ว่าด้วยเรื่องครอบครัว
  จำนวนคนเข้าชม  1965


ว่าด้วยเรื่องครอบครัว

 

โดย ยูซุฟ อบูบักร

 

         อิสลาม เป็นศาสนาที่อัลลอฮฺ  ประทานมาให้แก่มวลมนุษยชาติ เป็นศาสนาเดียวที่พระองค์ทรงพอพระทัย และทรงรับรอง ดังถ้อยคำดำรัสแห่งอัลลอฮฺ  ที่ว่า

แท้จริง ศาสนา อัลลอฮฺ คือ อิสลาม

(อาละอิมรอน 3 : 19)

 

          โดยมีบทบัญญัติที่สมบูรณ์เพียบพร้อม และครอบคลุมทุกชีวิตของผู้ที่ยอมจำนนต่อครรลองนี้ ดังที่อัลลอฮฺ  มีดำรัสว่า

          “วันนี้ ฉันได้ทำให้ศาสนาของพวกเจ้าสมบูรณ์แล้ว และฉันได้ประทานความโปรดปรานให้แก่พวกสูเจ้าอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และฉันพอใจให้อิสลามเป็นศาสนาสำหรับสูเจ้า

(อัลมาอิดะฮฺ 5 : 3) 

            และผู้ที่สรรหาครรลองอื่น หรือผินหลังให้กับการอิสลามแน่นอนที่สุด ศาสนาของเขาจะไม่ถูกรับรอง และจะเป็นผู้ที่ขาดทุนอย่างย่อยยับ อัลลอฮฺ  มีถ้อยคำดำรัสว่า

          “และผู้ที่แสวงหาศาสนาอื่น นอกเหนือจากอิสลาม เขาจะไม่ถูกตอบรับและในวันปรโลก เขาจะเป็นหนึ่งจากบรรดาผู้ที่ขาดทุน

(อาละอิมรอน 3 : 85)

          ผู้ที่นำหลักการอิสลามมาปฏิบัติ จะได้รับประโยชน์สูงสุดแก่ตัวเขาและบรรดาผู้ที่อยู่รายล้อม สำหรับสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้ามแน่นอนว่าสิ่งนั้นจะเป็นโทษอย่างมหันต์ ทั้งตัวผู้ที่ฝ่าฝืน และผู้ที่อยู่รอบข้าง มีคนอีกจำนวนมากที่ยังคงหลงประเด็นเข้าใจผิดคิดว่าหลักการอิสลามมีแต่เรื่องหนัก เรื่องยากๆ เป็นเรื่องไกลตัว 

 

          อิสลาม...เป็นครรลองจากผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ไม่ใช่เป็นบัญญัติที่ถูกส่งมาเพื่อคนชราหรือผู้สูงอายุ หรือใช้ได้เพียงบางยุค บางสมัยเท่านั้น แต่...เป็นบทบัญญัติแห่งมวลมนุษยชาติซึ่งครอบคลุมผู้คนทุกชาติพันธุ์ ทุกเพศ ทุกวัย เหมาะสมในทุกเวลา และทุกสถานที่ 

 

          อิสลาม...ไม่ได้มีแต่เรื่องซีเรียส แต่ยังมีมุมที่น่ารัก อบอุ่น น่าประทับใจอีกมากมาย ซึ่งท่านร่อซูล  เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต จริยาวัตรของท่าน คือ สิ่งที่ผู้ศรัทธาทุกคนจะต้องลอกเลียนแบบ ทั้งที่แสดงออกมาภายนอก และจรรยามารยาทอันดีงามที่ซ่อนอยู่ภายใน ดังถ้อยคำดำรัสแห่งอัลลอฮฺ  ที่ว่า

และสิ่งใดที่ร่อซูล นำมายังพวกเจ้า ก็จงยึดปฏิบัติ และสิ่งใดที่เขาได้ห้ามปรามพวกเจ้า ก็จงละเว้นเสีย

(อัลฮัชรฺ 59 : 7)

 

          และคำสอนของอิสลาม ก็ไม่หลงลืมเรื่องละเอียดอ่อน เรื่ององค์กรเล็กๆ แต่ยังได้ให้ความสำคัญเรื่องครอบครัวมากเป็นพิเศษ ศึกษาได้จากชีวประวัติของท่านร่อซูล ได้ออกแบบเอาไว้ในทุกแง่มุมอย่างละเอียด

 

          ครอบครัว เป็นสถาบันเล็กที่สุดของสังคม หากครอบครัวมีความเข้มแข็ง อันหมายถึงสังคมก็จะเข้มแข็งมั่นคงตามไปด้วย และในมุมกลับกัน เมื่อครอบครัวอยู่ในสภาพอ่อนแอ ไร้ระเบียบ สังคมก็ไม่อาจก้าวพ้นความระส่ำระสาย ขาดความเป็นระเบียบ และการล่มสลายของสถาบันครอบครัวเป็นอีกหนึ่งเหตุผล ที่ทำให้สังคมก้าวไปสู่ความตกต่ำทางด้านจริยธรรม บุคคลกลุ่มหนึ่งจึงต้องตกเป็นจำเลย เป็นผู้สร้างปัญหาให้กับสังคมและคนรอบข้าง

 

         จากสถิติในแต่ละปี มีเด็กทารกที่เกิดใหม่ประมาณเกือบล้านคน มีเด็กที่มีอายุอยู่ในช่วงวัย 0-6 ปี อีกประมาณ 4 ล้านคน หากเด็กกลุ่มนี้ เจริญเติบโตขึ้นมาท่ามกลางการฟูมฟักเลี้ยงดูอย่างดี ก็ถือเป็นความโชคดีของสังคม ที่จะได้มีคนที่มีคุณภาพที่เป็นกำลังสำคัญในอนาคต แต่หากว่าเด็กกลุ่มเดียวกันเจริญเติบโตมาท่ามกลางความปั่นป่วนของสังคม ความไม่พร้อมของครอบครัว ไม่ได้รับแร่ธาตุทางปัญญา ไม่ได้รับวัคซีนที่เป็นภูมิคุ้มกันสำหรับการต้องออกไปเผชิญในโลกกว้าง แน่นอนเหลือเกิน สังคมไม่อาจปฏิเสธปัญหาต่างๆ ที่เกิดมาจากพวกเขาได้

 

          ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพยายามนำเสนอวิธีแก้ปัญหาให้กับวิกฤติของครอบครัว เพื่อเป็นโครงสร้างที่สำคัญของสังคมสมัยใหม่ หรือสังคมของอารยชนที่เต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ มากมายที่ถูกทับถมรอการปรับปรุงแก้ไข

          ดังนั้น การสถาปนาครอบครัวให้ตั้งมั่นอยู่อย่างหนักแน่นไม่สั่นคลอน จำเป็นจะต้องคำนึงถึงปัจจัย 4 ด้านเป็นอย่างน้อย อันประกอบด้วย อิสลาม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและการศึกษา

 

ด้านอิสลาม 

 

          คำสอนแห่งสัจธรรม ถือว่าเป็นฐานรากของการสร้างครอบครัวให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ สมาชิกในครอบครัวจะต้องมีความมุ่งมั่น กระตือรือร้นในการนำหลักการอิสลามมาปฏิบัติ สิ่งที่ฮะลาล- ฮะรอม ความดี-ความชั่ว จะต้องตระหนักไปพร้อมๆ กัน โดยไม่มีข้อยกเว้นหรือผ่อนปรน สอนให้สมาชิก ในครอบครัวตระหนักว่า หนทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้เกิดความผาสุก ทั้งชีวิตในโลกดุนยานี้และโลก อาคิเราะฮฺ คือ การดำเนินชีวิตตามครรลองอิสลามในทุกอณูแห่งลมหายใจ

 

ด้านเศรษฐกิจ 

 

          ทุกครอบครัวจะต้องพยายามสร้างงานหรือสร้างอาชีพที่สุจริต เพื่อที่จะให้ครอบครัวได้ดำรงอยู่อย่างราบรื่น ปัญหาความยากจนหรือการขาดสภาพคล่องทางการเงินจะส่งผลต่อครอบครัวอย่างมาก และจะนำไปสู่ความแตกแยกได้ ควรส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวมีงานทำ เพื่อจะอยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่นมากที่สุด ถ้าหากเมื่อหนึ่งเมื่อใดครอบครัวล่มสลาย เมื่อนั้นสมาชิกในครอบครัวก็จะระส่ำระสาย ไร้ระเบียบ และสุดท้ายก็เป็นเรื่องยากในการที่จะรักษาศีลธรรมให้คงอยู่ได้ และไม่ลืมที่จะต้องย้ำเตือนเรื่องการประกอบอาชีพ หรือการแสวงหาปัจจัยจากสิ่งต้องห้าม (ฮะรอม)

 

ด้านสิ่งแวดล้อม 

 

          นับว่าเป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการฟูมฟักลูกหลานของเราให้เติบโตอย่างมีภูมิคุ้มกัน ท่ามกลางสังคมที่โหดร้าย เราจะต้องร่วมกันสรรค์สร้างบรรยากาศหรือสิ่งแวดล้อมที่ดีๆ เพื่อให้ครอบครัวดำเนินไปอย่างมีความสุข อาทิ ความสะอาด ความเป็นระเบียบ เพื่อนบ้าน ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นองค์ประกอบของการสร้างสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น จะต้องมีพื้นที่สำหรับนันทนาการร่วมกัน เพื่อได้ระบายปัญหาหรือความคับอกคับใจ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้ทันท่วงที

 

ด้านการศึกษา 

 

          ทุกคนในครอบครัวจะต้องได้รับการศึกษา ให้มีความรู้และทักษะของการอยู่ร่วมกันในครอบครัว และการเลี้ยงดูลูก ที่ทำให้ลูกฉลาดเป็นคนดีและมีความสุข ถ้าเป็นไปได้อย่างนี้ ครอบครัวก็จะเป็นฐานที่มั่นแห่งความเปี่ยมสุขของคนในสังคมทั้งหมด และเป็นฐานทางพลังของชาติ และแน่นอนที่สุดการศึกษาจะทำให้คนธรรมดาคนหนึ่งกลายเป็นคนที่ไม่ธรรมดา

 

          ผู้เขียนขอเสนอทางออกที่สำคัญอีกประการที่จะช่วยให้สังคมรอดพ้นจากความวิกฤติ คือ เมื่อมีโอกาสหรือมีความพร้อมแล้ว จงแต่งงาน ! เพราะจะช่วยสร้างจิตสำนึกอย่างต่อเนื่องให้กับคู่บ่าวสาวที่ได้ก้าวไปสู่ประตูอีกบาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นประตูบานใหญ่ที่ทำให้ชีวิตของคนทั้งสองสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมที่จะสร้างสถาบันครอบครัวที่เข้มแข็งสมบูรณ์ สร้างชนรุ่นใหม่ให้มีความคิด มีจิตวิญญาณที่เข้าถึงแก่นสารแห่งอิสลามอย่างถ่องแท้ และพร้อมจะก้าวสู่การดำเนินชีวิตให้เดินตามครรลองของหลักการ 

 

          ครอบครัวจึงเป็นฐานที่มั่นทางปัญญาที่สำคัญของชาติ และเป็นฐานทางศีลธรรมทางสังคม และสถาบันครอบครัวยังเป็นฐานสำคัญในการสร้างความรัก ความเข้าใจซึ่งเป็นที่มาของความเปี่ยมสุข 

 

ดังคำดำรัสแห่งอัลลอฮฺ ที่ว่า 

          “และส่วนหนึ่งจากสัญญาณของพระองค์ คือ ทรงสร้างคู่ครองแก่พวกเจ้า ซึ่งมาจากตัวของพวกเจ้าเอง เพื่อให้พวกเจ้าได้มีความสุขอยู่กับนาง และทรงทำให้เกิดความรักใคร่ และความเมตตาอาทรระหว่างพวกเจ้า แท้จริง ดังกล่าวนี้ ย่อมเป็นสัญญาณแก่บรรดาผู้ที่ใคร่ครวญ

(อัรรูม 30 : 21)

 

          ครอบครัวจึงเป็นฐานสำคัญในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ ออกสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ เพราะนัยแห่งความเป็นจริง หากคนในสังคมมีคุณภาพ มีศีลธรรม นั่นหมายรวมว่า สังคมและประเทศชาติจะมีความมั่นคงเข้มแข็ง 

 

          ครอบครัวจึงเป็นแหล่งพักพิงที่สำคัญยิ่ง เป็นที่คอยมอบความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ เป็นที่สำหรับปรึกษาหารือ หรือเป็นที่คอยปรับปรุงแก้ไข ฯลฯ และครอบครัวต้องเป็นดั่งกระแสธารที่คอยชโลมหยดน้ำให้แก่สมาชิกในครอบครัว ให้ได้รับความอบอุ่น เปี่ยมด้วยความสุข

 

 

ที่มาอนุสรณ์งานประจำปีโรงเรียนมุสลิมวิทยาคาร ปี 2560”