สาระสำคัญของการประกันภัย
  จำนวนคนเข้าชม  13305

สาระสำคัญของการประกันภัย  

 
 
โดย .. มุร็อด บินหะซัน

          
         ตามมาตราที่  861  ของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยประกันภัยระบุว่า  

“ อันว่าสัญญาประกันภัยนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่ง ให้  ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้นหรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา    แลในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกัน”             

จากบทบัญญัติมาตรา  861  นี้สัญญาประกันภัยจึงอาจแยกสาระได้สามประการคือ

ก.  เป็นสัญญาที่บุคคลฝ่ายหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน  หรือจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่ง

ข.  การใช้เงินขึ้นกับเงื่อนไขแห่งการเกิดเหตุการณ์ขึ้นในอนาคต อันเป็นเหตุวินาศภัยหรือเหตุอย่างอื่นในอนาคตอันได้ระบุไว้ในสัญญา

ค.  โดยผู้เอาประกันภัยตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกัน    จะเห็นได้ว่าลักษณะของสัญญาประกันภัยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสองประการคือ

(1)  วินาศภัย

(2)  เหตุอย่างอื่น


          (1)  วินาศภัย คือ    ความเสียหายที่คำนวณเป็นเงินได้  เช่น  การประกันอัคคีภัย    ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ  หรือการกระทำของคนก็ได้    รวมถึงภัยธรรมชาติอื่นๆ เช่น  น้ำท่วม    พายุ    แผ่นดินไหว    หรือเกิดจากการกระทำของบุคคล  เช่น  การประกันความทุจริตของลูกจ้าง   ประกันการใช้หนี้ของลูกหนี้ ประกันการถูกโจรกรรม  ฯลฯ     ซึ่งเป็นการประกันความเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ

          (2)  เหตุอย่างอื่นในอนาคต    หมายถึงเหตุอย่างอื่นนอกจากวินาศภัย   คือความตาย    จึงมีหลักเกณฑ์แตกต่างไปจากสัญญาประกันวินาศภัย   เป็นสัญญาซึ่งตกลงจะชดใช้เงินจำนวนหนึ่ง    ไม่ใช่เป็นการใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยการกำหนดจำนวนเงินที่แน่นอน ซึ่งเป็นภัยที่ทุกคนจะต้องประสบ     การประกันภัยชนิดนี้ได้แก่สัญญาประกันชีวิต จึงไม่ใช่การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน    เพราะชีวิตมนุษย์มีค่ามากกว่าจะหาสิ่งใดมาทดแทนได้ (สุภาพ    สารีพิมพ์,  2548  :  4 - 8)

         การประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับมรดกคือการประกันภัยประเภทที่มีเงื่อนไขขึ้นกับเหตุอย่างอื่นในอนาคต หมายถึงการประกันชีวิตนั่นเอง   ซึ่งจากการศึกษาพบว่า การประกันชีวิตแบ่งได้เป็น  2  ประเภทคือ  การประกันชีวิตที่ทำโดยถูกต้องตามหลักการของอัลอิสลาม  และการทำประกันชีวิตที่ไม่ถูกต้องตามหลักการของอัลอิสลาม การแบ่งเงินกรมธรรม์ที่ได้มาจากการทำประกันชีวิตที่ถูกต้องตามหลักการของอัลอิสลาม  ผู้วิจัยมีความเห็นว่า  ให้แบ่งเป็น  2  ส่วน  คือส่วนของผู้รับประโยชน์ที่ถูกระบุชื่อไว้ในสัญญาในอัตราส่วน 1/3 ของเงินกรมธรรม์ถือว่าการระบุ ให้ผู้รับประโยชน์รับเงินกรมธรรม์ทั้งหมดนั้นเป็นการทำพินัยกรรม จึงขึ้นอยู่กับทายาทผู้อื่น  หากผู้รับประโยชน์นั้นเป็นทายาทที่รับมรดกได้ ส่วนกรมธรรม์ที่เหลืออีก 2/3 ให้แบ่งแก่บรรดาทายาทที่มีสิทธิ์รับมรดกได้ในอัตราส่วนที่ศาสนาอิสลามได้กำหนดไว้ในกฎหมายมรดก

          ส่วนการแบ่งเงินกรมธรรม์ที่ได้มาจากการทำประกันชีวิตที่ไม่ถูกต้องตามหลักการของอัลอิสลามก็ให้แบ่งเงินกรมธรรม์เป็น  2  ส่วนเช่นเดียวกัน  คือส่วนที่เป็นเบี้ยประกันและส่วนที่เป็นกรมธรรม์ที่เพิ่มขึ้นจากเบี้ยประกัน
 
         สำหรับเบี้ยประกันให้แบ่งให้แก่ทายาทที่รับมรดกได้ในอัตราส่วนที่กฎหมายอิสลามได้กำหนดไว้ในกฎหมายมรดก   ส่วนเงินกรมธรรม์ที่เพิ่มจากเบี้ยประกันหากบริษัทรับประกันมีความพอใจที่จะช่วยเหลือครอบครัวของผู้เอาประกัน  ก็ให้ตกลงกันระหว่างทายาทในการแบ่งทรัพย์นั้นหรือจะให้ผู้รับประโยชน์ที่ถูกระบุชื่อไว้ในสัญญาก็ได้

ที่มา : มิฟตาฮู่ลอุลูมิดดีนียะห์ บ้านดอน