จุดเริ่มต้นกำเนิดแนวคิดเคาะวาริจญ์
  จำนวนคนเข้าชม  14015

จุดเริ่มต้นกำเนิดแนวคิดเคาะวาริจญ์



กลุ่มเคาะวาริจญ์

         พฤติกรรมของพวกเคาะวาริจญ์เป็นตัวอย่างที่ให้เห็นเด่นชัดว่า อิคลาศ (ความบริสุทธ์ใจ) อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้การงานและแนวทางกลายเป็นสิ่งถูกต้อง(ถูกตอบรับโดยอัลลอฮฺ)ได้ แต่ทว่า  อิคลาศนั้นต้องผนวกพร้อมกับการเจริญรอยตามซุนนะฮฺ(แนวทาง)ของท่านนบี เข้าด้วยกัน และไม่หันเหออกจากความเข้าใจในศาสนาตามแนวทางของชาวสะลัฟ-กัลยาณชนรุ่นแรก โดยเฉพาะเศาะหาบะฮฺผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย

         พวกเคาะวาริจญ์เป็นกลุ่มคนที่คร่ำเคร่งในการปฏิบัติศาสนกิจ ในบางครั้งการปฏิบัติศาสนกิจของพวกเขาอาจดูเหนือกว่าการปฏิบัติศาสนกิจของเศาะหาบะฮฺด้วยซ้ำไป แม้กระนั้น พวกเขาก็ได้หลงทางจากแนวทางอันเที่ยงตรง พวกเขาคิดว่าพวกเขารู้มากกว่าเศาะหาบะฮฺ 

           ประชาชาติอิสลามมีมติอย่างเอกฉันท์ว่า พวกเคาะวาริจญ์คือพวกที่หลงทางและจำเป็นต้องต่อสู้กับพวกเขา ดังที่ท่านอะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺและบรรดาเศาะหาบะฮฺปฏิบัติต่อพวกเขา

             อุตริกรรมของพวกเคาะวาริจญ์ถือเป็นอุตริกรรมแรกที่เกิดขึ้นในอิสลาม  ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมิยะฮฺ กล่าวว่า “กลุ่มแรกที่แยกตัวออกจากกลุ่มชนมุสลิมคือ พวกเคาะวาริจญ์”  มีหะดีษของท่านนบี ที่เศาะฮีหฺหลายบทที่กล่าวถึงพฤติกรรมของพวกเคาะวาริจญ์ซึ่งบันทึกโดยอิหม่ามมุสลิมและอัล-บุคอรีย์ บรรดาเศาะหาบะฮฺได้ต่อสู้กับพวกเขาพร้อมกับเคาะลีฟะฮฺ อะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ซึ่งไม่มีใครเห็นขัดแย้งกันเลยว่าอนุญาตให้ต่อสู้กับพวกเขาได้ (อัล-ฟะตาวา เล่ม 3 หน้าที่ 349)



ชื่อเรียกของกลุ่มเคาะวาริจญ์

          เคาะวาริจญ์ เป็นคำพหุพจน์ ของคำว่า คอริจญ์ (แปลว่า ผู้ที่ออกไป) ส่วนความหมายด้านวิชาการหมายถึง ผู้ที่แข็งข้อ ไม่ยอมเชื่อฟังผู้ปกครองที่ชอบธรรม พร้อมประกาศตนเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ปกครอง หลังจากที่พวกได้ตีความ (ตัวบทหลักฐานว่าอนุญาตให้กระทำเช่นนั้นได้) ปราชญ์อิสลามเรียก พวกเขาว่า “บุฆอต” หมายถึง พวกกบฎ  และยังมีชื่อเรียกอื่นๆ อีกดังต่อไปนี้

     1. อัล-หะรูริยะฮฺ เนื่องจากพวกเขาได้พำนัก ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ชื่อว่า “หะรูรออ์” หลังจากที่พวกเขาแยกตัวออกจากกองทัพของท่านอะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ

     2. อัน-นะวาศิบ เนื่องจากพวกเขาประกาศเป็นศัตรูกับท่านอะลีย์และพรรคพวก

     3. อัล-หะกะมิยะฮฺ เนื่องจากพวกเขากล่าวหลังจาก อัต-ตัหฺกีม (การตั้งคณะกรรมการเพื่อตัดสินปัญหาคิลาฟะฮฺระหว่างฝ่ายท่านมุอาวิยะฮฺกับท่านอะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา) ว่า “ไม่มีการตัดสินใดๆนอกจากการตัดสินของอัลลอฮฺเท่านั้น”

     4. อัล-มาริเกาะฮฺ เนื่องจากพวกเขาได้ออกจากศาสนาอิสลาม ดังที่ท่านนบี  กล่าวว่า “พวกเขาจะออกจากศาสนาดังลูกศรที่พุ่งไปยังร่างของสัตว์ที่ถูกยิง”


จุดเริ่มต้นกำเนิดแนวคิดเคาะวาริจญ์

         บุคคลแรกที่ถือว่าเป็นเคาะวาริจญ์ คือ ซุล คุวัยศิเราะฮฺ อัต-ตะมีมีย์ ผู้ซึ่งเคยกล่าวแก่ท่านนบี ว่า “(โอ้มุฮัมหมัด) เจ้าจงยุติธรรมเถิด” หรือกล่าวว่า “(โอ้มุฮัมหมัด)เจ้าจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด”
 

        ท่านนบี จึงตอบกลับว่า “หากฉันเนรคุณต่ออัลลอฮฺแล้วจะมีใครอีกเล่าที่จะจงรักภักดีต่อพระองค์? ชาวโลกต่างให้ความไว้วางใจต่อฉัน แต่ตัวท่านนั้นกลับไม่ไว้วางใจต่อฉัน” 

        แล้วท่านนบี ได้บอกว่า ในภายภาคหน้าพวกเคาะวาริจญ์จะมาจากลูกหลานของ ซุล คุวัยศิเราะฮฺ นั้นเอง ดังที่ปรากฎในตำราหะดีษเศาะฮีหฺของอิหม่ามมุสลิมรายงานจากอบู สะอีด อัล-คุดรีย์ กล่าวว่า 

        ในขณะที่ท่านอะลีย์ บิน อบีฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ พำนักอยู่ ณ ประเทศเยเมน ท่านได้ส่งทองคำที่ยังคลุกดิน ให้แก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และท่านได้แบ่งทองคำดังกล่าวให้แก่บุคคล 4 ท่าน คือ อัล-อักเราะอฺ บิน หาบิส อัล-หันซอลีย์, อุยัยนะฮฺ บิน บะดัรฺ อัล-ฟะซารีย์ , อัลเกาะมะฮฺ บิน อุลาษะฮฺ อัล-อามิรีย์ และชายอีกคนหนึ่งจากเผ่ากิลาบ, ซัยดฺ อัล-ค็อยรฺ อัฏ-ฏออีย์ และอีกคนหนึ่งจากเผ่านับฮาน 

       อบูสะอีดกล่าวว่า ชาวกุร็อยชฺโกรธเคืองไม่พอใจท่านนบี โดยกล่าวว่า “ทำไมมุหัมหมัดจึงให้ทองคำแก่ผู้นำจากแคว้นนัจญ์ดีย์ แต่ได้ละทิ้งพวกเรา” 

        ท่านนบี กล่าวว่า เหตุที่ฉันกระทำเช่นนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อโน้มน้าวจิตใจของพวกเขา (สู่ศาสนาอิสลาม เนื่องจากจิตใจพวกเขาเหล่านั้นชอบเรื่องทรัพย์สินเงินทอง) 

       ต่อมามีชายคนหนึ่ง มี (ลักษณะ) เคราหนา ตาโบ๋ หน้าผากกว้าง และโกนผม มากล่าวแก่ท่านนบี ว่า “เจ้าจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺเถิด” 

ท่านนบี จึงตอบกลับว่า

       “หากฉันเนรคุณต่ออัลลอฮฺแล้ว จะมีใครอีกเล่าที่จะจงรักภักดีต่อพระองค์? ชาวโลกต่างให้ความไว้วางใจต่อฉัน แต่ท่านนั้นกลับไม่ไว้วางใจต่อฉัน”    

        จากนั้นชายคนนั้นได้เดินออกไป มีเศาะหาบะฮฺท่านหนึ่งขออนุญาตจากท่านนบีเพื่อไปสังหารชายคนดังกล่าว (นักรายงานหะดีษมีความเห็นว่าเศาะบะฮฺนั้น คือท่าน คอลิด บิน อัล-วะลีด) ท่านนบี กล่าวว่า

       “บางส่วนจากลูกหลานของเขา จะมีกลุ่มคนที่อ่านอัลกุรอานไม่พ้นลำคอของพวกเขา พวกเขาจะสู้รบกับชาวมุสลิมด้วยกัน และละทิ้งการสู้รบกับพวกบูชาเจว็ด พวกเขาจะหลุดออกจากศาสนาอิสลาม ดังดอกธนูที่พุ่งออกไปถูกร่างของสัตว์ที่ถูกยิง หากฉันมีชีวิตอยู่ทันกับยุคของพวกเขาแล้ว แน่นอนฉันต้องสู้รบกับพวกเขาเหมือนการสังหารชนเผ่าอ๊าด” 

(บันทึกโดยมุสลิม 7/161 และอัล-บุคอรีย์ 9/129)

         อีกสายรายงานหนึ่งของหะดีษนี้ หลังจากกล่าวถึงเรื่องของชายคนดังกล่าว ท่านอุมัรฺ บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ ว่า โอ้ ท่านเราะสูลุลลอฮฺ จงอนุญาตให้ฉันฟันคอชายคนนั้นเถิด

 ท่านนบี กล่าวว่า
 

         “จงปล่อยเขาเถิด แท้จริงเขามีพรรคพวกที่ดูถูกการละหมาดและการถือศีลอดของพวกท่าน เมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับการละหมาดและการถือศีลอดของพวกเขา พวกเขาจะอ่านอัลกุรอานโดยไม่พ้นลูกกระเดือกของพวกเขา (คืออ่านอัลกุรอานอย่างพากเพียรและไพเราะ แต่ไม่ได้ซึมซับเข้าไปในหัวใจและเข้าใจความหมายที่ถูกต้อง) 

        พวกเขาจะหลุดออกจากศาสนาอย่างรวดเร็วดังลูกศรที่พุ่งผ่านร่างของสัตว์ที่ถูกยิง เมื่อสังเกตที่หัวธนูของเขาพบว่าไม่มีสิ่งใดติดเลย เมื่อสังเกตที่ปลายธนูก็ไม่พบสิ่งใดติดเลย เมื่อสังเกตที่ก้านธนูก็ไม่พบว่ามีสิ่งใดติดเลย และเมื่อสังเกตที่ขนของดอกธนูก็ไม่พบสิ่งใดติดเลย (เป็นการเปรียบเปรยว่าไม่หลงเหลือความเป็นอิสลามติดอยู่เลย) มันช่างรวดเร็วเหลือเกิน  

         คุณลักษณะของพวกเขา คือ ชายร่างดำ แขนข้างหนึ่งของเขามีลักษณะคล้ายกับเต้านมของผู้หญิง หรือเหมือนกับก้อนเนื้อที่กลิ้งไปมา กลุ่มคนพวกนี้จะปรากฏขึ้นเมื่อผู้คนเกิดความขัดแย้ง”

        อบู สะอีด กล่าวว่า ฉันขอสาบานว่าฉันได้ฟังหะดีษนี้จากท่านนบี และฉันขอสาบานอีกว่าในขณะที่ท่านอะลีย์สู้รบกับพวกเขาฉันเป็นคนหนึ่งที่ร่วมสู้รบด้วย ท่านอะลีย์ได้สั่งให้ค้นหาชายคนดังกล่าว ต่อมาชายคนดังกล่าวถูกนำตัวมา และฉันได้เห็นคุณลักษณะดังที่ท่านนบี ได้บอกไว้ไม่ผิดเพี้ยน


พวกเคาะวาริจญ์แยกตัวออกจากท่านอะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ

         อิบนุ อัล-เญาซีย์ กล่าวว่า พวกนี้คือพวกแรกที่ได้ออกจากศาสนาอิสลาม เนื่องจากพวกเขาพึงพอใจในทัศนะของตนเอง หากเขาใคร่ครวญคิดสักนิดจะพบว่าไม่มีทัศนะความคิดเห็นใดๆ ที่จะไปเหนือกว่าทัศนะของท่านเราะสูล  พรรคพวกของชายคนนี้แหละที่ต่อสู้กับท่านอะลีย์ ทั้งนี้เนื่องจากการสู้รบที่ยืดเยื้อระหว่างฝ่ายของมุอาวิยะฮฺและฝ่ายของอะลีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ฝ่ายของมุอาวิยะฮฺได้ยกคัมภีร์อัลกุรอานขึ้นและเรียกร้องให้พวกของอะลีย์หันมาเจรจาสงบศึก โดยกล่าวว่า 

“พวกท่านจงส่งตัวแทน และพวกเราก็จะส่งตัวแทนมาตัดสินบนหลักเกณฑ์คัมภีร์ของอัลลอฮฺ”  

ฝ่ายมุอาวิยะฮฺกล่าวว่า “พวกเรายินดีที่จะให้ท่านอัมรฺ บิน อัล-อาศ เป็นตัวแทนของพวกเรา” 

พรรคพวกของอะลีย์กล่าวว่า “จงส่งอบูมูซา อัล-อัชอะรีย์ เป็นตัวแทนของพวกเราเถิด” 

ท่านอะลีย์กล่าวว่า “ฉันเห็นว่าอิบนุอับบาสน่าจะเหมาะสมกว่าท่านอบู มูซา อัล-อัชอะรีย์” 

พรรคพวกของอะลีย์กลับตอบว่า “พวกเราไม่ต้องการตัวแทนที่มาจากครอบครัวของท่าน” 

        อะลีย์ก็เลยส่ง อบู มูซา อัล-อัชอะรีย์ เป็นตัวแทนในมัจญ์ลิส อัต-ตะหฺกีม (คณะกรรมการตัดสินปัญหาคิลาฟะฮฺ) ส่วนกำหนดเวลาการตัดสินนั้นให้ยืดเวลาไปตัดสินในเดือนเราะมะฎอน และแล้ว อุรวะฮฺ บิน อุซัยนะฮฺ ก็กล่าวขึ้นมาว่า 

“พวกท่านจะให้มนุษย์เป็นผู้ตัดสินในบทบัญญัติของอัลลอฮฺกระนั้นหรือ? แท้จริงไม่มีผู้ตัดสินนอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น”  

 

         เมื่อท่านอะลีย์ได้ยกทัพกลับจากสมรภูมิ ศิฟฟัยนฺ เข้าสู่เมืองกูฟะฮฺ ปรากฏว่าพวกเคาะวาริจญ์เกิดการแข็งข้อไม่ยอมเข้าเมืองกูฟะฮฺ พวกเขากลับไปตั้งค่ายทหารใหม่ที่ตำบลหะรูรออ์ โดยมีกองกำลังที่ร่วมกับพวกเขาจำนวน 12,000 คน 

พวกเขาประกาศก้องว่า “ไม่มีการตัดสินนอกจากการตัดสินของอัลลอฮฺเท่านั้น” 

         เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของการปรากฏตัวของพวกเคาะวาริจญ์ และมีคนหนึ่งได้ประกาศในหมู่พวกเขาว่า แม่ทัพของพวกเราคือ ชะบีบ บิน ริบอีย์ อัต-ตะมีมีย์ ส่วนผู้นำการละหมาดของพวกเรา คือ อับดุลลอฮฺ บิน อัล-กะวาอ์ อัล-ยัชกุรีย์ 

         พวกเคาะวาริจญ์จะปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัด นอกจากความเชื่อของพวกเขาเท่านั้นที่ยึดถือว่า พวกเขาย่อมรู้ดีกว่าท่านอะลีย์ นี่คือโรคที่ยากแก่การเยียวยายิ่ง





แปลโดย : อันวา สะอุ  / islamhouse