สิ่งล้ำค่าอันใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าความรู้
  จำนวนคนเข้าชม  5214

 

สิ่งล้ำค่าอันใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าความรู้

 

อุซต๊าซ อ๊ะหมาด นาปาเลน

 

          การเรียกร้องมนุษย์ไปสู่หนทางของอัลลอฮฺนั้นเป็นการงานอันประเสริฐ ที่ถูกมอบแด่ผู้ประเสริฐ คือ เหล่าบรรดานบีและร่อซูล  พวกเขาเหล่านั้นได้รับการนำทางจากอัลลอฮฺ ได้รับการรักษาจากพระองค์ และเช่นเดียวกับผู้ที่ทำหน้าที่สืบต่อจากร่อซูลและนบีเหล่านั้น 

 

         องค์ประกอบสำคัญของนักดาอีย์ (ผู้เผยแผ่) คือ องค์ความรู้ อันเป็นประการแรกที่อัลลอฮฺทรงประทานโองการที่เป็นคำสั่งแก่ท่านนบี มุฮัมมัด และประชาชาติของท่านคือ "การอ่าน" การแสวงหาความรู้จึงเป็นสิ่งให้การดะวะฮฺ (เผยแผ่) เกิดความสมบูรณ์ขึ้นได้

 

          สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชาติอิสลามตกอยู่ในความอ่อนแอ คือ ขาดความรู้ จำนวนอุลามาอฺ (ผู้รู้) ที่ทำงานมีน้อย และการวางแผนการจัดการศึกษาเรื่องศาสนาที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ผู้เรียนก็ขาดความจริงจังและท้อถอยง่าย

 

         ความประเสริฐของความรู้นั้น มันเป็นสิ่งแรกที่พระองค์อัลลอฮฺ ประทานเป็นคำสั่งต่อท่านนบี  "อิกเราะฮฺ จงอ่าน" เป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮฺสั่งใช้ให้เราขอเพิ่มเติม "และจงกล่าวเถิดว่า โอ้พระองค์ได้โปรดเพิ่มความรู้ให้แก่ข้าพระองค์เถิด" มันเป็นการก่อให้เกิดอีหม่าน และอีหม่านจะไม่เกิดหากไม่มีความรู้ ซึ่งก่อให้เกิดการเชื่อมั่นต่ออัลลอฮฺ เป็นเครื่องหมายแห่งความดีที่พระองค์อัลลอฮฺ ประทานแก่คน ๆ หนึ่ง มันเป็นวิญญาณและรัศมีของหัวใจ มันเป็นมรดกของบรรดานบี มันเป็นการญิฮาดและการอิบาดะฮฺ อันยิ่งใหญ่

 

“ผู้ใดเข้ามามัสยิดของฉันนี้ไม่ได้มาเพื่อสิ่งอื่นใดนอกจากเพื่อความดี มาเรียนรู้ หรือสอนความรู้เขานั้นอยู่ในฐานะนักสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ” 
 

(ฮะดิษรายงานโดย อิบนะมาญะ)

 

          ความรู้ คือ ยากันลืม คือ หนทางสู่ความสำเร็จ เป็นหนทางสู่สวนสวรรค์ เป็นเกียรติของเจ้าตัว เป็นเส้นทางบารอกะฮฺ ให้เกิดผลบุญอยู่ตลอดกาล เป็นผู้นำของการปฏิบัติ เป็นยาโรคทางจิต มลาอีกะฮฺน้อมปีกให้ เป็นที่ภูมิใจของอัลลอฮฺต่อเหล่ามลาอิกะฮฺ

♦- ความรู้ไม่สามารถเทียบเท่าทรัพย์สมบัติ เพราะความรู้เป็นมรดกของบรรดานบี แต่ทรัพย์สมบัติเป็นมรดกของคนรวย 

♦- ความรู้จะปกป้องรักษาเจ้าของ แต่ทรัพย์สมบัติ เจ้าของจะต้องปกป้องรักษามัน 

♦- ความรู้จะยิ่งเพิ่มพูนเมื่อได้ถ่ายทอดแก่ผู้อื่น แต่ทรัพย์สมบัติยิ่งให้คนอื่นก็ยิ่งหมดไป (นอกจากซอดาเกาะฮฺ) 

♦- ทรัพย์สมบัติจะครอบครองโดยคนดีและคนชั่ว แต่ความรู้ที่ดีจะครอบครองโดยผู้ที่ศรัทธาเท่านั้น 

♦- ผู้รู้เป็นที่ต้องการของผู้นำและคนทั่วไป แต่ผู้ร่ำรวยด้วยทรัพย์สมบัติเป็นที่ต้องการของคนยากจนและขัดสนเท่านั้น 

♦- ทรัพย์สมบัติทำให้เจ้าของเป็นทาสของดุนยา แต่ความรู้นำเจ้าของไปสู่การเป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺ 

♦- ผู้รู้มีความล้ำค่าในตัวเขาเอง ส่วนความล้ำค่าของคนรวยอยู่ที่ทรัพย์สมบัติของเขา 

♦- คนรวยใช้สมบัติเขาเรียกร้องมนุษย์ไปสู่ดุนยา แต่ผู้รู้เรียกร้องมนุษย์ด้วยความรู้ไปสู่โลกหน้า


ปัจจัยที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับความสำเร็จ อาทิเช่น

๑. ความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ พระองค์ได้กล่าวในซูเราะฮฺอันฟาล อายะฮฺที่ ๒๙ ความว่า

“บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! หากพวกเจ้ายำเกรงอัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงให้มีแก่พวกเขาซึ่งสิ่งที่จำแนกระหว่างความจริงและความเท็จ"

๒. ขอลุแก่โทษ เตาบะฮฺ และดุอาอฺให้มาก

๓. การนึกถึงความตายและโลกอาคีเราะฮฺ สิ่งนี้จะช่วยให้เขาใช้เวลาให้เกิดประโยชน์

๔. รักษาเวลา บริหารเวลาให้ดี

๕. ละทิ้งคำพูด การฟัง การมองที่ไร้สาระ

๖. อ่านบทความเรื่องความประเสริฐของความรู้ และชีวประวัติของชาวสะลัฟที่เกี่ยวกับการหาความรู้

๗. พยายามอยู่กับผู้ที่มีความรู้มากกว่า


 

สิ่งที่ต้องระวังสำหรับผู้แสวงหาความรู้ คือ สิ่งที่จะเป็นตัวทำลายผู้แสวงหาความรู้ อาทิ

              ๑. มะเซียต (อบายมุข) เพราะความรู้จะทำให้เกิดความยำเกรง ดังโองการ ความว่า “แท้จริง บรรดาผู้ที่มีความรู้จากปวงบ่าวของพระองค์เท่านั้นที่เกรงกลัวอัลลอฮฺ” และมะเซียตนั้นเป็นตัวบั่นทอนความกลัวให้ลดลง

๒. ความตะกับบูร (ยโส)

๓. การชอบโต้เถียง

๔. ปิดบังความรู้ สิ่งนี้เป็นต้นเหตุนำไปสู่การหลงลืม

๕. หมกหมุ่นอยู่กับกิจการโลกดุนยา (โลกวัตถุ)

๖. เมินเฉยเรื่องศาสนา ไม่เปิดเผยความถูกต้อง ไม่ทักท้วงในสิ่งที่ผิด

๗. การหลงลืมไม่เน้นการทบทวนความจำ


          สุดท้ายนี้ขอให้พวกเราทุกคนได้รับความดีงามจากอัลลอฮฺด้วยการได้รับการประสาทความรู้ที่มีประโยชน์ ได้ปฏิบัติต่อความรู้และได้บอกต่อแก่ผู้อื่น ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ขอให้เรามีชีวิตอยู่กับการเรียนและจากลาโลกใบนี้ไปในสภาพที่เป็นผู้เรียนรู้ด้วยเทอญ อามีน


 

ที่มา  สาสน์ อัลมาอาเรฟ