เจตนารมณ์พื้นฐาน 5 ประการในอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  18122

เจตนารมณ์พื้นฐาน 5 ประการในอิสลาม

ความนำ

          ในบทนี้จะกล่าวถึงเจตนารมณ์พื้นฐาน 5 ประการในอิสลาม โดยชี้ให้เห็นว่าอิสลามได้กำหนดมาตรการและคำสอนต่างๆ เพื่อเป็นหลักประกันการสร้างความมั่นคงในชีวิตมนุษย์ ทั้งในลักษณะของการก่อให้เกิด และการธำรงรักษา มิให้สูญหายหรือนำไปใช้ในทิศทางที่ผิด ซึ่งล้วนสอนให้เรารู้ว่าอิสลามคือศาสนาที่ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพที่แท้จริง

          นักการศาสนาและนักวิชาการเห็นพ้องต้องกันว่า จุดมุ่งหมายสำคัญของการกำหนดบทบัญญัติในอิสลาม คือการปกป้องมนุษย์ในห้าประการสำคัญ คือ ศาสนา ชีวิต สติปัญญา วงศ์ตระกูล และทรัพย์สิน  อิสลามได้กำหนดบทบัญญัติการปกป้อง 5 ประการไว้อย่างสมบูรณ์และครอบคลุมในมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการก่อให้กำเนิด หรือมาตรการที่เกี่ยวกับการผดุงรักษาเจตนารมณ์อิสลามทั้ง 5 ประการ ให้สามารถคงอยู่กับชีวิตมนุษย์สืบไป

เจตนารมณ์พื้นฐาน 5 ประการ สรุปได้ดังนี้

5.1 การปกป้องศาสนา

           อิสลามได้ให้คุณค่าต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ด้วยการสนองความต้องการให้มนุษย์สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการภักดีต่ออัลลอฮ์ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของจิตใจด้วยการทำความดี ตลอดจนสร้างหลักประกันให้มนุษย์ประสบความสันติสุขที่แท้จริง

          วัตถุประสงค์หนึ่งของบทบัญญัติอิสลามเพื่อปกป้องศาสนา ไม่ว่าในลักษณะของการให้เกิดหรือการธำรงรักษาให้คงอยู่ เพื่อทำหน้าที่ชี้นำมนุษย์สู่แนวทางอันเที่ยงตรง โดยกำหนดมาตรการต่างๆ ดังนี้


 ก. มาตรการปกป้องศาสนาในลักษณะของการให้เกิด มีดังต่อไปนี้

1. เสริมความเข้มแข็งของหลักการศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ศาสนทูตของพระองค์ บรรดาคัมภีร์ เทวทูต (มลาอิกะฮ์) วันปรโลก(อะคีเราะฮ์)และการกำหนดสภาวการณ์(เกาะดัร) ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสมีใจความว่า

“โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงศรัทธาต่ออัลลอฮ์และเราะซูลของพระองค์เถิด และคัมภีร์ที่พระองค์ได้ประทานลงมาแก่เราะซูลของพระองค์ และคัมภีร์ที่พระองค์ได้ประทานลงมาก่อนนั้น และผู้ใดปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮ์ มลาอิกะฮ์ บรรดาคัมภีร์ บรรดาเราะซูล และวันปรโลกแล้วไซร้ แน่นอนเขาได้หลงทางไปแล้วอย่างไกล” (อัลกุรอาน 4 :136)

2. ความศรัทธาเหล่านี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของสติปัญญาและการใช้เหตุผลทางวิชาการ เนื่องจากการเชิญชวนสู่อิสลามต้องอาศัยหลักการใคร่ครวญและการไตร่ตรอง ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสมีใจความว่า

“และพวกเขามิได้ใคร่ครวญในอำนาจทั้งหลายแห่งบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน และสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงบังเกิดขึ้นดอกหรือ” (อัลกุรอาน 7:185)

3. การทำการภักดีสักการะ (อิบาดะฮ์) ต่อพระผู้เป็นเจ้า เช่น การละหมาด การจ่ายซะกาต การถือศีลอด และการประกอบพิธีหัจญ์ ซึ่งอิบาดะฮ์เหล่านี้มีเคล็ดลับและจุดมุ่งหมายที่สูงส่ง ที่สำคัญที่สุดคือเปิดโอกาสให้มนุษย์สร้างความสัมพันธ์กับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเป็นปัจจัยในการเสริมสร้างความศรัทธาที่เข้มแข็ง ดังที่ท่านนะบีมุฮัมมัด ได้กล่าวในหะดีษกุดซีย์ความว่า

“ไม่มีการกระทำใดๆ ที่บ่าวของฉันได้กระทำไว้ ที่สร้างความพึงพอใจแก่ฉันมากกว่าการที่เขาได้ปฏิบัติในสิ่งที่ฉันบังคับให้กระทำ”

4. อิสลามกำหนดให้มุสลิมทำการเชิญชวนสู่หนทางของอัลลอฮ์ ตลอดจน ปกป้องดูแลผู้ที่ทำหน้าที่ดังกล่าว ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสมีใจความว่า

“และจงให้มีขึ้นจากพวกเจ้า ซึ่งกลุ่มหนึ่งที่เชิญชวนสู่ความดี สั่งใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบและห้ามปรามมิให้กระทำสิ่งมิชอบ และชนเหล่านี้แหละคือผู้ได้รับความสำเร็จ” (อัลกุรอาน 3:104)


ข. มาตรการปกป้องศาสนาให้ดำรงอยู่

         หมายถึง อิสลามได้กำหนดมาตรการและแนวทางสำหรับการปกป้องศาสนาจากการทำลาย และการกำจัดอุปสรรคขวากหนาม เพื่อการดำรงอยู่ของศาสนา

ส่วนหนึ่งของแนวทางปกป้องมีดังต่อไปนี้

     1. อิสลามรับรองให้มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา เพราะอิสลามมิได้บังคับให้ผู้ใดนับถือศาสนา และยอมรับการอยู่ร่วมกันระหว่างต่างศาสนิก และอนุญาตให้มีการปฏิบัติตามศาสนบัญญัติของแต่ละศาสนาอย่างอิสระ ตามที่ได้ปรากฏในประวัติศาสตร์การปกครองในอิสลาม

     2. อิสลามบัญญัติให้มีการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ (ญิฮาด) เพื่อความมั่นคงของศาสนาอิสลาม ปกป้องการรุกราน และพิทักษ์รักษาเสรีภาพในความเชื่อ ดังที่อัลลอฮ์ตรัสมีใจความว่า

 “และพวกเจ้าจงต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ต่อบรรดาผู้ที่ทำสงครามพวกเจ้า และจงอย่ากระทำที่เกินเลย แท้จริงอัลลอฮ์ไม่ทรงชอบการกระทำที่เกินเลย”(อัลกุรอาน 2: 190)

     3. อิสลามกำชับให้มุสลิมยึดหลักคำสอนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนปฏิบัติตามหลักคำสอนอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อทำให้จิตใจสะอาด และจะส่งผลต่อการมีพฤติกรรมที่ดีในชีวิตประจำวัน ดังที่อัลกุรอานได้รวมบรรดาผู้ศรัทธากับบรรดาผู้กระทำความดีอยู่เสมอเพื่อเป็นบทเรียนว่า การศรัทธากับการกระทำความดีเป็นสิ่งที่ควบคู่กันไม่สามารถแยกออกจากกันได้

     4. อิสลามกำหนดบทลงโทษฐานพ้นจากศาสนา (ริดดะฮ์) เพื่อให้เกิดความจริงจังในการนับถือ เพราะต้องมีการนับถืออย่างสมบูรณ์แบบ อิสลามมิได้บังคับให้ผู้ใดนับถืออิสลาม แต่เมื่อนับถือแล้วเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฏกติกาอย่างเคร่งครัด หากผู้ใดพ้นจากศาสนาหลังจากนั้น หมายความว่าเขาได้สร้างความปั่นป่วนทางความคิด และสร้างความวุ่นวายแก่สังคม ดังนั้น บทลงโทษความผิดฐานพ้นจากศาสนามีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความจริงจังในการนับถือศาสนา อันเป็นการให้เกียรติแก่ศาสนา

5. อิสลามได้สร้างกำแพงเพื่อเป็นเกราะกำบัง และเสริมความเข้มเเข็งของสังคม ด้วยการทำอิบาดะฮ์ เช่นการละหมาดรวมกัน (ญะมาอะฮ์) การถือศีลอด การจ่ายซะกาต เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างจิตใจที่มั่นคงของคนในสังคม


5.2 การปกป้องชีวิต

           สิ่งจำเป็นอีกประการหนึ่งสำหรับมนุษย์คือการมีชีวิต อิสลามได้วางแนวทางในการป้องกันคุณค่าแห่งชีวิตไว้ดังนี้

ก. มาตรการปกป้องชีวิตด้านการให้กำเนิด

           อิสลามอนุมัติการสมรสหรือการใช้ชีวิตคู่ เนื่องจากการสมรสเป็นการสืบเผ่าพันธุ์ของมนุษย์อันเป็นผู้แทนของอัลลอฮ์ บนหน้าแผ่นดิน และการสมรสเป็นการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์อันจะนำมาซึ่งความรักและความสันติ อิสลามถือว่าการมีชีวิตคู่คือส่วนหนึ่งของสัญญาณแห่งความยิ่งใหญ่ ดังที่พระองค์ตรัสมีใจความว่า

 “และหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์คือทรงสร้างคู่ครองให้แก่พวกเจ้าจากตัวของพวกเจ้าเอง เพื่อพวกเจ้าจะได้มีความสุขอยู่กับนาง และทรงให้มีความรักใคร่และความเมตตาระหว่างพวกเจ้า”    (อัลกุรอาน 30:21)

ข. มาตรการปกป้องชีวิตให้สามารถคงอยู่

1. สิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ คือการมีชีวิตอย่างต่อเนื่องและการอยู่รอดบนโลกนี้ ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยยังชีพไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยารักษาโรค เครื่องแต่งกายและที่อยู่อาศัย อิสลามถือว่าผู้ใดที่ละเลยในการแสวงหาปัจจัย 4 เพื่อประกันการอยู่รอดของชีวิตแล้ว เขาได้กระทำความผิดอย่างใหญ่หลวง

2. รัฐอิสลามจำต้องสร้างหลักประกัน ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยแก่ประชาชน และกิจการภายในประเทศ ตลอดจนผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรม และการให้สิทธิและเสรีภาพต่างๆแก่ผู้ใต้ปกครองเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชน

3. อิสลามได้กำหนดมาตรการปกป้องรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ การเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การประกอบอาชีพ การเลือกถิ่นที่อยู่อาศัย และสิทธิอื่นๆที่มนุษย์พึงได้ แม้กระทั่งหลังจากมนุษย์ได้สิ้นชีวิตแล้ว ฉะนั้นการทำลายและสร้างความเสียหายต่อเกียรติและชื่อเสียงของมนุษย์ เช่นการใส่ร้ายป้ายสีว่าผิดประเวณี การด่าทอ การดูถูกเหยียดหยาม การทรมานร่างกายและจิตใจ หรือแม้กระทั่งการทำร้ายศพ ล้วนแล้วเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลามที่มีบทบัญญัติอย่างชัดเจน

4. อิสลามได้ผ่อนปรนในการปฏิบัติศาสนกิจเนื่องจากความจำเป็น หรือความยากลำบากและเกินความสามารถของบุคคลที่จะกระทำได้ เช่น การผ่อนปรนละศีลอดในตอนกลางวันของเดือนรอมฎอน เนื่องจากการเจ็บป่วย เดินทาง หรือสตรีมีครรภ์ และการผ่อนปรนในศาสนบัญญัติอื่นๆ เพื่อมิให้มุสลิมเกิดความยุ่งยากในการประกอบพิธีทางศาสนา และไม่ก่ออันตรายต่อชีวิตเนื่องจากการปฏิบัติศาสนกิจ

5. อิสลามได้ห้ามการฆาตกรรม ทั้งการฆ่าตัวเองหรือผู้อื่น เพราะเป็นอาชญากรรมที่สร้างความเสียหายต่อมวลมนุษยชาติทั้งมวล อิสลามถือว่าการฆ่าชีวิตหนึ่งที่บริสุทธิ์ เปรียบเสมือนการฆ่าชีวิตมนุษย์ทั้งโลก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งการฆ่าชีวิตหนึ่งที่บริสุทธิ์ ไม่ต่างไปจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นั่นเอง ทั้งนี้อิสลามถือว่าไม่มีผู้ใดมีสิทธิ์ทำลายชีวิตของใครคนหนึ่งเว้นแต่ผู้ที่ประทานชีวิตเขาเท่านั้น

6. อิสลามได้กำหนดบทลงโทษประหารชีวิต (กิศอศ) สำหรับผู้กระทำผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา และกำหนดให้มีการจ่ายค่าชีวิต(ดิยัต) และค่าสินไหมทดแทน (กัฟฟาเราะฮ์) สำหรับผู้กระทำผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาหรือโดยพลาดพลั้ง

7. อิสลามกำหนดให้ประกาศสงคราม เพื่อปกป้องชีวิตผู้บริสุทธิ์และผู้อ่อนแอ จากการล่วงละเมิดและรุกรานของฝ่ายศัตรู

8. อิสลามสอนให้มุสลิมต้องให้ความช่วยเหลือและปกป้องเพื่อนมนุษย์ที่ถูกอธรรม อย่างสุดความสามารถ

9. อิสลามสอนให้มุสลิมรู้จักปกป้องตนเองให้พ้นจากการถูกอธรรมโดยฝ่ายศัตรู


5.3 การปกป้องสติปัญญา

          อิสลามให้ความสำคัญต่อการรักษาสติปัญญา เพราะปัญญาเป็นสิ่งประเสริฐที่สร้างความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสิ่งถูกสร้างอื่น และปัญญาทำให้มนุษย์มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมาย ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงได้วางแนวทางในการรักษาสติปัญญาให้สมบูรณ์ ดังต่อไปนี้

     1. อิสลามห้ามสิ่งต่างๆที่ส่งผลต่อการทำลายความสมบูรณ์ของสติปัญญามนุษย์ไม่ว่าจะเป็นการห้ามสิ่งมึนเมา สิ่งเสพติด หรือสิ่งที่ทำให้สมองเกิดความบกพร่อง และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์ได้

     2. อิสลามกำหนดบทลงโทษที่เด็ดขาดสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งมึนเมาหรือสิ่งเสพติดอย่างครบวงจรตั้งแต่ ผู้ผลิตจำหน่าย ผู้สนับสนุน ผู้ซื้อผู้ขาย เจ้าของกิจการ พนักงาน ล้วนได้รับผลตอบแทนอย่างเท่าเทียมกัน

     3. อิสลามอบรมสั่งสอนและสร้างจิตสำนึกให้มนุษย์มีสติปัญญาที่สมบูรณ์ เข้าใจสัจธรรม คิดและปฏิบัติในสิ่งที่ดีและถูกต้อง

     4. อิสลามเรียกร้องให้มนุษย์สร้างความสมบูรณ์แก่สติปัญญา ทั้งทางด้านกายภาพและชีวภาพ   ในด้านกายภาพได้สั่งให้มนุษย์รับประทานอาหารที่มีคุณค่าเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ส่งผลต่อการพัฒนาสติปัญญา อิสลามถือว่าไม่สมควรสำหรับผู้พิพากษาที่จะทำการตัดสินคดีในขณะที่ตนหิวโหย ด้วยเหตุนี้จึงส่งเสริมให้ผู้พิพากษารับประทานอาหารก่อนจะทำการพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อขจัดอุปสรรคและปัญหาในการพิจารณาตัดสินคดี

          ส่วนการสร้างความสมบูรณ์แก่สติปัญญาด้านชีวภาพนั้นคือการให้ความรู้และความศรัทธา ดังนั้น เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิมทั้งชายและหญิงที่จะต้องแสวงหาความรู้จนวาระสุดท้ายของชีวิต

     5. อิสลามได้ยกฐานะของสติปัญญาด้วยการให้เกียรติต่อผู้มีปัญญาที่ดีเลิศ ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสมีใจความว่า

“จงกล่าวเถิด(มูฮัมมัด) บรรดาผู้รู้และบรรดาผู้ไม่รู้จะเท่าเทียมกันหรือ แท้จริงบรรดาผู้มีสติปัญญาเท่านั้นที่จะใคร่ครวญ” (อัลกุรอาน 39:9)

     6. อิสลามสอนให้มนุษย์ปลดปล่อยสติปัญญาจากการถูกครอบงำทางความคิดที่ผิดเพี้ยน งมงายและไม่ถูกต้อง ดังนั้นอิสลามจึงห้ามมนุษย์ไม่ให้เกี่ยวข้องกับไสยศาสตร์ การทำนายพยากรณ์ หรือสิ่งงมงายอื่นๆ และถือว่าผู้ที่มีความเชื่อในสิ่งงมงาย เป็นผู้กระทำบาปอันใหญ่หลวง

    7. อิสลามได้ฝึกฝนสติปัญญาเพื่อให้เกิดผลและรับรู้ถึงสัจธรรมผ่านกระบวนการสองประการ

 7.1 การเอาหลักการที่ถูกต้อง มาคิดไตร่ตรองและ ใคร่ครวญเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในสัจธรรม

 7.2 การเชิญชวนให้พิจารณาไตร่ตรองถึงการสร้างสรรพสิ่งต่างๆ ของอัลลอฮ์เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์

     8. อิสลามได้สั่งให้พิจารณาไตร่ตรองในความบริสุทธิ์แห่งบทบัญญัติและวิทยปัญญา

 ดังที่อัลลอฮ์ ตรัสมีใจความว่า

“พวกเขาไม่พิจารณาดูอัลกุรอานบ้างหรือ และหากอัลกุรอานมาจากผู้อื่นที่ไม่ใช่อัลลอฮ์แล้ว แน่นอนพวกเขาจะพบว่าในนั้นมีความขัดแย้งกันมากมาย”(อัลกุรอาน 4:82)

     9. อิสลามสั่งให้มนุษย์ใช้สติปัญญาในการไตร่ตรองถึงลักษณะกายภาพของจักวาลและใช้เป็นประโยชน์ในการสร้างอารยธรรมอันสูงส่ง

     10. อิสลามได้เปิดโอกาสให้มนุษย์ใช้สติปัญญาในการวินิจฉัยปัญหาทางศาสนาที่มิได้มีตัวบทบัญญัติไว้เป็นที่ชัดแจ้งในกรณีต่อไปนี้

10.1 การวินิจฉัยค้นหาเกี่ยวกับความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินั้นๆ

10.2 การวินิจฉัยปัญญาร่วมสมัยทางศาสนา เพื่อให้ครอบคลุมและสามารถบังคับใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัยโดยผ่านวิธีการเทียบเคียงตัวบท การคำนึงผลประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ

 
5.4 การปกป้องวงศ์ตระกูล

           การปกป้องวงศ์ตะกูลโดยผ่านการสมรส เพื่อรักษาเชื้อสายของการสืบสกุลของมนุษยชาติ จนถึงวาระสุดท้ายของโลกใบนี้ ดังแนวทางต่อไปนี้

 1. มีการกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการสมรส อิสลามได้กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการสมรสและส่งเสริมให้ใช้ชีวิตคู่ที่ถูกต้องตามหลักการแห่งศาสนา ทั้งนี้เพื่อปกป้องความคงอยู่ของมนุษย์ในการสร้างอารยธรรมของโลกอย่างต่อเนื่อง

 2. กำชับให้บิดามารดาให้การอบรมบุตร ตลอดจนให้ปัจจัยยังชีพและความรักความเอ็นดูที่อบอุ่น

 3. ดูแลและปกป้องครอบครัวให้พ้นจากภยันตราย เพื่อสร้างสมาชิกใหม่ที่มีจริยธรรมดีงาม  อิสลามได้กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาบนพื้นฐานของความสมัครใจและยินยอม ของทั้งสองฝ่าย ให้มีการปรึกษาหารือในกิจการทุกอย่างของครอบครัวจนเกิดความรัก ความเข้าใจระหว่างคู่สามีภรรยา

 4. ควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างบุรุษและสตรีให้อยู่ในขอบเขต กำหนดให้มีการลดสายตาลงต่ำต่อเพศตรงข้ามที่สมรสได้ ทั้งนี้เพื่อมิให้เกิดอารมณ์ใคร่ตามมา กำหนดให้สตรีแต่งกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ปกปิดมิดชิดเพื่อให้พ้นจากสิ่งชั่วร้าย ห้ามมิให้ชายหญิงที่สามารถสมรสได้อยู่ปะปนกัน ยกเว้นมีบุคคลที่หญิงไม่สามารถสมรส (มะห์ร็อม) อยู่ด้วย อิสลามยังได้ห้ามมิให้เข้าบ้านของผู้อื่นจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าของหลังจากที่ให้สลามแล้ว เป็นต้น

 5. ห้ามคุกคามร่างกายของผู้อื่น ดังที่อัลลอฮ์ ได้ทรงห้ามการผิดประเวณี เหมือนกับที่พระองค์ทรงห้ามการกล่าวหาหญิงบริสุทธิ์ว่ากระทำผิดประเวณี(ก็อซฟ์) ดังที่อัลกุรอานบัญญัติบทลงโทษของความผิดทั้งสอง ดังมีใจความว่า

 “หญิงผิดประเวณีและชายผิดประเวณี พวกเจ้าจงโบยแต่ละคนในสองคนนั้นคนละหนึ่งร้อยที และอย่าให้ความสงสารยับยั้งการกระทำของพวกเจ้าต่อคนทั้งสองนั้น ในบัญญัติของอัลลอฮ์เป็นอันขาด” (อัลกุรอาน 24: 2) 
 
 “และบรรดาผู้กล่าวหาบรรดาหญิงบริสุทธิ์ว่ากระทำผิดประเวณี แล้วพวกเขามิได้นำพยานสี่คนมา พวกเจ้าจงโบยพวกเขาแปดสิบที และพวกเจ้าอย่ารับการเป็นพยานของพวกเขาเป็นอันขาด” (อัลกุรอาน24:4 ) 


5.5 การปกป้องทรัพย์สิน

           อิสลามถือว่าทรัพย์สินเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์ ดังนั้นการปกป้องทรัพย์สินจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังแนวทางต่อไปนี้

 1. ส่งเสริมให้หาปัจจัยยังชีพเพื่อชีวิตประจำวัน อิสลามถือว่าการประกอบอาชีพสุจริตเป็น อิบาดะฮ์ ต่อพระผู้เป็นเจ้าหากมีการตั้งใจที่บริสุทธิ์เพื่อพระองค์ ดังที่อัลกุรอานบัญญัติ มีใจความว่า  

 “พระองค์คือผู้ทรงทำแผ่นดินนี้ให้ราบเรียบสำหรับพวกเจ้า ดังนั้นจงสัญจรไปตามขอบเขตของมัน และจงบริโภคจากปัจจัยยังชีพของพระองค์” (อัลกุรอาน 67: 15) 

 2. อิสลามได้ให้ความสำคัญแก่การประกอบอาชีพ ดังที่ท่านนะบีมุฮัมมัดกล่าวไว้ความว่า

“ไม่มีผู้ใดที่รับประทานอาหารที่ประเสริฐมากกว่าการที่เป็นผลงานของเขาเอง แท้จริงนะบีดาวูดรับประทานอาหารที่เป็นผลจากการที่ท่านได้กระทำด้วยตนเอง”

           เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องหางานแก่ผู้ที่ยังไม่มีงานทำ และจ่ายค่าตอบแทนแก่พวกเขาอย่างเป็นธรรม ดังที่ท่านนะบีมุฮัมมัด กล่าวความว่า

“จงจ่ายค่าจ้างตามสิทธิที่ลูกจ้างพึงได้รับ ก่อนที่เหงื่อจากการทำงานของเขาจะแห้ง”

 3. อิสลามอนุมัติให้ก่อนิติสัมพันธ์ที่ยุติธรรมแก่คู่สัญญา  และไม่คุกคามสิทธิของผู้อื่น ดังกรณีการอนุมัติการซื้อขาย การเช่า การจำนองจำนำ การรวมหุ้นและนิติสัมพันธ์อื่น โดยมีเงื่อนไขว่าไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นและเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม

 สำหรับมาตรการในการรักษาทรัพย์สินให้ดำรงคงอยู่ มีดังต่อไปนี้

 1. อิสลามกำชับให้มุสลิมใช้ทรัพย์สินเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ห้ามมิให้กอบโกยทรัพย์สินที่ขัดกับหลักการศาสนา และสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เช่น การก่อนิติกรรมที่มีดอกเบี้ย อัลกุรอานบัญญัติมีใจความดังนี้

 “อัลลอฮ์ทรงอนุญาตการซื้อขาย แต่ทรงห้ามดอกเบี้ย”(อัลกุรอาน 2:275)

 “จงอย่ากินทรัพย์สินระหว่างพวกเจ้าโดยไม่ชอบธรรม”(อัลกุรอาน 2:188)

 2. ห้ามลิดรอนสิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยการกำหนดบทลงโทษสำหรับความผิดฐานลักทรัพย์ โกง หรือปล้นทรัพย์ ดังที่อัลกุรอานบัญญัติมีใจความว่า 

 “และขโมยชายและขโมยหญิงนั้นจงตัดมือของเขาทั้งสอง” (อัลกุรอาน 5: 38)

 3. ห้ามแจกจ่ายทรัพย์สินไปในหนทางที่ไม่อนุมัติ แต่ส่งเสริมให้ใช้จ่ายทรัพย์สินในหนของความดี หลักการของระบบเศรษฐกิจอิสลาม ถือว่าทรัพย์สินทุกอย่างเป็นของอัลลอฮ์ มนุษย์นั้นเป็นผู้แทนของพระองค์ในการใช้จ่ายทรัพย์สินในหนทางหรือกิจการที่เป็นความดี

 4. กำหนดบทบัญญัติในการรักษาทรัพย์สินของ ผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถ จนกว่าบุคคลเหล่านี้จะมีความสามารถ เช่นรักษาทรัพย์สินของผู้เยาว์จนกว่าพวกเขาจะบรรลุนิติภาวะ

 5. วางระบบการเงินบนพื้นฐานของความพึงพอใจและเป็นธรรม โดยกำหนดว่านิติกรรมสัญญาจะไม่มีผลตราบใดที่คู่สัญญายังไม่มีความพึงพอใจและนิติกรรมนั้นไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ดังที่อัลกุรอานบัญญัติมีใจความว่า

 “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่ากินทรัพย์ของพวกเจ้าในระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ นอกจากมันจะเป็นการค้าขายที่เกิดจากความพอใจในหมู่พวกเจ้า”(อัลกุรอาน 4:  29)

 6. เชิญชวนมนุษย์ให้มีการพัฒนาทรัพย์สินจนเกิดดอกผลงอกเงยขึ้นในสังคม ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงส่งเสริมให้มีการลงทุน เพื่อให้ทรัพย์สินเกิดการหมุนเวียน อิสลามสั่งห้ามมิให้มีการกักตุนสินค้าหรือสะสมเงินทองโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งนี้เพื่อให้ทรัพย์สมบัติสามารถสร้างความสงบสุขในสังคมอย่างแท้จริง


สรุป

           จากเนื้อหาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าจุดมุ่งหมายของบทบัญญัติอิสลามเพื่อปกป้องมนุษย์ในห้าด้าน คือ ศาสนา ชีวิต สติปัญญา วงศ์ตระกูลและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการดำรงชีวิตที่สมบูรณ์และมั่นคง  สังคมที่เข้มแข็งและมั่นคงจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้คนในสังคมสามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติอย่างเคร่งครัด และในกรณีที่จุดมุ่งหมายที่กล่าวมาบางส่วนหรือประการหนึ่งประการใดไม่ได้รับการสนองตอบ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความระส่ำระสายในสังคมอันจะเป็นตัวบั่นทอนความมั่นคงของมนุษย์ในที่สุด

เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ