ญิฮาด !
  จำนวนคนเข้าชม  6474

ญิฮาด รูปแบบต่างๆในอิสลาม

 ความหมาย

            ญิฮาด หมายถึง การทุ่มเทกำลังและความพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงโปรดปรานและการยับยั้งสกัดกั้นสิ่งที่อัลลอฮ์ ทรงโกรธกริ้ว

       อับดุลลอฮ์ อิบนุอับบาส ได้นิยามญิฮาดว่า คือการทุ่มเทพละกำลังและความสามารถ ตลอดจนทำงานเพื่ออัลลอฮ์ โดยไม่เกรงกลัวคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คน

      มุกอติล กล่าวว่า ญิฮาดคือ การทำงานเพื่ออัลลอฮ์ อย่างสุดความสามารถและเคารพภักดีต่อ อัลลอฮ์ ด้วยความมุ่งมั่นสูงสุด

      ในขณะที่ อับดุลลอฮ์ อัลมุบาร็อก กล่าวว่า ญิฮาดคือการต่อสู้กับตัณหาราคะและอารมณ์ใฝ่ต่ำ

           ญิฮาด มีความหมายที่ครอบคลุมการปฏิบัติภารกิจของมุสลิม ที่ต้องใช้ความพยายามอันหนักหน่วงและทุ่มเทกำลัง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูศาสนาของอัลลอฮ์ ให้สูงส่งและแพร่หลายในมนุษยชาติตามหลักการของอิสลาม มีกริยามารยาทอันสูงส่ง มีจิตใจอันบริสุทธิ์ที่ไม่เจือปนกับผลประโยชน์แอบแฝงเว้นแต่แสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์   ภายใต้การนำของผู้นำที่ได้รับการยอมรับและความเชื่อถือทั้งด้านความรู้  พฤติกรรมและบุคลิกส่วนตัว ตลอดจนสามารถประยุกต์ใช้คำสอนของอิสลามอันเป็นศาสนาแห่งความโปรดปรานและความเมตตาที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอัลกุรอานและซุนนะฮ์โดยแท้จริง

ประเภทของญิฮาด


 จากความหมายของญิฮาดดังกล่าว สามารถแบ่งประเภทของญิฮาดได้ดังนี้  :


1.  ญิฮาดด้านสินทรัพย์

          อัลลอฮ์ ทรงสร้างและบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนของพระองค์ ที่มีภารกิจบริหารจัดการสังคมให้มีความสันติ อัลลอฮ์ จึงกำหนดกฏกติกาเพื่อให้มนุษย์ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันโดยอาศัยต้นแบบที่นำเสนอโดยนะบีมุฮัมมัด

          โดยธรรมชาติมนุษย์ชอบที่จะสะสมและครอบครองทรัพย์สมบัติ ดังนั้นอิสลามจึงเปิดโอกาสให้มนุษย์ครอบครองตามความต้องการและความสามารถตลอดจนความพยายามของแต่ละคน โดยมีเงื่อนไขว่าการได้มาของทรัพย์สมบัตินั้น ต้องถูกต้องตามทำนองคลองธรรมและไม่สร้างความเดือดร้อนหรือเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในสังคม ทรัพย์สมบัติคือส่วนหนึ่งของพรอันประเสริฐที่อัลลอฮ์ ทรงประทานให้แก่บุคคลที่พระองค์ทรงประสงค์

          อิสลามปฏิเสธระบบสังคมนิยมที่กำหนดนโยบายกระจายรายได้แก่สมาชิกในสังคมอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงความหลากหลายของสังคมมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธระบบทุนนิยมที่มองโลกนี้เป็นสนามแข่งขัน ให้โอกาสแก่ผู้ที่มีกำลังเหนือกว่าเท่านั้นที่เป็นฝ่ายชนะ อิสลามปฏิเสธปรัชญาและแนวคิดการดำเนินชีวิตอย่างสันโดษ ไม่ถือครองทรัพย์สมบัติใดๆ และไม่คบค้าสมาคมกับโลกภายนอก ถือว่าทั้งสามแนวคิดฝ่าฝืนสามัญสำนึกของมนุษย์ อิสลามเป็นระบบที่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมมนุษย์ได้อย่างสันติสุขและยั่งยืน

           อิสลามส่งเสริมให้มนุษย์ขวนขวายครอบครองทรัพย์สมบัติโดยวิธีการที่ถูกต้อง และถือว่าทรัพย์สมบัติเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาสังคมในทุกๆ ด้าน มุสลิมจึงต้องใช้ความพยายามอย่างสุดความสามารถ(ญิฮาด)เพื่อหาปัจจัยยังชีพ พร้อมทั้งบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ได้มาให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอิสลาม ด้วยการใช้จ่ายอย่างประหยัดและคุ้มค่า มอบสิทธิของทรัพย์สินตามหลักศาสนบัญญัติด้วยการจ่ายซะกาต การบริจาคทาน การสนับสนุนและช่วยเหลือโครงการสาธารณกุศลต่างๆ สู่การพัฒนาสังคมที่สันติสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า พร้อมทั้งมีจิตสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า ทรัพย์สมบัติที่ได้มาเป็นภาระหน้าที่(อะมานะฮ์) เป็นบททดสอบ และทุกคนต้องได้รับการสอบสวนจากพระองค์ในโลกอาคิเราะฮ์ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน 2 ข้อ คือ การได้มาของทรัพย์สินและการใช้จ่ายทรัพย์สินไปในทางใดบ้าง


2.  ญิฮาดด้านการเผยแผ่อิสลาม

          อิสลามคือพรอันประเสริฐและความโปรดปรานของอัลลอฮ์ ที่ทรงประทานมายังมนุษยชาติและได้นำมาใช้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์โดยนะบีมุฮัมมัด  จึงเป็นภาระหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่จะต้องเผยแผ่ความดีงามสู่มนุษยชาติตามความสามารถ มุสลิมต้องทุ่มเทกำลังที่มีอยู่ (ญิฮาด) เพื่อเผยแผ่อิสลามในทุกรูปแบบไม่ว่าด้วยวาจา การแต่งตำรา สานเสวนา การประชุม การใช้ประโยชน์จากสื่อทุกแขนง การตอบโต้การใส่ร้ายป้ายสีอิสลาม การสร้างปฏิสัมพันธ์และคบค้าสมาคมกับชนต่างศาสนิกด้วยจริยธรรมอันสูงส่ง เพื่อเชิญชวนและโน้มน้าวจิตใจผู้คนให้สนใจและเลื่อมใสในความดีงามของอิสลาม

           อิสลามปฏิเสธการบังคับในการนับถือศาสนา และการบีบบังคับผู้คนให้นับถือศาสนาไม่อยู่ในการเผยแผ่อิสลาม อิสลามถือว่าการบีบบังคับเป็นการก่ออาชญากรรมทางจิตใจต่อมนุษยชาติที่มีอิสรเสรีในการกำหนดทางเลือกชีวิตของตนเอง การเผยแผ่อิสลามจึงเป็นการเชิญชวนเรียกร้องมวลมนุษย์ให้รู้จักใช้สติปัญญา สานเสวนาที่อยู่ในหลักการใช้เหตุผลท่ามกลางบรรยากาศที่เสรี ผู้ใดที่เลือกทางนำ เขาจะได้รับประโยชน์อันมหาศาลและความสุขอันนิรันดร์ แต่ผู้ใดที่ปฏิเสธ ผลร้ายจะตกแก่เขาและเขาไม่มีสิทธิประณามผู้ใดเว้นแต่ตัวเขาเอง

           การเผยแผ่อิสลามถือเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่มีความละเอียดอ่อน ประกอบด้วยสารัตถะและรายละเอียดมากมายที่มุสลิมทุกคนจะต้องศึกษาเรียนรู้ให้ถึงแก่น พึงทราบว่าการเผยแผ่อิสลามโดยใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องนั้น แทนที่จะเกิดผลดีแก่อิสลาม กลับกลายเป็นการสร้างรอยด่างและฝากมลทินให้กับอิสลามโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์


3. ญิฮาดด้านการศึกษา

          มุสลิมทุกคนต้องตักตวงความรู้วิทยปัญญา ทั้งที่เป็นความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงตนให้เป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮ์ รวมถึงการเรียนรู้หลักศาสนบัญญัติในชีวิตประจำวัน หรือความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการสังคมที่รวมถึงศาสตร์และวิทยาการร่วมสมัย ที่มีความจำเป็นในการดำเนินชีวิต ความรู้และวิทยปัญญาเป็นสิ่งมีค่า  ดังนั้นผู้ใดที่ค้นพบวิทยปัญญา ผู้นั้นจึงสมควรที่จะครอบครองมัน การศึกษาหาความรู้จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ และเป็นกุศลที่เป็นที่รักยิ่งของพระองค์

          อิสลามเป็นศาสนาที่อยู่บนพื้นฐานแห่งความรู้  จึงส่งเสริม สนับสนุน และบังคับให้มุสลิมใฝ่หาความรู้ตั้งแต่อยู่บนเปลจนกระทั่งถึงหลุมฝังศพ โองการแรกของอัลกุรอานที่ประทานมายังนะบีมุฮัมมัด ได้เรียกร้องเชิญชวนให้มนุษย์เป็นผู้ใฝ่รู้ด้วยคำบัญชาว่า “จงอ่าน” นับแต่นั้นมามุสลิมจึงเป็นธงนำแห่งแสงสว่างของความรู้ที่ขจรขจายไปทั่ว และเป็นต้นแบบของการพัฒนาด้านการศึกษาที่ให้ความรู้แก่มนุษยชาติในทุกยุคทุกสมัย

          ความรู้ที่เป็นสัจธรรมคือความรู้ที่ปรากฏในอัลกุรอานและซุนนะฮ์ ดังนั้นมุสลิมต้องศึกษาเรียนรู้อัลกุรอานและซุนนะฮ์จากบรรดาอุละมาอ์(ผู้รู้)ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักทางวิชาการ อิสลามยกย่องบรรดาอุละมาอ์(ผู้รู้)ว่าเป็นทายาทของบรรดาศาสนทูต มีภารกิจถ่ายทอดความรู้ให้แก่มนุษยชาติ เพราะสมบัติที่บรรดาศาสนทูตได้ฝากไว้ให้แก่มนุษยชาติคือ มหาสมุทรแห่งความรู้และอุทยานแห่งวิทยาการ ผู้ใดที่สามารถรวบรวมและครอบครองความรู้ ย่อมแสดงว่าผู้นั้นได้รวบรวมความดีงามอันมากมาย ความรู้ในอิสลามจึงไม่ใช่เป็นทฤษฎีที่เป็นข้อสมมุติฐาน แต่เป็นคำวิวรณ์ของอัลลอฮ์ ที่ประทานให้นะบีมุฮัมมัด   ความรู้ในอิสลามจึงสอดคล้องกับสติปัญญา และต้องใช้ทั้งสองอย่างควบคู่กันไป

           มุสลิมมีหน้าที่ศึกษาเรียนรู้ และยังมีหน้าที่เผยแพร่ความรู้สู่สังคมด้วย การเผยแพร่ความรู้ถือเป็นสิ่งบังคับสำหรับผู้รู้ทุกคน ดังนั้นในสังคมมุสลิมจึงอุดมไปด้วยบรรยากาศการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ หรือการศึกษาตลอดชีวิตที่เป็นผลพวงจากกุศลเจตนาของบรรดาอุละมาอ์(ผู้รู้)ไม่ว่าในรูปแบบของการจัดการเรียนรู้ที่สุเหร่า มัสยิด ตาดีกา ปอเนาะ โรงเรียน จนถึงการเรียนในระดับอุดมศึกษาตามวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยก็ตาม

           ญิฮาดด้านการศึกษาจึงเป็นญิฮาดที่ทุกฝ่ายในสังคมเต็มใจอาสาเข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการพัฒนาการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของสังคมโดยแท้จริง


4. ญิฮาดด้านการเมือง

           การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและการแบ่งปันผลประโยชน์ ความขัดแย้งในสังคมมนุษย์ทั้งอดีตและปัจจุบันมักมีต้นเหตุจากการแย่งชิงอำนาจและการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว ซึ่งบางครั้งมักบานปลายสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงถึงขั้นต้องตัดสินด้วยกำลังและเป็นที่มาของคำว่าสงคราม

           อิสลามถือว่าอำนาจสูงสุดเป็นอภิสิทธิ์ของอัลลอฮ์ ผู้นำจึงเป็นเพียงผู้แทนของอัลลอฮ์ ที่จะต้องประยุกต์ใช้คำสอนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม และถูกต้องตามเจตนารมณ์ ผู้นำในอิสลามจึงมิใช่ผู้กอบโกยผลประโยชน์สำหรับตนเอง ครอบครัว พรรคพวกหรือผู้ใกล้ชิด เขาจะต้องถูกสอบสวนในวันอาคิเราะฮ์ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำที่ดีหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด

           อิสลามมีวิถีชีวิตที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนการดำเนินชีวิต  จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยอำนาจทางการเมืองในการค้ำชูและพิทักษ์รักษาระบบให้คงอยู่ หาไม่แล้วบทบัญญัติทางศาสนาไม่ว่าการสั่งใช้หรือการสั่งห้ามจะไร้ความหมายและไม่มีคุณค่าในภาคปฏิบัติ เพราะในบางครั้งการใช้อำนาจสามารถยับยั้งความชั่วร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ การบังคับใช้กฏหมายและบทบัญญัติจึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของประชาคมโลกตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน

           มุสลิมทุกคนต้องทุ่มเทความพยายามอย่างสุดความสามารถ (ญิฮาด) เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจด้านการเมือง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้บทบัญญัติทางศาสนาสามารถดำเนินการได้โดยปราศจากการสกัดกั้นหรือต่อต้าน ทั้งนี้เนื่องจากฝ่ายอธรรมและความชั่วมักมีระบบและอำนาจคอยพิทักษ์ปกป้องอยู่เสมอ ดังนั้นธรรมและสัจธรรมจึงต้องมีระบบและอำนาจคอยพิทักษ์รักษาเช่นเดียวกัน

            การเมืองในอิสลามจึงไม่ใช่เวทีการแย่งชิงอำนาจที่เต็มไปด้วยการฉ้อโกงและหลอกลวง ไม่ใช่โรงละครที่ผู้แสดงจำเป็นต้องเสแสร้งแสดงตามบทบาทที่ถูกกำหนดไว้ ไม่ใช่สนามประลองฝีมือของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าที่สามารถกระทำต่อผู้อ่อนแอได้ตามอำเภอใจ แต่เป็นภารกิจหลักที่มุสลิมต้องเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยหัวใจที่นอบน้อมยำเกรง กายที่สำรวม ความรู้สึกที่เปี่ยมด้วยจิตสำนึกและความรับผิดชอบ ตลอดจนความตั้งใจที่ไม่มีวาระใดๆซ่อนเร้น เว้นแต่ความโปรดปรานของอัลลอฮ์ ผู้ทรงไว้ซึ่งความกรุณา


5.  ญิฮาดด้านการสงคราม

           การญิฮาดด้วยสงครามถือเป็นการญิฮาดขั้นสุดท้าย ทั้งนี้เนื่องจากอิสลามไม่สนับสนุนการทำสงครามไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ เว้นแต่ด้วยความจำเป็นสูงสุดและประตูของการญิฮาดทั้ง 4 ประการข้างต้นได้ถูกปิดสนิทแล้ว อิสลามได้กำหนดบทบัญญัติว่าด้วยสงครามที่อยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ เงื่อนไขและจรรยาบรรณอันสูงส่ง และไม่มีผู้ใดสามารถประกาศสงครามได้ เว้นแต่ผู้นำสูงสุดของมุสลิมที่ได้รับการยอมรับ ทั้งนี้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

1. ตอบโต้ความอยุติธรรมและการรุกราน ปกป้องและพิทักษ์ชีวิต ครอบครัว ทรัพย์สิน ศาสนาและมาตุถูมิ

2. ประกันเสรีภาพด้านการศรัทธาและการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติที่บรรดาผู้ข่มขี่พยายามกีดขวางมิให้มีการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติได้อย่างอิสรเสรี

3. พิทักษ์การเผยแผ่อิสลามที่มีความเมตตา ความสงบสันติแก่มนุษยชาติให้แพร่กระจายอย่างทั่วถึง

4. ให้บทเรียนแก่ผู้ละเมิดสัญญาหรือผู้รุกรานบรรดาผู้ศรัทธา

5. ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้กดขี่ ปลดปล่อยและปกป้องบรรดาผู้อ่อนแอจากการรุกราน

6. สร้างสันติภาพในกลุ่มมุสลิมที่ขัดแย้งระหว่างกัน

          การญิฮาดด้วยสงครามถูกกำหนดไว้เป็นเครื่องมือเท่านั้น หาได้เป็นเป้าหมายอันแท้จริงแต่อย่างใด  ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงต่อต้านสงคราม และพยายามที่จะมิให้สงครามปะทุขึ้นเท่าที่สามารถกระทำได้ ยามใดที่ต้องประกาศสงคราม อิสลามพยายามดับไฟสงครามมิให้ลุกลามหรือก่อผลกระทบและสร้างความสูญเสีย

         นะบีมุฮัมมัด ถูกส่งมายังนครมักกะฮ์ในขณะที่ไฟแห่งสงครามระหว่างเผ่าต่างๆ ยังคุกกรุ่นอยู่ และเมื่อท่านอพยพไปนครมะดีนะฮ์ ชนดั้งเดิมก็ยังประหัตประหารในสมรภูมิอย่างไม่จบสิ้น ถึงแม้จะต้องใช้กองกำลังทั้งโลกและทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อหยุดยั้งมิให้ทำสงครามระหว่างกัน แน่นอนที่สุดว่าไม่มีวันจะประสบผลสำเร็จได้ แต่ด้วยรัศมีแห่งความศรัทธาและภายใต้ร่มเงาแห่งอิสลามทำให้หัวใจของพวกเขาอ่อนโยน และมอบความรักให้แก่กันยิ่งกว่าพี่น้องร่วมมารดา

         พวกเขาได้ทำลายปราสาทแห่งความเคียดแค้นและภูผาแห่งการจองล้างจองผลาญด้วยระยะเวลาเพียงแค่ 23 ปีเศษ พวกเขาได้จารึกในประวัติศาสตร์ของการสร้างสังคมมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความรักและเอื้ออาทร หลังจากที่ต้องทนทุกข์ทรมานและหวาดผวากับไฟสงครามเป็นเวลาร้อยๆ ปี

           มุสลิมไม่ใฝ่ในสงครามและไม่เริ่มต้นที่จะก่อชนวน มุสลิมถวิลหาสันติภาพและความสงบ   แต่เมื่อใดที่สงครามเป็นสิ่งจำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้  มุสลิมทุกคนจำต้องเข้าร่วมสงครามในหนทางของอัลลอฮ์ อย่างเต็มศักยภาพ   มุ่งมั่นและฟันฝ่าอุปสรรคด้วยความอดทนและกล้าหาญซึ่งถือเป็นญิฮาดที่ยิ่งใหญ่และสูงส่ง ต้องเชื่อมั่นในสองสถานะ  ซึ่งล้วนเป็นความดีสำหรับเขา  คือ 1) ได้รับชัยชนะ หรือ  2) เสียชีวิตในหนทางของอัลลอฮ์ 

          เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่จะต้องเรียนรู้และประยุกต์ใช้การญิฮาดทั้ง 5 ด้าน ด้วยความรู้ที่ครอบคลุมและบูรณาการ ภายใต้การชี้นำของผู้นำทรงคุณธรรม ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่น ไม่ย่อท้อและหมดหวัง มีความอดทนกับความยากลำบากและสิ่งท้าทายต่างๆ ห่างไกลจากแนวคิดสุดโต่งและพฤติกรรมแข็งกร้าว ยึดมั่นบนเส้นทางสายกลางตามเจตนารมณ์ของอัลกุรอานและซุนนะฮ์ มีหัวใจอันบริสุทธ์ที่ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เว้นแต่ความโปรดปรานของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเอกะ

     ท่านอิบนุลก็อยยิมได้แบ่งขั้นตอนการญิฮาดเป็น 4  ประเภทได้แก่ 1) ญิฮาดต่ออารมณ์ใฝ่ต่ำ       2)ญิฮาดต่อชัยฏอน(มารร้าย) 3) ญิฮาดต่อบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา และ 4) ญิฮาดต่อบรรดาผู้กลับกลอก

ซึ่งท่าน  อิบนุหะญัรได้เพิ่มเติมอีก 2 ประเภทได้แก่ 5) ญิฮาดต่อบรรดาผู้อธรรม และ 6) ญิฮาดต่อบรรดาผู้หมกมุ่นในอบายมุข

          ทั้งหลายทั้งปวงนั้น การประยุกต์ใช้ญิฮาดในแต่ละประเภท จำเป็นต้องได้รับการอรรถาธิบายจากนักวิชาการที่ได้รับความเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในด้านความรู้และจริยธรรม โดยอาศัยการชี้นำจากอัลกุรอานและซุนนะฮ์ที่ถูกต้อง ซึ่งหากมีการประยุกต์ใช้ญิฮาดที่ผิดวัตถุประสงค์ แทนที่จะกลายเป็นภูมิคุ้มกัน จะกลับกลายเป็นการทำลายอิสลามและเป็นตัวถ่วงในการเผยแผ่อิสลาม   


เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ