ความสำคัญของชีวประวัติของนะบีมุฮัมมัด
  จำนวนคนเข้าชม  17472

 

 

ความสำคัญของชีวประวัติของนะบีมุฮัมมัด  
และภาพต่างๆที่ทำให้เห็นความแตกต่าง

          ได้เป็นที่ประจักษ์ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่โบราณกาล และยังคงเป็นพยานให้มนุษยชาติ ถึงรูปแบบสังคมหลากหลายที่ได้ดำเนินวิถีชีวิตมา และการกล่าวถึงชีวประวัติของบุคคลต่างๆ เช่น บรรดากษัตริย์ ผู้มีความยุติธรรม บรรดาผู้นำ วีรบุรุษ บรรดานักกวี บรรดานักคิดค้นการประดิษฐ์ และอื่นๆ ประวัติเหล่านั้นเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย แต่ยังมีชนกลุ่มหนึ่งในมนุษย์ชาติที่เป็นผู้มีเกียรติ ชีวประวัติของพวกเขาสำคัญและมีประโยชน์อย่างมาก ชีวประวัตินั้นคือ บรรดานะบี เนื่องจากชีวประวัติของบุคคลอื่นในสังคมมนุษยชาติ ที่ปรากฏขึ้นในหลายแง่มุม และผลประโยชน์ในวงจำกัด แต่ในขณะเดียวกันชีวประวัติของบรรดานะบี และเราะซูล เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ และมีผลกระทบที่ครอบคลุมในชีวิตมนุษย์  โดยที่อัลลอฮ์  ได้ทรงคัดเลือกพวกเขาเพื่อมานำทางให้แก่มนุษย์ ชีวิตของบรรดานะบีและเราะซูลเป็นเสมือนดวงประทีปที่ส่องทางให้แก่มนุษยชาติ และสร้างแบบแผนสำหรับการเจริญรอยตาม ดังที่ อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า :


         พวกเขาเหล่านั้น ที่อัลลอฮ์ได้ทรงนำทางพวกเขา และด้วยทางนำของพวกเขา เจ้าก็จงเจริญรอยตาม จงกล่าวเถิดว่า ฉันไม่ขอท่านทั้งหลายในการนั้น  ซึ่งผลตอบแทน มันไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากสิ่งรำลึกแก่ชาวโลกทั้งหลายเท่านั้น
(อัลอันอาม : 90)
 
          แน่นอนยิ่งชีวประวัติของบรรดานะบี เป็นชีวประวัติที่สมบูรณ์ และชีวประวัติของท่านนะบีมุฮัมมัด  ได้กลายเป็นชีวประวัติที่ครบถ้วน ยิ่งใหญ่  มีเกียรติ และมีการเจริญรอยตามตราบไปจนวันสิ้นโลก ความแตกต่างในชีวประวัติของท่านนะบี   ได้ปรากฏชัดในหลายด้านด้วยกัน ซึ่งเราจะยกเอาสิ่งที่สำคัญมากล่าว ;

1. ความครบถ้วนสมบูรณ์ และความละเอียดถี่ถ้วน ตั้งแต่เกิดจนสิ้นชีวิต

          ชีวประวัติของนะบีมุฮัมมัด  ผู้ได้รับการคัดเลือก นับว่าเป็นชีวประวัติหนึ่งเดียวในบรรดานะบี ในแง่ของความครบถ้วนสมบูรณ์ และความชัดเจนในช่วงต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย รายละเอียดเหตุการณ์ต่างๆได้ถูกบันทึก เป็นที่รู้จักทุกขั้นทุกตอน ส่วนบรรดานะบีท่านอื่นๆมีความไม่ชัดเจน ไม่ครบถ้วน และยังมีบรรดานะบีอีกจำนวนมากที่เราไม่รู้ นอกจากทราบว่า อัลลอฮ์ได้ทรงส่งพวกเขามา

      และบรรดาเราะซูล ที่เราได้เล่าเรื่องราวของพวกเขาให้เจ้าได้ทราบมาก่อนและบรรดาเราะซูลที่เราไม่ได้เล่าเรื่องราวของพวกเขาให้เจ้าได้ทราบ และอัลลอฮ์ได้ตรัสกับมูซาโดยแน่นอน
(อันนิซาอฺ : 164)

          บรรดานามที่ได้รับการกล่าวถึงในอัลกุรอานนั้น บางท่านเราไม่ทราบประวัตินอกจากชื่อเท่านั้น และส่วนมากไม่รู้จักชีวประวัตินอกจากการพูดจาแก่หมู่คณะของพวกเขา และปาฏิหาริย์ต่างๆที่อัลลอฮ์ ได้ทรงสนับสนุน และขณะที่ชีวประวัติของเราะซูล ที่มีชื่อเสียงที่สุดสองท่าน ก่อนนะบี มุฮัมมัด   คือ มูซา  ซึ่งท่านเป็นเราะซูลที่รู้จักมากที่สุดของลูกหลานอิสรออีล ผู้ที่ได้รับการประทานคัมภีร์เตารอฮ์ และเป็นนะบีที่มีการกล่าวถึงในอัลกุรอานมากที่สุด เราพยายามที่จะศึกษาชีวประวัติของท่าน แต่พบว่าหลายขั้นตอนของชีวประวัติไม่สามารถเรียบเรียงให้สมบูรณ์ได้ นอกจากการกำเนิด สภาพแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ในช่วงแรกของท่านที่บ้านฟิรเอาน์ หลังจากนั้นการอพยพไปยังมัดยัน การแต่งงาน การอยู่ ณ ที่นั้นเป็นเวลา 10 ปี ไม่สามารถค้นหาชีวประวัติระหว่างนั้นได้ แล้วท่านได้ย้อนกลับมาสู่อียิปต์ ซึ่งในระหว่างทางอัลลอฮ์ ได้ทรงดลใจให้ท่านกลับมาเพื่อเรียกร้องฟิรเอาน์ และพวกพ้องของเขา เพื่อขจัดความอธรรมของฟิรเอาน์ ให้หมดไปจากลูกหลานของบนีอิสรออีล อัลลอฮ์ ทรงแจกแจงรายละเอียดการสนทนาระหว่างมูซากับฟิรเอาน์ ปาฏิหาริย์ และสัญญาณต่างๆ ที่ฟิรเอาน์และพรรคพวกไม่สามารถแสดงได้ จากนั้นความหายนะของฟิรเอาน์และพรรคพวก  การรอดพ้นของลูกหลานบนีอิสรออีล ซึ่งยังมีช่วงตอนต่างๆไม่เป็นที่รู้จักและไม่เป็นที่ชัดเจนในชีวประวัติของนะบีมูซา ชีวิตของท่านได้มีรายละเอียด จรรยามารยาท การเคารพภักดี การคบค้าสมาคมกับผู้ที่อยู่รอบข้าง การเจริญรอยตาม และอื่นๆ แต่ไม่รู้ถึงทุกสิ่งอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์

          ส่วนท่านที่สอง คือนะบี อีซา ที่ไซยยิดสุไลยมาน อันนัดวีย์ (ร่อหิมะฮุลลอฮ์) ปราชญ์ชาวอินเดียได้กล่าวไว้ เกี่ยวกับชีวประวัติว่า :

     “และเราะซูลที่ใกล้สมัยที่สุดกับอิสลามนั้น คือ อีซา ที่มีบรรดาผู้ติดตาม ทำการศึกษาวิจัยของชาวยุโรป มากกว่าศาสนาอื่น และจะรู้สึกแปลกใจเมื่อรู้ว่า เรื่องราวชีวิต และสภาพความเป็นอยู่ของท่าน เป็นสิ่งที่ซ่อนเร้น ไม่ชัดเจนมากกว่าท่านอื่น วันเวลาได้หวนกลับทำให้เราได้เห็นชีวิตของบรรดาผู้ยิ่งใหญ่ท่านอื่นๆ จากบรรดาเราะซูล ที่ถูกนับว่า เป็นเจ้าของศาสนาที่เป็นที่รู้จัก”

หลังจากนั้น เขาได้กล่าวว่า :
       “แท้จริง อีซา อยู่ในโลกนี้ สามสิบสามปี เหมือนกับที่อินญีลได้เล่าไว้ และอื่นๆที่มีอยู่ในมือ มีการกล่าวถึงสภาพของท่าน เพียงแค่สามปี ในช่วงท้ายชีวิตเท่านั้น  ซึ่งไม่รู้ชัดเจน นอกจากในขณะที่ท่านเป็นเด็ก และถูกนำมายังอียิปต์ และอัลลอฮ์ ทรงให้เห็นหนึ่ง หรือสองสัญญาณ หลังจากนั้น ท่านได้หายหน้าไปจากผู้คนทั้งหลาย และได้ปรากฏตัวขึ้น ในขณะที่มีอายุได้สามสิบปี... แล้วนะบีอีซา ได้ใช้ชีวิตสามสิบปี หรือยี่สิบห้าปีเป็นอย่างน้อยอยู่ที่ไหน ? และทำอะไร ? และทำงานอะไรในช่วงอายุของท่านที่เหลืออยู่ ? แท้จริงโลกนี้ไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเลย  และไม่มีโอกาสที่จะรู้ได้ต่อไป”(*1*) 

         ส่วนชีวประวัติของนะบี มุฮัมมัด ได้ถูกบันทึกอย่างละเอียดถี่ถ้วน และชัดเจน ตั่งแต่เกิดจนกระทั่งสิ้นชีวิต ด้วยลักษณะที่ไม่เคยมีในบรรดานะบีมาก่อน โดยที่คำพูด การกระทำ แม้แต่การยิ้มแย้ม ยังได้ถูกบันทึกไว้  การหยุดนิ่ง การพัก การเดินทาง การอยู่ยามสงบ การต่อสู้ ขณะอยู่ในบ้าน และนอกบ้านของท่าน

          ลักษณะพิเศษสำหรับชีวประวัติของท่านนะบีมุฮัมมัด   คือผู้ได้รับการยอมรับและได้รับการคัดเลือกจากบรรดามุสลิม โดยไม่มีความอิจฉาริษยาใดๆในจิตใจ  จอห์น ดิโยน เบอร์ต ได้กล่าวไว้ในบทนำหนังสือ เกี่ยวกับชีวประวัติของท่านนะบี มุฮัมมัด  เมื่อปี ค.ศ.1870 ซึ่งมีหัวข้อว่า “การขออภัยต่อมุฮัมมัด และอัลกุรอาน”

จอห์น กล่าวว่า :
       “ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ไม่มีในหมู่ของบรรดาผู้พิชิต ผู้ตราบทบัญญัติ และบรรดาผู้วางแนวทางต่างๆ ผู้คนทั้งหลายรู้จักประวัติ และสภาพต่างๆเหล่านั้น ซึ่งชีวประวัติของมุฮัมมัด ได้มีรายละเอียดการแจกแจง มากกว่าที่พวกเขาเคยรู้”(*2*) 

และ โซรษ สมิท ชาวอังกฤษ กล่าวว่า :
      “....ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ในโลกนี้ มีบุคคลสำคัญต่างๆ ที่เราไม่รู้จักพวกเขาเลย และไม่เคยรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง หรือเรื่องต่างๆที่ไม่เป็นที่รู้จัก นอกจากชีวประวัติของมุฮัมมัด  เท่านั้น เรารู้ถึงรายละเอียดต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนถึงเติบใหญ่ ความผูกพัน ความประพฤติของท่านกับผู้คนทั้งหลาย เรารู้ถึงความคิดของท่านในช่วงเริ่มแรก และพัฒนาการที่สูงขึ้นเรื่อยๆ มีการประทานวะฮีย์ที่ยิ่งใหญ่มายังท่าน ครั้งแล้วครั้งเล่า และเรารู้ชีวประวัติของท่าน หลังจากที่การเรียกร้องได้ปรากฏขึ้น และมีการประกาศสาสน์ของท่าน...”(*3*) 


2. ความถูกต้องในการถ่ายทอด และความเชื่อถือในที่มา

          แท้จริง สิ่งที่จะมาจำแนกชีวประวัติของนะบี มุฮัมมัด  กับสิ่งที่ผ่านมา คือ การมาถึงในหนทางที่ถูกต้อง จากแหล่งที่มาในขั้นไว้ใจและเชื่อถือได้ในระดับสูงสุด ชีวประวัติของท่านนะบี  ที่สำคัญที่สุด คือ อัลกุรอานที่มีเกียรติ ซึ่งสาธยายถึงลักษณะต่างๆ และจรรยามารยาทของท่าน ในการเรียกร้องเชิญชวน และการทำศึกสงคราม และท่าทีของศัตรูที่มีต่อการเรียกร้องเชิญชวน และการคบค้าสมาคมกับพวกเขา และแหล่งที่มาที่สอง ของชีวประวัติท่านนะบี  คือ ตำรับตำราแบบฉบับ ซุนนะฮ์ของท่านนะบี ซึ่งถูกบันทึกไว้อย่างเป็นเอกภาพ เป็นการเฉพาะ ไม่มีชีวประวัตินะบีท่านใดได้ถูกบันทึกในลักษณะเช่นนี้มาก่อน และชีวประวัติของนะบีมูซา อีซา มิได้ถูกบันทึกไว้นอกจากหลังจากที่ท่านได้จากโลกนี้ไปแล้ว

          คัมภีร์เตารอฮ์ ได้ถูกบันทึกไว้ หลังจากที่ท่านนะบีมูซา ได้จากไปราว ศตวรรษ(*4*)   ฉะนั้นจึงถูกบิดเบือน และมีแนวความคิดของนักเขียนมากมายแทรกเข้าไปด้วย  จึงทำให้มีการขัดแย้งกันในคัมภีร์นั้น

          สำหรับคัมภีร์อินญีล ได้ถูกบันทึกหลังจากที่ท่านนะบีอีซา ได้ถูกยกขึ้นไปยังฟากฟ้าถึง 60 ปี ภาษาที่บันทึกไว้ และภาษาที่แปลออกมา  จึงอ่านไม่เข้าใจ หลังจากนั้นมาอีกหลายศตวรรษ บรรดาบาทหลวงและกษัตริย์ จึงได้ทำการบิดเบือนคัมภีร์อินญีล 

          ส่วนชีวประวัติท่านเราะซูล   ได้ถูกบันทึกไว้ในขณะท่านยังมีชีวิตอยู่ด้วยสองวิธีด้วยกัน ;

          วิธีที่ 1 การจดจำอย่างแม่นยำ โดยผู้จดจำ  ผู้รายงานที่เป็นมุมินที่มีความซื่อสัตย์ ติดตามท่านเราะซูล   ตลอดเวลา พวกเขาได้อุทิศชีวิต และทำสมองให้ว่าง เพื่อจดจำทุกสิ่งที่ออกมาจากท่านเราะซูล  ไม่ว่าจะเป็นคำพูด การกระทำ หรือการยอมรับโดยพฤตินัยก็ตาม  พวกเขาจะจดจำแม้กระทั่งอิริยาบถของท่าน การยิ้ม การเดิน การนิ่ง ฯลฯ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะที่ท่านเดินทาง หรือว่าอยู่ที่บ้านของท่าน(*5*) เป็นที่ยอมรับกันว่า ชนชาติอาหรับก่อนอิสลามนั้น มีชื่อเสียงในเรื่องของความจำ โดยเฉพาะการจำประวัติศาสตร์ การท่องจำบทกวีต่าง ๆ และการสืบตระกูลต่าง ๆ ของพวกเขา
   
          วิธีที่ 2  คือ การจดบันทึก ซึ่งมีบรรดาสาวกของท่านเราะซูล  จำนวนหนึ่งได้คอยจดบันทึกถ้อยคำต่าง ๆ ที่พวกเขาได้ยิน ได้เห็นจากท่านเราะซูล  ผู้ที่มีชื่อเสียงในด้านนี้คือ อัมรุบนุลอ๊าศ เขาได้จดบันทึกคำพูดต่างๆ ของท่านนะบี ไว้ในแผ่นหนัง โดยตั้งชื่อว่า  “ข้อเท็จจริง”

           อับดุลลอฮ์ อิบนุ  อับบาส ก็เช่นเดียวกัน ท่านได้ทิ้งสิ่งที่ท่านบันทึกไว้ มีน้ำหนักเท่ากับสัมภาระบนหลังอูฐหนึ่งตัว

          ต่อมา ในยุคของตาบีอีน พวกเขาได้ถ่ายทอดสิ่งที่บรรดาซอฮาบะฮ์ได้บันทึกไว้ โดยการท่องจำ การจดบันทึก การรวบรวมแบบฉบับของท่านเราะซูล   พวกเขาได้เขียนตัวอย่างที่ยอดเยี่ยม ? ที่มีความละเอียดถี่ถ้วนไว้

          ซอฮาบะฮ์ได้ใช้เวลาเดินทางยาวนาน เพื่อค้นหาฮะดีษเพียงบทเดียวจากผู้รายงาน  ต่อจากนั้นพวกตาบิอิตตาบีอีน ได้ทำหน้าที่ต่อด้วยความรับผิดชอบอย่างสูง พวกเขาได้เขียนหนังสือฮะดีษขึ้นมา โดยวางหลักเกณฑ์ของผู้รายงานอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นการป้องกันการบิดเบือน และการโกหก(*6*) มีผู้รายงานฮะดีษ

          บางท่านรวบรวมชีวประวัติของท่านเราะซูล  โดยคัดมาจากซุนนะฮ์ของท่าน

          บางท่านเน้นเรื่องการทำสงครามโดยเฉพาะ (*7*)

          บางท่านรวบรวมหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับการเป็นนะบีและมัวะญิซาต (สิ่งที่เป็นปาฏิหาริย์) ของท่านเราะซูล(*8*)      
 
          บางท่านเขียนเกี่ยวกับจริยธรรม กิจวัตรประจำวัน และอุปนิสัยของท่านเราะซูล(*9*)   

          สรุปได้ว่าชีวประวัติของท่านเราะซูล ได้ถูกบันทึกไว้ตั้งแต่เริ่มแรก และได้รับการถ่ายทอดมายังพวกเราด้วยวิธีการที่แน่นอน และเชื่อถือได้ จึงเป็นชีวประวัติหนึ่งเดียวที่ถูกต้อง เหมาะสมที่สุดที่จะเจริญรอยตาม


3.  ชีวประวัติของนะบี  นั้นครอบคลุมทุกด้านของชีวิต

          การดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้นมีความแตกต่างกัน ซึ่งมีหลากหลาย ทั้งในด้านที่อยู่อาศัย ด้านสังคม ด้านความรับผิดชอบ และหน้าที่ต่างๆ รวมทั้งสถานภาพในช่วงชีวิตของพวกเขา ทั้งหมดนั้นต้องการแบบอย่างที่ดี ที่เพียบพร้อมทุกด้าน เพื่อที่จะยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต แบบอย่างที่ดีงามอันนี้ จะหาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว นอกจากที่ท่านนะบีมุฮัมมัด  เท่านั้น

          ชีวประวัติของบรรดานะบีก่อนหน้าท่าน ได้ขาดจุดนี้ไป เช่น ท่านนะบีอีซา ไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูกหลาน และไม่ได้เป็นผู้นำหรือผู้ปกครอง ส่วนชีวประวัติของท่านนะบีมูซา ขาดส่วนสำคัญที่มนุษย์ต้องการนำมาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตด้านสังคม เช่น ความสัมพันธ์กับคู่ครองและครอบครัว ในด้านการปกครองที่เกี่ยวกับแนวทางในการบริหารจัดการทรัพย์สินต่าง ๆเป็นต้น (*10*)
   
          สำหรับชีวประวัติของท่านนะบีมุฮัมมัด   ท่านสุไลมาน อัลนัดวีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ ได้กล่าวไว้ว่า “เป็นชีวประวัติที่ครอบคลุมทุกด้านของมนุษย์ ไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม    เขาจะพบว่าเป็นแบบอย่างที่สมบูรณ์ สำหรับพวกเขาในทุกด้าน ทุกยุคสมัย”(*11*) 

         ผู้ที่เป็นผู้นำ จะพบแบบอย่างที่ดีงามในการปกครองประเทศ ผู้ที่เป็นพ่อจะพบแบบอย่างที่ดีในการอบรมสั่งสอนลูกๆ ผู้ที่เป็นสามีจะพบการปฏิบัติที่ดีงาม ระหว่างคู่ครองของเขา ท่านเราะซูล   เป็นครูที่ยอดเยี่ยม ซึ่งครูทุกคนสามารถนำเอาวิธีการสอนของท่านมาเป็นแบบอย่าง ท่านเป็นนักเรียนที่ดีในขณะที่ท่านรับวะฮีย์ (โองการต่างๆ) จากญิบรีล ท่านเป็นผู้มักน้อย ซื่อสัตย์ เป็นพ่อค้าที่มีสัจจะเป็นลูกจ้างที่ดีในการเลี้ยงดูแพะ แกะของนายจ้าง ท่านเป็นผู้มั่งคั่งที่กตัญญูต่อพระเจ้า    เป็นผู้ขัดสนที่อดทน เป็นเด็กกำพร้าที่ต้องการ การอุปการะเลี้ยงดู และท่านก็เป็นผู้ที่อุปการะเด็กกำพร้า ให้การเลี้ยงดูด้วยความเมตตาสงสาร  ท่านเป็นผู้เรียกร้อง เชิญชวนไปสู่ศาสนาของอัลลอฮ์  ด้วยความสุขุม และ ด้วยการชี้แนะที่ดีงาม ท่านเป็นนักต่อสู้ในสิ่งที่ถูกต้อง ท่านไม่เกรงกลัวการตำหนิใดๆ  ท่านเป็นผู้ทำอิบาดะห์ที่ไม่เบื่อหน่ายในการทำความใกล้ชิดกับพระองค์อัลลอฮ์ ท่านเป็นแม่ทัพที่เก่งกาจ และมีวิธีการเฉพาะในการต่อสู้ และปฏิบัติกับศัตรู  เมื่อท่านได้รับชัยชนะท่านก็ถ่อมตนไม่หลงระเริง เมื่อพบกับความพ่ายแพ้ ก็พ่ายแพ้อย่างมีเกียรติ  นอกเหนือจากนี้ ท่านยังมีคุณสมบัติที่ดีงามอีกมากมาย ที่เกี่ยวข้องกับสภาพต่างๆ ของสังคม  ที่อัลลอฮ์  ได้รวมไว้ในชีวประวัติ ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีงามของมวลมนุษยชาติ ตามสภาวการณ์และยุคสมัย ขอพระองค์อัลลอฮ์ ได้โปรดประทานพร และความดีงามให้แก่ท่านนะบีมุฮัมมัด ด้วยเทอญ

ดร.อัดุลลอฮฺ  อิบนุ อับดิรเราะฮ์มาน อัลค็อรอาน

 ...ประเด็นต่างๆในการศึกษาชีวประวัตินะบีมุฮัมมัด 


  1. สุไลยมาน อันนะดะวียฺ/อัรริซาละตุลมุฮัมมะดียะฮฺ/57/58
  2. คัดลอกจากสุไลยมาน อันนะดะวียฺ/ อัรริซาละฮฺอัลมุฮัมมะดียะฮฺ/98
  3. สุไลยมาน อันนะดะวียฺ/ อัรริซาละฮฺอัลมุฮัมมะดียะฮฺ/98
  4. ดูหนังสือ ซีเราะห์อัลนะบะวียะห์ หน้า 30 เขียนโดย มะห์มูดซากิร
  5. ผู้รายงานคนสำคัญเหล่านั้นคือ อบูฮุรอยเราะห์ ท่องจำ (5373) ฮะดีษ อับดุลเลาะห์ อิบนุอับบาส ท่องจำ 2663 ฮะดีษ  ท่านหญิงอาอิซะห์ท่องจำ 2210 ฮะดีษ   อับดุลเลาะห์อิบนุอุมัร ท่องจำ 16300ฮะดีษ ญาบิร บินอับดุลเลาะห์ ท่องจำ 1560 ฮะดีษ อะนัส อิบนุมาลิก ท่องจำ 1286 อบูสอี๊ด อัลคุดรีย์ท่องจำ 1170 ฮะดีษ
  6. ดูรายละเอียด เกี่ยวกับขั้นตอนในการบันทึกซุนนะห์ อุลูมุลฉะดีษ  และ มุศตอละห์ ของซุบฮีย์ ซอและห์ หน้า 14
  7. มะฆอซีย์อุรวะอิบนุซุเบรปี ฮศ 94 และมะฆอซีย์ อิม่ามซุฉรีย์ ปี ฮศ 124 และมุซา อิบนุอุกบะห์ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ ของเขา ปี ฮศ 1416
  8. หนังสือ  ดะลาอิ้ลนุบูวะห์ ของ อิบนุ กุตัยบะฮ์ ปี ฮศ 276
  9. หนังสือซะมาอิ้ล  ของ ติรมีซีย์ ปี ฮ.ศ 279
  10. ดู เกี่ยวกับคำพูดนี้ จากท่านนะบีมูซา ถึงประวัติท่านนะบี  ของมะห์มูด ซากิร หน้า 29-30
  11. ริซาละห์มุฮัมมะดียะห์  หน้า 132