การแต่งงาน
  จำนวนคนเข้าชม  4696

การแต่งงาน


ความเข้าใจว่าด้วยการสมรส

          การแต่งงานและการมีครอบครัวเป็นวิถีทางหนึ่งที่อัลลอฮฺได้กำหนดแก่สรรพสิ่งที่พระองค์สร้างขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่ครอบคลุมทั้งสรรพสัตว์และพืชพรรณต่างๆ ด้วย

         สำหรับมนุษย์นั้นอัลลอฮฺได้สร้างขึ้นมาแตกต่างจากสรรพสิ่งอื่นๆ ที่ไม่มีขอบเขตด้านการสนองความใคร่โดยสิ้นเชิง และอัลลอฮฺนั้นได้วางกรอบแนวทางและกฎระเบียบที่ชัดเจนเหมาะสมกับการเป็นสัตว์ประเสริฐ เพื่อที่จะรักษาชื่อเสียงเกียรติยศและวงศ์ตะกูลของมนุษย์เอง สิ่งเหล่านี้ย่อมจะรักษาได้ก็ต่อเมื่อมีการแต่งงานที่ถูกต้อง และการแต่งงานนั้นย่อมก่อให้เกิดความสัมพันธ์กันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงที่มีเกียรติ บนฐานแห่งความพอใจระหว่างกัน การให้และการรับ และมีความรักใคร่ซึ่งกันและกัน

         การแต่งงานเป็นการสนองต่ออารมณ์ด้วยทางที่ถูกต้อง และเพื่อที่จะรักษาเชื้อสายวงศ์ตระกูลให้สามารถดำรงสืบสานต่อไปได้ และปกป้องสตรีเพศจากการเป็นเหยื่อถูกกระทำจากใครก็ตามที่ประสงค์ไม่ดีกับนาง


ความประเสริฐของการแต่งงาน

          การแต่งงานนั้นเป็นแบบอย่างที่ได้รับการสนับสนุนของบรรดาศาสนทูต และเป็นแนวทางที่รอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ส่งเสริมมากยิ่งนัก ดังที่ได้ระบุในอายะฮฺและหะดีษดังต่อไปนี้

1. อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า

ความว่า "ประการหนึ่งจากสัญลักษณ์ทั้งหลายของพระองค์นั้น คือ ทรงสร้างคู่ครองให้พวกเจ้าให้แก่ตัวของพวกเจ้าเอง เพื่อพวกเจ้านั้นจะได้มีความสุขอยู่ด้วยกัน

 และได้ทรงให้มีความรักใคร่และเมตตาระหว่างกัน แท้จริงแล้วในกรณีนี้ ย่อมเป็นสัญญาณให้แก่หมู่ชนผู้ใคร่ครวญทั้งหลาย" (อัรรูม 21)

2. อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ว่า

ความว่า “และโดยแน่นอน เราได้ส่งบรรดาศาสนทูตมาก่อนหน้าเจ้า และเราได้ให้พวกเขามีภริยาและลูกหลาน ...”  ( อัรเราะอฺดุ 38)
 
          3. จากท่านอิบนุ มัสอูด เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า พวกเราเป็นเด็กหนุ่มที่อยู่กับท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเราไม่มีทรัพย์สินอะไรเลย(เพื่อสร้างครอบครัว) ท่านจึงได้กล่าวกับเราว่า

«يَا مَعْشَرَ الشَّبَابِ، مَنِ اسْتَطَاعَ البَاءَةَ فَلْيَتَزَوَّجْ، فَإنَّـهُ أَغَضُّ لِلْبَصَرِ، وَأَحْصَنُ لِلْفَرْجِ، وَمَنْ لَـمْ يَسْتَطِعْ فَعَلَيْـهِ بِالصَّوْمِ فَإنَّـهُ لَـهُ وِجَاءٌ». متفق عليه.

ความว่า  "โอ้บรรดาชายหนุ่มทั้งหลาย ผู้ใดในหมู่พวกเจ้านี้มีความสามารถ(ในการครองคู่) ก็จงแต่งงานเถิด 

เพราะแท้จริงนั้น(การแต่งงาน)เป็นการลดสายตาให้ต่ำลงได้ อีกทั้งให้พวกเจ้าสามารถสงวนอวัยวะเพศได้

และ ผู้ใดที่ไม่มีความสามารถก็จงถือศีลอดเสียเถิด  เพราะการถือศีลอดเป็นการลดอารมณ์เพื่อให้ทุเลาลง"

( บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์ 5066 และมุสลิม 1400)


ความหมายการแต่งงาน

          การแต่งงาน (นิกาห์ หรือ ซะวาญจ์) นั้นคือ พันธะสัญญาตามหลักศาสนา ที่จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ฝ่ายชายและหญิงนั้นสามารถหาความสุขซึ่งกันและกันจากคู่ครองของเขาได้


วิทยปัญญาของการบัญญัติให้มีการแต่งงาน

     1. การแต่งงานเป็นบรรยากาศที่ดีซึ่งนำไปสู่การสร้างรากฐานและความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เข้มแข็ง เป็นการทำให้จิตใจบริสุทธิ์จากพฤติกรรมเสื่อมทราม ก่อให้เกิดความสงบสุข เนื่องจากความรักใคร่ที่เกิดขึ้นระหว่างสามีภรรยา

     2. การแต่งงานเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการให้กำเนิดลูกและบุตรหลาน และเพื่อสืบสานวงศ์ตระกูลต่อไป ซึ่งจะก่อให้เกิดการทำความรู้จักกัน สัมพันธไมตรี การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

     3. การแต่งงานเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสนองต่อความต้องการทางเพศและขจัดอารมณ์ใคร่ และให้ปราศจากโรคภัยต่างๆ

     4. การแต่งงานสามารถที่จะสร้างครอบครัวที่ดีอันเป็นฐานที่เข้มแข็งสำหรับสังคมได้ ต่างคนก็ต่างมีหน้าที่กัน สามีก็ทำหน้าที่ในการหาเลี้ยงชีพ รับภาระค่าใช้จ่ายและเลี้ยงดู ส่วนภรรยาก็ทำหน้าที่อบรมบ่มนิสัยเลี้ยงดูลูกๆ คอยจัดระเบียบสิ่งของต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้านให้เรียบร้อย และวางระเบียบให้กับชีวิตในบ้าน ด้วยสิ่งนี้จะทำให้ชีวิตในสังคมเกิดความมั่นคง

     5. การแต่งงานนั้นได้ตอบสนองความต้องการของการเป็นพ่อแม่ ซึ่งเกิดได้จากการที่มีลูกๆ ให้เลี้ยงดู


หุก่มของการแต่งงาน

     1. การแต่งงานเป็นสุนัต (ส่งเสริมให้กระทำ) สำหรับผู้ที่มีความต้องการทางเพศและไม่วิตกกังวลถึงตัวเองว่าจะไปซินา(ประพฤตผิดทางเพศ) เนื่องจากการแต่งงานนั้นมีคุณค่าและประโยชน์มหาศาล สำหรับชายและหญิง และสำหรับปวงชนทั้งหลาย

     2. การแต่งงานเป็นวาญิบ (สิ่งจำเป็น) สำหรับผู้ที่กลัวว่าตนเองจะตกอยู่ในภาวะการซินาหรือประพฤติผิดทางเพศถ้าเขาไม่ได้แต่งงาน และเป็นสิ่งที่สมควรสำหรับสองสามีภรรยาที่จะต้องตั้งเจตนาในการแต่งงานของเขาทั้งสองนั้นว่าเพื่อสร้างความบริสุทธิ์ใจแก่ตัวเองและเพื่อป้องกันตัวจากการกระทำสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺได้ห้ามไว้  เมื่อตั้งเจตนาดังกล่าวแล้ว การมีเพศสัมพันธ์ของทั้งสองก็จะถูกบันทึกว่าเป็นเศาะดะเกาะฮฺประการหนึ่ง

 


มุหัมมัด อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์

แปลโดย : ริซัลย์ สะอะ  /  Islam House