การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
  จำนวนคนเข้าชม  45740


การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

เรียบเรียงโดย อิบนุมะฮฺดี

 

           มนุษย์นั้นถูกสร้างมาในสภาพที่อ่อนแอ แน่นอนว่ามนุษย์นั้นต้องได้รับความช่วยเหลือและการดูแลจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อยู่ตลอดเวลา ไม่มีช่วงใดในของชีวิตที่มนุษย์ไม่พึ่งอัลลอฮฺ ทุกสรรพสิ่งต้องได้รับการดูแล พึ่งพาความเมตตาจากอัลลอฮฺทั้งสิ้น โดยที่ทุกสิ่งนั้นต้องพึ่งพระองค์ แต่พระองค์ไม่ทรงพึ่งพาสิ่งใดทั้งสิ้น ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) พระองค์คืออัลลอฮฺผู้ทรงเอกะ อัลลอฮฺนั้นทรงเป็นที่พึ่ง(แก่ทุกสรระพสิ่ง)

พระองค์ไม่ประสูติ และไม่ทรงถูกประสูติ และไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนพระองค์

 (ซูเราะห์อัลอิคลาศ อายะห์ที่ 1-4)

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้นได้ทรงสร้างมนุษย์มาในสภาพที่อ่อนแอ และกำหนดให้มนุษย์นั้นมีความต้องการได้รับการช่วยเหลือจากมนุษย์ด้วยกันในการดำรงชีวิต อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

سورة النساء 28 (وَخُلِقَ الْإِنْسَانُ ضَعِيفًا)     “และมนุษย์นั้นถูกบังเกิดขึ้นในสภาพที่อ่อนแอ” 

 

          มนุษย์ถูกสร้างมาในสภาพที่อ่อนแอ ต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่มีมนุษย์คนใดที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเพียงคนเดียว แต่มนุษย์นั้นจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่นเพื่อดำรงชีวิต นับตั้งแต่เราเกิดมาเราก็ได้รับการช่วยเหลือการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง เมื่อเราเติบโตขึ้นเราก็ได้รับการช่วยเหลือจากเครือญาติ มิตรสหาย และผู้คนรอบตัวเราในสังคมมากขึ้นๆ จนกระทั่งเราตายเราก็ยังได้รับการช่วยเหลือจากผู้อื่นอีกเช่นกัน ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือระหว่างมนุษย์นั้นถือเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตของมนุษย์ ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้กำหนดไว้ หลักแห่งการช่วยเหลือซึ่งกันและกันนั้นจึงเป็นกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติที่อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดไว้ว่า จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งทางด้านของดุนยาและทางด้านศาสนา

 

          การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์นั้น นอกจากจะเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตแล้วยังเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นสุข การที่ผู้คนในสังคมนั้นต่างให้ความช่วยเหลือกันและกันในกิจการต่างๆ สร้างประโยชน์ต่างๆให้เกิดขึ้นทั้งทางดุนยาและศาสนานั้น ย่อมทำให้สังคมนั้นพัฒนาและอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข แต่หากสังคมใดขาดแคลน หรือไร้ซึ่งการให้ความช่วยเหลือต่อกัน แน่นอนสังคมนั้นย่อมล้าหลังและจะเกิดความเสียหายต่างๆตามมาในไม่ช้า

 

          สังคมที่ผู้คนให้ความช่วยเหลือกันและกัน นั่นคือสังคมที่ผู้คนมีจิตใจเมตตา มีความรักใคร่ เอื้อเฟื้อต่อกัน และสังคมที่ผู้คนไม่ให้ความช่วยเหลือต่อกัน นั่นคือสังคมที่ผู้คนมีความเห็นแก่ตัว ตระหนี่ ละโมบ การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นนั้นจึงเป็นการสร้างความสุขให้แก่ชีวิตของตัวเองและสร้างความเมตตา ความรักใคร่ เอื้อเฟื้อต่อกัน และความเป็นสุขให้แก่สังคม ขจัดออกซึ่งความเห็นแก่ตัว ความตระหนี่ ความละโมบและความคิดร้ายๆต่อผู้อื่นออกไปจากมนุษย์

 

          ศาสนาอิสลามคือ วิถีชีวิตอันสมบูรณ์ของมนุษย์ที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ประทานลงมาให้พร้อมกับมนุษย์คนแรก แน่นอนที่ศาสนาอิสลามนั้นได้ให้ความสำคัญและเน้นย้ำถึงเรื่องการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก โดยอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า 

سورة المائدة 2 (وَتَعَاوَنُواْ عَلَى الْبَرِّ وَالتَّقْوَى وَلاَ تَعَاوَنُواْ عَلَى الإِثْمِ وَالْعُدْوَانِ)

และพวกเจ้าจงช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และความยำเกรง

และจงอย่าช่วยเหลือกันในสิ่งที่เป็นบาป และเป็นศัตรูกัน”  

(ซูเราะห์อัลมาอิดะห์ อายะห์ที่ 2)

 

         การให้ความช่วยเหลือนั้นถือเป็นมาตรฐานในการชี้วัดถึงผู้ที่เป็นที่รักยิ่งของอัลลอฮฺนั้น ขึ้นอยู่ที่ว่า เขาสร้างประโยชน์ ช่วยเหลือแก่ผู้อื่นมากเพียงใด

ดังหะดีษของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ท่านได้กล่าวว่า

رواه الطبراني (أَحَبُّ النَّاسِ إلَى اللهِ أَنْفَعُهُمْ لِلنَّاسِ)

มนุษย์ที่เป็นที่รักยิ่งของอัลลอฮฺมากที่สุดคือมนุษย์ที่สร้างประโยชน์ให้กับเพื่อนมนุษย์มากที่สุด

 (รายงานโดยอัฏฎ็อบรอนีย์)

 

          การให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สร้างประโยชน์ให้แก่กันในทุกๆด้าน ทั้งในด้าน กำลังร่างกาย คำพูด อาหารการกิน ทรัพย์สิน ให้ความรู้ การช่วยเหลือทั้งด้านดุนยาและศาสนา และอื่นๆล้วนเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของมนุษย์ ชีวิตมนุษย์ทั้งการงานทางด้านดุนยาและการงานทางด้านศาสนานั้นต่างก็ต้องพึ่งวิถีแห่งการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดังเช่น วิถีชีวิตของบรรดานบีทั้งหลายก็จะมีบรรดาผู้ที่คอยอยู่ร่วมกับพวกเขา ให้การช่วยเหลือ สนับสนุนในการเผยแพร่ศาสนาของอัลลอฮฺ ต่อสู้ร่วมกับพวกเขาในหนทางของอัลลอฮฺ ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า 

(وَكَأَيِّن مِّن نَّبِيٍّ قَاتَلَ مَعَهُ رِبِّيُّونَ كَثِيرٌ فَمَا وَهَنُوا لِمَا أَصَابَهُمْ فِي سَبِيلِ اللَّهِ وَمَا ضَعُفُوا وَمَا اسْتَكَانُوا ۗ وَاللَّهُ يُحِبُّ الصَّابِرِينَ) سورة آل عمران 146

         “และนบีกี่มากน้อยแล้ว ที่กลุ่มชนอันมากมายได้ต่อสู้ร่วมกับเขา แล้วพวกเขาหาได้ท้อแท้ไม่ ต่อสิ่งที่ได้ประสบแก่พวกเขาในทางของอัลลอฮฺ และพวกเขาหาได้อ่อนกำลังลงไม่ และหาได้สยบไม่ และอัลลอฮฺนั้นทรงรักบรรดาผู้อดทนทั้งหลาย” 

(ซูเราะห์อาละอิมรอน อายะห์ที่ 146)

 

         และดังเช่นวิถีชีวิตของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ท่านถูกส่งมายังมนุษย์เพื่อเป็นความเมตตาแก่มวลมนุษย์ เพื่อสร้างประโยชน์แก่มวลมนุษย์ทั้งหลาย ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า 

(وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِّلْعَالَمِينَ) سورة الأنبياء 107

และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย

  (ซูเราะห์อันนิซาอฺ อายะห์ที่ 107)

 

          ชีวิตของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นแบบอย่างแก่มนุษยชาติทั้งหลาย ท่านเป็นทั้งผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือและให้การช่วยเหลือต่อผู้อื่น ทั้งกับครอบครัวของท่าน มิตรสหายของท่าน ผู้คนในสังคมต่างก็ได้รับการช่วยเหลือจากท่านทั้งทางด้านดุนยาและทางด้านศาสนา ชีวิตของท่านทั้งทางด้านดุนยา การเติบโตมาของท่าน อาชีพค้าขายของท่าน ชีวิตของท่านทั้งหมดก็อยู่ในระบบการช่วยเหลือต่อกันและกันกับผู้อื่นมาโดยตลอด 

 

          เมื่อท่านเติบโตมาท่านก็เป็นผู้ช่วยเหลือผู้อื่นในทุกๆด้าน และในเรื่องทางศาสนา การเผยแพร่ศาสนา การสอนศาสนา การออกสงคราม ญิฮาด และกิจการศาสนาอื่นๆ ท่านก็ได้รับการช่วยเหลือจากบรรดาศอฮาบะฮฺหรือมิตรสหายของท่าน และวิถีชีวิตของบรรดานบีและท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นสิ่งยืนยันว่าในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งทางดุนยาและศาสนานั้น มีสิ่งหนึ่งที่ขาดไปไม่ได้เลย นั่นคือ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

 

         และท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังได้ชี้แจงแก่มนุษย์ถึงการให้ความช่วยเหลือต่อผู้คนนั้นเป็นวิถีชีวิตของมนุษย์ มันอยู่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ โดยท่านได้บอกว่าทุกข้อกระดูกในร่างกายมนุษย์นั้นมีหน้าที่ที่ต้องทำเศาะดะเกาะห์ หรือทำทานต่อผู้อื่นในทุกๆวัน เพื่อขอบคุณต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

        ดังหะดีษที่รายงานจากท่านอบูฮุร็อยเราะห์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลอฮูอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

ทุกข้อกระดูกจากผู้คนทั้งหลายนั้น(มีหน้าที่)จะต้องทำเศาะดะเกาะฮฺทุกวัน, ทุกวันที่ตะวันขึ้น

ท่านไกล่เกลี่ยระหว่างคนสองคน (ที่ขัดแย้งกัน) ก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ,

และท่านช่วยเหลือผู้คนให้ขึ้นพาหนะของเขา หรือช่วยยกสิ่งของขึ้นบนพาหนะของเขาก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ,

และคำพูดที่ดีก็เป็นการเศาะดะเกาะฮฺ, และทุกก้าวที่เดินไปสู่การละหมาดก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ,

และการขจัดสิ่งอันตราย(หรือสิ่งสกปรก)จากทางเดินก็เป็นเศาะดะเกาะฮฺ” 

(รายงานโดยบุคอรีย์)

 

          ซึ่งหะดีษนี้ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้วางระบบแห่งการช่วยเหลือระหว่างผู้คนในสังคม ไว้อย่างครอบคลุม ตั้งแต่การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นในด้านความยุติธรรม โดยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง สร้างความปรองดองระหว่างผู้คน ถือเป็นเศาะดะเกาะห์ 

     ♣ การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นในด้านการสัญจร ด้วยพาหนะการเดินทาง ช่วยในการขนส่งผู้คนและสิ่งของ ช่วยยกของ ถือเป็นเศาะดะเกาะห์ 

     ♣ การช่วยเหลือผู้อื่นในด้านการสนทนา ด้วยการพูดสนทนาด้วยคำพูดที่ดี สุภาพไพเราะ พูดตักเตือนกันในความดี ห้ามปรามความชั่ว ถือเป็นเศาะดะเกาะห์ 

     ♣ การช่วยเหลือผู้อื่นในด้านการเป็นแบบอย่างที่ดี ด้วยการเดินไปละหมาดที่มัสยิดนั้น ทุกย่างก้าวถือเป็นความดี เป็นเศาะดะเกาะห์เป็นทานกุศลแก่ผู้อื่น เพื่อกระตุ้นหรือชักชวนผู้อื่นไปสู่การละหมาด ไปสู่ความดี และ

     ♣ การช่วยเหลือผู้อื่นในด้านความปลอดภัยและความสะอาด โดยการขจัดสิ่งอันตรายหรือขยะออกจากทางเดิน เพื่อความปลอดภัย ความสะดวกสบายในการเดินทางของผู้คนในสังคม 

          เหล่านี้คือรูปแบบสังคมแห่งการช่วยเหลือซึ่งกันและกันที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ยกตัวอย่างไว้ เพื่อให้มนุษย์นั้นได้ตระหนักถึงความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือต่อผู้คนว่า มันเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิต กระดูกทุกข้อนั้นมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือต่อผู้อื่น ในทุกๆวัน

 

          เหตุผลที่ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญต่อเรื่อง การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์นั้น เนื่องจากมันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของการอยู่รอด ดำรงชีวิต หากมนุษย์แม้เพียงสังคมเดียวขาดการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผู้คนในสังคมนั้นย่อมไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุข มนุษย์ถูกสร้างมาในสภาพที่อ่อนแอ ต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน นี่คือธรรมชาติของของมนุษย์ ดังนั้นอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์จึงได้กำชับมนุษย์ให้เห็นถึงคุณค่าของการให้ความช่วยเหลือกัน เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์นั้นดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุข

 

วัลลอฮุอะอฺลัม