วิธีการเรียนรู้และพินิจใคร่ครวญอัลกุรอานของชาวสะลัฟ
  จำนวนคนเข้าชม  6943

 

วิธีการเรียนรู้และพินิจใคร่ครวญอัลกุรอานของชาวสะลัฟ

 

ดร.มุหัมมัด บิน อับดุลลอฮฺ อัร-เราะบีอะฮฺ 

แปลโดย : แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ / Islamhouse

          แท้จริงความสูงส่งและเกียรติศักดิ์ที่ชาวสะละฟุศศอลิหฺได้รับ และทำให้ทั้งชาวอาหรับและที่ไม่ใช่ชาวอาหรับต่างยอมจำนนต่อพวกเขา ก็เนื่องด้วยพวกเขาได้ยึดมั่นอย่างเอาจริงเอาจังต่อคัมภีร์ของอัลลอฮฺ ตะอาลา –นั่นคืออัลกุรอาน-

 

          เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ที่ต้องการเจริญรอยตามการก้าวเดินของพวกเขา ที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจในวิธีการเรียนรู้และพินิจใคร่ครวญอัลกุรอานของพวกเขา และสิ่งนี้เองที่เราพยายามที่จะนำเสนออย่างรวบรัดในการพูดคุยกันในครั้งนี้

 

          แน่นอนที่สุด ผู้ที่พินิจพิจารณาการใช้ชีวิตของชาวสะลัฟที่มีความผูกพันกับอัลกุรอาน เขาจะพบว่าพวกเขาจะมีวิธีการที่เอาใจใส่ต่ออิบาดะฮฺนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งสามารถระบุแก่นหลักของมันได้ดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ก็หวังว่าเราจะได้รับประโยชน์จากมัน ซึ่งแก่นหลักที่เด่นชัดที่สุดนั้นคือ 


 

หนึ่ง พวกเขารู้ถึงตำแหน่งอันสูงส่งของอัลกุรอานและเข้าใจในวัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดของมัน

          การเรียนรู้สิ่งใดด้วยความรัก ด้วยการให้ความสำคัญ และด้วยการมีศรัทธานั้น ย่อมทำให้การคลุกคลีกับสิ่งนั้นเป็นไปด้วยดี และผู้ใดที่รู้คุณค่าต่อสิ่งหนึ่งเขาย่อมตระหนักและให้ความสำคัญต่อสิ่งนั้น ซึ่งในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เห็นได้เด่นชัดในกลุ่มชนยุคแรกไม่ว่าจะมาจากคำพูดและการกระทำของพวกเขา โดยคำพูดต่างๆ ของพวกเขาที่ถูกบันทึกไว้นั้นได้สาธยายถึงความยิ่งใหญ่และอิทธิพลของอัลกุรอานที่ส่งผลต่อการน้อมรับให้เป็นไปอย่างรูปธรรม

 

          “แท้จริงอัลกุรฺอานนั้นเป็นงานเลี้ยงของอัลลอฮฺ (เนื่องจากในอัลกุรฺอานล้วนมีสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้คน จึงเปรียบกับงานเลี้ยงที่เชิญชวนผู้คนเข้าร่วมเพราะในนั้นมีแต่สิ่งที่ดีงาม -ผู้แปล-) ดังนั้นจงเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์นั้นเท่าที่พวกเจ้ามีความสามารถ แท้จริงอัลกุรอานนั้นคือสายเชือกของอัลลอฮฺ มันคือรัศมีที่เจิดจรัส และเป็นยาที่ให้ประโยชน์ ย่อมได้รับความคุ้มครองให้ปลอดภัยสำหรับผู้ที่ได้ยึดมั่นต่อมัน” 

 

          (บันทึกโดยอัล-หากิม ใน “อัล-มุสตัดร็อก” เล่ม 1 หน้า 741 หมายเลข 2040 และท่านได้กล่าวว่า “สายรายงานเศาะฮีหฺ แต่ท่านไม่ได้ระบุสายรายงานของมัน” และบันทึกโดยอิบนุ อบีชัยบะฮฺ เล่ม 6 หน้า 125 หมายเลข 30008)

ท่านได้กล่าวอีกว่า ท่านอับดุลลอฺฮฺ บินมัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า

 

“ผู้ใดอยากรู้ว่าเขารักอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์หรือไม่ ก็จงสังเกตว่า หากเขารักอัลกุรอาน เขาก็เป็นผู้ที่รักอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม” 
 

(บันทึกโดยอัฏ-ฏ็อบรอนี ใน “อัล-มุอฺญัม อัล-กะบีร” หมายเลข 8657)

ท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า 
 

          “อัลลอฮฺทรงรับประกันสำหรับผู้ที่อ่านอัลกุรอาน(และปฏิบัติตาม-ผู้แปล-) ว่าจะไม่หลงผิดในโลกนี้และจะไม่ได้รับความลำบากในโลกอาคิเราะฮฺ แล้วท่านก็อ่านอายะฮฺนี้"
 

"แล้วผู้ใดปฏิบัติตามคำแนะนำของข้า เขาก็จะไม่หลงผิด และจะไม่ได้รับความลำบาก” 
 

(บันทึกโดยอัร-รอซี ใน “ฟะฎออิล อัลกุรอาน วะติลาวะติฮฺ” เล่ม 1 หน้า 119 หมายเลข 84) 

ซึ่งการอ่านอัลกุรอานในที่นี้ หมายถึง การปฏิบัติตามหลักฐานที่มีอยู่ในอัลกุรอาน

และท่านอิมามอัล-บุคอรี เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า

“จะไม่พบความหอมหวานและคุณค่าใดๆ ของอัลกุรอาน ยกเว้นผู้ที่มีศรัทธาต่อมัน

และไม่มีผู้ใดสามารถแบกรับคำแนะนำของมันได้ยกเว้นผู้ที่มีความเชื่อมั่นเท่านั้น” 

(บันทึกโดยอัล-บุคอรี เล่ม 9 หน้า 155)

            เรามีความต้องการอย่างยิ่งยวดต่อการปรับปรุงหัวใจของเราในนัยนี้ ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าหัวใจของผู้คนไม่ใช่น้อยเลยทีเดียวที่มีความบกพร่องต่อการให้ความสำคัญและให้ความรักที่แท้จริงรวมถึงมีศรัทธาต่อมัน จึงทำให้ความผูกพันที่มีต่ออัลกุรอานและผลที่ได้รับจากมันนั้นได้บกพร่องไป และจุดนี้เองที่เป็นปัญหา ส่วนวิธีการแก้ไขนั้นคือ การปลูกฝังความสำคัญของอัลกุรอานในจิตใจของผู้คน และให้พวกเขามีความรักด้วยความจริงใจต่ออัลกุรอาน โดยให้เกิดผลและการอตอบรับไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ให้หมั่นกล่าวถึงคุณค่าของอัลกุรอาน และวัตถุประสงค์ที่สูงสุดของการประทานมันลงมา 

สอง พวกเขาเรียนรู้และสอนอีมานก่อนอัลกุรอาน 

          กล่าวคือ พวกเขาได้ปลูกฝังความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺในหัวใจของพวกเขา และปลูกฝังความสำคัญของคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามของพระองค์ จึงทำให้พวกเขาเรียนรู้หลักบัญญัติต่างๆ ของศาสนาได้อย่างง่ายดาย และนี่คือปัจจัยสำคัญในการฟื้นฟูการตัรบียะฮฺด้วยอัลกุรอานในจิตใจของผู้คน 

          และนี่คือวิธีการที่อัลกุรอานได้ใช้อบรมสั่งสอนบรรดาเศาะหาบะฮฺในช่วงแรกเริ่มของอิสลาม ซึ่งในช่วงแรกเริ่มของการประทานอัลกุรอานนั้นก็จะเริ่มด้วยการตัรบียะฮฺในด้านการศรัทธา โดยจะเห็นได้จากเนื้อหาในสูเราะฮฺมักกียะฮฺ โดยเฉพาะสูเราะฮฺอัล-มุฟัศศ็อล (นั้นคือตั้งแต่สูเราะฮฺกอฟ จนจบอัลกุรอาน -ผู้แปล-) ซึ่งล้วนมีเนื้อหาเพื่อเป็นการปลูกฝังความศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺแทบทั้งสิ้น จึงทำให้จิตใจของพวกเขาได้รับการบ่งเพาะความศรัทธาที่ถูกต้อง รวมทั้งการให้ความสำคัญต่ออัลกุรอาน จึงทำให้จิตใจของพวกเขามีความพร้อมที่จะเรียนรู้ข้อแนะนำต่างๆ ของมัน

          เพื่อความชัดเจนของวิธีการนี้ -ซึ่งเป็นวิธีการที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้อบรมสั่งสอนบรรดาเศาะหาบะฮฺของท่าน- หนึ่งในลูกศิษย์ผู้ที่มีความฉลาดปราดเปรื่องในสถาบันของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม นั้นคือ ท่านญุนดุบ บินอับดุลลอฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ซึ่งท่านได้กล่าวว่า

“เราได้อยู่กับท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในขณะที่เราเป็นเด็กหนุ่มที่แข็งแรง ซึ่งเรานั้นได้เรียนรู้อีมานก่อนเรียนรู้อัลกุรอาน

แล้วหลังจากนั้นเราจึงเรียนรู้อัลกุรอาน ดังนั้นอีมานของเราจึงเพิ่มขึ้น” 

         (บันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ เล่ม 1 หน้า 74 หมายเลข 64, อัต-ตารีค อัล-กะบีร โดยอัล-บุคอรี เล่ม 2 หน้า 221, สุนัน อัล-บัยฮะกี อัล-กุบรอ เล่ม 2 หน้า 49 หมายเลข 5498, อัฏ-เฎาะบะรอนี ใน “อัล-มุอฺญัม อัล-กะบีร” เล่ม 2 หน้า 225 หมายเลข 1656, และท่านชัยคฺอัล-อัลบานีกล่าวว่าเป็นหะดีษที่เศาะฮีหฺ ใน “เศาะฮีหฺ สุนัน อิบนุมาญะฮฺ” เล่ม 1 หน้า 16 หมายเลข 52)

          ดังนั้น จงพินิจพิจารณาเถิดว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เริ่มปลูกฝังอีมานในจิตใจของพวกเขา กระทั่งอีมานได้ถูกบรรจุในหัวใจของพวกเขาได้อย่างไร ทำให้พวกเขาเป็นผู้ที่คู่ควรในการเรียนรู้อัลกุรอาน และทำให้พวกเขามีความมุ่งมั่นต่อมัน ด้วยเหตุนั้นเองอีมานของพวกเขาก็ได้เพิ่มขึ้น ในเรื่องนี้ท่านอิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า

          “แท้จริง พวกเราได้มีชีวิตในช่วงเวลาหนึ่งในยุคสมัยของเรา ซึ่งแต่ละคนในหมู่พวกเรานั้นถูกให้อีมานก่อนอัลกุรอาน และครั้งที่สูเราะฮฺของอัลกุรอานถูกประทานลงมายังท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม พวกเราจึงเรียนรู้ว่าสิ่งใดหะลาลและสิ่งใดหะรอม สิ่งใดเป็นข้อสั่งใช้ และสิ่งใดเป็นข้อห้าม และสิ่งใดที่ต้องหยุดนิ่งอยู่กับมัน ดังที่พวกท่านได้เรียนรู้อัลกุรอานในทุกวันนี้

         แต่แล้ววันหนึ่งฉันก็ได้เห็นผู้คนกลุ่มหนึ่งที่บางคนในหมู่พวกเขาได้รับอัลกุรอานก่อนอีมาน เขาจึงอ่านมันตั้งแต่เริ่มจนจบ โดยที่เขาไม่รู้เลยว่าสิ่งใดเป็นข้อสั่งใช้และสิ่งใดเป็นข้อห้าม และไม่รู้ว่าสิ่งใดบ้างที่พวกเขาต้องหยุดนิ่งอยู่กับมัน แล้วเขาก็อ่านอัลกุรอานดังที่เขาได้ร่ายบทกลอน” 

          (บันทึกโดยอิบนุอบีชะบะฮฺ ใน “อัล-มุศ็อนนัฟ” เล่ม 2 หน้า 403, อัล-บัยฮะกี ใน “อัส-สุนัน อัล-กุบรอ” เล่ม 3 หน้า 170 หมายเลข 5290, อัล-หากิม ใน “อัล-มุสตัดร็อก” เล่ม 1 หน้า 91 หมายเลข 101 และท่านได้กล่าวว่าเป็นหะดีษที่เศาะฮีหฺ ตามเงื่อนไขของอัล-บุคอรีและมุสลิม โดยไม่มีข้อบกพร่องใดๆ ทั้งยังสอดคล้องกับทัศนะของอัซ-ซะฮะบี)


          สาม พวกเขาเรียนรู้อัลกุรอานได้อย่างยอดเยี่ยม เนื่องจากมันเป็นสาส์นที่มาจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา (ที่ถูกประทานลงมา) เพื่อให้ปฏิบัติตามและปรับใช้ในชีวิต โดยที่พวกเขาได้พินิจใคร่ครวญเนื้อหาของมันในเวลากลางคืน และได้ปรับใช้มาปฏิบัติในเวลากลางวัน 

          มีหลักฐานอย่างมากมายทั้งที่มาจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺ รวมถึงคำกล่าวของบรรดาสะลัฟที่ใช้ให้ปฏิบัติตาม (คำแนะนำที่มีอยู่ใน) อัลกุรอาน ซึ่งถือเป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุด (ของการประทานอัลกุรอานลงมา) 

(ดูในหนังสือ “อิซมะฮฺ อัลกุรอาน” ในเรื่อง “ฟะฎออิล อัล-อะมัล บิลกุรอาน” หน้า 496)

ท่านอิบนุมัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า 

          “เมื่อใครคนหนึ่งในหมู่พวกเราศึกษาอัลกุรอานสิบอายะฮฺ เขาจะไม่ศึกษาต่อในอายะฮฺถัดจากนั้น จนกว่าเขาจะเข้าใจความหมายและปฏิบัติตามอายะฮฺเหล่านั้นเสียก่อน” 

(ตัฟสีร อัลกุรอาน อัล-อะซีม โดยอิบนุกะษีร เล่ม 1 หน้า 9)

ท่านอิบนุอุมัร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า 

          “ผู้ที่ประเสริฐในหมู่เศาะหาบะฮฺของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ในช่วงยุคแรกของประชาชาตินี้นั้น ไม่ได้ท่องจำอัลกุรอานเว้นแต่เพียงสูเราะฮฺเดียวหรือมากกว่านั้นเล็กน้อยเท่านั้น แต่พวกเขาต่างปฏิบัติตาม (คำแนะนำที่มีอยู่ใน) อัลกุรอาน ในทางกลับกันกลุ่มชนยุคท้ายๆ ของประชาชาตินี้ พวกเขาต่างพากันอ่านอัลกุรอาน ไม่ว่าจะเป็นเด็กและคนตาบอด แต่พวกเขากลับไม่ปฏิบัติต่อมัน”

 (อัล-ญามิอฺ ลิอะหฺกาม อัลกุรอาน เล่ม 1 หน้า 30)

          เฉกเช่นที่ก่อนหน้านี้นั้น มันคือวิธีการของพวกเขา (ชาวสะลัฟ) ในการอบรมสั่งสอนลูกหลานและนักเรียนนักศึกษา และปลูกฝังมันในจิตใจของพวกเขา รวมทั้งได้มีการสั่งเสียกันในเรื่องนี้กัน ดังนั้น ท่านจงพินิจพิจารณาคำกล่าวที่ยิ่งใหญ่นี้เถิด ซึ่งเป็นคำกล่าวที่แกนนำคนสำคัญของบรรดาอัต-ตาบิอีนได้กล่าวไว้ นั้นคือท่านอัล-หะสัน อัล-บัศรี เราะหิมะฮุลลอฮฺ โดยที่ท่านได้กล่าวว่า 

           “แท้จริงอัลกุรอานนี้ ทาสรับใช้และเด็กๆ ได้อ่านกัน โดยที่พวกเขาไม่ได้ยึดเอาตั้งแต่แรก และไม่รู้คำอธิบายของมัน แท้จริงผู้ที่คู่ควรที่สุดกับอัลกุรอานนั้นคือ ผู้ที่ทำให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม อัลลอฮฺ อัซซะวะญัละ ได้ดำรัสในคัมภีร์ของพระองค์ว่า (ความว่า)

“คัมภีร์ (อัลกุรอาน) เราได้ประทานลงมาให้แก่เจ้าซึ่งมีความจำเริญ เพื่อพวกเขาจะได้พินิจพิจารณาอายาตต่างๆ ของอัลกุรอาน

และเพื่อบรรดาผู้มีสติปัญญาจะได้ใคร่ครวญ” 

(สูเราะฮฺศ็อด : 29) 

          และแท้จริงการพินิจใคร่ครวญบรรดาอายะฮฺต่างๆ นั้นคือการปฏิบัติตามมันอย่างเป็นรูปธรรม และขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า มันไม่ใช่เป็นการท่องจำอักษรต่างๆ แต่กลับละเลยในข้อกำหนดต่างๆ ของมัน 

          ♣ กระทั่งบางคนได้กล่าวว่า “ฉันได้อ่านอัลกุรอานจนจบเล่ม โดยไม่ขาดตกบกพร่องแม้เพียงอักษรเดียว แต่ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า เขาได้ขาดตกบกพร่องทั้งหมด เพราะไม่เห็นอัลกุรอานในคุณลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของเขาแต่อย่างใด” 

          ♣ กระทั่งบางคนได้กล่าวอีกว่า “ฉันได้อ่านสูเราะฮฺหนึ่งด้วยลมหายใจเพียงเฮือกเดียวเท่านั้น แต่ขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า พวกเขาไม่ได้เป็นนักอ่านอัลกุรอาน ไม่ได้เป็นผู้รู้ ไม่ได้เป็นนักปรัชญา และไม่ได้เป็นผู้มีความเกรงกลัวต่ออัลลอฮฺแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อใดที่ผู้อ่านอัลกุรอานได้กล่าวเฉกเช่นนี้  ขออัลลอฮฺอย่าได้ทรงให้มีคนประเภทนี้มีมากเลย” 

(อัซ-ซุฮฺดุ วัร-เราะกออิก โดยอิบนุ อัล-มุบาร็อก ตรวจทานโดยอะหฺมัด ฟะรีด เล่ม 6 หน้า 610 หมายเลข 742 พิมพ์ที่ดาร อัล-มิอฺรอจญฺ)

          และเฉกเช่นที่พวกเขามีการเน้นย้ำและสั่งเสียแก่ผู้ที่ท่องจำอัลกุรอานในเรื่องนั้น โดยได้เน้นให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ดังที่ท่านอิบนุมัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า 

           “สมควรอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ท่องจำอัลกุรอานที่จะต้องมีความโดดเด่น (ด้วยการกิยามุลลัยลฺ) ในยามค่ำคืนในขณะที่ผู้คนกำลังนอนหลับ และในยามกลางวัน (ด้วยการถือศีลอด) ในขณะที่ผู้คนกำลังดื่มกิน และมีความโศกเศร้าในขณะที่ผู้คนต่างร่าเริง และร้องไห้ในขณะที่ผู้คนหัวเราะเริงร่า และนิ่งเงียบในขณะที่ผู้คนกำลังพูดคุย และมีความสุขุมในขณะที่ผู้คนต่างหลงใหล

       และสมควรอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ท่องจำอัลกุรอานที่จะต้องสุภาพอ่อนโยน และไม่สมควรที่จะมีความหยาบกระด้าง โต้เถียงทะเลาะวิวาท ตะโกนดังลั่น ทำเสียงอึกทึกครึกโครม และใช้คำพูดที่ทิ่มแทง” 

(บันทึกโดยอิบนุ อบีชัยบะฮฺ ใน “อัล-มุศ็อนนัฟ” เล่ม 8 หน้า 305) 

          และนี่คือวิธีการที่ทำให้เกิดกลุ่มชนดังกล่าว ทั้งยังเป็นวิธีสร้างพวกเขาขึ้นมา ซึ่งหากเราได้เรียนรู้อัลกุรอาน เฉกเช่นที่กลุ่มชนรุ่นแรกได้เรียนรู้ด้วยวิธีการนี้ และได้ตัรบียะฮฺกลุ่มชนของเราด้วยกับวิธีการนี้ มันย่อมเกิดผลในจิตใจของพวกเราได้อย่างแน่นอน 

          และในขณะที่เราได้อ่านอัลกุรอานอย่างใจจดใจจ่ออยู่นี้ เราก็จะพบในสิ่งที่เราต้องการ และเราจะพบว่าในนั้นมีสิ่งที่น่าอัศจรรย์โดยที่ความนึกคิดไม่เคยคาดถึงมาก่อนเลย และเมื่อนั้นเราจะพบว่าในอัลกุรอานนั้นมีความเพริศแพร้วและมีชีวิตชีวา และเราก็จะได้เข้าใจในความหมายของคำดำรัสนี้

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย จงตอบรับอัลลอฮฺ และเราะสูลเถิด เมื่อเขาได้เชิญชวนพวกเจ้าสู่สิ่งที่ทำให้พวกเจ้ามีชีวิตชีวาขึ้น” 

(สูเราะฮฺอัล-อันฟาล : 24)


          สี่ ให้อ่านอัลกุรอานอย่างช้าๆ ชัดถ้อยชัดคำ และให้มีความรู้สึกซาบซึ้ง (ในเนื้อหา) รวมทั้งให้อ่านมันในละหมาดกิยามุลลัยลฺ  และนี่คือวิธีการที่อัลกุรอานได้ยืนยันและแนะนำให้ผู้ที่อ่านมัน (นำไปปฏิบัติ) ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ดำรัสว่า

“และอัลกุรอาน เราได้แยกมันไว้อย่างชัดเจน เพื่อเจ้าจะได้อ่านมันแก่มนุษย์อย่างช้าๆ และเราได้ประทานมันลงมาเป็นขั้นตอน

จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด พวกท่านจะศรัทธาในมันหรือไม่ศรัทธาก็ตาม

แท้จริงบรรดาผู้ได้รับความรู้ก่อนหน้ามันนั้นเมื่อมันได้ถูกอ่านแก่พวกเขาพวกเขาจะหมอบราบลง ใบหน้าจรดพื้นเพื่อสุญด” 

(สูเราะฮฺอัล-อิสรออ์ : 106-107)

          ดังนั้น มาพินิจพิจารณาด้วยกันว่า อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้สั่งใช้ให้นบีของพระองค์อ่านอัลกุรอานอย่างช้าๆ ชัดถ้อยชัดคำ และไม่เร่งรีบในการอ่านไว้อย่างไร หลังจากนั้นพระองค์ก็ได้ยกย่องสดุดีแก่ผู้ที่ปฏิบัติเช่นนี้ว่า ด้วยคำดำรัสที่ว่า

“แท้จริงบรรดาผู้ได้รับความรู้ก่อนหน้ามันนั้นเมื่อมันได้ถูกอ่านแก่พวกเขา พวกเขาจะหมอบราบลง ใบหน้าจรดพื้นเพื่อสุญด” 

(สูเราะฮฺอัล-อิสรออ์ : 107)

          และเป็นที่ปรากฏอย่างเด่นชัดว่าชาวสะลัฟนั้นได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งส่วนหนึ่งจากเรื่องราวของพวกเขาในเรื่องนั้น คือดังคำบอกเล่าของท่านอิบนิ อบีมุลัยกะฮฺ (ซึ่งท่านได้เล่าว่า)

          “ฉันได้ร่วมเดินทางพร้อมกับท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา จากเมืองมักกะฮฺไปยังเมืองมะดีนะฮฺ ซึ่งท่าน (อิบนุอับบาส) ได้ใช้เวลายืนละหมาดกิยามุลลัยลฺครึ่งหนึ่งของกลางคืน โดยที่ท่านอัลกุรอานคำต่อคำ (อย่างช้าๆ) แล้วท่านก็ร้องไห้ กระทั่งได้ยินเสียงสะอื้น” 

(มุคตะศ็อร กิยามุลลัยลฺ โดยมุหัมมัด บินนัศรฺ หน้า 131)

ท่านอิบนุมัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า 

          “พวกท่านอย่าแพร่กระจายอัลกุรอานดังที่พวกท่านได้โปรยผงทราย และพวกท่านอย่าอ่านอัลกุรอานดังที่พวกท่านได้ร่ายบทกลอน แต่พวกท่านจงหยุดพินิจพิจารณาเมื่อถึงเรื่องราวที่น่าอัศจรรย์ พร้อมทั้งกระตุ้นหัวใจของพวกท่านเมื่อได้พบเจอมัน โดยอย่าให้ความตั้งใจของคนหนึ่งใดในหมู่พวกท่าน เพียงแค่การอ่านให้จบถึงอายะฮฺสุดท้ายของสูเราะฮฺหนึ่งๆ เท่านั้น” 

(มุคตะศ็อร กิยามุลลัยลฺ โดยมุหัมมัด บินนัศรฺ หน้า 132)

          การอ่านอัลกุรอานอย่างชัดถ้อยชัดคำพร้อมกับการพินิจใคร่ครวญนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งผลต่อจิตใจ รวมถึงสามารถปรับปรุงหัวใจได้ และนั่นคือวิธีการของชาวสะละฟุศศอลิหฺ แล้วพวกเราจะไม่ตัรบียะฮฺจิตใจและกลุ่มชนของเราด้วยสิ่งดังกล่าวหรือ ? 

          สำหรับการอ่านอัลกุรอานในยามค่ำคืนนั้น ก็ถือเป็นแนวทางที่สุดยอดที่สุดสำหรับการพินิจใคร่ครวญ และมีความเหมาะสมที่สุดที่จะทำความเข้าใจอัลกุรอาน และด้วยเหตุนี้เอง พระองค์จึงดำรัสว่า 

“โอ้ ผู้คลุมกายอยู่เอ๋ย ! จงยืนขึ้น (ละหมาด) เวลากลางคืน เว้นแต่เพียงเล็กน้อย (ไม่ใช่ตลอดคืน) ครึ่งหนึ่งของเวลากลางคืน

หรือน้อยกว่านั้นเพียงเล็กน้อย หรือมากกว่านั้น และจงอ่านอัลกุรอานช้า ๆ เป็นจังหวะ (ชัดถ้อยชัดคำ) 

แท้จริงเราจะประทานวจนะ (วะหฺยู) อันหนักหน่วงแก่เจ้า

แท้จริงการตื่นขึ้นในเวลากลางคืนนั้นเป็นเวลาที่ประทับใจยิ่งและเป็นการอ่านที่ชัดเจนยิ่ง” 

(สูเราะฮฺอัล-มุซซัมมิล : 1-6)

ท่านอิบนุอับบาสได้กล่าวว่า

“มันคือ (ช่วงเวลาที่) เหมาะสมที่สุดในการทำความเข้าใจอัลกุรอาน”

ท่านอัช-ชันกีฏีย์ เราะหิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า

          “ไม่สามารถที่จะให้อัลกุรอานฝังอยู่ในหัวใจได้อย่างมั่นคง และไม่สามารถที่จะท่องจำมันได้อย่างง่ายดาย รวมทั้งไม่สามารถที่จะทำความเข้าใจในเนื้อหาของมันได้อย่างเรียบง่าย เว้นแต่จะอ่านมันในละหมาดกิยามุลลัยลฺในยามค่ำคืน” 

(มุก็อดดิมะฮฺ อัฎวาอ์ อัล-บะยาน เล่ม 1 หน้า 4)

          โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย โดยสรุปแล้ว อัลกุรอานคือแก่นหลักของการใช้ชีวิตของชาวสะลัฟ และเป็นเสบียงชีวิตของหัวใจพวกเขา ซึ่งพวกเขาได้พยายามทุ่มเทกับมันยิ่งกว่าการทุ่มเทในการได้มาซึ่งอาหาร เครื่องดื่ม และการผ่อนคลายเสียอีก จะไม่ให้เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาเข้าใจว่าชีวิตที่แท้จริงนั้นคือการมีชีวิตของหัวใจ

 (ดูใน “ตะหฺกีกฺ อัล-วิศอล บัยนะ อัล-ก็อลบฺ วัลกุรอาน” หน้า 91)

         ดังนั้น หากเราปรารถนาที่จะลิ้มรสความหอมหวานของอัลกุรอานเฉกเช่นที่พวกเขาได้ลิ้มรสมาแล้ว ก็จงปฏิบัติตามแนวทางของพวกเขา ตามที่เราได้แนะนำแก่นหลักของมันไปแล้วในก่อนหน้านี้ 

 

          โอ้อัลลอฮฺ ดังที่พระองค์ได้ประทานความโปรดปรานแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์จากปวงบ่าวของพระองค์ด้วยกับการให้ลิ้มรสความหอมหวานในการเข้าเฝ้าพระองค์ด้วยการอ่านคัมภีร์ของพระองค์ ดังนั้น ได้โปรดประทานความโปรดปรานแก่เราด้วยกับพระกรุณาธิคุณและเกียรติของพระองค์ด้วยเถิด และได้โปรดให้เราเป็นหมู่ชนแห่งอัลกุรอาน ซึ่งพวกเขาเป็นหมู่ชนของพระองค์โดยเฉพาะ

          โอ้อัลลอฮฺได้โปรดให้อภัยแก่เรา บิดามารดาของเรา และพี่น้องมุสลิมทั้งหลาย และขอการสดุดีแห่งอัลลอฮฺและความสันติสุขจงมีแด่ท่านนบีมุฮัมมัดของเรา ตลอดจนเครือญาติและบรรดาเศาะหาบะฮฺทุกท่าน

 

 

 

 

ที่มาของบทความ : http://www.tadabbor.com/Beta/?action=articles_inner&show_id=1452