เราจะแสวงหาริซกีย์ที่หะล้าลกันอย่างไร ?
  จำนวนคนเข้าชม  4633


เราจะแสวงหาริซกีย์ที่หะล้าลกันอย่างไร ?

 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า

 

โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! พวกเจ้าจงบริโภคจากสิ่งดีๆ ที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า

และจงขอบคุณอัลลอฮฺเถิด หากพวกเจ้าเป็นผู้เคารพภักดีต่อพระองค์เท่านั้น

(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 172)

 

           อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงเรียกร้องบรรดาผู้ศรัทธาด้วยคุณลักษณะที่พวกเขามีความสัมพันธ์กับพระองค์ว่า บัญญัติต่างๆ ที่ถูกบัญญัติแก่พวกเขานั้น พระองค์ได้ทรงแยกแยะและได้จำแนกไว้แล้วว่า อันไหนคือสิ่งที่เป็นหะล้าล และอันไหนคือสิ่งที่เป็นหะรอม พร้อมกับได้เตือนให้พวกเขารำลึกอยู่เสมอว่าสิ่งที่พระองค์ได้ประทานเป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา พระองค์เท่านั้นเป็นผู้ประทานให้ และสิ่งดีๆ ที่เป็นปัจจัยยังชีพของพวกเขา พระองค์ทรงอนุมัติให้แก่พวกเขา เพื่อให้พวกเขามีความรู้สึกว่า พระองค์มิได้ห้ามพวกเขาในการบริโภคสิ่งดีๆ ทั้งหลาย 

 

          และเมื่อพระองค์ทรงห้ามสิ่งใดแก่พวกเขาแล้วก็พึงทราบเถิดว่า สิ่งนั้นไม่ดี มิใช่ว่าพระองค์ประสงค์ที่จะห้ามโดยปราศจากเหตุผล หรือต้องการจะทำความลำบากใจให้แก่พวกเขาก็หาไม่ ทั้งๆ ที่พระองค์ก็ได้ประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกเขาอย่างล้นเหลืออยู่แล้ว และพระองค์ยังได้ชี้แนะพวกเขาให้ขอบพระคุณ หากพวกเขาปรารถนาที่จะเคารพภักดีต่อพระองค์องค์เดียวโดยปราศจาสิ่งคู่เคียงใดๆ ฉะนั้นให้พวกเขาทราบไว้ด้วยว่า การขอบคุณนั้นเป็นอิบาดะฮฺ เป็นการภักดีต่อพระองค์ และเป็นความโปรดปรานที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงพอพระทัยต่อปวงบ่าวของพระองค์

         ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คือ ความหมายของอายะฮฺเดียว

 

          พืชพรรณ ธัญญาหาร รวมทั้งสัตว์ต่างๆ ทั้งบนบกและในน้ำที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงให้บังเกิดมาในพิภพนี้ ก็เพื่อให้มนุษย์นำมาปรับปรุงเป็นอาหารตามความปรารถนา แต่พระองค์ทรงกำชับแก่บรรดามุอฺมิน ให้เลือกบริโภคเฉพาะแต่อาหารที่ดีๆ

 

          อาหารที่ดี หมายถึง อาหารที่หะล้าล ซึ่งจะนำมาบำรุงร่างกายและจิตใจ เพราะอาหารที่มนุษย์เราบริโภคนั้น มีทั้งชนิดที่บำรุงร่างกายและทำลายร่างกาย และชนิดที่บำรุงชีวิตจิตใจ และทำลายจิตใจ หรือ อีกนัยหนึ่ง อาหารที่ดี หมายถึง อาหารที่ได้มาโดยทางหะล้าล คือ สุจริตและชอบธรรม มิใช่ที่ได้มาโดยทางหะรอม คือ ทุจริต หรือไม่ชอบธรรม 

 

อัลลอฮฺ ตะอาลาได้ตรัสต่อไปอีกว่า

พวกเจ้าจงกินและจงดื่ม และอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริง พระองค์ไม่ทรงชอบบรรดาผู้ที่ฟุ่มเฟือย

(อัลอะอฺรอฟ 7 : 31)

 

           ในอายะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงอนุญาตให้บ่าวของพระองค์ กิน และดื่ม สิ่งที่พระองค์ได้ประทานมาให้ในโลกนี้ตามใจชอบ แต่พระองค์ทรงกำชับมิให้กินและดื่มจนเกินความจำเป็น ให้เป็นไปพอเหมาะพอควร ทั้งนี้ก็เพื่อให้ริซกีย์ที่พระองค์ประทานมาให้แก่มนุษย์นั้น แผ่กระจายไปอย่างทั่วถึงกัน และพระองค์มีความปรารถนาที่จะให้มนุษย์อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก โดยมีการกินอยู่พอเหมาะสมแก่ฐานะทั่วหน้ากันทุกคน พระองค์มิได้สร้างโลกนี้มาเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือหมู่คณะหนึ่งหมู่คณะใดโดยเฉพาะ

 

          ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมมนุษย์ทุกวันนี้ และเป็นปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดความโกลาหลวุ่นวายอยู่ทั่วทุกมุมเมืองก็คือเรื่องของท้อง เรื่องของการทำมาหากิน 

 

     ♣ มนุษย์เราทุกคนต้องต่อสู้ดิ้นรน ตะเกียกตะกาย โดยทุ่มเทกำลังและความสามรถ ตลอดจนสติปัญญาอย่างเต็มที่เพื่อให้ท้องอิ่ม เพราะว่าท้องมีกองทุกข์อยู่เบื้องหลัง นั่นก็คือ ความอดอยาก ความหิวโหย การเจ็บไข้ได้ป่วย และในที่สุดก็คือความตาย

 

     ♣ มนุษย์ทุกคนกลัวความหิว เพราะเมื่อเกิดความหิวขึ้นมา ตาก็บอด หูก็หนวก และหัวใจก็มืด เขาจะทำทุกอย่างเพื่อขับไล่ความหิวให้พ้นไป

 

     ♦ ท้อง(ความหิว)ทำให้มนุษย์ลืมทุกอย่าง ลืมตนเอง ลืมพระผู้เป็นเจ้า ลืมการเกิดใหม่ ลูกลืมพ่อแม่ พี่ลืมน้อง น้องลืมพี่ ญาติลืมญาติ เพื่อนลืมเพื่อน

 

     ♦ ท้อง(ความหิว)เป็นบ่อเกิดแห่งความงก โลภ หลง ความเห็นแก่ตัว การแย่งชิง การทะเลาะวิวาท การเป็นศัตรูกัน และเอารัดเอาเปรียบกัน

 

         พลเมืองของโลกเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกๆ ปี การทำมาหากินคับแคบฝืดเคืองลง กลายเป็นปัญหาใหญ่ ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาได้ อันเป็นต้นเหตุที่ทำให้มนุษย์พากันสลัดทิ้งเสียซึ่งศีลธรรม จริยธรรม มนุษยธรรม ความละอาย ความเอ็นดูเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยเหลือเกื้อกูล ตลอดจนกระทั่งความรักใคร่ ความสามัคคีระหว่างพี่น้อง ญาติ และเพื่อนฝูง ต่างก้มหน้าก้มตาตะเกียกตะกาย กอบโกย สะสม โดยมิได้คำนึงถึงเรื่องบาป เรื่องบุญ ความสุจริตหรือทุจริต ความอับอาย ขายหน้า 

 

          มนุษย์เราทุกวันนี้ส่วนมากยอมขายทุกอย่างเพื่อท้อง ขายตัว ขายหน้า ขายเกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนกระทั่งขายศาสนา ขายสวรรค์มาซื้อนรก ปัจจุบันนี้มาถึงยุคที่ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัย ฮิวะซัลลัม ได้กล่าวล่วงหน้าไว้ เมื่อ 15 ศตวรรษ มาแล้วว่า

 

สมัยหนึ่งจะมาถึงมนุษยชาติ โดยที่เขาไม่คำนึงถึงสิ่งที่เขาได้มาว่าจะโดยทางหะล้าล หรือทาง หะรอม

 

มีรายงานจากท่านญาบิรฺ ร่อฏิยัลลอฮุอันฮุ แจ้งว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า 

พวกท่านอย่าได้ร้อนอก ร้อนใจ หรือรีบเร่งในเรื่องริซกีย์ (ปัจจัยยังชีพ)

เพราะว่า มนุษย์ทุกคนจะตายก็ต่อเมื่อริซกีย์ของเขาสิ้นสุดลงแล้วเท่านั้น

ดังนั้น พวกท่านจงพยายามทำให้ดีในการหาริซกีย์ คือ เอาแต่ที่หะล้าล และทิ้งสิ่งหะรอม

(บันทึกโดย อิบนฺ-ฮิบบาน)

 

          ทั้งมนุษย์และบรรดาสิ่งที่มีชีวิติอยู่ในโลกนี้ ซึ่งอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ให้บังเกิดมานั้น พระองค์ได้จัดเตรียมแบ่งสรรปันริซกีย์ไว้ให้อย่างพร้อมเพรียงแล้ว ซึ่งพระองค์ได้ประกาศรับรองไว้ว่า

และไม่มีสัตว์ตัวใดที่เหยียบย่ำอยู่ในแผ่นดิน เว้นแต่ปัจจัยยังชีพของมันเป็นหน้าที่ของอัลลอฮฺ"

(ฮู้ด 11 : 6)

 

          แต่การแสวงหาปัจจัยยังชีพนั้น ต้องหาให้ถูกทาง หาด้วยการมีระเบียบ ไม่ใช่หาโดยทางซิกแซ็ก หรือโดยทางลัด หรือด้วยจิตใจที่มีแต่ความโลภ บางคนจะใช้เวลาหาจนกระทั่งไม่มีเวลามาเหลียวแลดูครอบครัว หรือไม่มีเวลาทำอิบาดะฮฺ ไม่มีเวลาเพื่อกิจการส่วนรวม อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง

 

          การแสวงหาริซกีย์ที่อิสลามใช้ให้กระทำนั้น จะต้องเลือกหาส่วนที่ดี ที่หะล้าล ด้วยวิถีทาง และด้วยวิธีการที่หะล้าลถูกต้อง เพราะของหะรอมที่เรากินเข้าไปนั้น มันจะงอกเงยและเป็นพิษเป็นภัยแก่เรา ทำให้ของที่หะล้าลเดือดร้อนไปด้วย 

 

          ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ระมัดระวังในเรื่องนี้มาก และค่อลีฟะฮฺ อะบูบักรฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ก็พิถีพิถันและเข้มงวดในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ครั้งหนึ่งมีคนนำเอาอาหารมาให้ท่าน อะบูบักรฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ซึ่งเป็นอาหารที่ดีมีรสชาติอร่อย ท่านได้กินเข้าไปและขอบคุณผู้ที่นำมาให้ท่าน ต่อมาท่านได้ทราบว่าอาหารที่มีผู้นำมาให้ท่านนั้น ได้มาโดยทางหะรอม ไม่ถูกต้อง ท่านจึงเอานิ้วมือล้วงเข้าไปในคอ และอาเจียนออกมา ทั้งนี้เพราะท่านตระหนักดีถึงคำสั่งสอนของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า

 

เนื้อทุกชิ้นส่วนที่งอกเงยมาจากของหะรอมนั้น ไฟนรกเท่านั้นเป็นสิ่งที่คู่ควรอย่างยิ่งแก่มัน

 

          การมีตักวาหรือความยำเกรงต่อ อัลลอฮฺ ตะอาลา นับได้ว่าเป็นบทบาทสำคัญยิ่งในการแสวงหาริซกียฺหรือปัจจัยยังชีพ เพราะตราบใดที่มนุษย์ทุกคนระลึกอยู่เสมอว่า อัลลอฮฺ ตะอาลา เป็นผู้ประทานริซกีย์แก่เขา ทรงสอดส่อง ทรงรอบรู้ ทรงเห็นการกระทำของมนุษย์ทุกฝีก้าวและทุกขณะจิต ดังนั้น การกระทำที่ไม่ถูกต้องหรืออกนอกลู่นอกนางก็จะไม่เกิดขึ้นเป็นแน่ 

 

          และหากทุกคนรำลึกอยู่เสมอถึงคำมั่นสัญญาที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงให้ไว้แก่ปวงบ่าวของพระองค์ในอายะฮฺต่อไปนี้แล้ว ความกลัวต่างๆ เช่น กลัวยากจน กลัวอดยาก และกลัวอื่นๆ อีกหลายร้อยอย่าง ก็จะสูญสิ้นไปแล้วก็ตั้งหน้าทำมาหากินไป ถึงแม้จะเป็นริซกีย์ที่น้อยมาก แต่หะล้าล เป็นศิริมงคล ก็ยังดีกว่าริซกีย์ที่มากมายแต่มีสิ่งที่หะรอมเจือปน แน่นอนย่อมจะไม่เป็นศิริมงคล ดังนั้น ผู้ใดมีความยำเกรงแล้ว พระองค์จะเปิดหนทางให้แก่เขาอย่างแน่นอน พระองค์ได้ตรัสไว้ว่า

 

และผู้ใดเกรงกลัวอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะให้ทางออกแก่เขา (พ้นจากความทุกข์ยากในโลกนี้)

และพระองค์จะประทานปัจจัยยังชีพให้แก่เขา โดยที่เขาไม่คาดคิดมาก่อนเลย

 

(อัฏเฏาะลากฺ 65 : 2-3)

 

 

ที่มา : อัลอิศลาห์ สมาคม บางกอกน้อย