ประเด็นที่ 1 การให้เอกภาพแด่อัลลอฮ์
  จำนวนคนเข้าชม  10862

ประเด็นที่หนึ่ง :
การให้เอกภาพแด่อัลลอฮ์   "อัตเตาฮีด"

เป็นที่ทราบกันดีจากการที่ได้ศึกษา อัลกุรอาน นั่นก็คือ  อัตเตาฮีด แบ่งเป็น   3 ประเภทด้วยกันคือ

1.เตาฮีดอัรรุบุบียะฮ์ (توحيد الربوبيّة)

          การให้เอกภาพแด่อัลลอฮ์ ในดานการบริหารจัดการ เตาฮีด ชนิดนี้เป็นที่ยอมรับของมนุษย์ ที่มีสติปัญญาอันบริสุทธิ์ ดังดำรัสของอัลลอฮ์ที่ว่า

  “ และถ้าเจ้าถามพวกเขาว่า ใครเป็นผู้สร้างพวกเขา แน่นอน พวกเขาจะกล่าวว่า อัลลอฮ์ แล้วทำไมเล่าพวกเขา จงหันเหออกไปทางอื่น ”         (อัซซุครุฟ : 87)
       

 อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า

 “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ใครเป็นผู้ประทานปัจจัยยังชีพจากฟากฟ้า และแผ่นดินให้แก่พวกท่าน หรือใครเป็นเจ้าของการได้ยินและการมอง และใครเป็นผู้ให้มีชีวิตหลังจากการตาย  และเป็นผู้ให้ตายหลังจากมีชีวิตมา และใครเป็นผู้บริหารกิจการ แล้วพวกเขาจะกล่าวกันว่า "อัลลอฮ์" ดังนั้นจงกล่าวเถิด   (มุฮัมมัด) พวกท่านไม่ยำเกรงหรือ”      (ยูนุส  :31)

และอายาต ต่างๆที่กล่าวในทำนองนี้มีอยู่มากมาย  


 ฟิรเอาน์ ได้ปฎิเสธ เตาฮีด ประเภทนี้ ดังที่มันได้กล่าวว่า 
 

" ฟิรเอาน์ ได้กล่าวว่า และใครคือ พระเจ้าแห่งสากลโลก”    (อัชชุอะรออ์  : 23 )

มันได้แสดงอาการยโสโอหัง และความโง่เขลาออกมา
   

"เขากล่าวแก่โดยแน่นอนท่านย่อมรู้ดีว่า ไม่มีใครผู้ใดประทานสิ่งเหล่านี้  นอกจากพระเจ้าแห่งชั้นฟ้าทังหลาย และแผ่นดิน ...”          (อัลอิสรออ์ :102)

“และพวกเขาได้ปฏิเสธมันอย่างอยุติธรรมและเย่อหยิ่ง ทั้งๆที่จิตใจของพวกเขาเชื่อมั่นมัน ดังนั้นจงดูเถิดว่า บั้นปลายของบรรดาผู้บ่อนทำลายนั้นจะเป็นเช่นไร”(อันนัมล์ : 14)
 

ด้วยเหตุนี้เอง อัลกุรอานจึงกล่าวเรื่องของเตาฮีดประเภทนี้ ในรูปของคำถาม  ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า

“ บรรดาเราะซูลของพวกเขาได้กล่าวว่า มีการสงสัยในอัลลอฮ์ พระผู้สร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินกระนั้นหรือ... ”     (อิบรอฮีม : 10)


และดำรัสของอัลลอฮ์   ที่ตรัสว่า
  
“จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ว่า อื่นจากอัลลอฮ์ กระนั้นหรือ ที่ฉันจะแสวงหา   มาเป็นพระเจ้า  ทั้ง ๆ ที่พระองค์นั้นเป็นพระเจ้าของทุกสิ่ง...”               (อัลอันอาม : 164)
 
อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า
 

“จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ใครคือพระเจ้าแห่งชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน?  จงกล่าวเถิด  อัลลอฮ์... ”               (อัรเราะอ์ด :16)

          ดังกล่าวคือ ผลสรุปและข้อยุติในการยอมรับว่าอัลลอฮ์   เป็นพระเจ้าโดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆทั้งสิ้น แต่เตาฮีดประเภทนี้ไม่มีประโยชน์ใดๆ สำหรับผู้ปฎิเสธศรัทธา (กาฟิร) เพระพวกเขามิได้ให้เอกภาพแด่อัลลอฮ์   ในด้านการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่อพระองค์  
ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า

“และส่วนของพวกเขาจะไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ เว้นแต่พวกเขาเป็นผู้ตั้งภาคี”   (ยูซุฟ : 106)

          แม้พวกเขาจะยอมรับว่า "อัลลอฮ์  " คือ ผู้สร้าง ผู้ประทานปัจจัยยังชีพ   แต่พวกเขายังเคารพบูชาสิ่งอื่นเทียบเคียงไปกับพระองค์อีกด้วย พวกเขากล่าวว่า  

 “ส่วนบรรดาผู้ที่ยึดถือ เอาบรรดาผู้คุ้มครองอื่นจากอัลลอฮ์ โดยกล่าวว่า เรามิได้เคารพภักดีพวกเขา เว้นแต่เพื่อทำให้เรา เข้าใกล้ชิดกับอัลลอฮ์... ” (อัซซุมัร: 3)  

“และพวกเขาจะเคารภักดีสิ่งอื่นไปจากอัลลอฮ์ ที่มิได้ให้โทษแก่พวกเขา และมิได้ให้ประโยชน์แก่พวกเขา และพวกเขาจะกล่าวว่า เหล่านี้คือผู้ช่วยเหลือเรา ณ ที่อัลลอฮ์ จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) พวกท่านจะแจ้งข่าวแก่อัลลอฮ์ ด้วยสิ่งที่พระองค์ไม่ทรงรู้ ในบรรดาชั้นฟ้าและในแผ่นดินกระนั้นหรือ พระองค์ทรงมหาบริสุทธิ์และทรงสูงส่ง เหนือสิ่งที่พวกเขาตั้งภาคีขึ้น”       (ยูนุส :18)

  2.เตาฮีดอัลอุลูฮียะห์  (توحيد الألوهيّة )

          คือการให้เอกภาพแด่อัลลอฮ์   ผู้ทรงยิ่งใหญ่ ผู้ทรงสูงส่ง ด้วยการเคารพภักดี (อิบาดะฮ์) ต่อพระองค์ อันเป็นเหตุให้เกิดการต่อสู้กันระหว่าง บรรดาศาสนทูตกับประชาชาติทั้งหลายในสมรภูมิต่าง ๆ และพระองค์เป็นผู้ทรงส่งบรรดาศาสนทูตมา เพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวและเพื่อให้ได้มาซึ่งความหมายที่แท้จริงของ  คำว่า “ ลา อิลาฮะ อิ้ลลัลลอฮ์ ” คือ “ ไม่มีผู้ที่ได้รับการเคารพ สักการะที่แท้จริงอื่นใด นอกจาก อัลลอฮ์   ” ซึ่งถ้อยคำดังกล่าว ตั้งอยู่บนพื้นฐานสองประการคือ การปฏิเสธ และการยืนยัน

           สำหรับความหมายในเชิงปฏิเสธ คือ เลิกจากการเคารพบูชา กราบไหว้รูปปั้น มนุษย์และสิ่งต่างๆทั้งหลายในทุกประการ นอกจากอัลลอฮ์   พระองค์เดียวเท่านั้น และความหมายในเชิงยืนยัน  คือ การให้เอกภาพแด่อัลลอฮ์   ด้วยการเคารพ(อิบาดะฮ์)พระองค์เพียงพระองค์เดียว ตามที่พระองค์ได้ทรงกำหนดไว้ในคัมภีร์ อัลกุรอาน ซึ่งได้ระบุไว้เป็นหลักการสำคัญ ดังดำรัสที่ว่า 

“ และโดยแน่นอนเราได้ส่งเราะซูลมาในทุกประชาชาติ  (โดยบัญชาว่า)     พวกท่านจงเคารพภักดี อัลลอฮ์ และจงหลีกหนี ให้ห่างจากพวกเจว็ด...”   (อันนะหล์  : 36) 

อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า 
 
“และเรามิได้ส่งเราะซูลคนใดมาก่อนหน้าเจ้า  นอกจากเราได้บัญชา (วะฮีย์) แก่เขาว่า แท้จริงไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่เที่ยงแท้ นอกจากข้า ดังนั้น พวกเจ้าจงเคารพภักดีต่อข้า”    (อัลอันบิยาอ์ : 25)

อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า  


“ ไม่มีการบังคับใดๆ(ให้นับถือ)ในศาสนาอิสลาม แน่นอน ความถูกต้องนั้นได้เป็นที่กระจ่างแจ้งแล้วจากความผิด ดังนั้น ผู้ใดปฏิเสธศรัทธาต่อ อัฏฏอฆู๊ต และศรัทธาต่ออัลลอฮ์ แล้ว  แน่นอนเขาได้ยึดห่วงอันมั่นคงไว้แล้ว โดยไม่มีการขาดใดๆเกิดขึ้นแก่มัน และอัลลอฮ์นั้น เป็นผู้ทรงได้ยิน เป็นผู้ทรงรอบรู้”    (อัลบะเกาะเราะฮฺ  : 256)

อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า  

“และเจ้าจงถามผู้ที่เราได้ส่งมาก่อนเจ้า จากบรรดาเราะซูลของเราว่า เราได้ตั้งพระเจ้าหลายองค์อื่นไปจากพระผู้ทรงกรุณาปรานี เพื่อเคารพบูชากระนั้นหรือ”  (อัซซุครุฟ : 45)

อัลลอฮ์   ทรงตรัสว่า

 
“จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) แท้จริงฉันได้รับวะฮีย์ มาให้ประกาศว่า แท้จริงพระเจ้าของพวกท่านนั้น คือ พระเจ้าองค์เดียว ดังนั้นพวกท่านยังมิยอมนอบน้อมอีกหรือ”   (อัลอันบิยาอ์ : 108)
 

และอายะฮ์ต่าง ๆ ในทำนองนี้ยังมีอีกมากมาย                             
 

         3.เตาฮีดอัลอัสมาอ์วัสศิฟาต (توحيد الأسماء والصفات) 

           คือ การให้เอกภาพแด่ อัลลอฮ์   เกี่ยวกับบรรดาพระนามและคุณลักษณะของพระองค์ เตาฮีดประเภทนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานสองประการ ดังที่ อัลลอฮ์   ได้ทรงแจกแจงเอาไว้

          ประการแรก คือ การที่พระองค์ ผู้ทรงสูงส่ง  ทรงมีคุณลักษณะต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นและสิ่งถูกสร้างต่างๆ

          ประการที่สอง  คือ การศรัทธา  ต่อสิ่งที่พระองค์ทรงแจ้งคุณลักษณะของพระองค์ หรือการที่ศาสนทูตได้แจ้งให้ทราบถึงคุณลักษณะของพระองค์ตามความเป็นจริงอย่างเหมาะสม ด้วยกับความครบถ้วนสมบูรณ์ และความยิ่งใหญ่ของพระองค์ มิใช่เป็นการเปรียบเทียบเสมอกับพระองค์ และไม่มีผู้ใดจะรู้ถึงพระลักษณะคุณของอัลลอฮ์   ยิ่งไปกว่าพระองค์เอง และศาสนทูตของพระองค์


อัลลอฮ์ ได้ตรัสถึงพระองค์เองว่า

“ (มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิดว่า พวกเจ้ากับอัลลอฮ์นั้น ใครรู้ดีกว่ากัน ?"(อัลบะเกาะเราะฮ์ : 140)

พระองค์ได้ตรัสถึงศาสนทูตของพระองค์ว่า


“ และเขา (มุฮัมมัด) มิได้พูดตามอารมณ์   สิ่งที่เขาพูดออกมานั้น มิใช่อื่นใดนอกจากเป็น วะฮีย์  ที่ถูกประทาน  ลงมาเท่านั้น”    (อันนัจมฺ :  3-4)

ดังนั้น อัลลอฮ์   จึงทรงปฏิเสธ ไม่ยอมรับความเหมือนหรือคล้ายกับสิ่งถูกสร้างใดๆ  ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า

“ ไม่มีสิ่งใดเหมือน (คล้าย) กับพระองค์”                          (อัชชูรอ : 11)

     พระองค์ทรงยืนยันในพระคุณลักษณะของพระองค์ ตามความเป็นจริง ดังดำรัสของพระองค์ที่ว่า

 
“และพระองค์เป็นผู้ทรงได้ยิน เป็นผู้ทรงเห็น”            (อัชชูรอ : 11)   

          ดังนั้น อายะฮ์แรกจึงชี้ให้เห็นว่าไม่สมควร และไม่ต้องการให้มีการตีความใดๆ และจำเป็นจะต้องยืนยันในพระลักษณะของพระองค์ตามความเป็นจริง โดยมิต้องเปรียบเทียบกับสิ่งใด และยังปฏิเสธการเสมอเหมือนหรือคล้ายคลึงกับสิ่งถูกสร้างใดทั้งสิ้น และชี้ให้เห็นอีกว่ามนุษย์นั้นไม่สามารถที่จะรู้เกี่ยวกับพระองค์ได้ทั้งหมด
ดังที่พระองค์ทรงตรัสว่า

  
“พระองค์ทรงรอบรู้สิ่งต่างๆที่อยู่เบื้องหน้า และสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของพวกเขา โดยที่มนุษย์ไม่อาจจะรู้สิ่งดังกล่าวได้เลย”                  (ฏอฮา : 110)

       



ประเด็นที่ 2 >>>>Click