อิสลามกับการทำศึก (ภาคผนวก)
  จำนวนคนเข้าชม  8748

ภาคผนวก

โดย : إجلالى


สิทธิมนุษยชนในอิสลาม


            โดยมากแล้วชาวยุโรปและอเมริกาหมายความ คำว่า “ มนุษยชน”  ว่าคือชนผิวขาวผู้ถือตนว่าเป็นผู้เจริญเท่านั้น ซึ่งถือกำเนิดมาจากเชื้อสายลาติน หรือแซ็กซอน ส่วนคนผิวคล้ำหรือผิวดำในอเมริกาเอง หรือในป่าทวีปอาฟริกานั้น ตามทัศนะของเขาแล้วก็คือ มนุษย์ชนิดที่ถูกเหยียดหยาม ไม่มีสิทธิเสรีภาพ ถูกดูหมิ่น ถูกเยาะเย้ย และถูกริดรอนผลประโยชน์

           สำหรับอิสลามแล้วถือว่าทุกคนไม่ว่าระดับกษัตริย์หรือยาจกต่างมีสิทธิเท่าเทียมกัน ณ ที่อัลลอฮ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มาตรฐานวัดระดับคนของอิสลามจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเปลือกนอกที่ห่อหุ้มร่างกาย หากแต่คือเนื้อแท้ คือจิตใจของแต่ละบุคคล ดังหลักฐานจากพระคัมภีร์ที่ว่า

"โอ้บรรดามนุษย์ทั้งหลาย แน่แท้เราได้สร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ทำให้เจ้าเป็นพวกเป็นเหล่า เพื่อจะได้ทำความรู้จักกัน แน่นอนผู้ที่ประเสริฐสุดจากพวกเจ้าสำหรับอัลลอฮนั้น ก็คือผู้ที่เกรงกลัวพระองค์ "  อัลหุญุร็อต  49 : 13
                                        
          ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ประกาศเสรีภาพในการศรัทธาด้วยกับอายะฮฺจากคัมภีร์อัลกุรอ่านที่ว่า

"ไม่มีการบังคับในการนับถือศาสนา"  อัล-บะกอเราะฮฺ 2 : 258

           นี่คือสิทธิกันชอบธรรมตามธรรมชาติที่ศาสนาอิสลามประกันไว้แก่มนุษยชาติทั่วไป แม้ว่าจะต่างชาติต่างภาษาก็ตาม  หน้าประวัติศาสตร์เป็นคำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในรัฐอิสลามมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ที่จะเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้ ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์อิสลามอันยาวนานว่า มีการบังคับขู่เข็ญให้ชาวยิว ชาวคริสต์หรือคนอื่นๆ หันมานับถืออิสลาม ข้อเท็จจริงนี้เป็นที่ยอมรับกันแม้แต่ในหมู่ศาสนิกอื่น อาทิเช่น

        ธอมัส อาร์โนลด์ นักบูรพาคดีชาวอังกฤษผู้หนึ่งที่ได้กล่าวว่า “ เราไม่เคยได้ยินว่ามีความพยายามใดๆ ที่เป็นแผนการเพื่อใช้บังคับผู้อื่นที่ไม่ใช่มุสลิม ให้ยอมรับอิสลาม หรือว่ามีการบังคับข่มขู่โดยมีจุดหมายเพื่อกำจัดศาสนานั้นๆ ”

 นักบูรพาคดี โทมัส คาร์ไลล์ ได้กล่าวเกี่ยวกับท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม   ว่า

“ การกล่าวหาว่ามุฮัมหมัด บังคับให้มวลมนุษย์ยอมรับในการเชิญชวนของเขาด้วยกับคมดาบนั้น นับเป็นการกล่าวอ้างที่เหลวไหลปราศจากความเข้าใจ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลหนึ่งจะใช้ดาบไล่ฆ่าฟันผู้คน เพื่อให้เขาเหล่านั้นตอบสนองการเชิญชวนของเขา ดังนั้นผู้ใดมีความศรัทธาเชื่อมั่น การศรัทธาของเขาจึงแสดงออกด้วยการยอมรับและการเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้น ”

           Zanghrid Honikah  นักบูรพาคดีสุภาพสตรีชาวเยอรมัน ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเธอว่า “ ในศตวรรษที่ 9 บาทหลวงแห่งนครเยรูซาเล็ม ได้มีหนังสือถึงบาทหลวงแห่งกรุงคอนแสตนติโนเปิล โดยได้พูดถึงชาวอาหรับมุสลิมว่า  แท้จริงพวกเขานั้นเปี่ยมไปด้วยความยุติธรรม พวกเขาไม่เคยละเมิดและไม่อยุติธรรมกับเราเลย และไม่เคยใช้สิธีการรุนแรงใดๆกับเรา ”

           กุสตาฟ เลอ บอง ได้สรุปว่า “  ความจริงก็คือประชาชาติทั้งหลายไม่เคยรู้จักกองทัพใดที่เมตตาอารีและใจกว้างเหมือนกับกองทัพมุสลิมชาวอาหรับ และไม่เคยรู้จักศาสนาใดที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตาเช่นศาสนาของพวกเขา ”

          คำพูดของนักบูรพาคดีเหล่านี้เท่ากับเป็นการยืนยันในอีกด้านว่า  การเข้ารับอิสลามของแต่ละบุคคล ต้องเกิดจากเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์และความต้องการอันเสรีเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยการบังคับขู่เข็ญ และอิสลามถือว่าการบังคับในเรื่องดังกล่าวเป็นอาชญากรรมและสร้างตราบาปให้แก่มนุษย์ที่มีความอิสระและสิทธิเสรีภาพในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง

        อิสลามได้กำหนดเป้าประสงค์อันสูงสุดของสาสน์แห่งการเผยแผ่อิสลาม มายังมนุษยชาตินั่นคือการแผ่ความเมตตาแก่เหล่าสมาชิกในสากลจักรวาล

อัลลอฮฺ  ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสไว้ความว่า

"และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเป็นความเมตตาแก่สากลโลก"  อัล-อัมบิยาอฺ 21: 107

          อิสลามได้ยอมรับการมีอยู่ของประชาคมอื่น ทุกประชาคมในโลกนี้ย่อมมีสิทธิใช้ชีวิตและดำรงคงอยู่บนโลกนี้ พร้อมกับความเชื่อของตนได้อย่างอิสรเสรี อิสลามถือว่าความหลากหลายของประชาคม ถือเป็นกฎสามัญทั่วไปของสิ่งมีชีวิต ความแตกต่างในสัจธรรมดังกล่าว ถือเป็นแนวทางการแข่งขัน และการเสริมสร้างอารยธรรมอันสูงส่งดังที่พระคัมภีร์ยืนยันว่า

"และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอนพระองค์จะทำให้ปวงมนุษย์เป็นประชาชาติเดียวกัน แต่พวกเขาก็ยังคงแตกแยกกัน"  ฮูด 11 : 118

          อิสลามถือว่า ความสงบร่มเย็นเป็นสุขในสังคม เป็นเสาหลักแห่งสันติภาพอันเป็นโอกาสดีที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งและความมีประสิทธิภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ

 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสไว้ความว่า

"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเข้าอยู่ในความสันติโดยทั่วกัน และจงอย่าทำตามบรรดาก้าวเดินของชัยฏอน ( มารร้าย ) แท้จริงมันคือศัตรูที่ชัดแจ้งของพวกเจ้า"  อัล-บะกอเราะฮฺ 2 : 208


                                                                                    
 ญิฮาด
 
           

          ญิฮาด ในอิสลามครอบคลุมในหลายด้านไม่ใช่เพียงแค่การสู้รบอย่างเดียว หากแต่ยังหมายรวมถึงการเสียสละต่อสู้ทางด้านทรัพย์สิน ด้านการเผยแพร่ ด้านการศึกษา ด้านการเมืองอีกด้วย

          ในที่นี่จะขอกล่าวถึงประเด็นเดียวคือการญิฮาดด้านการต่อสู้ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่มีเกียรติสุงสูด และสมควรได้รับการเทิดทูนที่สุดสำหรับผู้ที่สละชีวิตเพื่อพิทักษ์พจนารถของพระองค์

           ญิฮาดด้านการสู้รบนั้น หมายความว่า การอุทิศกำลังกาย กำลังใจทำการต่อสู้เพื่อทำลายผู้ที่ขัดขวางการประกาศใช้คำตัดสินของอัลลอฮ และขัดขวางการเผยแพร่ศาสนาบนหน้าแผ่นดิน

 ความหมายของญิฮาดในด้านนี้ครอบคลุม 2 ประเด็นดังนี้

1. การสู้รบกับผู้ที่ประกาศการปฏิเสธและการหลงผิดในประเทศอิสลาม

2. การสู้รบกับผู้ที่ขัดขวางการเผยแพร่อิสลามในประเทศผู้ปฏิเสธศรัทธา

 ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  กล่าวว่า

 “บุคคลหนึ่งได้ถามท่านศาสดาว่า สงครามเพื่อหลักการของอัลลอฮนั้นหมายถึงอะไร ถ้ามีคนต่อสู้เพื่อทรัพย์สิน อีกคนหนึ่งมุ่งมั่นต่อสู้ในสงครามเพื่อให้ได้ชื่อเสียงจากความกล้าหาญ   คนที่สามต่อสู้เพื่อแก้แค้นคนอื่น หรือถูกกระตุ้นให้ต่อสู้เพื่อเกียรติยศของชาติ บุคคลใดในหมู่คนทั้งสามนี้ใครจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ต่อสู้ “ในวิถีทางของอัลลอฮ”  ?

ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม  ตอบว่า

“ ไม่มีเลยนอกจากบุคคลผู้นั้นจะต่อสู้อย่างอาจหาญ ยึดมั่นอยู่กับเป้าหมายเพื่อการสรรเสริญอัลลอฮเท่านั้น”

“ ใครที่สู้รบเพื่อให้พจนารถของอัลลอฮนั้นสูงส่ง   เขา ( ได้สู้รบ ) ในหนทางของอัลลอฮ”

บันทึกโดยอิหม่ามบุคอรีและอิหม่ามมุสลิม

 เชค ซอและฮฺ อัลมัรซูกีย์ ได้กล่าวว่าไว้ในการประชุมนักวิชาการมุสลิมจากทั่วโลกว่า

“ การก่อการร้ายซึ่งได้ทำลายชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์และทำให้เกิดความคลั่งไคล้และเคียดแค้นนั้น ไม่เคยถูกเรียกว่าญิฮาดแต่ประการใด ”

 “ พวกสุดโต่งหรือตกขอบที่ได้ประกาศตัวว่ากำลังญิฮาด ความจริงแล้วไม่ใช่ ความจริงพวกเขาคือกลุ่มผู้สร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน”

         อัลก็อรฎอวียฺ  กล่าวว่า “ อิสลามไม่อนุญาตให้สร้างความหวาดกลัวแก่ผู้คน ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่การข่มขู่ก็ตาม"

           ฉะนั้นปัญหาทางภาคใต้จำเป็นต้องจำแนกให้ออกว่าใครเป็นใครก่อนจะตัดสินเหมารวมว่าถูกผิดอย่างไร การแอบอ้างว่าทำเพื่อญิฮาดเพราะถูกอธรรม แต่ผลลัพท์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เกิดขึ้นกลับผิดกับกติกาการต่อสู้ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น แน่นอนว่านั่นย่อมไม่ใช่การญิฮาดที่อิสลามสนับสนุนส่งเสริม พอเพียงแล้วกับดำรัสของพระองค์ที่ว่า

“และสูเจ้าทั้งหลายจงอย่าสร้างความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน หลังจากที่ได้มีการปฏิรูปมันแล้ว”

 อัลอะอฺรอฟ 7 / 85

Part 4 >>>>>Click

Next 6 >>>>>Click