว แท้จริงอัลลอฮฺ คือ ผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเอ็นดูเมตตาเสมอ”

 

         ทั้งสี่ประการดังกล่าว ถ้าผู้ใดปฏิบัติตามอย่างครบถ้วน เขาก็จะพบกับความสุขสำเร็จอย่างแท้จริง ทั้งในดุนยาและอาคิเราะห์ เป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อตนเอง ผู้อื่น และประโยชน์ส่วนร่วม ท่านพี่น้องครับ จงระวังสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเอง ซึ่งเราไม่ได้สะสางให้ไปตามสิทธิ์ที่พึงจะได้รับ การอ้างสิทธิของผู้อื่นมาเป็นของตนเอง จงระวังการพูดแต่ในเรื่องของผู้อื่นและลืมขยี้ตาของตนเอง ดูตนเองและคนรอบข้าง จงทำงานส่วนรวมบ้าง ในชีวิตของเขาที่ยังเหลืออยู่ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานในอนาคต

 

ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย

         ถึงเวลาหรือยังที่เราและท่านทั้งหลาย จะเป็นผู้ที่ศรัทธา หรือเป็นผู้ที่มีอีมานอย่างจริงจัง ปฏิบัติตามข้อใช้ ออกห่างจากข้อห้ามของพระองค์หรือตักเตือนซึ่งกันและกัน หรือว่า เราจะรอคอยให้เกิดวันกิยามะฮ์ขึ้น ซึ่งเป็นวันที่พระองค์ทรงกำหนดมาให้แก่เรา จะประวิงเวลาให้ช้าหรือเร็วก็ไม่ได้

 อัลลอฮฺ ทรงตรัสไว้ในซูเราะห์ อัลอันอาม อายะฮฺ ที่ 158 ว่า

          “พวกเขามิได้อะไร นอกจากการที่มลาอิกะฮฺ จะมายังพวกเขา (โดยการเอาวิญญาณของพวกเขา) หรือการที่พระเจ้าของเจ้าจะมา (หมายถึงการตัดสินในวันกิยามะฮฺ) หรือการที่สัญญาณบางอย่างของพระเจ้าของเจ้าจะมานั้น จะไม่อำนวยประโยชน์แก่ชีวิตหนึ่งชีวิตใด ซึ่งการศรัทธาของเขา โดยที่เขามิได้ศรัทธามาก่อนหรือมิไดแสวงหาความดีใด ๆ ไว้ในการศรัทธาของเขา จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า พวกท่านจงรอกันเถิด แท้จริงพวกเราก็เป็นผู้ที่รอคอย”

          จากอายะฮฺที่ได้กล่าวมาข้างต้น อัลลอฮฺได้ทรงชี้ให้เห็นว่ามนุษย์จะรอให้เกิดวันกิยามะฮฺขึ้นหรือ ! แล้วถึงจะกระทำความดี ทั้งๆที่พวกเขามีการศรัทธาอยู่แล้ว แต่ไม่ได้ประกอบความดีตามที่ศาสนบัญญัติได้วางไว้ ฉะนั้น เมื่อวันกิยามะฮฺได้มายังเขา จะขอประวิงเวลาออกเพื่อที่จะกระทำความดีกระนั้นหรือ ?

 


เงื่อนไขแห่งการทำเตาว์บะฮฺ ที่ถูกกำหนดให้ปฏิบัติ ดังต่อไปนี้คือ


     1. จำเป็นที่การเตาว์บะฮฺของเขา ต้องมีความบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ เพียงองค์เดียว มีความหวาดกลัวต่อการลงโทษของพระองค์ ไม่ต้องการสิ่งใดในโลก ไม่กระทำใดๆที่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ถ้าหากจิตของเขา ยังผูกพันอยู่กับสิ่งดังกล่าว การเตาว์บะฮฺของเขา จะไม่ถูกตอบรับ


     2. จำเป็นที่เขาจะต้องรู้สึกเสียใจในโทษ หรือความผิด ที่เขาได้กระทำไปในอดีต โดยหวังว่าเขาจะไม่กระทำความผิดเช่นนั้นอีก หมายถึง การแสดงความเสียใจ หันกลับสู่พระองค์ ดังนั้น เขาจะต้องขออภัยในความผิดจากพระองค์ ด้วยจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอีมาน


     3. จำเป็นที่จะต้องเลิกปฏิบัติในความผิดนั้นทันที หากความผิดนั้นเป็นการละทิ้งสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติ เช่น ชายคนหนึ่งเตาว์บะฮฺในเรื่องการกินดอกเบี้ย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงกินดอกเบี้ยต่อไป ในลักษณะนี้ การเตาว์บะฮฺของเขาไม่ถูกต้อง และเป็นการเย้ยหยัน หรือ ล้อเลียนต่อโองการต่างๆของอัลลอฮฺ


     4. จำเป็นที่จะต้องตั้งใจที่จะไม่กลับไปกระทำความผิดอีก และมีความเสียใจในสิ่งที่ได้กระทำไป ซึ่งระยะเวลาสิ้นสุด ของการเตาว์บะฮฺมี 2 ชนิด คือ


ชนิดที่ 1 บุคคลโดยทั่วไป

          ระยะเวลาแห่งการเตาว์บะฮฺ จะหมดลงเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก (วันสิ้นโลก)ในช่วงเวลานั้น การเตาว์บะฮฺของเขา จะไม่มีประโยชน์อื่นใดสำหรับเขา ดังที่อัลลอฮฺ ได้ตรัสในซูเราะห์ อัลอันอาม อายะฮฺ ที่158 ว่า

 “การที่สัญญาณบางอย่างของพระเจ้าของเจ้าจะมานั้น จะไม่อำนวยประโยชน์แก่ชีวิตหนึ่งชีวิตใด

ซึ่งการศรัทธา ของเขาโดยที่เขามิได้ศรัทธามาก่อน หรือมิได้แสวงหาความดีใด ๆ ไว้ในศรัทธาของเขา

จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า พวกท่านจงรอกันเถิด แท้จริงพวเราก็เป็นผู้ที่รอคอย”
 

ชนิดที่ 2 เฉพาะบุคคล

สิ้นระยะเวลาแห่งการเตาว์บะฮฺ คือ การขออภัยโทษก่อนที่ใกล้จะตาย เมื่อใดที่วาระของบุคคลมาถึง การเตาว์บะฮฺของเขาก็ไม่มีประโยชน์ และไม่ถูกรับ ดังที่อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อันนิซาอฺ อายะฮฺ ที่ 17-18 ว่า

          “แท้จริงการสำนึกผิด กลับเนื้อกลับตัว ที่อัลลอฮฺ จะทรงรับนั้นคือ สำหรับบรรดาผู้ที่กระทำความชั่วโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เท่านั้น แล้วพวกเขาสำนึกผิด กลับเนื้อกลับตัวในเวลาอันใกล้ชนเหล่านี้แหละ อัลลอฮฺ ทรงอภัยโทษให้แก่เขา และพระองค์เป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ

          การสำนึกผิด กลับเนื้อกลับตัว ที่อัลลอฮฺ ทรงรับนั้น มิใช่บรรดาผู้กระทำความชั่วต่างๆ จนกระทั่งความตาย ได้มายังคนหนึ่งคนใดในพวกเขาแล้ว เขาก็กล่าวว่า บัดนี้แหละ ข้าพระองค์ ขอสำนึกผิด กลับเนื้อกลับตัว และมิใช่ผู้ที่ตายในขณะที่เขาปฏิเสธการศรัทธาด้วย ชนเหล่านี้แหละ เราได้เตรียมไว้ สำหรับพวกเขาซึ่งการลงโทษอันเจ็บแสบ”

 ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อุมัร ได้กล่าวว่า ท่านร่อซูล ได้กล่าวว่า

 “แท้จริง พระองค์จะมารับการเตาว์บะฮฺ ของบ่าว ในเมื่อเขายังไม่ถูก เอาวิญญาณออกจากร่าง” 

  (บันทึกโดย อัตติรมีซีย์)

 

ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย

         เมื่อใดที่มีการเตาว์บะฮฺ ที่ถูกต้อง โดยตั้งอยู่บนเงื่อนไขดังกล่าวมาแล้ว พระองค์ก็จะทรงรับการเตาว์บะฮฺ และพระองค์จะทรงลบล้างความผิดของผู้ที่ขออภัยโทษต่อพระองค์ ถึงแม้ว่า จะเป็นบาปใหญ่ก็ตาม

 อัลลอฮฺ ทรงตรัสไว้ในซูเราะฮฺ อัซซุมัร อายะฮฺ ที่ 53 ว่า

“จงกล่าวเถิดมูฮัมมัด ว่า ปวงบ่าวของข้าเอ๋ย บรรดาผู้ที่ละมิดต่อตัวของพวกเขาเอง พวกท่านอย่าได้หมดหวังต่อความเมตตาของอัลลอฮฺ

แท้จริง อัลลอฮฺทรงอภัยความผิดทั้งหลายให้แก่พวกท่าน แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงให้อภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ”


          ท่านทั้งหลายจงรีบเร่งในการขออภัยในความผิด จากพระผู้อภิบาลของพวกท่าน ก่อนที่การลงโทษของพระองค์จะมายังพวกเราและทั้งหลาย

 

          ในตอนท้าย ของฝากพี่น้องทั้งหลาย ในเรื่องของการละหมาดญะมาอะฮฺ การรักษาเวลาละหมาด การสั่งสอนบรรดาลูกหลานของเราให้อยู่ในขอบเขตของอิสลาม โดยเฉพาะลูกๆผู้หญิง ในปัจจุบันนี้ การแต่งกายหรือแฟชั่น ที่กำลังฮิตก็คือ กางเกงขาเดฟ เสื้อผ้ารัดรูปและเบาบาง เมื่อลูกของเราเดินออกจากบ้านในสภาพเช่นนี้ เราไม่ตักเตือน หรือทักท้วง แสดงความนิ่งเฉย ก็แสดงว่าเราพอใจในการกระทำของพวกเขา ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ จะต้องถูกสอบสวนในวันกิยามะฮฺ อย่างแน่นอน ดังที่ฮะดีษดุดซีย์ระบุไว้ว่า หรือคำกล่าวของชัยฏอนที่อัลลอฮฺระบุไว้ในอัล-กุรอ่าน ซูเราะฮฺ อิบรอฮีม อายะฮฺ ที่ 22 ว่า

  “ดังนั้น พวกท่านอย่าได้ประณามฉัน   แต่ทว่า จงประณามตัวพวกท่านเอง”

 

 

 

 

ที่มา อัลอิศลาห์ สมาคม