สาเหตุและผลลัพธ์ของการละเลยต่อหลักมันฮัจของชาวสลัฟ
  จำนวนคนเข้าชม  1754


สาเหตุและผลลัพธ์ของการละเลยเพิกเฉยต่อหลักมันฮัจ(วิถีแนวทาง)ของชาวสลัฟ

 

ยะห์ยา หัสการณ์บัญชา

 

          ครั้งหนึ่งชัยคฺอุบัยดฺ อัลญาบิรีย์(หนึ่งในปราชญ์อาวุโสผู้ยึดแนวทางสลัฟในยุคปัจจุบัน)ได้กล่าวว่า "แท้จริงสาเหตุสำคัญที่ทำให้เหล่านักศึกษาหาความรู้ต้องตกอยู่ในความผิดต่างๆทางด้านมันฮัจ(วิถีและแนวทาง) ก็คือ พวกเขาอ่านศึกษาตำราด้านอะกีดะฮฺ(หลักยึดมั่นศรัทธา) แต่ไม่อ่านศึกษาตำราด้านสุนนะฮฺ(ที่เกี่ยวกับวิถีและแนวทาง)"

(ดูตำราอัลฟะวาอิด อัลอะก่อดียะฮฺ วั้ลมันฮะญียะฮฺ อัลมุสตันบะเฏาะฮฺ มิน ตะศีลาต ชัรหุ้สสุนนะฮฺ ลิลบัรบะฮารีย์ หน้าที่ 33)

 

          เมื่ออ่านคำพูดของชัยคฺอุบัยดฺข้างต้นนี้ ผมก็ได้พิจารณาย้อนกลับมามองสังคมคนอ้างแนวทางสลัฟ แนวทางสุนนะฮฺบ้านเราหลายๆแห่ง หลายๆองค์กร ก็ได้ตระหนักว่า บ่อยครั้งที่เราจะพบเห็นโต๊ะครู(ซึ่งพวกเขาก็คือเหล่านักศึกษาหาความรู้ที่เรียนจบกลับไปทำงานศาสนา)ในสังคมมุสลิม ย้ำเน้นการศึกษาเรียนรู้เตาฮีดและหลักการยึดมั่นอิสลามแบบสุนนะฮฺ แต่เราจะพบว่าโต๊ะครูหลายๆ คน สับสนหรือเอนเอียงหรือเฉไฉในเรื่องมันฮัจ(วิถีและแนวทาง)ของชาวสุนนะฮฺดังที่ชัยคฺอุบัยดฺได้กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งมันส่งผลร้ายต่อสังคมมุสลิมในวงกว้างหลายๆอย่าง เช่น

 

     1. บางคนยึดมั่นหลักอะกีดะฮฺแบบชาวสลัฟ แต่ทว่าละเลยในการศึกษาเรื่องมันฮัจ จึงทำให้เกิดความสับสนเมื่อต้องเผชิญหน้ากับประเด็นปัญหาต่างๆที่เกี่ยวกับมันฮัจ เช่นการเชื่อฟังผู้นำ การมีจุดยืนต่อผู้กระทำผิดและผู้สนับสุนผู้กระทำผิดในเรื่องร้ายแรงของศาสนา ซึ่งทำให้เกิดกลุ่มหลงผิดเกิดขึ้นมา หนึ่งในกลุ่มเหล่านั้นก็คือ กลุ่มอิควานสายสุรูรียะฮฺ

 

     2. ปกป้องคนผิดในเรื่องร้ายแรงที่ส่งผลร้ายต่อคนในสังคม ด้วยการอ้างถึงคุณงามความดีของคนผิดในเรื่องหนึ่งเพื่อให้ความผิดของเขาในอีกเรื่องหนึ่งที่ร้ายแรงดูเบาลงและถูกเมินเฉยจากสังคม เช่นการปล่อยวาง นิ่งเฉยต่อตำราที่อันตรายและสร้างความหลงผิดให้สังคม เนื่องจากผู้ที่แต่งตำราเหล่านั้นรวมถึงผู้อื่นที่มีส่วนร่วมในการเผยแพร่ตำราเหล่านั้นคือผู้เป็นคนรัก คนชิดใกล้ ครูบาอาจารย์ จึงไม่แสดงท่าทีต่อต้านตำราเหล่านั้นรวมถึงยังคงออมชอมอลุ่มอล่วยกับผู้ที่สนับสนุนเผยแพร่ตำราเหล่านั้นอย่างชัดเจน

          จนส่งผลให้มุสลิมหลายๆคนต้องซึมซับเอาแนวคิดหลงผิดจากตำราเล่มนั้นไว้ จนบางคนก็ยากจะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้ อาทิ เช่น ตำรากุรอานมะญีด และตำรานรกคือโรงพยาบาล, ตำราใต้ร่มเงาของอัลกุรอาน(ฟีซิลาลิ้ลกุรอาน), ตำราของอบุ้ลอะอฺลาเมาดูดีย์, ฯลฯ

     ซึ่งหลายๆคนยังสับสนและไม่สามารถหาทางออกที่ถูกต้องได้ว่าเขาจะต้องมีท่าทีหรือจุดยืนอย่างไรต่อตำราที่หลงผิด ?

     และเขาจะต้องมีท่าทีและจุดยืนอย่างไรต่อผู้ที่แต่งตำราที่หลงผิด หรือผู้ที่สนับสนุนและเผยแพร่ตำราหลงผิดเหล่านั้น ?

     และเขาจะต้องมีจุดยืนอย่างไรต่อผู้ที่เผยแพร่สนับสนุนตำราเหล่านั้นหลังจากที่ได้รับการตักเตือนพร้อมหลักฐานที่ถูกต้องแล้ว ?

 

     3. มีการออมชอมในประเด็นปัญหาที่ต้องเด็ดขาด เช่นเรื่องรากฐานต่างๆของศาสนา(อุศูล)ที่เกี่ยวกับหลักความเชื่อ(อะกีดะฮฺ) เช่นการเรียกอัลลอฮฺว่าพระพรหม, ความเชื่อว่านบีมุฮัมมัดถูกกล่าวถึงในคัมภีร์พระเวทของฮินดูโดยตีความว่าปางหนึ่งของพระนารายณ์คือท่านนบีมุฮัมมัด รวมถึงตีความสัตว์หรือวัตถุต่างๆว่าเป็นเหล่าภรรยาของท่านนบี เหล่าศ่อฮาบะฮฺ, ความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นนบีท่านหนึ่ง

          การอธิบายอัลกุรอานด้วยหลักวิทยาศาสตร์บางอย่างซึ่งไม่สอดคล้องกับการอธิบายตามหลักชาวสลัฟ เช่นในซูเราะฮฺอัรรูม ,วิถีและแนวทาง(มันฮัจ) และหลักศาสนกิจ(ฟิกฮฺ)ที่เป็นมติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์ เช่นการซื้อขายสิ่งที่ยังไม่ได้ครอบครอง ทั้งๆที่ประเด็นเหล่านี้คือเรื่องที่มุสลิมไม่สามารถจะเห็นต่างกันได้เนื่องจากเป็นประเด็นที่ขัดต่อรากฐาน(อุศูล)ของศาสนา แต่เรากลับพบว่าโต๊ะครูในบ้านเราหลายๆคนเลือกที่จะออมชอม อลุ่มอล่วยให้กันและกันให้แก่ประเด็นเหล่านี้ ซึ่งทำให้สังคมมุสลิมต้องประสบกับความสับสนและสมานฉันท์ออมชอมต่อกันอย่างไม่ถูกต้องตามมันฮัจสลัฟ

 

     4. มีการแตกหักต่อกันในประเด็นที่เห็นต่างกันได้โดยไม่ต้องแตกแยก ดังที่เราจะพบเห็นได้ในสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดูเดือนเข้าบวชออกบวชรอมฎอน, เรื่องจำนวนร่อกะอัตของละหมาดตะรอเวียะหฺ, เรื่องการละหมาดสุนนะฮฺในยามค่ำคืนหลังจากละหมาดวิติรแล้ว ฯลฯ ทั้งๆที่ประเด็นเหล่านี้คือเรื่องที่มุสลิมสามารถเห็นต่างกันได้เนื่องจากเป็นการเห็นต่างกันที่มีพื้นฐานมาจากการวินิจฉัยหลักฐานทั้งสองฝ่าย แต่เรากลับพบว่าโต๊ะครูในบ้านเราหลายๆคนเลือกที่จะแตกหักแตกแยกกันเพราะประเด็นเหล่านี้ ซึ่งทำให้สังคมมุสลิมต้องประสบปัญหาวุ่นวายและแตกแยกกันอย่างไม่ถูกต้องตามมันฮัจสลัฟ

 

          ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้คือผลพวงและผลลัพธ์ที่มาจากการละเลย , เอนเอียงและเฉไฉในเรื่องของมันฮัจ(วิถีและแนวทาง)ของชาวสลัฟทั้งสิ้น

 

          ฉะนั้นวันนี้ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญและเอาใจใส่กับมันฮัจชาวสลัฟอย่างจริงจัง โดยมุ่งเน้นแต่เรื่องอะกีดะฮฺเพียงอย่างเดียว ทั้งๆที่ปราชญ์อาวุโสต่างบอกว่าเรื่องอะกีดะฮฺและมันฮัจเป็นเรื่องที่ต้องอยู่คู่กันจะแยกออกจากกันไม่ได้ สังคมเราก็จะตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการเผชิญหน้ากับฟิตนะฮฺความสับสนวุ่นวายต่างๆอีกนับไม่ถ้วนในวันข้างหน้า

 

(ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครองเราทั้งหลายให้รอดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ด้วยเถิด)

วัลลอฮฺ อะอฺลัม