จริยศาสตร์อิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  19007

 

จริยศาสตร์อิสลาม

โดย  อิจรลาลีย์
   

          กล่าวได้ว่า จริยศาสตร์อิสลามนั้น คืออุดมการณ์ คือรากฐาน คือแนวทางการประพฤติปฏิบัติตน ตามแนวทางที่ถูกต้องเที่ยงตรงที่ถูกบัญชาใช้ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็นมุสลิมผู้นอบน้อมยอมจำนนโดยสิ้นเชิง

                                                 
          จริยศาสตร์อิสลามได้มอบความเอ็นดูเมตตาให้หยั่งรากลึกในจิตวิญญาณของมนุษย์ ให้มนุษย์มีความเมตตา ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อสรรพสัตว์ และต่อทรัพยากรธรรมชาติทั้งมวล   และความเอ็นดูเมตตานี่เองที่นำไปสู่คุณธรรมอันประเสริฐซึ่งยังความผาสุกแก่สังคมทั้งหมดอย่างทั่วถึง

          อิสลามได้วางระบบจริยธรรมที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีการเพิ่มเติม ตัดทอน เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงใดๆได้อีก และทุกการเสริมเติมแต่งบทบัญญัติศาสนานั้น อิสลามถือว่าเป็นโมฆะ ดังที่ท่านนบีมุฮัมหมัด   กล่าวว่า                   

“ ใครที่ประดิษฐ์สิ่งใดขึ้นใหม่ นอกเหนือจากคำสั่งของเรา นั้น ถือเป็นโมฆะ” (ไม่ถูกตอบรับ )                        

 

         พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้กำหนดคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามใดๆโดยไม่มีเหตุผล ทุกคำสั่งของพระองค์นั้นเป็นการแสดงถึงความยุติธรรมของพระองค์อย่างแท้จริง   ดังจะเห็นได้จากการตอบแทนผู้กระทำดีและการลงโทษผู้กระทำผิด ในดำรัสของพระองค์ที่ว่า 

                                                                                                      
"และสิ่งที่อยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลาย และสิ่งที่อยู่ในแผ่นดินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮ

พระองค์จะทรงตอบแทนบรรดาผู้กระทำความชั่วตามที่พวกเขาได้กระทำไว้ และจะทรงตอบแทนบรรดาผู้กระทำความดีด้วยความดี "

(อันนัจมฺ / 31 )

      
          พระองค์จะทรงนำการงานทั้งหมดของมนุษย์ทั้งดีและชั่ว มาชั่งในตาชั่งความดีความชั่วของพระองค์ ซึ่งไม่มีผู้ใดล่วงรู้ถึงสภาพและวิธีการชั่งของพระองค์  แต่แน่นอนที่สุดว่า การชั่งความดีความชั่วของพระองค์ในวันแห่งการตัดสินนั้น ละเอียดถี่ถ้วน และเที่ยงธรรมอย่างที่สุด  พระองค์ได้แจ้งถึงการตัดสินของพระองค์ในดำรัสที่ว่า

 

 "และเราจะตั้งตราชูที่เที่ยงธรรม สำหรับวันกิยามะฮฺ ( วันปรโลก ) ดังนั้นจะไม่มีชีวิตใดถูกอธรรมแต่อย่างใด

และแม้ว่ามันจะมีน้ำหนักเพียงเท่าเมล็ดพืชเล็กๆ  เราก็จะนำมาแสดงให้เห็น และเป็นการพอเพียงแล้วสำหรับเรา ที่เป็นผู้ชำระสอบสวน "  

( อัลอัมบิยาอฺ 21 / 47 )

"และการชั่งในวันนั้นเป็นความจริง ดังนั้น ผู้ใดที่ตราชูของเขาหนัก ชนเหล่านี้แหละคือผู้ที่ได้รับความสำเร็จ

และผู้ใดที่ตราชูของเขาเบา ขนเหล่านี้แหละคือผู้ที่ก่อความขาดทุนให้แก่ตัวของพวกเขาเอง

เนื่องจากการที่พวกเขามิได้ให้ความเป็นธรรม แก่บรรดาโองการของเรา" 

( อัลอะอฺร็อฟ 7/ 8-9)

          และภายหลังจากการตัดสินอันเที่ยงธรรมของพระองค์แล้ว จะมีกลุ่มหนึ่งได้เข้าพำนักในสรวงสวรรค์ และ อีกกลุ่มหนึ่งเข้าสู่ขุมนรก ดังดำรัสที่ว่า  

"ส่วนบรรดาผู้ศรัทธา และประกอบสิ่งที่ดีงามทั้งหลายนั้น พระองค์จะทรงตอบแทนพวกเขาโดยครบถ้วน ซึ่งรางวัลของพวกเขา

และจะทรงเพิ่มให้แก่พวกเขาด้วย จากความกรุณาของพระองค์

และส่วนบรรดาผู้ที่หยิ่งและยโสนั้น พระองค์จะทรงลงโทษพวกเขา ด้วยการลงโทษอันเจ็บแสบ

และพวกเขาจะไม่พบผู้คุ้มครอง และผู้ช่วยเหลือใดๆ สำหรับพวกเขาอื่นจากอัลลอฮเลย "

( อันนิซาอฺ4  / 173 )
 

           นี่คือสิ่งที่อิสลามมอบแด่มนุษยชาติ  เพื่อให้ผู้ศรัทธาเป็นผู้นอบน้อมจำนนต่อพระองค์  เป็นผู้รำลึกนึกถึงพระองค์เป็นอาจิณ เป็นผู้คิดบัญชีตัวเองอยู่เสมอ ไม่อธรรมผู้ใด ไม่บิดพลิ้วคดโกง ไม่เย่อหยิ่งจองหอง และมีความละอายต่อพระองค์ไม่ว่าอยู่ในที่ลับหรือที่เปิดเผยก็ตาม

   

" การตอบแทนของพวกเขา ณ ที่พระเจ้าของพวกเขา คือสวนสวรรค์หลากหลายอันสถาพร ณ เบื้องล่างของสรวงสวรรค์นั้นมีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน

พวกเขาเป็นผู้พำนักอยู่ในนั้นตลอดกาล อัลลอฮทรงปิติต่อพวกเขา และพวกเขาก็ยินดีในพระองค์ นั่นคือ สำหรับผู้ที่กลัวเกรงพระเจ้าของพวกเขา"  

( อัลบัยยินะฮฺ 98 /8 ) 


ความสำคัญของจริยศาสตร์อิสลามต่อชีวิตมนุษย์

            ไม่ว่าสังคมชนชั้นใด หากสมาชิกในสังคมไม่มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นในด้านคุณธรรมจริยธรรม  ความสงบสุข ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจซึ่งกันในสังคมย่อมไม่อาจมีได้  และหากสังคมกำหนดให้การมีอยู่ของสังคมตั้งอยู่บนผลประโยชน์ทางด้านวัตถุเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงเป้าหมายที่สูงส่งและมั่นคงยิ่งกว่า วิถีชีวิตของสังคมนั้นๆย่อมไม่จีรังยั่งยืน ความอยู่รอดของสังคมจึงไม่ได้อยู่ที่เงินตรา ชื่อเสียง ความสะดวกสบาย แต่จำเป็นที่จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานจริยธรรมอย่างน้อย 2 ประการ นั่นคือ ความแน่วแน่มั่นคง และ การเป็นที่ยอมรับไว้วางใจ   จริยธรรมที่สูงส่งจึงถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกสังคมจะขาดเสียไม่ได้ จริยธรรมเป็นเสมือนแกนกลางที่ประสานหรือสร้างความสัมพันธ์อันดีแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อใดที่จริยธรรมดับสูญ เมื่อนั้นสมาชิกในสังคม จะแตกแยก ขาดความรัก สมัครสมานสามัคคีและขาดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน


          เมื่อตามหลักเกณฑ์สากลจริยศาสตร์มีความสำคัญถึงเพียงนี้  สำหรับทัศนะอิสลามแล้ว จริยศาสตร์มีความสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งกว่า  ดังจะเห็นได้จากการที่อิสลามกำหนดการตอบแทนและการลงโทษสำหรับมนุษย์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ดังตัวอย่างที่อัลกุรอานได้บอกเราไว้ถึงการลงโทษแก่กลุ่มชนที่ปราศจากจริยธรรม ดังในดำรัสที่ว่า

                                
"และแท้จริง เราได้ทำลายประชาชาติจากศตวรรษก่อนจากพวกท่านไปแล้ว เมื่อพวกเขาเป็นผู้อธรรม"

( ยูนุส 10 / 13 ) 

 "และพระเจ้าของเจ้าไม่ทรงทำลายหมู่บ้านใดโดยอยุติธรรม โดยที่ประชากรของหมู่บ้านนั้นเป็นผู้ฟื้นฟู ทำความดี"   

( ฮู๊ด 11 / 117)

           อิสลามให้ความสำคัญกับจริยธรรมอย่างมาก เพราะ อิสลามถือว่า  จริยธรรมเป็นเรื่องที่จำเป็นและสำคัญยิ่งต่อความสงบยั่งยืนของสังคม พฤติกรรมของมนุษย์เชื่อมโยงผูกติดกับอุปนิสัยภายในเสมอ เสมือนดั่งความสำพันธ์ของ กิ่งก้านสาขาของต้นไม้ที่มีต่อรากไม้ซึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้ผืนดิน พฤติกรรมอันดีงามก็เป็นผลจากการมีจริยธรรมงดงาม กิ่งก้านจะงดงามแข็งแรง รากแก้วก็ต้องงดงามและแข็งแกร่งด้วยเช่นเดียวกัน

         
" และเมืองที่ดีนั้น ( มีดินดี ) ผลิตผลของมันจะงอกออกมาด้วยอนุมัติแห่งพระเจ้าของมัน

และเมืองที่ไม่ดีนั้น  ผลิตผลของมันจะไม่ออก นอกจากในสภาพแกร็น"

( อัลอะรอฟ 7 / 58 ) 

          ดังนั้น แผนการปฏิรูปบุคคลและ สังคม จึงต้องปลูกฝัง  บ่มเพาะที่จิตใจเป็นอันดับแรก อิสลามจึงมุ่งเน้นที่การขัดเกลาจิตใจเพื่อขจัดความสกปรกขุ่นมัว อันเป็นจุดกำเนิดของพฤติกรรมที่ไม่ดีงามทั้งหลาย       

" แท้จริง อัลลอฮ จะมิทรงเปลี่ยนแปลงสภาพของชนกลุ่มใด เว้นแต่พวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสภาพ  ของพวกเขาเอง" 

( อัรเราะดฺ 13 / 11 )

          อิสลามตระหนักดีว่า หากกฏเกณฑ์จริยธรรมทางสังคมถูกละเลยเพิกเฉยไปแล้ว แน่นอนที่สุดว่า การหลอกลวงหักหลัง การคดโกงบิดพลิ้ว การโกหก การหลั่งเลือด การละเมิดในสิ่งต้องห้ามและในสิทธิต่างๆย่อมเกิดขึ้น มนุษยธรรมจะมีเพียงแต่ชื่อ ไม่มีความรัก ไม่มีการช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่มีความเอ็นดูเมตตา และไม่มีความความบริสุทธิ์ใจ เมื่อนั้นสังคมจะกลายเป็นขุมเพลิงที่มนุษย์ไม่อาจต้านทานความร้อนระอุ และทนรักษาชีวิตในขุมเพลิงนั้นได้ เพราะโดยธรรมชาติความเป็นมนุษย์แล้ว มนุษย์ย่อมต้องอาศัยพึ่งพาเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และโดยธรรมชาติความเป็นมนุษย์อีกเช่นกันที่มนุษย์มักต้องการอำนาจ ปรารถนาที่จะครอบครอง เห็นแก่ตัวและต้องการแก้แค้น

 

"และเมื่อเขาให้หลังไปแล้ว เขาก็เพียรพยายาม เพื่อก่อความเสียหายในแผ่นดินนั้น และทำลายพืชผล และเผ่าพันธุ์

และอัลลอฮ์นั้นไม่ทรงชอบการก่อความเสียหาย"

( อัลบะเกาะเราะฮ 2 / 205 )

           และนี่เองคือเหตุผลที่อิสลามต้องให้ความสำคัญต่อจริยธรรมด้วยการวางรากฐานตลอดจนกฎเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นต่อผู้เป็นมุสลิมทุกคนที่จะต้องยึดถือและดำเนินตาม จริยศาสตร์อิสลาม จึงหาใช่เป็นเพียงกฎเกณฑ์ที่ถูกวางไว้เท่านั้น แต่ถือเป็นบัญชาจากพระเจ้าที่ประมวลไว้ด้วยคำสั่งใช้ คำสั่งห้าม สิ่งที่อนุมัติ และสิ่งที่พึงระวัง จากพระองค์ ดังนั้น ใครที่เชื่อฟังพระองค์ก็จะได้รับการตอบแทน และใครที่ฝ่าฝืนพระองค์ก็จะได้รับการลงโทษ 

 

.