การกระด้างกระเดื่อง
  จำนวนคนเข้าชม  7144

  

การกระด้างกระเดื่อง

มุหัมมัด อัต-ตุวัยญิรีย์

 

การกระด้างกระเดื่องของสามีภรรยาและการแก้ไข


          อัน-นุชูษฺ หมายถึง การกระด้างกระเดื่อง การที่ภรรยาทรยศต่อสามีโดยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ของนาง

          โดยปกติแล้วจิตใจนั้นได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยให้มีนิสัยไม่ชอบทำหน้าที่ของตน แต่ชอบที่จะได้รับสิทธิที่ตนควรได้ และสิ่งที่จะทำให้การไกล่เกลี่ยง่ายขึ้นนั้นก็ คือต้องกำจัดนิสัยที่เสียนี้ออก และให้ความรู้สึกตรงกันข้ามเข้ามาอยู่แทนที่ นั่นการมีใจกว้างที่จะทำหน้าที่ของตนแก่ผู้อื่น และพอใจกับสิทธิจำนวนหนึ่งที่ตนควรได้รับ ด้วยสิ่งเหล่านั้นเองจะทำให้ทุกๆ อย่างดีขึ้น

 

 

ลักษณะการเยียวยาภรรยาที่มีการกระด้างกระเดื่อง

 

          1. เมื่อเห็นว่าภรรยามีท่าทีกระด้างกระเดื่อง เช่น ไม่ตอบรับเมื่อสามีชวนหลับนอน หรือบ่ายเบี่ยงเมื่อสามีต้องการมีความสุขกับนาง หรือตอบรับด้วยความเบื่อและไม่เต็มใจ ก็ขอให้สามีอบรมสั่งสอนภรรยาและกล่าวตักเตือนให้ยำเกรงอัลลอฮ์ และลงโทษสั่งสอนเธอเพียงด้วยสิ่งเบาๆ และง่ายๆ ก่อน แต่ถ้าเธอยังคงกระด้างกระเดื่องต่อไปอีก ให้สามีแยกตัว(ไม่ร่วมหลับนอน)และไม่คุยกับเธอเป็นเวลาสามวัน

          หากยังคงเป็นอยู่เช่นนั้นให้สามีตีเธอได้ แต่ต้องไม่รุนแรงและไม่เป็นแผล และต้องไม่ตีที่ใบหน้า ไม่เหยียดหยามเธอ หากได้ผลด้วยวิธีการดังกล่าวและภรรยากลับมาเหมือนเดิม ก็ต้องละทิ้งจากการต่อว่านางต่อสิ่งที่ผ่านมา

อัลลอฮ์  ตรัสว่า

“บรรดาชายนั้น คือผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองเลี้ยงดูบรรดาหญิง

เนื่องด้วยการที่อัลลอฮฺได้ทรงให้บางคนของพวกเขาประเสริฐกว่าอีกบางคน

และด้วยการที่พวกเขาได้จ่ายไปจากทรัพย์ของพวกเขา

บรรดากุลสตรีนั้น คือ ผู้จงรักภักดี ผู้รักษาในทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อลับหลังสามีเนื่องด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺทรงรักษาไว้

 และบรรดาหญิงที่พวกเจ้าหวั่นเกรงในความดื้อดึงของนางนั้น ก็จงกล่าวตักเตือนนาง

และทอดทิ้งนางไว้ตามลำพังตรงที่นอน และจงตีนาง

แต่ถ้านางเชื่อฟังพวกเจ้าแล้ว ก็จงอย่าหาทางเอาเรื่องนาง  แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงเกรียงไกรยิ่ง” 

 (อัน-นิสาอ์ 34)

          2. เมื่อสองสามีภรรยามาร้องเรียนว่า อีกฝ่ายได้ก่อความไม่ยุติธรรมแก่เขา และภรรยายังคงยืนกรานบนความกระด้างกระเดื่อง ยกตนเอง และอยู่ร่วมกันอย่างไม่เป็นสุข จนยากที่จะปรองดองกันได้ ก็ให้แต่งตั้งคณะผู้ตัดสินจากทางฝ่ายภรรยาและทางฝ่ายสามี  ให้ทั้งสองพยายามหาทางออกเพื่อผลประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับสองสามีภรรยานี้ ไม่ว่าจะเป็นการปรองดองกันหรือแยกทางกัน และไม่ว่าต้องเสียชดใช้หรือไม่เสียค่าชดใช้

 

         3. หากคณะผู้ตัดสินทั้งสองฝ่ายไม่ลงรอยกัน หรือไม่สามารถหาได้ และไม่สามารถไกล่เกลี่ยสองสามีภรรยาให้ปรองดองกัน ก็ให้กอฎีเป็นผู้ตัดสินกรณีของทั้งสอง สั่งยกเลิกการเป็นคู่ครองของทั้งสองด้วยการบังคับให้เสียค่าชดใช้หรือไม่ก็ได้ ด้วยการพิจารณาตามหลักบัญญัติทางศาสนา

อัลลอฮ์ ตรัสว่า

"และถ้าหากพวกท่านกลัวว่าจะเกิดความแตกแยกระหว่างคู่สามีภรรยา

ให้พวกท่านส่ง หะกัม (ผู้ตัดสิน)คนหนึ่งมาจากครอบครัวสามี

และผู้ตัดสินไกล่เกลี่ยอีกคนมาจากครอบครัวภรรยา 

ถ้าหากทั้งสองมีเจตนาปรารถนาให้มีการประนีประนอมไกล่เกลี่ยกันแล้วไซร้

อัลลอฮฺจะทรงให้ความสำเร็จระหว่างทั้งสอง แน่แท้อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงรู้อย่างถี่ถ้วน”

(อัน-นิสาอ์ 35)

          4. ถ้าหากภรรยามีความรู้สึกว่าสามีรังเกียจหรือไม่ให้ความสนใจต่อนาง และนางกลัวว่าสามีจะทอดทิ้ง นางสามารถที่จะยินยอมไม่รับสิทธิของนางทั้งหมดหรือบางส่วนจากสามีได้ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมหลับนอน ค่าเลี้ยงดู เสื้อผ้า หรืออื่นๆ สำหรับสามีก็สามารถที่จะรับข้อเสนอเหล่านั้นจากภรรยาได้ ถือเป็นการดีกว่าการแยกกันหรือการทะเลาะและขึ้นเสียงกันทุกวัน

อัลลอฮฺตรัสว่า

 “ถ้าหากภรรยาคนใดกลัวว่าสามีจะกระด้างกระเดื่อง หรือไม่สนใจไยดี

ก็ไม่มีบาปใดๆ แก่ทั้งสองที่จะตกลงประนีประนอมกันด้วยข้อเสนออย่างใดอย่างหนึ่ง

 และการประนีประนอมนั้นเป็นสิ่งดีกว่า และจิตใจคนนั้นถูกให้มีความตระหนี่มาด้วย

และหากพวกเจ้ากระทำดี และมีความยำเกรงแล้ว แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงรู้อย่างถี่ถ้วนในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน

(อัน-นิสาอ์ 128)


 

 

แปลโดย : ริซัลย์ สะอะ / Islam House