หากไม่ละอาย ก็จงทำตามประสงค์ !
  จำนวนคนเข้าชม  4569


หากไม่ละอาย ก็จงทำตามประสงค์ !

 

คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา ในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย นั่นก็คือ ต้องไม่ทำบิดอะฮฺนั่นเอง

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานจากท่านอบูมัสอู๊ด...อัลบัดรีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮุ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

«إِنَّ مِمَّا أَدْرَكَ النَّاسُ مِنْ كَلَامِ النُّبُوَّةِ الْأُولَىٰ:

 

แท้จริง ส่วนหนึ่งจากสิ่งที่มนุษย์ได้รับรู้ จากคำพูดของบรรดานบีท่านก่อนๆ...”

 

           หมายความว่า คำพูดที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจะบอกต่อไปนี้ มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยขาดหายไปจากมนุษย์เลย ไม่ว่าจะในยุคใด สมัยใด มันไม่ใช่เรื่องใหม่ในสมัยท่านนบีแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่บรรดานบีท่านก่อนๆต่างบอก ต่างสอน ต่างพูดกันถึงเรื่องนี้ และเป็นเรื่องที่ถูกถ่ายทอดให้มนุษย์ได้รับรู้มาตลอดทุกยุคทุกสมัย

คำพูดนั้นก็คือ....

إِذَا لَمْ تَسْتَحْيِ فَاصْنَعْ مَا شِئْتَ »

 

“...หากท่านไม่มีความละอายแล้ว ก็จงทำตามที่ท่านประสงค์จะทำ

 

          พูดง่ายๆก็คือ ถ้าท่านไม่ละอาย อยากทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตรงนี้ อุละมาอ์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า คำพูดนี้มันเป็นคำตักเตือนให้แก่เรา ให้เรามีความละอายต่อการทำความผิดบาป ละอายต่อการทำมะอ์ศิยะฮฺ เพราะถ้าเราไม่ละอาย เราอยากทำอะไร เราก็ทำตามใจปรารถนาของเรา โดยไม่สนใจเลยว่ามันผิด ผลก็คือ เราก็ต้องถูกลงโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

          ความละอายนี้ ส่วนหนึ่งของมันเกิดมาจากตัวตนของเรา เป็นส่วนที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้แต่ละคนมีความละอายติดตัวมาตั้งแต่แรกแล้ว แต่ละคนมีความละอายมากหรือน้อยไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน ..สำหรับความละอายอีกส่วนหนึ่งจะได้มาจากการที่เราต้องแสวงหาเอาเอง ...ความละอายจึงเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่เราต้องใฝ่หา ต้องแสวงหา ต้องฝึกฝนตัวเองให้มีความละอาย เหมือนกับเรื่องของอีมาน หรือเรื่องของความศรัทธาที่เมื่อตอนเราเกิดมา เราก็มีศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอยู่แล้วบางส่วน แต่เราก็ต้องแสวงหา ต้องฝึกฝนตัวเองให้มีศรัทธาที่เข้มแข็งยิ่งๆขึ้นไป ต้องไม่ให้มันขาดตอนไป

 

ความละอายถือเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา 

 

          อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอิบนุอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุเล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮุ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า...

 

     ”ความศรัทธาแบ่งเป็นเจ็ดสิบส่วน หรือหกสิบกว่าส่วน ...ความศรัทธาที่ประเสริฐที่สุดคือ

     การกล่าวลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ(ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่สมควรจะได้รับการอิบาดะฮฺ นอกจากอัลลอฮฺองค์เดียวเท่านั้น) ...

     ส่วนความศรัทธาที่อ่อนแอหรือต่ำสุดก็คือ การขจัดอันตรายที่กีดขวางทางสัญจรไปมา...”

 และท่านนบียังได้กล่าวต่อไปอีกว่า

 

فَإِنَّ الحَيَاءَ مِنَ الإِيمَانِ   “แท้จริง ความละอายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา

 

          นอกจากความละอายจะเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธาแล้ว มันยังเป็นเสมือนคู่หูของกันและกันอีกด้วย อัลหะดีษในบันทึกของอิมามอัลฮากิม รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมกล่าวว่า

 

اَلْحَيَاءُ وَاْلإِيْمَانُ قُرْنَاءِ جَمِيْعًا فَإِذَارُفِعَ أَحَدُهُمَا رُفِعَ اْلآخَرُ :

 

     “ความละอายและความศรัทธานั้น มีความสัมพันธ์กัน (เป็นเสมือนคู่หูของกันและกัน) เมื่อสิ่งใดถูกยกออกไปหรือถูกถอดถอนออกไป อีกสิ่งหนึ่งก็จะถูกถอดถอนออกไปด้วยเช่นกัน

 

          ดังนั้น หากเราไม่มีความละอายอยู่ในหัวใจ แสดงว่าความศรัทธาของเราก็หลุดหายไปด้วย ในทางเดียวกัน หากเราไม่มีความศรัทธาในหัวใจ เราก็จะไม่มีความละอายอยู่ในหัวใจเช่นกัน

 

ความละอายจึงเป็นสิ่งที่ดีงามและนำไปสู่สิ่งที่ดีงาม

 

     อัลหะดีษ ในบันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานจากท่านอิมรอน บินหุศ็อยน์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้เล่าว่า ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

 

« الحَيَاءُ لاَ يَأْتِي إِلَّا بِخَيْرٍ »     “ความละอาย ไม่นำสิ่งใดมา เว้นแต่สิ่งดีงาม

 

     และในบันทึกของอิมามมุสลิมรายงานเพิ่มเติมว่า

 

« الحَيَاءُ خَيرٌ كُلُّه »    “ความละอาย เป็นสิ่งที่ดีงามทั้งหมด

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย มันจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตของเราอย่างยิ่ง ที่จะต้องแสวงหาความละอายให้มันเกิดขึ้นในหัวใจของเรา ฝึกฝนตัวเราให้มีความละอายอยู่เสมอ ...ให้เราละอายต่ออะไรบ้าง

 

          ประการแรก สำคัญที่สุดและประเสริฐที่สุดก็คือ ให้เรามีความละอายต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ละอายที่จะไม่ทำในสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ ในขณะเดียวกันก็มีความละอายที่จะทำในสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งห้าม เพราะเมื่อเรามีความละอายต่อพระองค์ เราก็จะปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ ไม่กล้าฝ่าฝืน ในทุกๆเรื่อง ...

 

          เมื่อเรามีความละอายต่อพระองค์ เราก็จะดำเนินชีวิตของเราให้มันอยู่ในขอบเขตของบทบัญญัติศาสนา ไม่กล้าที่จะฝ่าฝืน เพราะทราบดีว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงรู้ ทรงเห็น ทรงรู้ในทุกสิ่งทุกอย่าง เราจึงมีความละอายที่จะทำสิ่งที่มันผิดต่อบทบัญญัติศาสนา ละอายที่จะทำอิบาดะฮฺขาดตกบกพร่อง ละอายในการที่ละเลยที่จะขอบคุณพระองค์ในความโปรดปรานที่พระองค์ทรงมอบให้ ละอายอีกมากมายหลายเรื่อง...ความละอายจึงนำเราไปสู่การมีความศรัทธาที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

 

           สำหรับความละอายอีกประการหนึ่งก็คือ ให้เรามีความละอายต่อเพื่อนมนุษย์ เช่นอะไรบ้าง

 

          ♦ ละอายที่จะเปิดเผยเอาเราะฮฺต่อเพื่อนมนุษย์ทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะการแต่งตัวของผู้หญิง นอกจากจะต้องปกปิดเอาเราะฮฺแล้ว อย่าลืมว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้เน้นย้ำว่า บางครั้งการแต่งตัวของผู้หญิงบางคนนั้น ถึงแม้ว่ามันจะปกปิดมิดชิด แต่ว่า มันยังถือว่าเปล่าเปลือย มันยังโป๊อยู่ หมายความว่า เสื้อผ้าของเธอนั้นมันรัดรูป เห็นทรวดทรง หรืออาจจะหลวม แต่ว่าเนื้อผ้ามันบางจนเห็นสีผิว เห็นรูปร่าง อย่างนี้ไม่ได้ ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนา จึงเป็นเรื่องที่ผู้หญิงต้องระมัดระวังการแต่งตัวของตัวเอง เพราะเสื้อผ้าของผู้หญิงนั้น เน้นที่ผ้าไม่บาง หลวม ไม่รัดรูป

 

         ♦ เมื่อละอายที่จะเปิดเผยเอาเราะฮฺให้คนอื่นได้เห็นแล้ว ยังต้องละอายที่จะล่วงเกินสิทธิต่อเพื่อนมนุษย์ด้วย เช่นอะไรบ้าง ? ละอายที่จะไม่บริจาค ละอายที่จะไม่จ่ายซะกาต ละอายที่จะไม่ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลต่อเพื่อนมนุษย์ ละอายที่จะไปลักขโมย ละอายที่จะพูดจากลับไปกลับมา เพราะถ้าเราไม่มีความละอายอะไรเราก็ทำได้หมด 

 

          เหมือนอย่างที่เราเห็นสิ่งที่มันเกิดขึ้นอยู่ในสังคมปัจจุบันนี้ตามที่เป็นข่าว ...เมื่อวานนี้พูดอย่าง วันนี้พูดอีกอย่าง ซึ่งการที่คนๆหนึ่งพูดจากลับไปกลับมานั้น มันไปกระทบกับความยุติธรรมของคนอื่นที่เขาพึงจะได้รับ ตีความกฏหมายตามใจตัวเอง ไม่ได้ยึดหลักของความถูกต้อง เที่ยงธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ เรื่องเดียวกันก็ตีความไปคนละแบบ อยู่ที่ว่าใครอยู่ฝ่ายเดียวกับตน นี่ละ เพราะไม่มีความละอายอยู่ในหัวใจ อยากทำอะไรก็ทำ โดยไม่คำนึงถึงความถูกความผิด ซึ่งการกระทำเหล่านี้มันจะเป็นที่มาของความแตกแยกในสังคม เพราะผู้คนเกิดความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นเรื่องที่เราต้องตระหนัก ต้องพยายามให้ตัวเรามีความละอายอยู่เสมอ และเราต้องไม่เห็นดีเห็นงามไปกับความไม่ถูกต้องชอบธรรมเหล่านั้น

 

         ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย นั่นก็คือส่วนหนึ่งของความละอาย ซึ่งท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมส่งเสริมให้เรามีความละอายดังกล่าวแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตาม มันจะมีความละอายบางอย่างที่ท่านนบีสั่งให้ละทิ้ง เช่นอะไรบ้าง

 

   ♣- ไม่ให้ละอายที่จะพูดความจริง

 

   ♣- ไม่ให้ละอายในการที่จะแสวงหาความรู้ ถึงจะอายุมากแล้ว ก็ไม่ละอายที่จะเรียนรู้ ไม่ละอายที่จะแสวงหาความรู้ โดยเฉพาะความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา หรือใครที่ยังอ่านอัลกุรอานไม่ได้ ก็ไม่ละอายที่จะเรียนรู้ เพื่อที่จะอ่านอัลกุรอานให้ได้

 

   ♣- ไม่ให้ละอายที่จะกำชับผู้คนให้ทำความดี และห้ามปรามผู้คนจากการทำความชั่ว

 

          เรื่องของความละอายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ สำหรับตัวของเราเอง และการอยู่ร่วมกันในสังคม ไม่ว่าจะในสังคมครอบครัว สังคมภายในหมู่บ้าน หรือสังคมประเทศชาติ

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดช่วยเหลือเราให้เราเป็นผู้ที่มีความละอายอยู่ในหัวใจอยู่เสมอ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ใครก็ตามที่เขามีความละอายที่จะทำความผิดต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พอไปถึงวันกิยามะฮฺ พระองค์ก็จะทรงละอายที่จะลงโทษเขา ไม่อยากจะลงโทษเขา และใครก็ตามที่ไม่ละอายที่จะทำความผิดบาป ในวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็จะไม่ทรงละอายที่จะลงโทษเขา..ก็ขอให้เราได้ตระหนักกันในเรื่องนี้ ให้เรามีความละอายอยู่ในหัวใจเสมอ

 

คุตบะฮ์ มัสยิด ดารุ้ลอิห์ซาน