การทะเลาะวิวาท
  จำนวนคนเข้าชม  1601


การทะเลาะวิวาท

 

โดย อาจารย์อามีน สมันเลาะ

 

          พี่น้องที่รักทั้งหลาย เรามุสลิมทุกคนเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและเป็นผู้ที่มีศีล 5 และ ศรัทธา 6 แต่พวกเราทุกคนก็หลีกหนีไม่พ้นจากการทะเลาะวิวาท การโต้แย้งกันในชีวิตประจำวันของพวกเรา มันไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่แปลกก็คือ การทะเลาะวิวาทในสิ่งที่ได้รับประโยชน์ ผู้คนจะแสวงหาประโยชน์จากสิทธิของผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยการโกหกหรือใส่ร้ายและจะพยายามกระทำในสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม

 

         ถ้าเป็นมุสลิมที่แท้จริง และมีอีมานต่ออัลลอฮฺ หากมีการทะเลาะวิวาทหรือขัดแย้งกันละก็ จะไม่ยึดถือที่คำพูด หรือการชี้แจงที่เก่งกว่าฝ่ายตรงข้าม แต่จะต้องยึดถือความจริงที่ถูกต้องเป็นเกณฑ์ 

 

          ได้มีรายงานจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า ท่านได้ยินเสียงทะเลาะวิวาทกันที่หน้าประตูห้องของท่าน ท่านจึงได้ออกไปที่ พวกเขาแล้ว ท่านกล่าวว่า

 

     “แท้จริงแล้ว ฉันก็เป็นปุถุชนคนธรรมดา เมื่อมีผู้ที่พิพาทกันมาหาฉัน ซึ่งบางคนอาจจะชี้แจงเก่งกว่าอีกบางคน จึงทำให้ฉันคิดว่าเขาพูดจริง ฉันก็จะตัดสินไปตามนั้น 

      ดังนั้น ใครก็ตาม ที่ฉันตัดสินเขาโดยไปเอาสิทธิของผู้อื่นแล้ว แท้จริง มันคือส่วนหนึ่งของไฟนรก ถ้ามันถูกต้อง ก็จงเอาไปปฏิบัติ ถ้าไม่ถูกต้อง ก็ให้ทิ้งไป อย่าได้นำเอาไปปฏิบัติ

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์)

 

          การตัดสินนั้นต้องตัดสินด้วยความเป็นธรรม จะไม่ดูแต่สิ่งที่เราเห็นๆกันแต่เพียงภายนอกเท่านั้น หรือจะเป็นคำพูด หรือการชี้แจงที่เก่งกว่า เหมือนพวกมีเล่ห์ มีเหลี่ยม มีอุบาย ที่พูดแล้วสามารถทำให้ผู้อื่นเชื่อในคำพูดของตนเท่านั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ว่า

 

แท้จริง อัลลอฮฺใช้ให้รักษาความยุติธรรม และให้ทำดี และให้บริจาคแก่ญาติที่ใกล้ชิด

(อันนะฮฺล 16 : 90)

 

และอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้อีกในซูเราะฮฺ อัลฮุญุร็อต อายะฮฺที่ 9 ว่า

 

     “และหากมีสองฝ่ายจากบรรดาผู้ศรัทธาทะเลาะวิวาทกัน พวกเจ้าก็จงไกล่เกลี่ยระหว่างทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งนั้นละเมิดอีกฝ่ายหนึ่ง พวกเจ้าก็จงปรามฝ่ายที่ละเมิดสิทธิ จนกว่าฝ่ายนั้นจะกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮฺ

     ฉะนั้น หากฝ่ายนั้นกลับสู่พระบัญชาของอัลลอฮฺแล้ว พวกเจ้าก็จงประนีประนอมระหว่างทั้งสองฝ่ายด้วยความยุติธรรม และพวกเจ้าจงให้ความเที่ยงธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายเถิด แท้จริง อัลลอฮฺทรงรักใคร่บรรดาผู้ที่ให้ความเที่ยงธรรม

(อัลฮุญุร็อต 49 : 9)

 

และอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้อีกว่า ในซูเราะฮฺ อันนิซาอฺ อายะฮฺที่ 58

 

แท้จริง อัลลอฮฺทรงใช้ให้พวกเจ้ามอบคืนบรรดาของฝากแก่เจ้าของมัน

และเมื่อพวกเจ้าตัดสินความระหว่างผู้คน พวกเจ้าก็จะต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม

(อันนิซาอฺ 4 : 58)

 

          พี่น้องที่รักทั้งหลาย ตามอายะฮฺที่อัลลอฮฺตรัสไว้ในอัลกุรอาน พระองค์ตรัสเรื่องความเป็นธรรมหรือให้ความยุติธรรมไว้มากมาย เพราะพระองค์ทรงรักความยุติธรรม และผู้ให้ความเที่ยงธรรมไว้มาก จนไม่สามารถจะนับได้

 

เมื่อพูดถึงความยุติธรรมแล้ว มันมีรูปแบบมากมาย เช่น

 

     1. ความยุติธรรมที่มีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยไม่มีการตั้งภาคีต่อพระองค์ในการทำ อิบาดะฮฺ และลักษณะของพระองค์ จะต้องเชื่อฟัง (ภักดี) โดยไม่ฝ่าฝืน รำลึกถึงพระองค์โดยไม่ลืมขอบคุณพระองค์และไม่ปฏิเสธ

 

     2. ความยุติธรรมในการตัดสินระหว่างผู้คนทั้งหลาย ให้สิทธิของเขาที่ควรจะได้

 

     3. ความยุติธรรมในระหว่างสามี ภรรยาและลูกๆ โดยไม่ให้คนหนึ่งคนใดมากกว่าคนอื่น และไม่ให้บางคนนั้นมีสิทธิหรือได้รับความรักมากกว่าคนอื่น

 

     4. ความยุติธรรมในด้านคำพูด โดยไม่เป็นพยานเท็จ ไม่พูดโกหกหรือพูดสิ่งที่ไร้สาระ

 

     5. ความยุติธรรมในการเชื่อถือ โดยไม่เชื่อถือสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นความจริง และไม่ชมเชย สิ่งที่ได้มาอย่างไม่ถูกต้องและไม่เป็นความจริง

 

          ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่า ความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมในการทำหน้าที่นั้นสำคัญที่สุด สำหรับผู้บริหาร ผู้ปกครอง ผู้นำ ผู้พิพากษา เมื่อพูดถึงผู้พิพากษาส่วนมากแล้ว เขาจะตัดสินไปตามที่เขาเห็นหรือพยานหลักฐานที่ชัดเจน นี่คือการตัดสินในโลกดุนยา แต่สำหรับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นั้น พระองค์ทรงมองถึงสิ่งที่อยู่ในหัวใจ ดังนั้น ผู้ใดที่เอาทรัพย์สินของพี่น้องของเขาไปด้วยคำพูดหรือการชี้แจงที่เก่งกว่า หรือเล่ห์เหลี่ยมที่เอามาเป็นของตัวเขาเอง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งจากไฟนรก แม้จะเป็นสิ่งที่เล็กน้อยก็ตาม 

 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

     “และเจ้าจงอย่านึกว่า อัลลอฮฺทรงละเลยต่อสิ่งที่พวกอธรรมได้ปฏิบัติ แท้จริง พระองค์ทรงประวิงเวลาให้พวกเขาจนถึงวันที่สายตาจับจ้องไม่กระพริบ (วันกิยามะฮฺ)”

(อิบรอฮีม 14 : 42)

 

          เมื่อเราได้รู้แล้ว่า ความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมนั้นมีความสำคัญขนาดไหน แน่นอน ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรจะรู้อีกก็คือ การลำเอียง ที่มันจะคู่อยู่ตลอดเวลา มันจะเกิดขึ้นก็เมื่อมีการทะเลาะวิวาทหรือขัดแย้งกัน ผู้ตัดสินหรือผู้ปกครองหรือผู้มีอำนาจทั้งหลาย และที่จะให้การช่วยเหลือคนที่ตัวเองรักหรือมีผลประโยชน์เท่านั้น

 

          พี่น้องที่รักทั้งหลาย ชีวิตของอาหรับในสมัยญาฮิลียะฮฺนั้น ตั้งอยู่บนการลำเอียง มันเป็นลักษณะที่น่าตำหนิ พวกเขาไม่แสวงหาความเป็นธรรมและความจริง เมื่อคนหนึ่งคนใดไปขอความช่วยเหลือจาก พี่น้องของเขา พวกเขาก็รีบเร่งให้ความช่วยเหลือทันที แม้ว่าเขาผู้นั้นจะเป็นผู้อธรรม หรือเป็นผู้ที่ละเมิดสิทธิของผู้อื่นก็ตาม 

 

          ดังนั้น มันจะทำให้เกิดการสู้รบกัน จะเป็นสาเหตุทำให้สิทธิต่างๆ หมดไป คนที่แข็งแกร่งกว่าจะกดขี่คนที่อ่อนแอกว่า จิตวิญญาณแห่งการต่อต้านหรือการล้างแค้นก็จะเกิดขึ้นอย่างมากมายในสังคม

 

          แต่เมื่ออิสลามได้เกิดขึ้น อิสลามได้กำจัดการลำเอียงที่น่าตำหนินี้ให้หมดไป อิสลามได้ห้ามการอธรรมและการละเมิดสิทธิ เพราะมันเป็นสาเหตุในการขัดแย้ง และการฆ่าฟันกันในหมู่มุสลิม และอิสลามให้มีความเป็นกลาง ในหมู่ผู้ขัดแย้งกันของมุสลิม และอิสลามได้ส่งเสริมให้มีการปิดกั้นการเป็นศัตรูกัน ละเมิดสิทธิกัน ดังนั้น อิสลามจึงกำหนดให้ผู้กระทำมีความรับผิดชอบต่อการทำผิดของเขา 

 

อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า

และแต่ละชีวิตนั้นจะไม่แสวงหาสิ่งใด นอกจากจะเป็นภาระแก่ชีวิตนั้นเองเท่านั้น

และไม่มีผู้ใดแบกรับภาระคนใด จะแบกรับภาระของผู้อื่นได้

(อัลอันอาม 6 : 164)

 

          ดังนั้น ด้วยรากฐานนี้ อิสลามจึงได้ทำลายการลำเอียงที่น่าตำหนินี้ และให้ความเท่าเทียมกันในหมู่ผู้คน ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

 

     “สำหรับคนอาหรับนั้นใช่ว่าจะมีความประเสริฐเหนือกว่าคนที่ไม่ใช่อาหรับ และคนผิวแดงก็ไม่ใช่จะประเสริฐกว่าคนผิวดำ แต่ความประเสริฐนั้นขึ้นอยู่กับการตักวา (ความยำเกรง) เท่านั้น

(บันทึกโดย อะฮฺมัด)

 

          ดังนั้น ความวุ่นวายก็จะสงบลง อาชญากรรมก็จะน้อยลง หัวใจก็จะมีแต่ความสมัครสมานกัน ความยุติธรรมก็จะเกิดขึ้น บรรดามุสลิมก็จะกลายเป็นประชาชาติเดียวกัน มีความสมัครสมานสามัคคีกัน ให้ความช่วยเหลือต่อกันในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นความดี ให้การตัดสินด้วยความจริงและความยุติธรรม เป็นผู้ที่ยึดมั่นต่อศาสนาของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พระองค์ตรัสว่า

 

ส่วนอำนาจนั้น เป็นของอัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ และบรรดาผู้ศรัทธา

(อัลมุนาฟิกูน 63 : 8)

 

ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ยังได้กล่าวไว้อีกว่า

     “จะไม่ใช่พวกเรา ผู้ที่เรียกร้องไปสู่การถือพรรคถือพวก และก็ไม่ใช่พวกเรา ผู้ที่ฆ่าผู้อื่นเพราะการถือพรรคถือพวก และก็จะไม่ใช่พวกเรา ผู้ที่ตายไปด้วยการถือพรรคถือพวก

(บันทึกโดย อบูดาวูด)

 

          พี่น้องที่รักทั้งหลาย เราจะเห็นได้ว่า สองสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น มันมีความสำคัญติดอยู่ด้วยกันทั้งสอง อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ก็ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจน ส่วนสิ่งที่สองคือ การลำเอียงนั้นชัดเจนมากที่จะไม่ให้เราท่านทั้งหลายไปเกี่ยวข้องกับมัน

 

ขออัลลอฮฺทรงฮิดายะฮฺพวกเราด้วยเถิด อามีน

 

 

ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 28 มกราคม 2555