อัจฉริยะข้ามคืน
  จำนวนคนเข้าชม  3872


อัจฉริยะข้ามคืน

 

โดย... อ.มานาฟ อันนันนับ

 

          ในศาสนาอิสลามบุตรหลานของเราเปรียบเสมือนกับผลิตผลของจิตใจ เป็นรากฐานที่ชัดเจน เป็นของขวัญที่พระจ้าทรงประทานให้กับเรา เป็นสายสัมพันธ์ของมนุษย์จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เป็นผู้ที่คอยรำลึก คอยขอพรให้กับเรา เมื่อเราตายไปแล้ว เป็นความสุข และเป็นเครื่องประดับให้กับเราในการดำรงชีวิตในโลกนี้ พ่อแม่ทุกคนล้วนต้องการให้บุตรหลานเป็นคนดี เป็นคนมีความรู้ เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จทั้งโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยกับการกระทำของบรรดาพ่อแม่ และด้วยกับการอนุมัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ดังที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

     “เด็กทุกๆ คน เกิดมาบนความบริสุทธิ์ ดังนั้น พ่อแม่ทำให้เขาเป็นยาฮูด หรือทำให้เขาเป็นคริสเตียน หรือมายูซี (บูชาไฟ)”

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรีย์)

 

          แท้จริงแล้ว พื้นฐานของเด็กแต่ละคนเมื่อเกิดขึ้นมา ต่างไม่รู้สภาพของตัวเองว่า ตัวของเขานั้นจะเป็นมุสลิม คริสเตียน หรือเป็นผู้ที่ปฏิเสธ (กาเฟร) แต่พ่อแม่ พี่น้อง และคนรอบข้างของเขาจะเป็นผู้ที่คอยชี้แนวทางที่ถูกต้องให้กับบรรดาเด็กที่เกิดมานั้น จึงจำเป็นสำหรับพ่อแม่ที่ดี ที่จะต้องสำนึกคิดว่าตัวของเขาเองนั้นเป็นบุคคลแรกที่จะต้องรับผิดชอบรักษาอะมานะฮฺที่ได้รับมา จะต้องทุ่มเทเวลา ในการเอาใจใส่ดูแล และให้ความสำคัญในการสั่งสอน และชี้ทางที่ถูกต้องให้กับบรรดาลูกของพวกเขา โดยให้เขาได้เคยชินกับสภาพแวดล้อมของอิสลาม พร้อมทั้งเพิ่มพูนความรู้ที่จำเป็นสำหรับตัวเขา ในการดำเนินชีวิตในโลกดุนยานี้ โดยมิต้องพิจารณาถึงวัยและเพศของพวกเขา และจากส่วนหนึ่งของการที่จะสร้างให้บุตรหลานของเราเป็นผู้หนึ่งที่เป็นผู้ที่มีความรู้

 

     ♥ การขอดุอาอฺจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ซึ่งเป็นแนวทางที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ทำเป็นแบบอย่างไว้ และเป็นจุดเริ่มต้นของทุกๆ ความดี ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ขอดุอาอฺให้กับท่านอับดุลลอฮฺ บิน อับบาสให้ท่านนั้น เป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องของศาสนา และรู้ถึงความหมายที่แท้จริง ซึ่งเราได้ประจักษ์ถึงความเฉลียวฉลาดของท่านในการตัดสินปัญหาต่างๆ

 

    ♥ ปลูกฝังความรักในการเรียนรู้หลักการของอัลอิสลาม แนวทางที่ถูกต้องให้กับเด็กพร้อมทั้งเริ่มสอนพวกเขาตั้งแต่เยาว์วัย การเริ่มสอนเด็กในขณะที่เขายังเล็กมากๆ จนทำให้ติดเป็นนิสัย ที่ฝังอยู่ในจิตใจของพวกเขา ซึ่งมันจะเป็นผลที่จะนำพวกเขาเหล่านั้นไปสู่ความรักในการเรียนรู้โดยธรรมชาติ โดยไม่เกิดจากการบังคับ และไม่เกิดอคติในการที่จะเรียนรู้และเป็นสาเหตุใหญ่ที่จะทำให้เขานั้นเป็นผู้ที่สูงส่งทั้งดุนยาและอาคิเราะฮฺ 

     ดังที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ตรัสว่า

 

     “และอัลลอฮฺทรงทำให้พวกเขาออกมาจากครรภ์มารดาของพวกเจ้า โดยที่พวกเจ้าไม่รู้สิ่งใดเลย

     และพระองค์ทรงสร้างบรรดาการได้ยิน บรรดาการเห็น และบรรดาหัวใจ เพื่อพวกเจ้ากตัญญูรู้คุณ

(อันนะฮฺล )

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงสร้างมนุษย์มาโดยเขาไม่รู้สิ่งใดเลย แต่พระองค์ทรงสร้างสื่อในการเรียนรู้และเข้าใจจากการได้ยิน การได้เห็นและหัวใจหรือสติปัญญานั่นเอง เพื่อให้มนุษย์กตัญญูรู้คุณ ถึงการมีผู้สร้างพวกเขา เพื่อให้พวกเขาได้พิจารณาใคร่ครวญและยอมรับผลการพิจารณาที่อัลลอฮฺตรงเตรียมไว้ให้ 

          ดังนั้น เมื่ออัลลอฮฺทรงกล่าวคำว่าหู (การได้ยิน)” มาก่อน ก็แสดงว่าการได้ยินมีผลการรับรู้ได้ก่อนนั่นเอง ดังนั้น เมื่อยามเด็กๆ หากเราได้ยินคำว่าอัลลอฮฺได้ยินคำว่ามุฮัมมัดหรือคำใดก็ตามอยู่บ่อยครั้ง คำต่างๆ เหล่านั้นมันก็จะฝังรากอยู่ภายในจิตใจของเด็กๆ ไปจนตลอดชีวิตของเขานั่นเอง

 

     ดังที่ท่าน ฮะซัน บิน อาลี ได้กล่าวว่าการเรียนรู้ตั้งแต่เยาว์วัย เปรียบเสมือนกับการแกะสลักลงบนหิน

 

     ♥ ส่งเสริมให้เด็กท่องจำอัลกุรอาน และอัลฮะดิษ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ เปรียบเสมือนรากฐานของศาสนา เป็นแสงสว่างที่จะคอยนำทางพวกเขาไปสู่ความรู้และความสำเร็จและเป็นเกราะป้องกันตัวของพวกเขาจากความผิดพลาดในการดำเนินชีวิต และเป็นรากฐานสำคัญของการศึกษาในวิชาแขนงต่างๆ 

 

     โดยที่ท่าน ซูยูฏีย์ได้กล่าวว่าการสอนเด็กให้รู้จักอัลกุรอาน เป็นรากฐานของอิสลาม และให้มันเจริญเติบโตขึ้นตั้งแต่วัยเยาว์และคงอยู่ในหัวใจของพวกเขาด้วยกับแสงแห่งความรู้นั้นก่อนที่อารมณ์ความประพฤติที่สกปรกและหลงผิดจะมีอิทธิพลเหนือจิตใจของพวกเขา” 

 

          ค้นหาและปฏิบัติในสิ่งที่จะมาเปิดเผยพรสวรรค์ของเด็ก พร้อมทั้งสนับสนุนในสิ่งดังกล่าว แท้จริงแล้วเครื่องหมายของความเฉลียวฉลาด ความเป็นอัจฉริยะของคนๆ หนึ่งจะเกิดขึ้นในตอนเด็กๆ และด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จึงสมควรที่เราจะต้องพยายามหาสิ่งที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน ในการเสริมสร้างความอัจฉริยะนั้นให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยอยู่ภายกรอบของศาสนา

 

          มีคนก่อนหน้านี้เคยได้ปฏิบัติมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ท่านอิมามอัลบุคอรีย์ในตอนแรกนั้น ท่านพยามยามที่จะเป็นผู้รู้ และเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องของวิชาฟิกฮฺ แต่ท่านมุฮัมมัด บิน ฮะซัน ได้กล่าวแก่ท่านอิมาม อัลบุคอรีย์ว่า ท่านจงไปศึกษาหาความรู้ความเข้าใจในวิชาฮะดิษเถิด ซึ่งท่านมุฮัมมัดได้เห็นความเหมาะสมและความอัจฉริยะของอิมาม อัลบุคอรีย์ในด้านนี้ โดยที่ท่านอิมาม อัลบุคอรีย์ก็เชื่อในคำกล่าวนั้น โดยผลสุดท้ายท่านก็ได้เป็นผู้นำในวิชาฮะดิษอย่างที่เราได้รู้กัน

 

     ♥ เลือกครูที่ดีและโรงเรียนที่ดีที่อยู่ในแนวทางของอิสลามให้กับลูกๆ ของเรา โดยที่ครูที่ดีก็จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบุตรหลานของเรา และเป็นผู้ช่วยที่ดีให้กับเขาในการดำเนินชีวิตในโลกนี้อย่างผู้ที่มีความรู้ เช่นเดียวกับโรงเรียนที่จะเป็นเบ้าหลอมพฤติกรรมของเขาในการใช้ชีวิตให้อยู่ในรูปแบบสังคมตามแบบฉบับของอิสลาม

 

     ♥ ให้เด็กมีความผูกพันกับมัสยิด และศึกษาหาความรู้ในมัสยิด มัสยิดนั้นเป็นสถานที่ๆ สร้างนักวิชาการคนแล้วคนเล่า จึงสมควรที่เราจะสนับสนุนเด็กๆ ให้ไปละหมาดที่มัสยิด โดยที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เรียกร้องให้บรรดาอิมามอ่านซูเราะฮฺสั้นๆ ในการละหมาด เพื่อเป็นความเมตตาแก่เด็ก ซึ่งจากที่กล่าวมากเป็นสิ่งยืนยันถึงการอนุญาตให้เด็กๆ สามารถละหมาดในมัสยิดได้ โดยที่ผู้ใหญ่นั้นต้องคอยอบรมและตักเตือนพวกเขาอย่างนุ่มนวลเพื่อไม่ให้พวกเขานั้นเกิดความอคติต่อการมาละหมาดที่มัสยิด

 

          ใช้บ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และเป็นห้องสมุดแก่เด็กๆ โดยการใช้เสียงหรือสื่อต่างๆ ที่มีประโยชน์และเหมาะสมกับวัยของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นอัลกุรอาน ฮะดิษ บทความที่เป็นประโยชน์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสนับสนุนให้พวกเขารู้จักชีวประวัติของนบี และบุคคลสำคัญของอิสลามโดยการเล่าเรื่อง เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของพวกเขา โดยที่การเล่าเรื่องต่างๆ เหล่านั้น นับว่าเป็นของเล่นชิ้นใหญ่ สำหรับเด็กในการที่จะคอยช่วยสนับสนุนความรู้ ความเข้าใจ ความรักในการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

 

          และเช่นเดียวกันแม้แต่นักวิชาการที่ไม่ใช่มุสลิมเองก็ยังยอมรับและมีความคิดเห็นในการสนับสนุนแนวทางในการส่งเสริมบุคคลให้มีสติปัญญา ความรู้ตั้งแต่เยาว์วัย โดยในปัจจุบันมีผลการวิจัยของนักค้นคว้าวิจัย ของสถาบันการศึกษาเพื่อความก้าวหน้าของศักยภาพมนุษย์ที่ค้นพบว่า เมื่อแรกเกิด เด็กทารกเปรียบเสมือนหนังสือที่ไร้รอยขีดเขียน เขามีศักยภาพที่จะเป็นอะไรก็ได้ และการที่เขาจะเป็นคนแบบไหนนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนดี มีเมตตา เข้มงวด หรือนิสัยไม่ดี หยาบช้า ไม่ว่าจะเก่งโดดเด่น ปานกลางหรือเชื่องช้า ล้วนแต่เป็นผลมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่และสภาพแวดล้อมในการเติบโตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุ 6 ปีแรก

 

          ถ้าคุณอยากปฏิรูปโลกของเราจากความผิดพลาดเลวร้ายทั้งปวงแล้วละก็ เราคงต้องเริ่มต้นด้วยการชักชวนพ่อแม่ให้เลี้ยงเด็กให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีอีมาน มีความสามารถสูงและมีสุขภาพจิตดี เพราะเด็กๆ บนโลกเป็นตัวกำหนดรุ่งอรุณของวันพรุ่งนี้ยิ่งลูกเล็กมากเท่าไร ยิ่งสำคัญที่ต้องใช้เวลาที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพร่วมกับเขา พ่อและแม่ถือเป็นครูที่ดีที่สุด

 

          เมื่อเราพูดถึงการสั่งสอนอบรมของพ่อแม้ที่มีต่อลูกน้อย หลายๆ คนอาจจะนึกถึงว่า การสั่งสอนหรือการให้ความรู้ทั้งทางศาสนาและวิชาการกับลูกในเรื่องต่างๆ นั้นควรจะต้องรอให้ลูกเติบโตจนถึงประมาณหนึ่งถึงจะเริ่มสอนได้ เพราะเข้าใจว่ายิ่งสอนตอนเล็กมากๆ จะไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ หากแต่ว่าท่านรู้หรือไม่ว่าความเชื่อดังกล่าวนี้เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เพราะจากผลการศึกษาทางชีววิทยาเกี่ยวกับสมองและกรรมพันธุ์ได้พบว่า การสอนลูกไม่ว่าจะด้วยเรื่องไหนนั้นจะมีอิทธิพลกับลูกและได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดเมื่อพ่อแม่เริ่มทำตั้งแต่ลูกยังเล็กมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างอายุ 0-3 ขวบ และควรต้องทำต่อไปเรื่อยๆ โดยสม่ำเสมอ

 

          จากผลการวิจัยของนักค้นคว้าวิจัยต่างๆ นั้น เราสามารถนำแนวความคิดหรือวิธีการมาประยุกต์ใช้กับการให้ความรู้ทางศาสนากับลูกได้ ดังจะกล่าวต่อไป เพื่อให้การสอนลูก หรือการใช้ชีวิตให้เป็นแบบอย่างแก่ลูกนั้นเป็นไปอย่างดีที่สุด เพราะข้อมูลต่างๆ ที่บรรจุลงในสมองของเด็กอายุ 6 ปีแรก จะคงอยู่ตลอดไป เราจึงต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะให้เป็นข้อมูลที่ดีและถูกต้อง

 

     ♥ ช่วงเวลาก่อนเข้านอน พ่อแม่ควรอ่านอัลกุรอานให้ลูกฟังทุกวันหรืออย่างน้อย ให้พ่อแม่เปิดซีดีอัลกุรอานให้ลูกฟัง เพราะช่วงเวลาก่อนหลับนี้ เป็นช่วงที่เด็กอยู่ในภาวะจิตใจที่สงบและยินดีรับฟังทุกสิ่งทุกอย่างและมีผลการวิจัยระบุว่า ถ้านำข่าวสารต่างๆ มากรอกหูคนซึ่งอยู่ในสภาพครึ่งหลับครึ่งตื่นใกล้หลับเต็มที่ เขาจะจำได้โดยไม่รู้ตัว เราจึงควรใช้ช่วงเวลาก่อนนอนของเด็กให้คุ้มค่า

 

     ♥ ในส่วนของการเลี้ยงลูกนั้น มีสถิติซึ่งชี้ให้เห็นว่า ยิ่งพ่อแม่เลี้ยงลูกแบบปล่อยปะละเลยมากเท่าไร เด็กจะยิ่งเกิดความไม่มั่นใจ และมีความก้าวร้าวมากขึ้น พ่อแม่จึงควรเลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิด และอบรม สั่งสอนตลอดเวลา

 

     ♥ พ่อแม่ต้องฝึกนิสัยลูกตั้งแต่วัยทารกอายุไม่ถึง 2 ขวบ เพราะเมื่อเด็กอายุ 2-3 ขวบ เด็กมีความเป็นตัวของตัวเอง และพร้อมที่จะต่อต้านพ่อแม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ เด็กคงไม่ยอมทำตามคำสั่งของพ่อแม่ง่ายๆ ยิ่งพ่อแม่ดุว่าหรือลงโทษ เด็กยิ่งดื้อรั้น พ่อแม่เลยยิ่งโมโหหนักขึ้นไปอีกกลายเป็นวัฏจักรที่เลวร้าย

 

     ♥ การชมเด็กบ่อยๆ นั้นมีผลดีกว่าการตำหนิติเตียนถ้าคุณอยากเห็นเด็กรักที่จะทำอะไรแล้ว จงชื่นชมในสิ่งที่เขาทำว่าเยี่ยมยอดเพียงไร หากมีบางครั้งที่เราจำต้องดุเด็ก แทนที่เราจะปฏิเสธการกระทำหรือความคิดของเด็กเท่านั้น เรายังต้องแนะนำแนวทางอื่นที่ดีกว่า และอธิบายให้เด็กเข้าใจเหตุผลด้วย

 

     ♥ การทำซ้ำซากคือ วิธีกระตุ้นความสนใจของเด็กที่ดีที่สุด เพราะการทำอะไรซ้ำซากสำหรับเด็กวัย 0-3 ขวบนี้ช่วยสร้างเส้นสายในสมองซึ่งช่วยให้เด็กจดจำ และยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างความสนใจขึ้นในตัวเด็กอีกด้วย เด็กซึ่งได้รับฟังอัลกุรอานหรือดุอาอฺซ้ำแล้วซ้ำเล่าจะจดจำเอาไว้ และในที่สุดแกจะเรียกร้องขอฟังเอง

 

     ♥ การท่องช่วยฝึกความจำของเด็กสิ่งที่เราจะเลือกมาท่องนั้น ควรจะต้องเป็นสิ่งที่สั้นและจำได้ง่าย และนอกจากนี้สิ่งที่จะให้เด็กจดจำ ต้องเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาจิตใจเด็ก เป็นของสูงและมีความงาม มีคุณค่าที่จะจดจำไปตลอดชีวิต และต้องเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของเด็กด้วย” 

 

          เราจึงควรให้เด็กท่อง อัลกุรอานหรือดุอาอฺ โดยอันดับแรกให้ท่องวันละบท โดยคุยถึงความหมาย เพื่อเร้าให้เด็กเกิดความสนใจเสียก่อน วันต่อมาเราก็ทำซ้ำอีกครั้งพร้อมกับเสนออัลกุรอาน หรือดุอาอฺต้นใหม่ให้จำ เราทำเช่นนี้ทุกวันจนกระทั่งเด็กจำได้หมด สิ่งสำคัญ คือ การท่องจำ ถึงเด็กจะลืมไปก็ไม่เป็นไร เราให้ท่องใหม่ก็ได้ เด็กที่ผ่านการฝึกเช่นนี้ สามารถจดจำเรื่องยาวขนาด 2 หน้ากระดาษได้ หากได้ฟังประมาณ 4-5 ครั้ง

 

     ♥ การเลียนแบบของเด็กเล็ก คือ การสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ นั่นคือ การเลียนแบบในวัยเด็กนี้ เริ่มตั้งแต่อายุขวบเศษ และเมื่ออายุเกิน 2 ขวบ เด็กจะตั้งใจเลียนแบบคนรอบๆ ด้วยตนเอง พ่อแม่จึงควรระวังไม่ทำอะไรผิด และตั้งใจทำสิ่งที่ถูกต้องให้ลูกเห็นเพื่อจะได้เลียนแบบ เช่น การละหมาด การอ่านอัลกุรอาน การทำอิบาดะฮฺต่างๆ

 

     ♥ ด็กอายุยังไม่ถึง 2 ขวบ ซึ่งเส้นสายสมองยังโยงกันไม่เรียบร้อยนั้น การอบรมบ่มนิสัยทางกายมีความหมายมาก พ่อแม่จึงจำเป็นต้องเข้มงวดอย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กอายุเกิน 2 ขวบ จะปฏิเสธการสั่งสอนทางกาย เพราะมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อถึงวัยนี้พ่อแม่ควรปรับเปลี่ยนจากการเป็นพ่อแม่ที่เข้มงวด กลับเป็นพ่อแม่ที่ใจดี แต่ใช้กลเม็ดอื่นมาโน้มน้าวลูกแทน

 

     ♥ จากผลการวิจัยพบว่าความสามารถในการรับข้อมูลดิบนั้นเป็นปัจจัยผกผันกับอายุนั่นคือ ยิ่งเราอายุน้อยเท่าไร การรับข้อมูลดิบก็จะยิ่งง่ายขึ้น การสอนภาษาเด็ก 1 ขวบ จึงง่ายกว่าการสอนเด็ก 7 ขวบ และยิ่งเขาได้รับข้อมูลก่ออายุ 5 ขวบมากเท่าไร เขาจะจดจำมันได้นานเท่านั้นด้วยเหตุนี้พ่อแม่จึงควรให้ความรู้ผ่านการสอนอ่านหนังสือทั้งภาษาไทย ภาษาอาหรับ ภาษาต่างประเทศอื่นๆ สอนอ่านอัลกุรอานและ ดุอาอฺ ความรู้เรื่องศาสนา ความรู้ทั่วไป เพื่อที่จะให้บุตรของตนมีความรู้เป็นพื้นฐานสำหรับใช้ชีวิตทั้งเพื่อโลกอาคิเราะฮฺและดุนยา

 

          ลองถามตัวเองดูว่า คุณจำดุอาอฺหรือซูเราะฮฺอัลกุรอานที่คุณเรียนเมื่อตอนอายุมากแล้ว และยังคงท่องออกมาได้กี่ต้น คำตอบคือน้อยมาก

          แล้วลองถามตัวเองดูว่า มีดุอาอฺหรือซูเราะฮฺอัลกุรอานกี่ต้นที่คุณเรียนก่อนอายุ 6 ขวบและยังคงท่องได้ ส่วนใหญ่แล้วดุอาอฺหรือซูเราะฮฺอัลกุรอานที่คุณจำได้ต่างก็เรียนรู้มาสมัยยังเด็กทั้งนั้น คนเราส่วนมากเชื่อว่า ยิ่งแก่ยิ่งฉลาด นั่นไม่จริงเลย! ถึงแม้ทารกจะไม่ได้เกิดมาพร้อมกับปัญญาและความรอบรู้ แต่เมื่อแรกเกิดความสามารถในการรับรู้ข้อมูลพุ่งสูงมาก ในทางตรงกันข้าม ความสุขุมและปัญญากลับเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จนเมื่ออายุ 6 ขวบ จึงเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน และจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ยิ่งคุณอายุมากขึ้น คุณจะยิ่งมีความสุขุมและปัญญามากขึ้น ในขณะที่ความสามารถในการรับข้อมูลโดยไม่ต้องอาศัยความพยายามอะไรเลยจะลดลงอย่างชัดเจน

 

         ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านเคยเห็น หรือได้ยินว่าเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ สามารถอ่านหนังสืออกมาบ้างหรือไม่? จากประสบการณ์ของผม ผมเคยพบเด็กอายุไม่ถึง 2 ขวบหลายคน สามารถอ่านหนังสือออกเป็นคำๆ ได้มากกว่า 1 ภาษา เมื่อย้อนดูถึงประวัติพบว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นเพียงเด็กธรรมดาๆ ที่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่เป็นคนธรรมดาๆ หากแต่ได้มีการสอนลูกให้อ่านหนังสือด้วยวิธีที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับสอนเด็กเล็กโดยเฉพาะ โดยเริ่มสอนตั้งแต่วัยเริ่มเข้า 1 ขวบ จนในที่สุดเด็กกลุ่มนี้ก็อ่านหนังสืออกเป็นคำศัพท์ทีละคำๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน จนสามารถอ่านหนังสือเป็นเล่มได้ก่อน 3 ขวบ ข้อเท็จจริงนี้จึงเป็นสิ่งยืนยันถึงผลการวิจัยของนักค้นคว้าวิจัยได้เป็นอย่างดีในเรื่องที่ว่า เด็กปกติทุกคนที่เกิดมาบนโลกนี้ มีความสามารถอันน่าทึ่งในการเรียนภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาท้องถิ่น หรือภาษาต่างประเทศ ในช่วงอายุ 3 ขวบแรก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์เกินกว่าเราจะเข้าใจ แต่พวกเรากลับไม่ให้ความสำคัญกับมันเลย

 

          วิธีการสอนเด็กเล็กนั้นแตกต่างจากการสอนเด็กโต คือ ทั้งผู้ปกครองและเด็ก จำเป็นต้องเห็นว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกสนาน ทำตัวสบายๆ และสนุกกับมัน ผู้ปกครองและเด็กไม่ควรเริ่มการสอนนี้จนกว่าเด็กจะความรู้สึกมีความสุข และอยู่ในสภาพที่พร้อม ถ้าลูกมีอาการหงุดหงิด ง่วง เหนื่อย หรือหิวนั่นไม่ใช่เวลาที่ดีที่จะเริ่ม และจงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดจากการรบกวนทางการมองเห็น ทางการได้ยินจากสิ่งอื่น เพื่อให้สภาพแวดล้อมตอนที่เรียนเงียบสงบที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

 

          การสอนให้ลูกอ่านหนังสือตั้งแต่เล็กๆ นี้ยังช่วยปลูกฝังให้ลูกเป็นคนรักการอ่าน ซึ่งพ่อแม่สามารถสนับสนุนโดยการคัดเลือกหาหนังสือที่มีประโยชน์มาให้ลูกอ่านได้ และยังทำให้ลูกห่างไกลจากสื่ออื่นๆ ที่พ่อแม่ไม่สามารถควบคุมอิทธิพลได้ในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตหรือเกมส์

 

          เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถสอนเด็กมุสลิมให้อ่านหนังสือออกตั้งแต่เล็กๆ เด็กมุสลิมของเราจะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้นไหม สังคมมุสลิมเราจะสูงส่งขึ้นไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเด็กๆ สามารถอ่านอัลกุรอานได้ตั้งแต่เล็กๆ นอกจากเด็กจะได้ใช้ทักษะการอ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ ให้กับตัวเองได้แล้ว การอ่านอัลกุรอานยังช่วยขัดเกลาจิตใจของพวกเขาให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งทั้งหมดนั้นจะเกิดขึ้นได้ ก็ขึ้นอยู่กับท่านที่เป็นผู้ปกครองของเด็ก และการอนุมัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นั่นเอง

 

 

ที่มา : อนุสรณ์งานประจำปี โรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร 28 มกราคม 2555