ท่านอับดุลเลาะห์ อิบนิญะฮฺช์ 2
  จำนวนคนเข้าชม  2450

ท่านอับดุลเลาะห์ อิบนิญะฮฺช์ 2


           เรื่องมีอยู่ว่า ท่านรอซูล  ได้แต่งตั้งให้ซอฮาบะห์จำนวนแปดท่านเป็นตัวแทน ในการจัดตั้งกองทหารกองแรกในอิสลาม ในจำนวนนั้นมีท่านอับดุลเลาะห์ บินญะฮฺชฺ และมีท่าน ซะอฺดฺ บิน อบีวักก็อส รวมอยู่ด้วย

          ท่านรอซูล  ได้กล่าวว่า :

         "ฉันขอแต่งตั้งให้ผู้มีความอดทนต่อความหิวกระหายได้ยอดเยี่ยมที่สุดเป็นผู้นำของพวกท่าน"

          และท่านรอซูล  ก็มอบธงให้แก่ท่าน อับดุลเลาะห์ บินญะฮฺชฺ ดังนั้นท่านจึงเป็นผู้นำคนแรกของกลุ่มผู้ศรัทธา ซึ่งนับว่าเป็นคนแรกที่ท่านรอซูลแต่งตั้งให้เป็นผู้นำทัพ

          ท่านรอซูล ได้กำหนดทิศทางการปฎิบัติการณ์ให้ท่านอับดุลเลาะห์ บินญะฮฺชฺ และมอบสาส์นลับให้หนึ่งฉบับพร้อมกับกำชับว่า อย่าเปิดอ่านจนกว่าจะได้เดินทางผ่านพ้นไปสองวันเสียก่อน

          เมื่อกองทหารเดินทางได้สองวันแล้ว ท่านอับดุลเลาะห์ จึงเปิดสาส์นลับฉบับนั้นอ่าน ซึ่งมีข้อความว่า :

          "เมื่อเจ้าอ่านสาส์นของฉันฉบับนี้แล้วจงเดินทางต่อไปให้ถึง "นัคละห์" ซึ่งเป็นสถานที่หนึ่งอยู่ระหว่างฎออิฟกับ มักกะห์ จงซุ่มดูความเคลื่อนไหวของฝ่ายกุเรช ณ ที่นั้น และส่งข่าวให้เราทราบ"

          ท่านอับดุลเลาะห์อ่านสาส์นยังไม่ทันจบ ก็กล่าวว่า :

          "ขอน้อมรับเชื่อฟังและปฎิบัติตามคำสั่งของท่านนบี "

          ต่อมาก็บอกให้พรรคพวกได้ทราบว่า ท่านรอซูลสั่งให้เราเดินทางไปให้ถึง นัคละห์ เพื่อซุ่มดูฝ่ายกุเรช จนกว่าจะมีข่าวความเคลื่อนไหวแล้วแจ้งให้ท่านนบีทราบ และท่านนบีห้ามฉันไม่ให้บังคับผู้หนึ่งผู้ใด ในการร่วมเดินทางไกลในครั้งนี้ ดังนั้นผู้ใดปรารถนาจะตายชะฮีด และชอบเช่นนั้น ก็จงไปกับฉันเถิด ส่วนผู้ไม่ชอบก็จงกลับไปเสีย และไม่มีข้อตำหนิใดๆทั้งสิ้น

          เมื่อพรรคพวกของท่านได้ฟังเช่นนั้นจึงกล่าวว่า :

          "เราเชื่อฟัง ปฎิบัติตามคำสั่งท่านรอซูลและเราต้องร่วมเดินทางไปพร้อมกัน จนถึงจุดหมายปลายทางตามที่ท่านนบีระบุไว้"

          และแล้วทั้งหมดก็ออกเดินทางต่อไป จนกระทั่งถึง "นัคละห์" พวกเขาคอยดักซุ่มอยู่ท่ามกลางความสลับซับซ้อนของเนินเขา เพื่อคอยดักฟังข่าวความเคลื่อนไหวของฝ่ายกุเรชจนกระทั่งวันหนึ่ง พวกเขาได้ แลเห็นกองคาราวานของฝ่ายกุเรช กำลังมุ่งหน้ามาแต่ไกล ซึ่งในกองคาราวานนั้นมีชายสี่คนคือ อัมรุบนุลฮัด-รอมีย์ และ อัลฮะกัม บินกัยซาน และอุสมาน บินอับดิลลาฮ์ อัลมุฆีเราะห์ ทั้งสี่คนนี้เป็นผู้ควบคุมสินค้าฝ่ายกุเรช อันประกอบไปด้วย หนังสัตว์ ลูกเกด และสินค้าอื่นๆซึ่งพวกกุเรชเคยค้าขายอยู่เป็นประจำ

          ดังนั้นฝ่ายซอฮาบะห์จึงต้องปรึกษากันว่าควรจะทำอย่างไรดีเพราะเกิดปัญหาว่า : ถ้าหากเราฆ่าพวกนั้นก็เป็นอันว่าเราฆ่าในเดือนที่ต้องห้าม การกระทำเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการทำลายกฎข้อห้ามของเดือนนี้ และเท่ากับเป็นการยั่วยุให้อาหรับทั้งหลายโกรธเรา แต่ถ้าหากเราจะปล่อยให้วันนี้ผ่านพ้นไป พวกนั้นก็จะต้องเข้าถึงเขตแผ่นดินต้องห้าม คือ มักกะห์ และก็กลายเป็นว่าพวกนั้นต้องปลอดภัยจากพวกเราทันที

          เหล่าซอฮาบะห์ยังคงปรึกษากันจนกระทั่งมีมติว่า ให้จู่โจมเข้าต่อสู้และยึดทรัพย์เป็นสินสงคราม แล้วก็เริ่มปฎิบัตการณ์ทันที ผลปรากฎว่าฝ่ายกุเรชถูกฆ่าตายหนึ่งคน ถูกจับตัวเป็นเชลยสองคน ส่วนคนที่สี่หนีรอดไปได้

          ต่อจากนั้นท่านอับดุลเลาะห์ บินญะฮฺชฺ กับพวกจึงควบคุมเชลยที่สองพร้อม ด้วยกองคาราวานมุ่งหน้ากลับมะดีนะห์

          เมื่อทั้งหมดมาถึงก็ได้รายงานการปฎิบัติการณ์ทั้งหมดให้ท่านรอซูล ทราบ แต่ปรากฎว่าท่านร่อซูลไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ อับดุลเลาะห์ กับพวกเขาในครั้งนี้ ท่านรอซูลจึงกล่าวว่า :

          "ขอสาบานต่ออัลเลาะห์ ฉันไม่ได้สั่งให้พวกท่านฆ่า แต่ฉันสั่งเพียงให้สืบข่าวและคอยดูความเคลื่อนไหวฝ่ายกุเรชเท่านั้น"

          เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ท่านรอซูล  จึงระงับเรื่องเชลยทั้งสองไว้ก่อนเพื่อรอการพิจารณา และท่านไม่ได้ แตะต้องพรัพย์สินที่ยึดมาได้แม้แต่น้อย ฝ่ายท่านอับดุลเลาะห์กับพวกก็รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง และคิดว่าจะต้องประสบกับความพินาศอันเนื่องจากที่ฝ่าฝืนคำสั่งของท่านรอซูล และต้องเจ็บปวดมากยิ่งขึ้นอีกเมื่อทราบว่า ฝ่ายกุเรชได้ฉวยโอกาสนำเอาเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเป้าโจมตี ท่านรอซูล  และประจานให้เสื่อมเสียชื่อเสียง โดยการแพร่ข่าวไปตามเผ่าต่างๆว่า

          "บัดนี้มุฮัมมัดได้ทำให้เดือนที่ต้องห้ามกลายเป็นเดือนที่ฮะล้าลไปเสียแล้ว เพราะได้กระทำการหลั่งเลือดและยึดทรัพย์จับคนเป็นเชลยในเดือนที่ต้องห้าม"

          ดังนั้น ไม่ต้องถามหรอกว่าท่านอับดุลเลาะห์ บินญะฮฺชฺ กับพวกจะโศกเศร้ามากเพียงใดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม่ต้องถามอีกเหมือนกันว่า พวกเขาจะอับอายท่านรอซูล  ขนาดไหนต่อเรื่องที่พวกเขาก่อขึ้นจนเป็นเหตุทำให้ท่านร่อซูลถูกประณาม

 

โปรดติดตามตอนต่อไป


  Click<<<   ท่านอับดุลเลาะห์ อิบนิญะฮฺช์ 1                          ท่านอับดุลเลาะห์ อิบนิญะฮฺช์ 3>>>Click