อิสลามกับการก่อการร้าย
  จำนวนคนเข้าชม  18469

 

อิสลามกับการก่อการร้าย

 

ท่าที่ของอิสลามต่อพวกหัวรุนแรงและการก่อการร้าย...!

          อิสลามคือศาสนาแห่งสันติภาพและขันติธรรม ดังนั้นผู้ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามจึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะประพฤติตนขัดแย้งกับหลักการดังกล่าว ยิ่งกว่านั้นไม่มีแหล่งกำเนิดใดๆจากอัลกุรอาน และฮะดิษของท่านนบีมุฮัมมัด  ที่บ่งชี้ไปในทิศทางดังกล่าว การเรียกร้องในอิสลามที่ปรากฏอยู่ในอัลกุรอานได้เชิญชวนด้วยวิธีการที่เฉลียวฉลาด และนิ่มนวลซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะถือได้ว่า เป็นความรุนแรงแต่ประการใด ดังปรากฏในอัลกุรอาน ซูเราะ อัลนะห์ล โองการที่ 125 ความว่า

"จงเรียกร้องสู่แนวทางแห่งพระเจ้าของเจ้าโดยสุขุมและการตักเตือนที่ดี แจงโต้แย้งพวกเขาด้วยสิ่งที่ดีกว่า

แท้จริงพระเจ้าของเจ้านั้นพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงผู้ที่หลงจากทางของพระองค์ และพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงบรรดาของผู้ที่อยู่ในทางที่ถูกต้อง"

 

          ด้วยเหตุนี้ เราจะเห็นว่าศาสดา  ได้กล่าวกับชาวมักกะฮ์ ที่ปฏิเสธการเรียกร้องไปสู่อิสลาม ดังปรากฏในซูเราะฮ์ อัลกาฟิรูน  ความว่า

 

"สำหรับพวกท่านก็คือ ศาสนาของพวกท่าน และสำหรับฉัน ก็คือศาสนาของฉัน"

 

         ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนาที่เชื่อถือในพระเจ้าก่อนที่จะมีศาสนาอิสลามนั้น อิสลามได้เรียกร้องให้มุสลิมเคารพต่อศาสดาท่านก่อนๆ จากศาสดามุฮัมมัด  ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของหลักการศรัทธาในอิสลามอีกด้วย ดังปรากฏในอัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 136 ความว่า

"พวกเจ้าจงกล่าวเถิด เราได้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เรา และสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่ อิบรอฮิม อิสมาอีล อิสหาก

และยาอะกู๊บ และบรรดาวงศ์วานเหล่านั้น และสิ่งที่มูซา และอีซา ได้รับ และสิ่งที่บรรดานะบีได้รับจากพระเจ้าของพวกเขา

และพวกเรามิได้แบ่งแยกระหว่างท่านหนึ่งท่านใดจากเขาเหล่านั้น และพวกเราจะเป็นผู้สวามิภักดิ์ต่อพระองค์เท่านั้น"

          ข้อความดังกล่าวในโองการนี้ได้มุ่งที่จะให้มีการลำดับความแตกต่างระหว่างศาสดาด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นลักษณะของความใจกว้าง และไม่มีในศาสนาอื่นนอกจากอิสลาม ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือที่ศาสนาเช่นนี้จะถูกกล่าวหาว่า ไร้ความเป็นธรรม และไร้ความอดทน

 

          อิสลามได้เรียกร้องให้มนุษย์ทุกคน อยู่ด้วยกันฉันท์มิตร แม้จะมีความแตกต่างกันก็ตาม ดังปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อัลหุจรอจญ์ โองการ 13 ความว่า

"โอ้ มนุษย์ชาติทั้งหลาย แท้จริงข้าได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง

และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าพันธุ์และตระกูล เพื่อจะได้รู้จักกัน

แท้จริงผู้มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ณ อัลลอฮ์ นั้นคือผู้ที่มีวามยำเกรงยิ่ง ในหมู่พวกเจ้า

แท้จริงอัลลอฮ์ นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียด ถี่ถ้วน "

 

         เช่นกันอิสลามได้เรียกร้องให้มุสลิม ใช้ชีวิตความเป็นอยู่กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม(ต่างศาสนิก) ดังปรากฏในอัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อัลมุมตาฮีนะฮ์ โองการที่ 8 ความว่า

"อัลลอฮ์ มิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ไม่ได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนา

และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า

ในการที่พวกเจ้าจะทำความดีกับพวกเขา และให้ความยุติธรรมกับพวกเขา แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงรักผู้มีความยุติธรรม"

 

          อิสลามได้เรียกร้องมุสลิมให้อภัย ผู้ที่กระทำความผิดต่อเขา ดังปรากฏในซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 237 ความว่า

"และการที่พวกเจ้ายกโทษให้นั้น เป็นสิ่งที่ใกล้แก่ความยำเกรงมากกว่า"

          ยิ่งกว่านั้นอิสลามได้เรียกร้องให้มุสลิมสร้างความดี ทั้งที่ผู้อื่นเป็นผู้ผิด โดยหวังว่าสักวันหนึ่งศัตรูผู้ผิดจะกลายมาเป็นมิตร ดังปรากฏหลักฐานในอัลกุรอาน ซูเราะฮ์ ฟุซซิลัต โองการที่ 34 ความว่า

"ความดี และความชั่วนั้น หาเท่าเทียมกันไม่ เจ้าจงขับไล่(ความชั่ว)ด้วยสิ่งที่ดีกว่า

และเมื่อนั้นผู้ที่ระหว่างเขาเคยเป็นอริกัน ก็จะกลับกลายเป็นเยี่ยงมิตรที่สนิทกัน"

 

          ในฮะดิษ ของศาสดามุฮัมมัด  กล่าวไว้ว่า 

 "จงทำให้ง่าย อย่าทำให้เป็นเรื่องยาก จงบอกกล่าวแต่เรื่องดี อย่าบอกกล่าวแต่เรื่องร้าย"

 

         คำพูดของศาสดานี้มุ่งที่จะละเว้นไม่ให้มีการเกลียดชังซึ่งกันและกัน และดำรงอยู่ในขันติธรรม โดยปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมทั้งการก่อการร้าย โดยอิสลามถือว่าการฆ่าคนเพียงคนเดียวเสมือนกับการฆ่าคนทั้งโลก ดังปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราฮ์ อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 22 ความว่า

"แท้จริงฆ่าชีวิตหนึ่ง โดยมิใช่เป็นการชดเชยอีกชีวิตหนึ่ง หรือมิใช่เรื่องจากการบ่อนทำลายในแผ่นดินแล้ว ก็ประหนึ่งว่าเขาได้ฆ่ามนุษย์ทั้งมวล"

 

          การกล่าวว่าอิสลาม สนับสนุนการก่อการร้ายและความรุนแรง จึงเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลความจริงแต่ประการใด ถ้าหากมุสลิมทุกคนเป็นพวกหัวรุนแรงหรือผู้ก่อการร้าย ก็ไม่ได้หมายความว่า อิสลามจะต้องรับผิดชอบ ต่อการกระทำของคนเหล่านั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแยกคำสั่งสอนเกี่ยวกับเรื่องขันติธรรมและความยุติธรรมของอิสลาม ออกจากพฤติกรรมของมุสลิมบางคน ที่ขาดความรับผิดชอบ และขันติธรรม

          เราจำเป็นที่จะต้องระลึกเสมอว่า ความคิดที่รุนแรงและการขาดความอดทนนั้นมิได้จำกัดอยู่ที่ศาสนาหนึ่งศาสนาใดเป็นการเฉพาะ หากแต่การก่อการร้ายนั้นเป็นปรากฏการระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่สามารถเห็นได้ในปัจจุบัน ดังนั้นจะเป็นไปได้อย่างไรที่มีการกล่าวว่า อิสลามเป็นศาสนาที่สนับสนุนการก่อการร้าย ในเมื่อการก่อการร้ายเป็นปรากฏการสากลที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับศาสนาหนึ่งศาสนาใดเป็นการเฉพาะ

 

ศาสตราจารย์ ดร. มะห์มูด ฮัมดี ซักซูก