กฎหมายอิสลาม (น่ารู้)
  จำนวนคนเข้าชม  55143

 

กฎหมายอิสลาม (น่ารู้)
 

นิพล แสงศรี

 

การจัดระเบียบสังคม

 

         สังคม มนุษย์ไม่ว่าจะที่ใดในโลกจะดำรงอยู่โดยปกติสุขได้นั้น จะต้องมีระเบียบ แบบแผน หรือกฎเกณฑ์ให้ทุกคนยึดถือปฏิบัติตาม เพื่อกำหนดความประพฤติของมนุษย์เพื่อให้เกิดความสงบ เรียบร้อยในสังคม กฎเกณฑ์นี้เองเรียกว่า “กฎหมาย” 

        กฎหมายเป็นตัวกำหนด สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบุคคลในเรื่องราวต่าง ๆ ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนในสังคม ดังนั้นกฎหมายจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจำเป็นต่อการดำรงอยู่โดยปกติสุข ของสังคม

        กฎหมาย ที่ใช้อยู่ในแต่ละสังคมย่อมแตกต่างกันไปตามพัฒนาการของแต่ละสังคม ระบบกฎหมายที่มีอยู่ในโลกปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ระบบคือ 

      - ♦ - ระบบซีวิลลอว์ ซึ่ง ได้รับอิทธิพลจากกฎหมายโรมัน เป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและมิได้ตัดสินตามแนวคำพิพากษา ของศาล เช่น ในทวีปยุโรป และ แอฟริกา

- ♦ - ระบบคอมมอนลอว์ ยึดการตัดสินคดีความของศาลและศาลชำนาญพิเศษอื่น ๆ เป็นหลัก เช่น ในอเมริกา และอินเดีย

- ♦ - ระบบทวินิติ (ทั้งซีวิลลอว์และคอมมอนลอว์) เช่น แอฟริกาใต้ แซมเบีย ซิมบับเว ศรีลังกา และกียานา

- ♦ - กฎหมายชะรีอะฮ์ เช่น ตะวันออกกลาง 

- ♦ - กฎหมายขนบธรรมเนียม

         ปัจจุบัน พบกฎหมายชะรีอะฮ์เป็นกฎหมายที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางและมีแน้วโน้มขยายตัวมากขึ้น และเป็นกฎหมายที่ปรากฏบ่อยที่สุดของระบบกฎหมายของโลก พอ ๆ กับคอมมอนลอว์และซีวิลลอว์ ในระหว่างยุคทองของอิสลาม กฎหมายอิสลามอาจถือว่า มีอิทธิพลต่อการวิวัฒนาการของคอมมอนลอว์ในระดับสถาบันต่าง ๆ ด้วย

         กฎหมายอิสลาม กฎหมายชะรีอะฮ์ (อังกฤษ: Sharia หรือ Shari'ah) คือ ประมวลข้อกฎหมายที่มาจากคำสอนศาสนาและหลักนิติศาสตร์ (jurisprudence) พื้นฐานของศาสนาอิสลาม โครงสร้างทางกฎหมายจะครอบคลุมวิถีการดำเนินชีวิตของบุคคลและสาธารณชน ตลอด จนครอบคลุมด้านต่าง ๆ ของชีวิตประจำวัน ทั้งระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ ระบบการดำเนินธุรกิจ ระบบการธนาคาร ระบบธุรกรรมหรือทำสัญญา ความสัมพันธ์ในครอบครัว หลักการอนามัย ปัญหาของสังคม และอื่นๆ ด้วยเหตุนี้อิทธิพลของหลักชารีอะฮ์ จึงมีอยู่ให้เห็นเสมอในพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของมุสลิมแต่ละคน ตั้งแต่เกิดจนตาย ก่อนจะยกมาเป็นระดับครอบครัว ระดับท้องถิ่น และระดับชาติ

         กฎหมายอิสลามมุ่ง คุ้มครองมนุษย์ 5 ในประการได้แก่ (1) ศาสนา (2) ชีวิต (3) สติปัญญา (4) เชื้อสาย (5) ทรัพย์สิน รวมถึงรักษาสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิประโยชน์ส่วนรวม ตลอดจนการจัดระเบียบสังคมทุกระดับให้เป็นไปตามครรลองที่ถูกต้องและเป็นธรรม การปฏิบัติตามกฎหมายอิสลามมีผลทำให้บุคคลมีความเป็นปกติสุขและสังคมโดยรวม เกิดความสงบเรียบร้อย

         กฎหมายอิสลามได้สาระมาจาก พระคัมภีร์อัลกุรอานและอัสสุนนะฮ์ ของนบีมุฮัมมัด ที่ชี้นำทุกคนให้พึงปฎิบัติต่อพระเจ้า พึงปฎิบัติต่อตัวเอง และพึงปฎิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยนำอัลกุรอานมาใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานลำดับแรก หากพบตัวบทปรากฏอย่างชัดเจนก็ไม่จำเป็นต้องค้นหาหลักฐานจากอัสสุนนะฮ์ แต่ถ้าไม่พบหลักฐานจากอัลกุรอาน หรือพบหลักฐานแต่หลักฐานไม่ชัดเจน หรือพบหลักฐานแต่หลักฐานไม่มีรายละเอียดมาก สามารถไปค้นหาจากอัสสุนนะฮ์ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินปัญหาหรือขยายเพิ่มเติมได้ โดยแหล่งที่มาทั้ง 2 นี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขแม้กาลเวลาจะผ่านไป

         หลังจากที่นบีมุฮัมมัด  เสียชีวิตลงราวปี ค.ศ.633 กิจกรรมของมนุษย์เกิดขึ้นมากมาย หลายกรณีที่เป็นกิจกรรมหรือประเด็นที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและไม่มีปรากฏในอัลกุรอานและสุนนนะฮ์ ประชาคมมุสลิมก็จะใช้หลัก อิจญ์ติฮาด (วินิจฉัย) หรือการใช้วิจารณญาณในการนำประเด็นปัญหามาตัดสินให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของอิสลาม และหลักอิจญ์มาอ์ (มตินักปราชญ์) หรือความเห็นเป็นเอกฉันท์ของปวงปราชญ์ทางกฎหมายอิสลามที่ไม่ขัดต่อแหล่งที่มาหลัก โดยแหล่งที่มาหลังอิจญ์มาอ์และอิจญ์ติฮาด สามารถที่จะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและสถานการณ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการมีพลวัตของกฎหมายชะรีอะฮ์ที่ไม่ได้หยุดนิ่งตายตัว และเป็นที่มาของการเกิดสำนักนิติศาสตร์อิสลาม ซึ่งทุกสำนักกฎหมายอิสลามจะยึดถือจาก อัลกุรอาน อัสสุนนะฮ์ อิจญ์ติมาอ และกิยาส (การอนุมาน) เรียงตามลำดับ

สำนักนิติศาสตร์อิสลามที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของโลกมุสลิมในปัจจุบันได้แก่ 

   ♣ - สำนักนิติศาสตร์อัลฮะนะฟียะฮ์ (ค.ศ.699-769) ส่วนใหญ่ในประเทศตุรกี ปากีสถาน อินเดีย อัฟกานิสถาน จอร์แดน จีน และประเทศที่แยกตัวออกรัสเซีย

   ♣ - สำนักนิติศาสตร์อิสลามอัลมาลิกียะฮ์ (ค.ศ.714-800) พบได้ในประเทศโมรอคโค แอลจีเรีย ตูนิเซีย ลิเบีย ซูดาน คูเวต และบาห์เรน

   ♣ - สำนักนิติศาสตร์อัชชาฟิอียะฮ์ (ค.ศ.767-857) พบได้ในปาเลสไตน์ เลบานอน อียิปต์ อิรัก ซาอุดิอาระเบีย เยเมน ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย 

   ♣ - สำนักนิติศาสตร์อัลฮะนาบิละฮ์ (ค.ศ.780-857) ส่วนใหญ่ในประเทศซาอุดิอาระเบีย เลบานอน และซีเรีย

          กฎหมายอิสลามจะถูกแบ่งเป็นหมวดหมู่ โดยแต่ละสำนักกฎหมายจะแบ่งคล้ายคลึงกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะครอบคลุมเนื้อหา : หมวดการประกอบศาสนกิจ หมวดธุรกรรมทางการเงิน การค้า และการลงทุน หมวดการสมรสและกฎหมายครอบครัว หมวดกฎหมายอาญา หมวดส่งเสริมจริยธรรมและศีลธรรมทั่วไป รวมถึงหมวดการบริหารจัดการ การเมือง การปกครอง และอื่นๆ

         กฎหมายอิสลามที่ใช้ในด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง มีความเหมาะสมกับทุกยุคทุกสมัยเนื่องจากรายละเอียดค่อนข้างไม่เจาะลึก แต่จะเน้นโครงสร้างหลักในแต่ละประเภทเท่านั้น เช่น ด้านสังคมเน้นส่งเสริมกันสร้างความดียับยั้งในสิ่งที่เป็นความชั่ว ด้านเศรษฐกิจเน้นการไม่เอาเปรียบ (ริบา) ด้านการเมืองไม่กดขี่ประชาชน (ศุลม์) ซึ่งแตกต่างจากภาคการปฎิบัติตนต่อพระเจ้า (อิบาดะฮ์) ที่กระชับมากกว่า เพราะระบุชัดเจนทั้งรูปแบบ วิธีการ และขั้นตอน เช่น การละหมาด และการประกอบพิธีฮัจญ์ เป็นต้น


ประเทศและการปกครอง

         ในประเทศมุสลิม กฎหมาย อิสลามถูกยกระดับขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองร่วมกับรัฐสภาชูรอ ซึ่งมีตัวแทนจากภาคประชาชนร่วมในการปกครองและลงมติกฎหมายปลีกย่อยและอื่นๆ ที่ไม่ขัดกับกฎหมายหลักคือ ชะรีอะฮ์ ทำให้การเมืองอิสลามเข้มข้นแบบมีจริยธรรมและยุติธรรม ในทางสังคม ความเท่าเทียม สิทธิ และเสรีภาพจะถูกจำแนกและถูกปกป้องรักษาอย่างมีขอบเขต ตราบใดที่ไม่ขัดกับหลักจริยธรรมอันดีงาม 

          ความเฉียบขาดในการปราบปรามอาชญากรรมทำให้กฎหมายอิสลามเป็นที่น่าจับตาดูของสังคมโลก  แต่ในสังคมและประเทศที่ใช้กฎหมายอิสลามเป็นกฎหรือระเบียบอย่างเข้มงวดจะพบว่ามีการทุจริต คอร์รัปชั่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน เกิดขึ้นน้อยที่สุด

         ระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพา การเงินและการธนาคารอิสลาม ส่งเสริมการกระจายรายได้สู่สังคมด้วยการลงทุนแบบมุฎอร่อบะฮ์ แบกรับความเสี่ยงและแบ่งกำไรร่วมกัน อีกทั้งยังไม่สามารถเกี่ยวข้องในสิ่งที่ซับซ้อนและคลุมเครือ เน้นคุณค่าประโยชน์และความชอบธรรมมากกว่าผลกำไร สิ่งเหล่านี้ทำให้กลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายอิสลามไม่ประสบปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจอย่างในอเมริกาและยุโรป ขณะเดียวกันความมั่งคั่งก็ไม่ได้กระจุกตัวอยู่แต่ภาครัฐ หรือในระบบคอมมิวนิสต์ และรวมอยู่ที่นักลงทุนในระบบทุนนิยม

          กลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายอิสลามเป็นหลัก (ครอบคลุมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับหลักศรัทธาส่วนบุคคล กฎหมายครอบครัว และกฎหมายอาชญากรรม และบางส่วนของกฎหมายปกครอง) ได้แก่ อียิปต์ มอริเตเนีย ซูดาน อัฟกานิสถาน อิหร่าน อิรัก มัลดีฟส์ ปากีสถาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย เยเมน และบางพื้นที่ของอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไนจีเรีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

          ส่วนกลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายแบบผสมผสาน (ใช้กฎหมายครอบครัว มรดก และบางส่วนของกฎหมายปกครอง แต่ในกรณีอื่นๆ จะใช้กฎหมายสากลทั่วไปร่วม) ได้แก่ แอลจีเรีย คอโมโรส จิบูตี แกมเบีย และลิเบีย โมร็อกโก โซมาเลีย บาห์เรน บังกลาเทศ ปาเลสไตย์ จอร์แดน คูเวต เลบานอน  โอมาน และซีเรีย

         ภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บรูไน ถือเป็นประเทศแรกที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายชะรีอะฮ์ ในระดับประเทศ หรือประมวลข้อปฏิบัติต่างๆ ของกฎหมายศาสนาอิสลามในคดีครอบครัว มรดก และคดีเล็กๆ น้อยๆ ควบคู่กับระบบกฎหมายแพ่งแบบอังกฤษที่ได้รับมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม การบังคับใช้นี้จะไม่รวมไปถึงชนกลุ่มน้อยหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ

        นอกจากนี้ยังพบบางประเทศที่มิใช่อิสลาม แต่ยินยอมให้มุสลิมใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก เช่น อินเดีย สิงคโปร์ อังกฤษ ศรีลังกา และไทย เป็นต้น


 

 

ค้นคว้าเพิ่มเติม : อิสลาม อัลกุรอาน อัสสุนนะฮ์ และการใช้กฎหมาย