นบีสั่งเสียให้บุรุษปฏิบัติดีต่อสตรี(ทุกคน)
  จำนวนคนเข้าชม  2323


นบีมุฮัมมัด  สั่งเสียให้บุรุษปฏิบัติดีต่อสตรี

 

ผศ.ดร. ศิริวิจิตร ปานตระกูล

 

     ในบทความเรื่องนบีสั่งเสียให้บุรุษปฏิบัติดีต่อสตรีผู้เขียนมีจุดมุ่งหมายสองประการ ได้แก่ 

   ♦ ประการแรกเพื่อตอบโต้นักเขียนที่มีแนวคิดมาร์กซิสม์ อาทิ อุสมาน ซองแบน นักเขียนชาวเซเนกัล ซึ่งผู้เขียนได้เคยทำวิจัยเกี่ยวกับนักเขียนดังกล่าว 

   ♦ ประการที่สองเพื่อนำเสนอให้เห็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแนวคิดมาร์กซิสม์ว่าเป็นแนวคิดที่ปฏิเสธพระเจ้า 

          แต่กลับมีนักวิชาการมุสลิมบางคนได้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวด้วยการนำเสนอความเชื่อในบทความทางวิชาการของพวกเขาว่า มาร์กซิสม์เป็นแนวคิดที่สามารถนำความสุขมาสู่สังคมในยุคปัจจุบันได้จริง เนื่องจากแนวคิดดังกล่าวสามารถลดความเลื่อมล้ำทางชนชั้น ในสังคมได้ ซึ่งขัดต่อหลักความเชื่อของศาสนาอิสลาม

 

          นักเขียนในกลุ่มมาร์กซิสม์ รวมทั้งอุสมาน ซองแบน เชื่อว่าสตรีมุสลิมอยู่ภายใต้การควบคุมของบทบัญญัติทางศาสนาโดยไม่รู้เท่าทันต่อหลักคำสอน ซึ่งทำให้สตรีมีความเป็นรองบุรุษ และเผชิญกับความทุกข์ในการดำรงชีวิตของสตรี อันมีสาเหตุมาจากบทบัญญัติเรื่องการสมรสแบบพหุภรรยา ดังปรากฏในซูเราะฮฺอันนิซาอฺ อายะห์ที่ 3 ดังนี้

 

     “หากว่าพวกท่านทั้งหลายกลัวว่าจะไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่เด็กกำพร้า (ถ้าแต่งงานกับพวกนาง)

     ดังนั้น ก็จงแต่งงานกับสตรีอื่น (ที่ไม่ใช่เด็กกำพร้า) ที่พวกท่านพึงพอใจเถิด (แต่ง) สองคน สามคน สี่คน

     แต่ถ้าพวกท่านกลัวว่า (ถ้ามีภริยาหลายคนแล้ว) จะไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่พวกนาง (อย่างเท่าเทียมกันได้)

     ดังนั้น ก็จงมีภริยาเพียงคนเดียวนั้นพอ หรือไม่ก็หญิงที่มือขวาของพวกท่านครอบครอง

     ดังกล่าวนี้เป็นการดีที่สุดที่พวกท่านจะไม่ก่อการอธรรม ลำเอียง"

     (เด็กกำพร้าในที่นี้ หมายถึง เด็กกำพร้าหญิงที่อยู่ภายใต้การดูแลของพวกเขา)

 

          หากพิจารณาข้อความข้างต้นจากการอรรถาธิบายของปราชญ์อิสลาม การอนุมัติให้มีการสมรสแบบพหุภรรยานั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขและกฎเกณฑ์หลายประการ กล่าวคือ

 

     ♣ ประการที่หนึ่ง การทำให้สมรสแบบพหุภรรยาเป็นสิ่งถูกต้องนั้นมีนัย หมายถึงการทำให้การสมรสแบบพหุภรรยามีลักษณะเป็นแบบทางการ เพื่อปฏิเสธการมีภรรยาหลายคนแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรากฏทั่วไปในสังคม และเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์ของสตรีเช่นกัน

 

     ♣ ประการที่สอง การจำกัดจำนวนสี่คนนั้น เพื่อระวังการสมรสแบบพหุภรรยาซึ่งบุรุษมีภรรยาจำนวนมากโดยไม่จำกัด และไม่สามารถดูแลทุกข์สุขได้ในทางปฏิบัติจริง ดังปรากฏในสังคมแอฟริกา ซึ่งบุรุษสมรสและมีภรรยาแบบไม่จำกัดจำนวน ทำให้นักเขียนชาวแอฟริกันหลายประเทศได้สะท้อนปัญหาผ่านวรรณกรรม อาทิต ในนวนิยายเรื่อง สามผู้ร้องทุกข์ หนึ่งสามี (Trois Pretendants…unmari) ของกีโย โอโยโน่ (Guillaume Oyono) นักเขียนชาวคาเมรูน บุรุษผู้เป็นพ่อมีภรรยาแล้วถึงสามสิบคน แต่กลับพยายามจะนำสินสอดของลูกสาวเพื่อไปขอสตรีอีกคนหนึ่งมาเป็นภรรยา

 

     ♣ ประการที่สาม หากพิจารณาจากข้อความในซูเราะฮฺอันนิซาอฺข้างต้นที่ว่า

      “แต่ถ้าพวกท่านกลัวว่า (ถ้ามีภริยาหลายคนแล้ว) จะไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่พวกนาง (อย่างเท่าเทียมกันได้) ดังนั้น ก็จงมีภริยาเพียงคนเดียวพอ

     ประโยคดังกล่าวมีนัยสำคัญสำหรับมุอฺมินซึ่งมีความเชื่อในพระเจ้าและการตอบแทนในโลกหน้า กล่าวคือ สำหรับมุอฺมินความกลัวนั้นสามารถยับยั้งไม่ให้เกิดการสมรสแบบพหุภรรยา เพราะการทำให้เกิดความเท่าเทียมนั้นเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ยาก 

 

          อย่างไรก็ตาม อิสลามยังคงกฎเกณฑ์นี้ไว้ ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ การปกป้องสิทธิของเด็กอันเกิดจากภรรยาอื่นที่มิใช่ภรรยาแรกจะมีสิทธิ์ในมรดกของพ่อเช่นเดียวกับลูกจากภรรยาแรก ดังกรณีตัวอย่างในสังคมของชาวเซเนกัล สตรีในวรรณะล่างที่สมรสกับบุรุษวรรณะสูงกว่า จะมีสิทธิ์แค่เป็นภรรยาน้อย และบุตรจะไม่มีสิทธิที่จะได้รับมรดกรวมทั้งสิทธิทางการเมืองใดๆ ซึ่งในประเด็นดังกล่าวถือว่าเกิดความไม่เป็นธรรมต่อเด็กผู้บริสุทธิ์ในมุมมองของศาสนา

 

          คำสั่งสอนของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ในประเด็นเกี่ยวกับสตรี

 

          มีคำสอนของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งเกี่ยวข้องกับบทบัญญัติเรื่องครอบครัวหลายประการ ซึ่งส่งผลดีต่อสตรีและสามารถทำให้สตรีมีความสุขในชีวิตสมรส อาทิ

 

     รายงานของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่า : ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

พวกท่านทุกคนคือผู้ดูแล และพวกท่านทุกคนคือผู้รับผิดชอบ(จะถูกสอบสวน)ถึงผู้ที่อยู่ภายใต้การดูแลของเขา

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)

 

          จากคำกล่าวข้างต้นพบว่าความรับผิดชอบคือสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตของมุสลิมทุกคนและความรับผิดชอบในบริบทของศาสนา มีความสัมพันธ์กับการถูกสอบสวนในวันสิ้นโลก ดังนั้น ารสมรสแบบพหุภรรยาในแบบอิสลามซึ่งถูกอนุมัติอย่างเป็นทางการ จึงเชื่อมโยงกับความรับผิดชอบในหน้าที่ของทั้งบุรุษและสตรี จึงอาจกล่าวได้ว่า หากมุสลิมมีความเกรงกลัวต่อบาป เขาจะพิจารณาในประเด็นเรื่องความรับผิดชอบต่อนางและบุตรอันเกิดจากนางด้วย ด้วยเหตุผลดังกล่าวสตรีมุสลิมจึงยังได้รับการปกป้องสิทธิ์และรับประกันความสุขตามหลักการ เนื่องจากในมุมมองของศาสนา บุรุษคือผู้รับผิดชอบหลักในการดูแลทุกข์และสุขของครอบครัว 

 

          นอกจากนี้ หากเขาได้พิจารณาในบทบัญญัติของศาสนาการใช้อำนาจแบบ ไม่ชอบธรรมและนำไปสู่ความทุกข์ของครอบครัวนั้นเป็นสิ่งที่ศาสนาไม่อนุมัติ ดังคำกล่าวของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่เน้นย้ำในเรื่องการปฏิบัติต่อสตรี ได้แก่

จงสั่งเสียกันให้ปฏิบัติต่อสตรีด้วยความดีงามเถิด

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ และมุสลิม)

 

          จากรายงานของท่านอบูฮุรอยเราะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ มีคำกล่าวของท่านหญิงอาอิซะฮ์ภรรยาคนหนึ่งของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังต่อไปนี้

ท่านนบีนั้น ไม่เคยเฆี่ยนตีคนใช้และสตรีคนใดเลย

(บันทึกโดย อิมามอบูดาวู๊ด)

          อย่างไรก็ตาม การดำเนินชีวิตคู่อาจพบปัญหาและอุปสรรคซึ่งมีสาเหตุหลายประการ และสิทธิ ในการตัดสินใจจะดำเนินชีวิตคู่หรือไม่นั้น ไม่ใช่เป็นสิทธิของบุรุษฝ่ายเดียว ดังปรากฏข้อความใน ซูเราะฮฺอัลบะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 229

 

     “การหย่า (ที่สามารถคืนดีกันได้นั้น) มีสองครั้ง ดังนั้น (จงเลือกว่า) จะอยู่กินกับนางด้วยความดีต่อไปหรือปล่อยนางไปด้วยดี (คือหย่าเป็นครั้งที่สามเพื่อให้นางพ้นจากการเป็นภรรยาอย่างเด็ดขาด ซึ่งไม่สามารถกลับมาคืนดีกันได้อีก)

 

          จากประโยคที่กล่าวว่าการหย่า (ที่สามารถคืนดีกันได้นั้น) มีสองครั้งเพื่อให้สามีและภรรยาซึ่งเลือกใช้ชีวิตคู่ร่วมกันนั้นได้คิดใคร่ครวญก่อนตัดสินใจหย่า เพื่อไม่นำไปสู่การหย่าร้างในครั้งที่สาม และเพื่อเป็นกุศโลบายที่จะให้สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันที่เข้มแข็งของสังคม 

 

          แต่หากการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันไม่เป็นสิ่งที่สร้างความสุขกับสตรี ศาสนาสั่งให้บุรุษให้สิทธิกับสตรีในการขอหย่าดังคำกล่าวที่ว่าปล่อยนางไปด้วยดีข้อความดังกล่าวมีนัยหมายถึง ศาสนาสั่งห้ามบุรุษที่จะเหนี่ยวรั้งและจำกัดสิทธิ์ของสตรีในการมีอิสรภาพ

 

          อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติ มีการตีความบทบัญญัติของศาสนาโดยบุรุษผู้ขาดความเข้าใจในหลักการศาสนาที่ถูกต้องจนกระทั่งนำไปสู่การกดขี่สตรีในรูปแบบต่างๆ ดังนั้น ประเทศอิสลามบางประเทศ อาทิ ประเทศคูเวต เป็นต้น มีการจัดการกับปัญหาดังกล่าว ด้วยการตั้งศาลครอบครัวเพื่อพิจารณากรณี การสมรสแบบพหุภรรยา หากบุรุษมีความประสงค์จะสมรสมากกว่าหนึ่งครั้ง เขาต้องยื่นให้ศาลพิจารณาความเหมาะสม โดยศาลจะตรวจสอบไปยังสำนักประกันสังคม เพื่อพิจารณารายได้ อายุ สุขภาพและอื่นๆ เพื่อเป็นการลดทอนปัญหาดังกล่าวในสังคม

 

          กล่าวโดยสรุป การสมรสแบบพหุภรรยาซึ่งถูกกำหนดโดยอิสลามนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างง่ายในวิถีชีวิตปกติ เนื่องจากศาสนามีกลไกหลายประการที่สามารถควบคุมการสมรสในลักษณะดังกล่าว อาทิ มีการกำหนดกฎเกณฑ์และเงื่อนไขของผู้มีความสามารถในการสมรส มีคำสั่งใช้ให้บุรุษปฏิบัติดีต่อผู้เป็นภรรยา มีคำสั่งห้ามการมีประเวณีนอกสมรส ซึ่งนำมาสู่การอยู่ร่วมแบบหลายภรรยาอย่างไม่เป็นทางการ มีการคาดโทษต่อบุรุษที่อธรรมต่อภรรยา 

 

           นอกจากนี้มีการอนุมัติการหย่าร้างเพื่ออิสรภาพของสตรีในกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทั้งบุรุษและสตรีที่ยึดมั่นในกฎเกณฑ์ของศาสนาต้องคำนึงถึงคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามดังกล่าวเท่าเทียมกัน ในศาสนาอิสลาม สตรีจึงไม่ได้เป็นผู้รักนวลสงวนตัวเพียงฝ่ายเดียว หากแต่บุรุษต้องดำรงเพศวิถีของตนเช่นเดียวกับสตรี

 

 

ที่มา : วารสารสายสัมพันธ์