สิ่งที่จะนำมาเป็นหลักฐาน
  จำนวนคนเข้าชม  3012

  

สิ่งที่จะนำมาเป็นหลักฐาน คือ อัลกุรอ่าน และอัซซุนนะฮฺ ไม่ใช่คำพูดของนักวิชาการ


แปลและเรียบเรียง  อาบิดีณ  โยธาสมุทร


         นาย ยูซุฟ บิน อับดิ้ลอะซี้ซ อะบั้ลค้อยลฺ ได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ “อั้รริย้าด” ฉบับวันเสาร์ที่ ๗/๖/๑๔๓๓(ฮศ.) ในเชิงให้การสนับสนุนความเห็นของผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้มีการปิดร้านค้าเพื่อให้ผู้ค้าไปทำการละหมาดรวมกันที่มัสยิด โดยได้นำเอาทัศนะของนักวิชาการบางท่าน ที่มีความเห็นว่า อนุมัติให้ทำการละหมาดรวมกัน ณ ที่อื่นที่ไม่ใช่มัสยิดได้ มาเป็นหลักฐานสนับสนุนความคิดเห็นข้างต้น ทางเราจึงจำต้องขอกล่าวกับเขาว่า

 

          ๑. เราทราบดีว่าทัศนะที่ถูกนำมาอ้างอิงนั้น เป็นทัศนะที่มีปรากฏอยู่จริงตามตำราวิชาการ หากแต่สิ่งที่เป็นเพียงทัศนะนั้น ย่อมไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานหักล้างข้อมูลจากอัลกุรอ่านและอัซซุนนะฮฺ ที่บ่งบอกว่า

"บุคคลที่ละทิ้งการละหมาดรวมกันที่มัสยิดนั้น เป็นบุคคลที่ตกอยู่ในสภาพ กลับกลอก (นิฟ้าก)"

         อันเป็นการบ่งชี้ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ต้องห้าม และตัวผู้ที่กระทำเองก็ตกอยู่ในฐานะที่ต้องได้รับการลงโทษอีกด้วย  ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะตัวท่าน ร่อซู้ล เองนั้น ท่านตั้งใจจะทำการเผาทำลายบ้านพักที่อาศัยของบุคคลที่ละทิ้งการมาละหมาดร่วมกันที่มัสยิด มิหนำซ้ำ แม้แต่กับในกรณีของชายตาบอดที่มาขออนุญาตท่านเพื่อทำการละหมาดที่บ้านเนื่องด้วยความยากลำบากและอุปสรรคที่เขาต้องพบเจอในการออกไปละหมาดที่มัสยิด

ท่านกล่าวถามเขาว่า “เจ้าได้ยินเสียงเรียก(อะซาน)ไหม?”

เขาก็ตอบว่า ครับได้ยิน

ท่านจึงกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้นก็จงตอบรับเสียงเรียกนั้นเสีย เพราะฉันเองก็ไม่พบข้อผ่อนผันใดๆให้แก่ท่าน

ท่านร่อซู้ล กล่าวว่า

 “ผู้ใดก็ตามที่ได้ยินเสียงเรียก(อะซาน) แล้วไม่ยอมไป การละหมาดของเขาก็ไม่ถือว่าเป็นการละหมาด เว้นเสียแต่ในกรณีที่มีอุปสรรคเท่านั้น"

 

          ๒. ความเห็นดังกล่าวนี้ เป็นความคิดเห็นที่นำพาไปสู่การแบ่งแยกบรรดามุสลิมีนออกเป็นเหล่าๆ ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งๆที่ท่าน นบี นั้น ท่านพยามส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อทำการละหมาดร่วมกันที่มัสยิด โดยท่านได้กำชับไว้ว่า แกะที่หมาป่ามุ่งหมายเป็นเหยื่อนั้นก็คือจำพวกแกะที่หลงฝูงนั้นเอง ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังออกคำสั่งให้บุคคลที่ได้ยินเสียงเรียก(อะซาน) ทำการตอบรับเสียงเรียกนั้นโดยการตามเสียงไปเพื่อไปทำการละหมาดที่มัสยิด จะยกเว้นก็เสียแต่บุคคลที่ประสบอุปสรรคเท่านั้น อันได้แก่การหวาดกลัวภัยอันตรายและการเจ็บป่วย

 

          ๓. ความเห็นข้างต้นนั้น ย่อมจะนำพาไปสู่การล้มเลิกการใช้ประโยชน์จากมัสยิดในที่สุด ทั้งๆที่มัสยิดนั้นเป็นสถานที่ที่อัลลอฮ์ ทรงอนุมัติให้เปล่งเสียงกล่าวสดุดีแด่พระองค์และทำการรำลึกถึงพระนามของพระองค์ในนั้น จนในที่สุดก็จะนำพาไปสู่ภาวะหมดความจำเป็นหรือหมดความต้องการที่จะต้องสร้างมัสยิดขึ้นในเขตพื้นที่ชุมชน ทั้งๆที่ท่านนบี   ได้มีคำสั่งให้ทำการสร้างมัสยิดขึ้นตามเขตพื้นที่ชุมชน ดังที่นักวิชาการฮะดีษได้ชี้แจงและอธิบายเอาไว้

 

         อย่างไรก็แล้วแต่ ความเห็นหรือคำพูดของบุคคลใดก็ตามที่ขัดแย้งกับคำพูดของท่าน ร่อซูลุ้ลลอฮฺ  คำพูดนั้นย่อมไม่ได้รับการพิจรณาแต่ประการใด ส่วนทัศนะของบรรดานักวิชาการนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ในภาวะต้องการหาหลักฐานมายืนยันความถูกต้องของเนื้อหาใจความของมัน ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาใช้เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงความถูกต้องชอบธรรมได้แต่ประการใด


นักวิชาการบางท่านได้กล่าวไว้ว่า

           ความรู้ คือ “อัลลอฮฺตรัสว่า” “ท่านร่อซู้ลของพระองค์พูดไว้ว่า” “ศ่อฮาบะฮฺได้บอกไว้ว่า” ไม่มีอื่นจากนี้ ส่วนการที่ท่านได้ตั้งประเด็นขัดแย้งขึ้นด้วยความเขลา ระหว่างท่านร่อซู้ล และระหว่างความคิดเห็นของใครคนใดคนหนึ่ง  นั่นย่อมไม่ใช้ความรู้แต่ประการใด


         ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้เขียน คุณยูซุฟ อะบั้ลคอยลฺ ตลอดจนท่านอื่นๆที่ต้องช่วยกันสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้เกิดแก่บรรดามุสลิมีนให้จงได้ โดยให้สภาพดังกล่าวก่อขึ้นบนรากฐานแห่ง อัลกุรอ่าน และอัซซุนนะฮฺ มิใช่บนรากเหง้าแห่งอารมณ์และความต้องการ และต้องช่วยกันจัดสรรให้เรื่องราวที่เป็นประเด็นวิชาการนั้น ตกอยู่ในการดูแลของบุคคลที่มีความรู้ ทั้งนี้เพื่อที่พวกเราจะไม่ตกเป็นหนึ่งในบรรดาบุคคลที่กล่าวถึงอัลลอฮฺโดยปราศจากความรู้นั้นเอง

ขออัลลอฮ์ ประทานความสำเร็จแก่ทุกท่าน สู่ความรู้ที่มีประโยชน์และสู่การกระทำที่ดีงามด้วยเถิด

วะศ็อลลัลลอฮุวะซั้ลละมะอะลานบียินามุฮัมมัดวะอาลิฮีละศ่อฮฺบิฮี

 

เขียนโดย ศอและหฺ อิบนฺ เฟาซาน อั้ลเฟาซาน กรรมการองค์กร อุละมาอาวุโสฯ