มารยาทการถือศีลอด
  จำนวนคนเข้าชม  59066

 

มารยาทการถือศีลอด

 

โดย : ประสาน (ซารีฟ)  ศรีเจริญ

 

        การถือศีลอด เป็นหนึ่งในห้าบทบัญญัติอิสลาม เป็นศาสนกิจเก่าแก่มาแต่ศาสดาในอดีต เพราะการถือศีลอดให้ผลประโยชน์แก่ผู้ปฏิบัติเป็นอนันต์ ทั้งทางจิตวิญญาณ และทางสุขอนามัย อัลลอฮฺ ตรัสยืนยันความเป็นอิบาดะฮฺเก่าแก่ ในอัลกุรอานบทอัลบะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 183 ความว่า

 

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดนั้นได้ถูกตราเป็นข้อกำหนดแก่พวกเจ้า

เช่นเดียวกับที่เคยถูกกำหนดเป็นข้อกำหนดแก่ชนก่อนพวกเจ้ามาแล้ว เพื่อว่าพวกเจ้าจักได้ยำเกรง” 

 

         การถือศีลอดเป็นบัญญัติที่ต้องกระทำในเวลาที่แน่นอน คือ เดือนรอมฏอนอันสิริมงคล เป็นเดือน ที่ได้รับการเลือกสรรให้เกิดเหตุการณ์สำคัญมากมาย ที่สำคัญยิ่ง คือ เป็นเดือนที่อัลลอฮฺ  ประทาน อัลกุรอาน ซึ่งเป็นคัมภีร์ของพระเจ้า นำสู่ทางสว่าง เป็นรัศมีส่องทางในยามมืดมิด ให้ความสุขอันสมบูรณ์ แก่มวลมนุษยชาติ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า อัลลอฮฺ  ตรัสในอัลกุรอานบทอัลบะกอเราะฮฺ โองการที่ 185 ความว่า
 

“เดือนรอมฎอน เป็นเดือนซึ่งอัลกุรอานถูกประทานมาเพื่อเป็นทางนำแห่งมนุษยชาติ ทั้งชี้แจงหลักการอิสลามและข้อจำแนกกัน” 

 

        ทุกกิจภักดี (อิบาดะฮฺ) ที่ศาสนากำหนด ล้วนเป็นกิจปฏิบัติที่ชัดเจน มีผลตอบแทนที่แน่นอน นอกจากการถือศีลอด ที่มิใช่กิจที่ต้องปฏิบัติ แต่เป็นกิจที่ต้องละเว้น(การกิน) ส่วนผลตอบแทนนั้น ก็ไม่ได้ถูกกำหนดไว้อย่างแน่นอน หากแต่ว่าเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะอัลลอฮฺ  เท่านั้นที่จะทรงพิจารณาตอบแทน ดังที่ท่านนบี  ได้กล่าวรายงานพระดำรัสของอัลลอฮฺ  ความว่า
 

          “ทุกกิจภักดีของมนุษย์นั้น เขาจะได้ผลตอบแทนที่แน่นอน นอกจากการถือศีลอด ที่เขาถือศีลอดเพื่อข้าโดยแท้ ข้าจึงต้องตอบแทนการถือศีลอดเอง และการถือศีลอดนั้น เป็นเกราะป้องกัน

          ดังนั้น เมื่อพวกท่านคนใดถือศีลอด ก็จงอย่าทำความผิด และจงอย่าตอบโต้ด้วยความรุนแรง ฉะนั้น เมื่อมีคนใดมาด่า หรือทำร้ายก็จงบอกเขาไปว่า “ฉันถือศีลอด ฉันถือศีลอด...” 
 

(บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม)

 

       เมื่อมีการถือศีลอด ต้องละเว้นการกระทำที่เป็นการอนุญาตโดยปกติ เช่น การกิน การดื่ม เป็นต้น ก็จำต้องยิ่งกว่าที่จะละเว้นสิ่งอันต้องห้ามหรือสิ่งที่ไม่บังควร เช่น การโกหก การนินทา การใส่ร้าย การละ ศีลอดด้วยของต้องห้าม การฟังเพลง และการใช้เวลาช่วงการถือศีลอดให้หมดไปกับการเข้าไปยังสถานเริงรมย์ เพื่อดูหนัง ฟังเพลง การไม่ละเว้นสิ่งต้องห้ามเหล่านี้แหละที่จะเป็นเหมือนที่ท่านนบี  กล่าวไว้ความว่า

 

“มีผู้ถือศีลอดจำนวนมาก ที่เขาถือศีลอดแล้วไม่ได้ผลกุศลใด ๆ นอกจากความหิวและความกระหายเท่านั้น”

 

         การถือศีลอด เป็นกิจภักดีที่แตกต่างดังที่กล่าวแล้ว แม้กระนั้นก็ตาม การจะให้ได้ผลสมบูรณ์ใน การถือศีลอดนั้น พึงต้องรักษามารยาทการถือศีลอดอย่างเคร่งครัดและนี้เป็นส่วนหนึ่งของมารยาทการถือศีลอด

 

       1. เมื่อเห็นเดือนจันทร์เสี้ยว ควรกล่าวขอพรว่า “อัลลอฮุมมะอะฮิลละฮูอะลัยนา บิลอัมนิวันอีมาน วัสสลามะติวัลอิสลาม รอบบีวะรอบบุกั้ลลอฮฺ ลาลุรุซดินวะคอยริน”

 

       2. เตรียมการถือศีลอดด้วยการมีเจตนาถือศีลอดตั้งแต่กลางคืน การมีเจตนาถือศีลอดนั้นเป็นฟัรฎู (จำเป็น) คือ ต้องมีในทุกคืนของศีลอดรอมฎอน ศีลอดบนบาน (นะซัร) ศีลอดชดใช้ (กอฎอ) และศีลอดเสียค่าปรับ (กัฟฟาเราะฮฺ) การเจตนาถือศีลอดรอมฏอนที่สมบูรณ์ คือ ให้ตั้งเจตนาว่า “เจตนาถือศีลอดในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นฟัรฎูรอมฎอนในปีนี้ เพื่ออัลลอฮฺตะอาลา”
 

3. มีความบริสุทธิ์ใจในการถือศีลอดเพื่ออัลลอฮฺตะอาลาอย่างแท้จริง


4. เพิ่มพลังแห่งการถือศีลอด ด้วยการรับประทานอาหารซูโฮรฺ (อาหารยามดึก)

 

5. เอาประโยชน์จากการนอนดึก ด้วยการละหมาด ขอพร (ดุอาอฺ) และอ่านอัลกุรอาน

6. รีบละศีลอดเมื่อแน่ใจว่าได้เวลาละศีลอดแล้ว เพื่อให้ร่างกายมีกำลังแข็งแรงในการประกอบศาสนกิจในเวลากลางคืน

7. ขอพรละศีลอดว่า “อัลลอฮุมมะ ละกะศุมตุ้ วะอะลาริสกีกะ อัฟต๊อรตุ้ ซะฮะบัซ เซาะมะอุ, วับตัลละติล อุรูก, วะษะบะตัล อัจญ์รุ, อินชา อัลลอฮฺ ”

8. ละศีลอดด้วยอินทผลัม หรือน้ำหวาน หรือน้ำ จากนั้นก็ให้ไปละหมาดมัฆริบ แล้วกลับมารับประทานอาหารต่อ

9. ในการรับประทานอาหารละศีลอด ให้รับประทานช้า ๆ และพอประมาณ อย่าให้มากจนเกินไป เพราะอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของตนเองได้

10. แปรงฟันได้ในระหว่างการถือศีลอด โดยเฉพาะในช่วงก่อนบ่าย

11. ในเดือนรอมฎอน เป็นช่วงเวลาที่ประเสริฐ จึงสมควรจะเร่งทำความดีให้มาก ๆ เพราะความดีที่กระทำในเดือนรอมฎอนจะได้กุศลเป็นทวีคูณ

       12. ต้องละเว้นสิ่งที่จะบ่อนทำลายผลบุญของการถือศีลอด เช่น การนินทา การยุแหย่ การโกหก การหลอกลวง การทำร้ายผู้อื่น และการมองสิ่งต้องห้าม

13. ควรละเว้นการหยอกล้อ การขำขัน และทำการใด ๆ ที่เป็นการเสียเวลาในเดือนรอมฏอนโดยเปล่าประโยชน์

       14. เชิญชวนญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้านผู้ถือศีลอดมาร่วมละศีลอด โดยจัดอาหารการกินเพื่อ การศีลอด เพื่อเป็นการเพิ่มคุณความดีและแสดงออกแห่งความรักความเมตตา

       15. มุสลิมผู้ได้รับการผ่อนผันหรือยกเว้นไม่ต้องถือศีลอดในช่วงรอมฎอน เช่น ผู้อยู่ในภาวะเดินทาง หญิงที่มีรอบเดือน เป็นต้น ควรรักษามารยาทและรักษาน้ำใจผู้ถือศีลอด ด้วยการไม่รับประทานอาหารอย่างเปิดเผยต่อหน้าผู้ที่กำลังถือศีลอดเหล่านั้น

16. เร่งรัดและขยันขันแข็งในการประกอบศาสนกิจ (อิบาดะฮฺ) ในช่วงสิบวันสุดท้ายของรอมฎอน

       17. เพียรพยายามในการรอคอยคืนกอดัร ด้วยการปฏิบัติกิจภักดีในทุกค่ำคืนแห่งเดือนรอมฎอน เพราะการทำความดีตรงกับค่ำคืนกอดัร จะได้ผลบุญมากกว่าการทำความดีถึงหนึ่งพันเดือน

18. ควรมีการเอี๊ยะอฺติกาฟ (พัก) ในมัสยิดเพื่อการทำกิจภักดี โดยเฉพาะในช่วงสิบคืนสุดท้ายของรอมฎอน

       19. บริจาคซะกาตฟิตเราะฮฺ ซึ่งเป็นข้อบังคับแก่มุสลิมทุกคน ต้องบริจาคซะกาตฟิตเราะฮฺเสมอกัน และผลของการจ่ายซะกาตฟิตเราะฮฺนั้น ทำให้ผลบุญการถือศีลอดสมบูรณ์มากขึ้น และยังเป็นการอนุเคราะห์แก่คนยากจนอีกด้วย

       20. ยกระดับการถือศีลอดให้มีความละม้ายกับมลาอิกะฮฺ ซึ่งพวกเขาไม่กิน ไม่ดื่ม และกระทำแต่ความดีเท่านั้น นักวิชาการบางท่านจัดระดับการถือศีลอดไว้ 3 ระดับ ได้แก่ 

- ระดับพอใช้ได้ คือ ถือศีลอด โดย งดการกิน การดื่ม การประเวณี และสิ่งที่ทำให้เสียศีลอด 
- ระดับดี คือ ถือศีลอดโดย ลิ้น หู ตา มือ เท้า และทุกส่วนของร่างกาย งดกระทำสิ่งต้องห้ามทางศาสนา และ
- ระดับดีมาก คือ ถือศีลอดโดยหัวใจและสมองไม่ละไปจากอัลลอฮฺ และไม่คิดในเรื่องทางโลก ตลอดการถือศีลอด

และนักวิชาการได้สรุปว่า การถือศีลอดจะได้ผลบุญอย่างสมบูรณ์ต้อง ดังนี้

* ไม่มองสิ่งต้องห้าม

* สงบปากสงบคำ ไม่พูดสิ่งที่ศาสนาห้ามพูดแต่ให้อ่านอัลกุรอานและซิกรุลลอฮฺ (รำลึกถึง อัลลอฮฺ ) หรือไม่ก็ให้นิ่งเสีย

* ไม่ฟังสิ่งต้องห้ามตามหลักการศาสนา

* มือ เท้า และท้อง งดเกี่ยวกับสิ่งไม่ดีงามทั้งปวง

* ไม่รับประทานอาหารขณะละศีลอดมากเกินความพอดี

* หลังละศีลอด หัวใจต้องโยงยึดอยู่กับอัลลอฮฺ  เพื่อหวังในความเมตตาจากพระองค์ เพราะไม่ทราบว่าพระองค์จะตอบรับการถือศีลอดหรือไม่ ?