มารยาทการละหมาดรวมกัน (ญะมาอะฮฺ)
  จำนวนคนเข้าชม  10079

 

มารยาทการละหมาดรวมกัน (ญะมาอะฮฺ)


 

โดย : ประสาน (ซารีฟ)  ศรีเจริญ

          ศาสนาอิสลาม เป็นศาสนาแห่งสังคม ส่งเสริมให้มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นคณะเพื่อความสมานสามัคคี อิสลามรังเกียจที่จะมีความแตกแยกและมีการประณามผู้บ่อนทำลายความสามัคคี

 

         อิสลามในท่านนบีมุฮัมมัด  กำเนิดมาท่ามกล่างความแตกแยกของชาวอาหรับ ต่างคนต่างอยู่ ห่ำหั่นใช้กำลังในการตัดสิน ไม่มีความรักกันและกัน เมื่ออิสลามประกาศสัจธรรมแห่งความรัก ความสามัคคี ทำให้อาหรับซึ่งเคยเป็นดินแดนที่ไร้อารยะ กลายเป็นสังคมที่มีอารยะ โดยการนำของท่านศาสดามุฮัมมัด 

 

อัลลอฮฺ  ตรัสในอัลกุรอานบท อะลาอิมรอน โองการที่ 103 ความว่า

 

“และพวกเจ้าจงรำลึกถึงความโปรดปรานของอัลลอฮฺที่มีต่อพวกเจ้าทั้งหลาย เพราะพวกเจ้าเคยเป็นศัตรูต่อกัน

แล้วพระองค์ก็ได้ประสานหัวใจของพวกเจ้า ดังนั้น ด้วยความโปรดปรานของพระองค์ พวกเจ้าจึงกลายเป็นพี่น้องกัน” 
 



 

         อิสลามนอกจากจะส่งเสริมให้มุสลิมมีความรัก ความสามัคคี และทำกิจกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะในเรื่องการปฏิบัติศาสนกิจ อิสลามยังมีรางวัลให้ด้วย ซึ่งท่านนบี  กล่าวความว่า

 

“การละหมาดรวมกันเป็นคณะนั้น ประเสริฐกว่าการละหมาดคนเดียวถึง 27 เท่า” 
 

(บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม)

 

          และการละหมาดรวมกันอย่างสม่ำเสมอนั้น จะได้ผลพ้นจากความเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก ดังคำรับรองของท่านนบี  ความว่า

“ผู้ใดละหมาดรวมกันเป็นคณะติดต่อกัน 40 วัน อัลลอฮฺจะบันทึกให้เขาพ้นจากสองประการ

คือ พ้นจากความเป็นหน้าไหว้หลังหลอก และพ้นจากนรก” 

(บันทึกโดยติรมิซี)

 

         การละหมาดรวมกันเป็นหมู่คณะ นอกจากจะได้ผลบุญอันเป็นทวีคูณแล้ว และยังแสดงออกในพลังมุสลิมให้เป็นที่ประจักษ์อีกด้วย  การละหมาดรวมกัน ต้องประกอบด้วยอิหม่ามซึ่งเป็นผู้นำการละหมาด และผู้ตามหรือเรียกว่ามะมูม ทั้งสองฝ่ายย่อมต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่ศาสนากำหนด รวมทั้งมารยาทของทั้งสองฝ่ายที่จะทำกิจกรรมร่วมกันด้วย จึงมีมารยาทของแต่ละฝ่ายที่ควรปฏิบัติในหน้าที่ของตนและรวมทั้งหน้าที่ร่วมกันด้วย ดังนี้

       1. ดำรงละหมาดรวมกัน (ญะมาอะฮฺ) ที่มัสยิดให้เป็นกิจวัตร เตรียมการเพื่อการละหมาดที่มัสยิดด้วยการอาบน้ำทำความสะอาด อาบน้ำละหมาดให้สมบูรณ์แต่ที่บ้าน และไปมัสยิดแต่เนิ่น ๆ เมื่อเข้าเวลาละหมาด โดยเฉพาะมัสยิดที่อยู่ใกล้บ้าน

2. ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะละเว้นหรือเกียจคร้านการไปละหมาดรวมกันที่มัสยิด และคงอยู่ปฏิบัติงานเมื่อได้ยินเสียงอาซานที่มัสยิด

       3. ควรไปละหมาดซุบฮฺและอิซาอฺรวมกันที่มัสยิดให้เป็นประจำ เพราะในสองละหมาดนี้มีกุศลมหาศาล และเป็นช่วงเวลาที่เป็นสิริมงคลและพวกมุนาฟิกีน (พวกหน้าไหว้หลังหลอก) ไม่ค่อยสนใจไปละหมาดที่มัสยิด เนื่องจากเป็นเวลาทำงานและเวลากำลังนอนอย่างสบายของพวกเขา

4. เมื่อเสียงอาซานที่มัสยิดดังขึ้น ต้องหยุดการละหมาดหรืออ่านอัลกุรอานหรือซิกรุลลอฮฺทันที แล้วฟังเสียงอาซานและตอบรับคำอาซาน

5. มุ่งเดินทางไปละหมาดอย่างสงบ มีสมาธิในหัวใจ โดยไม่รีบวิ่งอย่างรีบร้อนเพื่อให้ทันเริ่มต้นการละหมาด

       6. กล่าวให้สลามกับประชาชนที่รอคอยละหมาดเมื่อเข้ายังพวกเขา และควรถามหาบุคคลที่เคยมาละหมาดร่วมกัน หากทราบว่าเขาป่วยจะได้ไปเยี่ยม หากเขาเดือดร้อนจะได้หาทางไปช่วยเหลือ หากเขาประสบเหตุร้ายจะได้ดูแล และหากเขาเสียชีวิตจะได้ไปเยี่ยมและแสดงความเสียใจกับญาติ ๆ ของเขา

7. ควรไปมัสยิดแต่เนิ่น ๆ เพื่อเข้าไปละหมาดในแถวหน้าหลังอิหม่าม และไม่ควรเดินข้ามคนที่เขานั่งอยู่ก่อนแล้ว

8. ควรหลีกเลี่ยงเดินช่องระหว่างแถวที่พวกเขากำลังละหมาดอยู่ และไม่ควรจะเดินผ่านหน้าผู้ที่กำลังละหมาด

       9. เมื่อการละหมาดรวมกัน (ญะมาอะฮฺ) เริ่มขึ้น ต้องยุติการละหมาดสุนัตทันที หากกำลังละหมาดอยู่ให้ย่ออย่างสั้นที่สุด เพื่อให้ทันละหมาดร่วมกัน

       10. ผู้ที่ละหมาดตามอิหม่าม ต้องตามอิริยาบถการละหมาดของอิหม่ามอย่างใกล้ชิด และอย่ากระทำการอันเป็นการล้ำหน้าอิหม่าม โดยเฉพาะการตักบีรเริ่มละหมาด เพราะหากตักบีรเริ่มละหมาดก่อนอิหม่าม การละหมาดนั้นย่อมใช้ไม่ได้

      11. การละหมาดตามอิหม่ามนั้น หากเป็นมะมูม (ผู้ตาม) คนเดียว ให้ยืนต่ำเล็กน้อยด้านขวาของอิหม่าม หากมีมะมูมคนอื่นมาอีกให้เขาตักบีรเริ่มละหมาดแล้วส่งสัญญาณให้มะมูมคนแรกทราบเพื่อจักได้ถอยหลังมายืนเป็นแถวหลังอิหม่าม

       12. การจัดแถวละหมาดของมะมูม ต้องจัดแถวให้ตรงโดยสังเกตจากส้นเท้าของทุกคน และต้องยืนเข้าแถวให้ครบก่อนจะมาจัดแถวใหม่ต่อไป การจัดแถวให้ตรงและครบสมบูรณ์นั้น ก็เพื่อให้ดวงใจของทุกคนมุ่งสู่อัลลอฮฺ  พร้อมกัน

       13. ควรรีบตักบีรเริ่มละหมาดทันทีหลังอิหม่ามตักบีรเริ่มละหมาด และไม่ควรเกี่ยงกันที่จะขึ้นไปยังแถวหน้า นอกจากผู้นั้นจะเป็นผู้อาวุโสด้านศาสนา จึงจะสมควรขึ้นไปยังแถวหน้าหลังอิหม่าม

       14. ผู้ที่จะยืนแถวหน้าหลังอิหม่าม สมควรเป็นบุคคลที่อาวุโสด้านวัยวุฒิและคุณวุฒิ ผู้ที่มีความรู้ด้านศาสนา ผู้ที่ท่องจำอัลกุรอานได้มาก เพื่อว่าอิหม่ามผิดพลาดจะได้เตือนได้ หรือกหากอิหม่ามจำเป็นต้องออกจากการเป็นอิหม่ามจะได้ทำหน้าที่แทนได้อย่างถูกต้อง

       15. ผู้เป็นอิหม่ามนำละหมาด ควรกระทำหรืออ่านอย่างพอสมควร ไม่มากหรือนานเกินไป เพราะผู้ละหมาดตามนั้นมีทั้งผู้ป่วย ชราภาพ ผู้อ่อนแอ และบางครั้งพวกเขาอาจมีความจำเป็นด้านการงานที่สำคัญต้องกระทำหลังละหมาด หากจะละหมาดให้นานหรือยืดยาว อย่างไรให้กระทำเป็นการส่วนตัวหรือกับบุคคลที่ยินยอม

16. เมื่อละหมาดเสร็จ ไม่ควรจะรีบลุกออกจากมัสยิดทันที แต่ควรนั่งเพื่ออ่านอัลกุรอาน ซิกรุลลอฮฺและขอพรตามแบบอย่างของท่านนบี 

       17. สุภาพสตรีก็สมควรที่จะไปละหมาดรวมกันที่มัสยิด หากได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองและ แต่งกายเรียบร้อยตามแบบอิสลาม รวมทั้งไม่ใส่น้ำหอม แต่การละหมาดที่บ้านของเธอย่อมดีกว่า