รักพี่น้องเหมือนรักตัวเอง และอย่าโกรธ !
  จำนวนคนเข้าชม  5669


รักพี่น้องเหมือนรักตัวเอง และอย่าโกรธ ! 

คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีอัตตักวา คือมีความยำเกรงต่อพระองค์เพียงองค์เดียวเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องสร้างความยำเกรงต่อพระองค์ให้เกิดขึ้นในหัวใจของเราให้ได้ โดยการศึกษา แสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา พยายามทำความเข้าใจ และนำมาสู่การปฏิบัติ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยพยายามทำให้สุดความสามารถของเรา ในขณะเดียวกัน ก็ต้องออกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์โดยสิ้นเชิง พร้อมกันนั้นก็ต้องปฏิบัติอิบาดะฮฺให้อยู่ในแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมด้วย นั่นก็คือ ต้องไม่ทำบิดอะฮฺด้วย

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อครั้งก่อน เราได้พูดถึงคำสอนของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมสี่ประการ ที่อุละมาอ์บอกว่า ใครก็ตามที่เขาสามารถปฏิบัติตามคำสอนของท่านนบีได้ครบทั้งสี่ประการนี้ จะทำให้เขาได้รับความประเสริฐในชีวิตอย่างมากมาย และได้รับความสงบสุขในการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง เป็นสี่คำสอนที่ถือว่าเป็นที่สุดแห่งมารยาทของการทำความดีทั้งหลาย

 

          คำสอนของท่านนบีประการที่หนึ่งก็คือให้เราละทิ้งสิ่งที่ไร้สาระ หรือสิ่งที่ไม่มีประโยชน์สำหรับตัวเราก็คือ ให้เราละทิ้งสิ่งที่มันไม่ได้นำเราไปสู่การใกล้ชิดอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ละทิ้งสิ่งที่ไม่ได้นำเราไปสู่การปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนา ละทิ้งสิ่งที่ไม่ได้นำเราไปสู่การเข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะลา ตลอดจนละทิ้งสิ่งที่จะทำให้เราห่างเหินจากบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ละทิ้งสิ่งที่มันจะนำเราไปสู่การลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะลา ...ซึ่งคำสอนในเรื่องนี้ ได้พูดไปแล้วในครั้งก่อนหน้า

 

          คำสอนของท่านนบีประการที่สองก็คือผู้ใดก็ตามที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ ..เขาจงพูดแต่สิ่งที่ดีงาม หรือไม่เช่นนั้น ก็จงนิ่งเงียบเสียคำสอนนี้ก็ได้พูดไปแล้วในครั้งก่อน

 

          สำหรับวันนี้จะพูดถึงคำสอนประการที่สาม เป็นคำสอนที่อยู่ในอัลหะดีษ บันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม รายงานมาจากท่านอบีหัมซะฮฺ ซึ่งก็คือท่านอนัส บินมาลิก เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เศาะฮาบะฮฺที่คอยรับใช้ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมอย่างใกล้ชิด โดยท่านอนัสได้รายงานว่า ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้สอนว่า

 

: لاَ يُؤْمِنُ أَحَدُكُمْ، حَتَّى يُحِبَّ لِأَخِيهِ مَا يُحِبُّ لِنَفْسِهِ .

 

     “คนหนึ่งคนใดในบรรดาพวกท่านจะยังไม่ศรัทธา จนกว่า เขาจะรักจะชอบที่จะให้แก่พี่น้องของเขา ดังเช่นที่เขารักชอบที่จะให้สิ่งนั้นได้แก่ตัวของเขาเอง

 

     คำว่า “لاَ يُؤْمِنُ” ยังไม่ศรัทธา ตรงนี้ หมายถึง มีอีมานหรือมีการศรัทธาแล้ว แต่มันยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ จนกว่า เขาจะรักจะชอบที่จะให้แก่พี่น้องของเขา ดังเช่นที่เขารักชอบที่จะให้สิ่งนั้นได้แก่ตัวของเขาเอง

 

     يُؤْمِنُ ก็มาจากคำว่า อีมาน หรือที่เราเรียกในภาษาไทยว่าการศรัทธา ซึ่งเป็นการศรัทธาที่ต้องประกอบด้วย การยึดมั่นด้วยหัวใจ แล้วก็ยึดมั่นด้วยคำพูด แล้วก็ยืนหยัดด้วยการปฏิบัติ ต้องครบเงื่อนไขทั้งสามประการ ...

 

     ยึดมั่นด้วยหัวใจว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเป็นพระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น ไม่มีการทำชิริก ไม่มีการทำภาคีใด ๆทั้งสิ้นต่อพระองค์ ...เมื่อเชื่อมั่นอย่างนั้นแล้วก็กล่าวด้วยวาจา กล่าวเป็นคำพูดด้วย กะลีมะฮฺ ชะฮาดะฮฺ ก็คือกล่าว

أشهد ألا إله إلّا الله، وأشهد أن محمداً رسول الله

     "ข้าพระองค์ขอปฏิญาณว่า..ไม่มีพระเจ้าอื่นใดทั้งสิ้นที่สมควรได้รับการเคารพอิบาดะฮฺ นอกจากอัลลอฮฺ องค์เดียวเท่านั้น และข้าพระองค์ขอปฏิญาณว่า มุฮัมมัดคือศาสนทูตของอัลลอฮฺ

 

          ในขณะเดียวกันก็ลงมือปฏิบัติในสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงมีคำสั่งห้ามคำสั่งใช้ ต้องครบเงื่อนไขทั้งสามประการนี้ จะยึดมั่นด้วยหัวใจ ด้วยคำพูด แต่ไม่ลงมือปฏิบัติใด ๆเลยไม่ได้ ...หรือจะปฏิบัติสิ่งที่เป็นความดีต่าง โดยที่หัวใจไม่ศรัทธาก็ไม่ได้ ...ซึ่งการที่มุสลิมแตกออกเป็นกลุ่ม ๆนั้น สาเหตุหนึ่งก็มาจากการที่พวกเขามีอีมานหรือมีการศรัทธาที่ไม่ครบเงื่อนไขทั้งสามประการนี้ 

 

          บางกลุ่มศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา โดยไม่ลงมือปฎิบัติความดีใด เขาคิดว่า แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว เพราะเขาคิดเอาเองว่า นี่คือความบริสุทธิ์ใจที่เขามีต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาศรัทธาต่อพระองค์โดยไม่หวังผลตอบแทน เขาจึงไม่ลงมือปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮฺใด ๆเลย 

 

          หรือบางคนลงมือปฏิบัติความดีต่างๆ เช่น ถือศีลอด โดยที่หัวใจของเขาไม่ได้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างนี้ก็ไม่ได้ ....ดังนั้น อีมาน คือต้องยึดมั่นด้วยหัวใจ ด้วยคำพูด และด้วยการปฏิบัติ

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย โดยปกติของมนุษย์เรา มักจะรักตัวเองมากกว่ารักคนอื่น ซึ่งการรักตัวเองมากกว่ารักคนอื่นนั้น มันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนเป็นคนที่เอาความดีเข้าตัว แล้วเอาความชั่วให้คนอื่น หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนทะเลาะเบาะแว้งกัน นำมาซึ่งการแก่งแย่งชิงดีกัน นำมาซึ่งความอิจฉาริษยา นำมาซึ่งการรบราฆ่าฟัน นำมาสู่การนองเลือด ทำให้สังคมเกิดความไม่สงบสุข ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงสอนเราด้วยคำสอนนี้ ..

 

           ดังนั้น ใครก็ตามที่เขามีความปรารถนาที่จะให้อีมานของเขา หรือการศรัทธาของเขาครบถ้วนสมบูรณ์ บรรลุถึงเป้าหมายอย่างแท้จริง เขาต้องรักชอบพี่น้องของเขา เหมือนดังเช่นที่เขารักชอบตัวเอง หมายถึงรักตัวเองด้วย ในขณะเดียวกันก็ต้องรักพี่น้องของเขาด้วย ..เมื่อเขาอยากได้อะไร เขาก็อยากให้พี่น้องของเขาได้รับอย่างนั้นด้วย เมื่อเขาไม่อยากจะประสบกับความไม่ดีใด เขาก็ไม่อยากให้พี่น้องของเขาประสบกับความไม่ดีอย่างนั้นด้วยเช่นกัน

 

     คำว่า   لِأَخِيهِ   พี่น้องของเขานั้น หมายถึงพี่น้องผู้ศรัทธาด้วยกัน

 

      คำว่า  مَا يُحِبُّ لِنَفْسِهِ  ดังเช่นที่เขารักชอบที่จะให้แก่ตัวของเขาเอง ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีงาม หรือไม่ว่าจะเป็นการปกป้องจากความชั่วร้ายความไม่ดีต่างๆ ตลอดจนในเรื่องของปัจจัยยังชีพต่างๆ ดังนั้น เมื่อเราปฏิบัติต่อพี่น้องของเรา ในสิ่งที่เรามีความปรารถนาอยากให้พี่น้องของเราปฏิบัติต่อตัวเรา มันจะทำให้เราบรรลุถึงความรักที่แท้จริง ซึ่งมันจะทำให้เราได้รับการปลดปล่อยให้รอดพ้นจากการลงโทษในไฟนรก และทำให้เราได้เข้าสวรรค์ของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาในที่สุด

 

         ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย คำสอนประการที่สี่ อยู่ในอัลหะดีษ บันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์ รายงานมาจากท่านอบีหุรอยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า 

     มีชายคนหนึ่งได้กล่าวกับท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมว่า أَوْصِني ได้โปรดสั่งเสียแก่ผมด้วยเถิด” 

     ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงได้กล่าวว่า “لا تَغْضَبْ ท่านจงอย่าโกรธ” 

     แล้วชายคนนั้นก็กล่าวซ้ำเช่นนั้นอยู่หลายครั้ง คือกล่าวว่า أَوْصِني ได้โปรดสั่งเสียแก่ผมด้วยเถิด” 

     และทุกครั้งท่านนบีก็ยังคงตอบว่า “لا تَغْضَبْ ท่านจงอย่าโกรธ

 

          อุละมาอ์ได้อธิบายว่า โดยปกติ เมื่อเวลาที่เราจะให้คำแนะนำเรื่องใดนั้น เราควรแนะนำเรื่องที่เหมาะสมกับคน ๆนั้น ซึ่งเป็นกออิดะฮฺหรือเป็นกฏเกณฑ์ที่สำคัญ เพราะถ้าเรามีความเข้าใจในเรื่องของกฏเกณฑ์นี้ เราก็จะเข้าใจว่า ทำไมในแต่ละหะดีษ ท่านนบีจึงมีคำแนะนำที่ต่างกันเมื่อเวลาที่มีคนมาขอคำแนะนำจากท่าน เช่น 

 

          มีชายคนหนึ่งมักจะคบเพื่อนไม่ดี เมื่อเขามาหาท่านนบี มาขอให้ท่านนบีสั่งเสียแก่เขาหน่อย ท่านนบีก็จะสั่งเสียหรือให้คำแนะนำแก่เขาว่า ท่านอย่าคบเพื่อนที่ไม่ดี

 

          ในกรณีของหะดีษนี้ก็เช่นกัน ดูเหมือนว่า ท่านนบีจะรู้จักชายคนนี้ดีว่า เขาเป็นคนที่ชอบโกรธ เป็นคนใจร้อน ท่านนบีจึงได้ให้คำสั่งเสีย หรือให้คำแนะนำแก่ชายคนนั้นว่า “لا تَغْضَبْ ท่านจงอย่าโกรธ

 

     คำว่า  الغضب  ความโกรธนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่ดั่งเดิมตามธรรมชาติของมนุษย์เรา เป็นสิ่งที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้บอกไว้ว่า ความโกรธคือ ถ่านไฟที่ชัยฏอนมันได้บรรจุเข้าไปในหัวใจของลูกหลานท่านนบีอาดัม ทำให้หัวใจของเราลุกเป็นไฟ ทำให้ใบหน้าของคนที่มีความโกรธแดง เส้นเลือดที่คอโป่ง บางครั้งก็ทำให้ขนลุก และความโกรธเป็นที่มาของผลเสียหายร้ายแรงมากมาย ...ท่านนบีจึงได้สอนเรา เมื่อเวลาที่มีความโกรธก็ให้พยายามควบคุมมันไว้ พยายามสงบสติอารมณ์ พยายามอดทนที่จะไม่ให้ความโกรธลุกลามขยายผล 

 

          อุละมาอ์ได้ยกตัวอย่างเช่น มีคนจำนวนไม่น้อยที่เมื่อมีความโกรธได้พูดหย่าร้างภรรยาของตัวเอง แต่หลังจากนั้น เมื่อความโกรธหายไปก็มีความเสียใจ แล้วก็ต้องมาถามหาหุก่มของมัน ก็คือถามหาวิธีที่จะกลับมาอยู่กับภรรยาเหมือนเดิม ซึ่งมันก็ต้องมีขั้นตอนของการคืนดีกันตามบทบัญญัติศาสนา

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย เมื่อเวลาที่เรามีความโกรธ เราควรทำอย่างไร เพื่อควบคุมความโกรธของเรา หรือพยายามขจัดมันออกไป วิธีการนั้นมีทั้งที่เป็นคำพูดและการปฏิบัติ เป็นวิธีการที่มาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

 

         วิธีที่เป็นคำพูดก็คือ กล่าว أَعُوْذُ بِاللهِ مِنَ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ ฉันขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ ให้พ้นจากการล่อลวงของชัยฏอนมารร้ายที่ถูกสาปแช่ง

 

          ส่วนวิธีการที่เป็นการปฏิบัติก็คือ เมื่อเวลาที่มีความโกรธ ถ้าหากกำลังยืนอยู่ ก็ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นการนั่ง หากกำลังนั่งอยู่ ก็ให้เปลี่ยนอิริยาบถเป็นการนอน เพราะการเปลี่ยนอิริยาบถภายนอกจะนำไปสู่การเปลี่ยนสภาพภายในร่างกายได้ แต่ถ้าหากว่าเปลี่ยนอิริยาบถแล้ว มันยังไม่ช่วยให้ความโกรธลดลงหรือหายไป ก็ให้เราไปอาบน้ำละหมาด เพราะการอาบน้ำละหมาดสามารถดับความร้อนแรงของความโกรธได้

 

          ท่านพี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย ทั้งหมดที่กล่าวมาก็คือ คำสอนของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมสี่ประการ ที่อุละมาอ์บอกว่า ผู้ใดก็ตามที่สามารถปฏิบัติตามคำสอนทั้งสี่ประการนี้ได้อย่างครบถ้วน จะทำให้เขานั้นได้รับความประเสริฐในชีวิตอย่างมากมาย อีกทั้งยังได้รับความสงบสุขในการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง เป็นคำสอนที่มีคนทำได้มาแล้ว 

 

          ดังนั้น จึงเป็นคำแนะที่ดีไม่น้อย ที่ให้เราได้มีความตั้งใจที่จะทำให้ได้บ้าง เมื่อมีความตั้งใจแล้ว ต้องอาศัยการฝึกฝนด้วย ไม่ใช่ว่า พอตั้งใจทำแล้ว จะทำได้สำเร็จโดยทันที เพราะในชีวิตประจำวันของเรา เรายังต้องต่อสู้กับนัฟซู ชะฮฺวะฮฺ อารมณ์ใคร่ใฝ่ต่ำในตัวเรา ยังต้องต่อสู้กับการลวงล่อของชัยฏอนที่มันคอยแต่จะล่อลวงเราให้ออกจากความดีงามอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เมื่อเวลาใดก็ตามที่เราพลาดพลั้งไป ก็ให้ตั้งใจและแก้ไขใหม่ เป็นอย่างนี้เรื่อย ๆไป สักวัน อินชาอัลลอฮฺ เราก็จะประสบความสำเร็จ

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาประทานเตาฟีกฮิดายะฮฺ อนุมัติความสำเร็จให้แก่เราในการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ขอพระองค์โปรดให้เราได้รับความประเสริฐในชีวิตอย่างมากมาย และได้รับความสงบสุขในชีวิตอย่างแท้จริง

 

 

คุฏบะฮฺวันศุกร์ มัสยิดดารุ้ลอิห์ซาน บางอ้อ