แนวทางของนักปราชญ์ในการพิจารณาตัวบทฮะดีษ 3
  จำนวนคนเข้าชม  3246


             
 

แนวทางของนักปราชญ์ทางวิชาฮะดีษ (มุฮัดดิซีน)


ในการพิจารณาตัวบทฮะดีษ 3


         รูปแบบต่างๆของชูซู๊ซในตัวบท  หมายถึงการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในตัวบทฮะดีษจากรูปเดิมที่ทราบกันดี เป็นรูปอื่น *(ด.ร.นูรุดดีน อะดัร : มันฮะญุลนักดฺ ฟีอูลูมิลหะอีซ หน้า 44)

4. การเปลี่ยนแปลงถ้อยคำในตัวบท (التصحيف فى المتن)

 

             สำหรับสาเหตุของการตัซฮีฟ นั้นเกิดขึ้นจากการเขียนผิด หรือฟังผิด *(อัลบัยฮะกีย์ : “มะอฺริฟัต อัสซุนัน วัลอาซ๊าร” เล่ม 1 หน้า 56) ซึ่งสองประการต่อไปนี้ หากเกิดขึ้นกับผู้รายงานบ่อยครั้ง เขาจะถูกตำหนิและกลายเป็นผู้รายงานที่อ่อน (ฎออีฟ) ได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นเป็นบางครั้งก็ไม่ทำให้สถานภาพของเขาเสียหายแต่อย่างใด เพราะถือว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม รายงานของเขาที่มีตัซฮีฟถือเป็นรายงานที่อ่อนใช้ไม่ได้

ตัวอย่าง :
مارواه احمدعن شيخه اسحاق بن عيسى ثناابن لهيئة قال : كتب الي موسى بن عقبةيجبرنى عن بسر بن سعيدعن زيد بن ثابت ان رسول الله صلى الله عليه وسلم احتجم فى المسج

ฮะดีษรายงานโดยอะห์หมัด จากอิสหาก จากอิบนุลุฮัยอะห์ ว่า : แท้จริง ท่านรอซูลุลลอฮ์ ได้รับการกรอกเลือดในมัสยิด
*(อะห์หมัด : “อัลมุสนัด” เล่ม 5 หน้า 185 และดูอัสสูยูฎีย์ : อัตตัดรีบ เล่ม 2 หน้า 193)

               คำว่า  “احتجم”ซึ่งแปลว่า “รับการกรอกเลือด” เป็นคำที่ อิบนุลุฮัยอะห์รายงานผิดพลาด เพราะคำเดิมที่ถูกต้องคือ “احتجر”  ซึ่งแปลว่า ทำเป็นห้อง หรือกั้นเป็นห้อง คำสองคำนี้เขียนเหมือนกัน ต่างกันเพียงอักษรสุดท้าย ซึ่งที่ถูกต้องคือ อักษร “ر (รออฺ)” แต่ อิบนุ ลุฮัยอะห์ เขียนผิดเป็นอักษร “م (มีม)” ความหมายจึงเปลี่ยนไป
 
              การตัซฮีฟในลักษณะดังกล่าวมักเกิดขึ้นบ่อย ในการรายงานฮะดีษยุคหลังที่นิยมคัดลอกต่อๆกันมา แต่ก็สามารถตรวจสอบได้ง่ายโดยวิธีกลับไปดูตัวบทเดิม สำหรับวิธีทั่วไปของนักปราชญ์ทางวิชาฮะดีษ มุฮัดดิซีน ในการตรวจสอบนั้น จะใช้วิธีนำสายรายงานต่างๆของฮะดีษมาเปรียบเทียบ เช่นเดียวกับวิธีการหาอิลละห์ และจะต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับภาษา และการใช้ภาษาอีกด้วย
 
             สำหรับตัวอย่างข้างต้นนั้น พบว่า สายรายงานต่าง ๆที่รายงานมา ทั้งของท่านอิมามอะห์หมัด ท่านอิมามบุคอรีย์ และท่านอิมามมุสลิม นั้น รายงานจากคนเดียวกันคือ บิสรฺ อิบนฺ สะอี๊ด จากซัยดฺ อิบนุซาบิต ดังนี้
*(อะห์หมัด : อัลมุสนัด เล่ม 5 หน้า 187 และอัลบุคอรีย์ : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 6113)

ان رسول الله صلى الله عليه وسلم احتجر فى المسجدحجرة
 
และบางรายงานมีตัวบทดังนี้
*(อะห์หมัด : อัลมุสนัด เล่ม 5 หน้า 182 ,อัลบุคอรีย์ : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 731 และมุสลิม : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 781)

 ان النبى الله صلى الله عليه وسلم اتخدحجرةفى المسجدمن حصير

ความว่า : ท่านนบีได้ทำห้องในมัสยิด จากเสื่อ

5. การแทรกในตัวบท (الادراج فى المتن)
 
              หมายถึง การที่ผู้รายงานได้นำส่วนที่ไม่ใช่ฮะดีษมาแทรกในฮะดีษ โดยไม่ได้แยกออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้เข้าใจว่าสำนวนทั้งหมดเป็นฮะดีษ
*(ดูอัลฮากิม : มะอฺริฟัต อูลูมิลฮะดีษ” 39-41 และ 135-140 อิบนุสศอลาห์ : อัลมูก็อดดีมะห์ หน้า 208 และอัสสุยูฎีย์ : อัตตัดรีบ เล่ม 1 หน้า 268-274)

การแทรกในตัวบทฮะดีษนั้นมีสาเหตุมาจากหลายประการ เช่น :
 
ก. การอธิบายศัพท์ กล่าวคือ ผู้รายงานต้องการอธิบายศัพท์ที่ปรากฏในตัวบทฮะดีษ แต่ผู้ฟังบางคนเข้าใจว่าเป็นฮะดีษและเล่าต่อยังผู้อื่นในฐานะเป็นฮะดีษ

ตัวอย่าง :
ฮะดีษของท่านหญิงอาอีชะห์ในเรื่องการเริ่มต้นของวะหฺยู โดยท่านหญิงอาอิชะห์เล่าว่า :

وكان صلى الله عليه وسلم يخلوبغارحراءفيتحنث وهوالتعبدالليالى دوات العددالحديث

คำว่า  “وهوالتعبد”  มิใช่เป็นคำพูดของท่านหญิงอาอิชะห์ แต่เป็นคำพูดของอัซซุฮฺรีย์ (ผู้รายงานฮะดีษคนหนึ่ง) ที่นำมาแทรกเพื่ออธิบายความหมายคำว่า “فيتحنث”
*(ดูอัลบุคอรีย์ : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 3)

ข. การกล่าวถึงข้อบัญญัติศาสนาที่เกี่ยวข้องกับฮะดีษแล้วรายงานฮะดีษโดยไม่ได้แยกออกจากกัน

ตัวอย่าง :
ฮะดีษของอบูฮุรอยเราะห์รายงานจากท่านนบีว่า :

أسبغواالوضوءويل للأ عقاب من النار

ความว่า : ท่านทั้งหลายจงอาบน้ำละหมาดให้สมบูรณ์ ความวิบัติจากไฟนรกได้ประสบกับส้นเท้า (ที่ล้างไม่ทั่วถึง)
*(อัลคอฏีบ ได้รายงานจากอบีกอฎอนและชะมามะห์ จากชุอฺบะห์ จากมุฮัมหมัด อับนุ ซียาด จากอบูฮุรอยเราะห์ ดูอัสศูยูฎีย์ : อัตตัดรีบ เล่ม 1 หน้า 271)
 
           คำว่า   “أسبغواالوضوء”  มิใช่เป็นคำพูดของท่านนบี แต่เป็นคำพูดของท่านอบูฮุรอยเราะห์ที่ต้องการบอกถึงข้อบัญญัติของฮะดีษ เพราะในรายงานของท่านอิมามบุคอรีย์ที่รายงานจากอาดัม (آدم) จากชัวอฺบะห์ (شعبة) จากมุฮัมหมัด อิบนุซิยาด (محمد بن زياد) จากอบูฮุรอยเราะห์ได้กล่าวว่า :

أسبغواالوضوء فان أبا القاسم صلى الله عليه وسلم قال : ويل للأ عقاب من النار

ความว่า : ท่านอบูฮุรอยเราะห์ กล่าวว่า : ท่านทั้งหลายจงอาบน้ำละหมาดให้สมบูรณ์ เพราะท่านอบุล กอเซ็ม (หมายถึงท่านนบี) ได้กล่าวว่า : ความวิบัติจากไฟนรกจะประสบกับส้นเท้า (ที่ล้างไม่ทั่วถึง)
*(อัลบุคอรีย์ : อัซซอฮีฮฺ ฮะดีษหมายเลข 165)

ค. การรายงานฮะดีษแล้วกล่าวถึงข้อบัญญัติ หรือข้อวินิจฉัยของฮะดีษหลังจากนั้น โดยไม่ได้แยกออกจากกัน

ตัวอย่าง :
ฮะดีษที่รายงานจากอับดุลเลาะห์ อิบนุ มัสอู๊ด ว่า ท่านนบีได้จับมือเขา และได้สอนเขาอ่านตะชะห์ฮุด ในตอนท้ายของฮะดีษมีข้อความว่า :

اداقلت هدافقدقضيت صلاتك ان شئت أن تقوم فقم وان شئت ان تقعدفاقعد

มีความหมายว่า : เมื่อท่านอ่านเสร็จก็เท่ากับท่านได้ละหมาดเสร็จ หากท่านจะยืนก็จงยืน และหากท่านจะนั่งก็จงนั่ง

           ท่านอิมามนะวะวีย์ (สิ้นชีวิตในปี ฮ.ศ.676) ได้กล่าวว่า : นักปราชญ์วิชาฮะดีษ (มุฮัดดิซีน) ระดับฮุฟฟ๊าซ เห็นตรงกันว่า ข้อความดังกล่าวมิใช่เป็นคำพูดของท่านนบี แต่เป็นคำของอับดุลเลาะห์ อิบนุ มัสอู๊ด ที่แทรกเข้ามา เพราะมีสายรายงานอื่นๆที่ระบุไว้ชัดเจนเช่นนั้น

โดย  ผศ.ดร.อับดุลลอฮฺ หนุ่มสุข

د.عبدالله نومسوك   



  CLICK  <<<< ตอนที่ 2                                                                          ตอนที่ 4 >>>> Click