ความเข้าใจศาสนาอิสลามที่คลาดเคลื่อนของชาวพุทธ
  จำนวนคนเข้าชม  3574


ความเข้าใจศาสนาอิสลามที่คลาดเคลื่อนของชาวพุทธ

 

ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข

 

          จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความเกี่ยวกับศาสนาอิสลามที่คลาดเคลื่อน จนถึงปลุกกระแสต่อต้านศาสนาอิสลามในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย โดยเชื่อมโยงเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีการทำร้าย ฆ่าคนไทยพุทธ และเชื่อว่าเหตุไม่สงบเกิดจากการใช้มัสยิดและโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อร้ายและการบิดเบือนประวัติศาสตร์ชาติไทย สร้างความเกลียดชัง แตกแยก จนนำไปสู่ความเกลียดชังประเทศชาติ พร้อมทั้งสรุปว่า เชื้อร้ายดังกล่าวกำลังคืบคลานขยายตัวเข้ามายังในภาคอีสาน ภาคเหนือและทุกจังหวัดผ่านการสร้างมัสยิด 

 

          ต่อมามีการรวมกลุ่มคนจำนวนหนึ่งส่งจดหมายเรียกร้องจุฬาราชมนตรี ในฐานะที่เป็นผู้นำสูงสุดของศานาอิสลามในประเทศให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และปัญหาทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม ที่คนกลุ่มนี้มองว่าสร้างความวุ่นวายแตกแยกในสังคมไทย และที่สำคัญคุกคามพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่เคารพนับถือ

 

          สำนักจุฬาราชมนตรีตระหนักดีว่าพุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีความเข้าใจและให้เกียรติคนมุสลิมเสมอมา แต่ก็มิได้ละเลยต่อปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวดังกล่าวข้างต้น ที่อาจสร้างความให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยและส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนต่างศาสนาในระยะยาว ตลอดจนกร่อนเซาะรากฐานของความมั่นคงของประเทศชาติ เพื่อจรรโลงความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมของสังคมไทยที่ผู้คนต่างศรัทธามีความอดทนอดกลั้นต่อความเชื่อและความต่างทางชาติพันธุ์ของกันและกันเสมอมา สำนักจุฬาราชมนตรีขอใช้โอกาสนี้ทำความเข้าใจหลักคำสอนและแนวทางปฏิบัติของมุสลิม ต่อสังคมไทยดังต่อไปนี้

 

     1. การเชื่อมโยงปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กับ มัสยิด และ สถาบันการศึกษาศาสนาอิสลาม ว่าหากมีสถาบัน 2 แห่งนี่ที่ไหน จะมีความไม่สงบที่นั่น นับเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน 3 ประเด็น คือ

 

1.1 ความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อเหตุแห่งปัญหา จชต

 

          ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาแต่อย่างใด แต่มีรากเหง้ามาจากความขัดแย้งทางการเมือง ประวัติศาสตร์ การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดในอดีต ความไม่เป็นธรรม ยาเสพติดและธุรกิจผิดกฏหมาย ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความพยายามจากคนบางกลุ่มใช้ศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมมวลชน แต่ความพยายามดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จกับคนมุสลิมส่วนใหญ่ที่มีความตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพในทางศาสนาที่ประเทศให้หลักประกันกับประชาชนทุกหมู่เหล่า

 

1.2 ความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อมัสยิดและสถาบันการศึกษาศาสนาอิสลาม” 

 

          ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่วางอยู่บนพื้นฐานของหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของมุสลิมจึงผูกพันไว้กับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม  "มัสยิด" จึงเป็นศาสนสถานที่มีหน้าที่ไม่ต่างไปจากวัดในพุทธศาสนา ส่วนสถาบันการศึกษาเป็นสถาบันทำหน้าที่ในการขัดเกลาจิตใจ และจิตวิญญาณของศรัทธาชนให้ดำเนินอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่ต่างไปจากศูนย์อบรมจริยธรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของวัดแต่ประกาศใด

          ปัจจุบันสถาบันการสอนศาสนาอิสลามมีการปรับตัวโดยการนำเอาหลักสูตรสามัญดังเช่นที่นักเรียนทั่วประเทศเรียนไปสอนร่วมกับการอบรมจริยธรรมทางศาสนา สถาบันการศึกษาศาสนาอิสลามส่วนใหญ่จึงปฏิรูปเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ

 

1.3 ปัญหาการเผยแพร่ความคิดเชิงอุดมการณ์ 

 

          ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่งเกิดจากการอ้างคำอธิบายทางศาสนา กล่าวคือ ผู้ก่อความไม่สงบปลูกฝังความคิดว่าประเทศไทยเป็นดินแดนสงครามดังนั้นการต่อสู้ของพวกเขาจึงมีความชอบธรรมในทางอิสลาม สำนักจุฬาราชมนตรีจึงได้มีคำวินิจฉัยว่า ประเทศไทยไม่อยู่ในเงื่อนไขของสงคราม เพราะรัฐบาลไทยให้หลักกันในสิทธิเสรีภาพในการนับถือและประกอบศาสนกิจแก่คนมุสลิมอย่างเท่าเทียม และถือว่าการทำร้ายผู้บริสุทธิ์ถือเป็นบาปใหญ่ตามหลักการของศาสนาอิสลาม

 

          ดังนั้น การด่วนสรุปโดยการเชื่อมโยงสถานการณ์ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อน ไม่มีความเข้าใจเหตุแห่งปัญหาและบริบททางสังคมอย่างแท้จริง มิได้ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างศาสนิกทั้ง 2 ศาสนา

 

     2. ความพยายามเผยแพร่ข้อมูลแผนการยึดครองประเทศไทย และนำกฎหมายอิสลามมาบังคับใช้กับคนทั่วไปในประเทศไทยผ่านกระบวนการทางรัฐสภาและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด เชื่อมโยงการสร้างมัสยิดในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยจนนำไปสู่การยึดครองประเทศของมุสลิม 

 

          ข้อความลักษณะดังกล่าวห่างไกลความเป็นจริงมาก ความเป็นจริงคือ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมมีเพียง 4 ฉบับ

 

   1) พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล .. 2489 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการครอบครัวและมรดกของมุสลิมใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น

 

   2) พระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ .. 2524 เป็นกฎหมายที่มุ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์จากเงินส่วนตัวของผู้ที่ต้องการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ รัฐบาลมิได้จัดงบไปสนับสนุนพิเศษ ยกเว้นกรณีที่รัฐต้องการเยียวยาให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือมุสลิมที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงใน จชต. เท่านั้น

 

   3) พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม .. 2540 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม ที่ไม่ได้แตกต่างไปจาก พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ แต่อย่างใด โครงสร้างหลักของ พรบ. ฉบับนี้วางบทบาทให้จุฬาราชมนตรีเป็นผู้นำสูงสุดของศาสนาอิสลาม มีคณะกรรมการขึ้นมาดูแลในระดับหมู่บ้านหรือชุมชน (ระดับชุมชน มีกรรมการมัสยิด) โดยผู้นำศาสนาและตัวแทนด้านศาสนาทุกคนไม่ได้มี อำนาจ บทบาท หน้าที่ในการบริหารจัดการทางการเมืองในทุกระดับของสังคม

 

   4) พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย .. 2545 เป็นกฏหมายที่สะท้อนความเข้าใจของรัฐบาลต่อหลักการศาสนาอิสลามในเรื่องระบบการเงินที่จำเป็นต้องปราศจากดอกเบี้ย ปัจจุบันผู้ที่ใช้บริการธนาคารอิสลาม เป็นชาวไทยพุทธร้อยละ 60 และมุสลิมร้อยละ 40 ที่สำคัญแม้ใช้ชื่อว่าธนาคารอิสลาม แต่มุสลิมทุกคนไม่ได้รับอภิสิทธิ์เหนือประชาชนไทยพุทธแต่อย่างใด

 

          ตามที่กล่าวมากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามทั้ง 4 ฉบับไม่มีกฎหมายฉบับใดที่แสดงให้เห็นว่าองค์กรศาสนาอิสลาม หรือ คนมุสลิมจะมีสิทธิ อำนาจ หรือหน้าที่เข้าไปแทรกแซงกิจการทางการเมืองของรัฐไทยได้แม้เพียงน้อยนิด

 

     3. ความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อกิจการฮาลาลของประเทศไทย โดยมีการเผยแพร่ข้อมูลว่าองค์กรบริหารมุสลิมบังคับให้ผู้ประกอบการทั่วไปขอเครื่องหมายฮาลาล สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ประกอบการทั่วไป และรายได้จากกิจการฮาลาลถูกนำไปใช้อย่างไร ไม่มีการแสดงให้เห็นแน่ชัด

 

          ฮาลาลเป็นหลักการเกี่ยวกับการบริโภคอาหารของศาสนาอิสลาม มิได้มีการบีบบังคับให้ผู้อื่นต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาในแง่ของการตลาด ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือเป็นอันดับสองของโลก มุสลิมถือเป็นผู้บริโภครายใหญ่ในระดับโลก และประเทศมุสลิมจึงเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจของผู้ประกอบธุรกิจสินค้าด้านอาหาร

 

          พรบ. บริหารองค์กรศาสนาอิสลาม .. 2540 ให้อำนาจคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในการรับรองและออกเครื่องหมายฮาลาลให้แก่ผู้ประกอบการทั่วไป ปัจจุบันมีสถานประกอบการในประเทศไทยประมาณ 6,000 ราย ที่ขอรับรองมาตรฐานฮาลาลจากสำนักงานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยร้อยละ 90 ของสถานประกอบการที่ขอรับรองมาตรฐานฮาลาลไม่ใช่มุสลิม เพราะตระหนักในการสร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้าที่ต้องการขยายตลาดการส่งออกไปยังประเทศมุสลิมซึ่งมีจำนวนประชากรมากกว่า 1,800 ล้านคนทั่วโลก

 

          จากข้อมูลของ นาย Assad Sajjad Zaidi (ผู้บริหารสูงสุดของศูนย์ฮาลาลนานาชาติ) พบว่า ปัจจุบันประเทศที่ส่งออกสินค้าฮาลาลมากที่สุดในโลก 10 ประเทศ คือ อินเดีย บราซิล สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส ไทย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ในจำนวนนี้ไม่มีประเทศมุสลิม ซึ่งครอบคลุมมูลค่าสินค้าทั้งหมดร้อยละ 85 ส่วนสินค้าฮาลาลที่มาจากประเทศมุสลิมมีเพียงร้อยละ 15 ของตลาดการส่งออกสินค้าฮาลาล

          สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยจึงเป็นองค์กรศาสนาอิสลามที่มีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกและสร้างมาตรฐานความน่าเชื่อถือในผลิตภัณฑ์สินค้าฮาลาลเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกและสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทย

 

          สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตรวจมาตรฐานฮาลาลต่อสถานประกอบการหนึ่ง มีความสมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจที่ผู้ประกอบการต่าง สามารถยอมรับได้ ไม่ได้มีจำนวนมากมายถึง 300,000 ล้านบาทต่อปีอย่างที่มีการกล่าวอ้าง โดยเงินรายได้จากการรับรองและออกเครื่องหมายฮาลาล นำไปใช้ดังนี้

 

     1) จัดแบ่งไปยังคณะกรรมอิสลามประจำจังหวัดทุกจังหวัด เพราะแม้ว่ากรรมการอิสลามประจำจังหวัดบางจังหวัดได้รับเงินเดือนจากรัฐบาล แต่ไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนประจำปีในการดำเนินกิจการ

     2) งานการศึกษาของเยาวชน

     3) งานสังคมสงเคราะห์ และการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ

 

          สำนักจุฬาราชมนตรีและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในฐานะองค์กรศาสนาขอชี้แจงว่า มุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีความภาคภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทยที่ดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้พระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ ได้รับสิทธิเสรีภาพในการดำรงตน เฉกเช่นมุสลิมที่ดีพึงกระทำ

 

          สำนักจุฬาราชมนตรียืนยันหลักการเคารพความเชื่อของกันและกัน ไม่บริภาษว่าร้ายต่อผู้อื่นโดยปราศจากการตรวจสอบความถูกต้องและข้อเท็จจริง ที่สำคัญคือการดำรงไว้ซึ่งความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างทั้งในเรื่องของความเชื่อ ศาสนา ชาติพันธุ์ ภาษาของกันและกัน

 

          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้นำหรือรัฐบาล ตลอดทั้งสถาบันต่างๆ ในสังคมไทยพยายามช่วยกันรักษาทุนทางสังคมที่สำคัญ คือ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้คนที่แตกต่างหลากหลายทางศาสนา สำนักจุฬาราชมนตรีและองค์กรบริหารมุสลิมทุกภาคส่วนขอปวราณาตนเป็นสถาบันหนึ่งที่จะธำรงรักษาคุณลักษณะ และทุนทางสังคมที่เป็นรากฐานความมั่นคงของมนุษย์ และชาติ เพื่อให้ประเทศไทยสืบสานความเป็นสุวรรณภูมิของผู้คนทุกหมู่เหล่าต่อไปอย่างสงบสันติต่อไป