ประเภทของสงคราม
  จำนวนคนเข้าชม  17901

 

ประเภทของสงคราม

โดย : إجلالى


สงครามที่อนุมัติ      



         จริงอยู่ที่ว่าการทำสงครามนั้นอาจขัดกับ ความกรุณา หรือความเมตตาสงสาร แต่ตามวะฮียฺ (พระบัญชา) จากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาแล้ว จะต้องคำนึงถึงเรื่องความยุติธรรม และความชอบธรรม  เป็นสำคัญ   การละเมิดความชอบธรรมหรือฝ่าฝืนความยุติธรรมจึงเป็นสิ่งต้องห้าม    ดังกล่าวแล้วผู้ทำสงครามจึงไม่มีสิทธิ์เข่นฆ่าได้ตามอำเภอใจ ดังนั้น หากพิจารณาจากหลักการอิสลามแล้วจะมีสงครามอยู่เพียงบางประเภทเท่านั้นเป็นที่อนุมัติ โดยในที่นี้สามารถจำแนกประเภทสงครามอันเป็นที่อนุมัติได้ออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

 
1. การทำสงครามเพื่อต่อต้านการรุกราน

คัมภีร์อัลกุรอ่านได้บัญญัติว่า :

“ดังนั้น ผู้ใดละเมิดต่อพวกเจ้าก็จงละเมิดต่อเขา  เยี่ยงที่เขาละเมิดต่อพวกเข้า 

และพึงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด และจงรู้ไว้ด้วยว่าแท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงอยู่กับบรรดาผู้ยำเกรงทั้งหลาย”

อัล-บะกอเราะฮฺ 2 :194   

          ตามตัวบทของอัลกุรอ่านนั้น บุคคลใดไม่มีส่วนสู้รบกับบรรดาผู้ศรัทธา ย่อมได้รับการปฏิบัติที่ดี  และให้ทำการสู้รบต่อต้านเฉพาะฝ่ายที่เป็นผู้รุกรานก่อน

  ในกรณีนี้มีตัวบทจากอัลกุรอ่านกล่าวไว้อีก ดังนี้

“อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนา

และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา

และให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้มีความยุติธรรม” 

อัล-มุมตะฮินะฮฺ  60 : 8

              คือ อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามบรรดามุสลิมในการที่จะทำความดีและให้ความยุติธรรมกับบรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเขาในเรื่องศาสนา และมิได้ขับไล่บรรดาสตรีและเด็ก ๆ ของพวกเจ้าออกจากบ้านเกิดเมืองนอน  และนี่คือหลักแห่งมิตรภาพที่อิสลามใช้ให้ปฏิบัติต่อชนต่างศาสนิกที่ไม่มีส่วนในการรุกราน

          นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกว่า  แม้จะอนุมัติให้ตอบโต้การรุกรานได้แต่ก็ไม่ให้ด่วนสู้รบถึงแม้ฝ่ายตรงข้ามจะลงมือก่อนก็ตามที หากยังไม่ถึงขั้นที่ว่าจะระงับการรุกรานนั้นไว้ไม่ได้ ในอัลกุรอ่านได้มีระบุไว้ชัดเจนว่า

“ และหากพวกเจ้าจะลงโทษ(ฝ่ายปรปักษ์) ก็จงลงโทษเยี่ยงที่พวกเจ้าได้รับโทษ

และหากพวกเจ้าอดทน แน่นอน มันเป็นการดียิ่งสำหรับบรรดาผู้อดทน”   

อันนะฮลฺ 16: 126 -127

           ข้อความที่ชัดเจนเหล่านี้ย่อมแสดงว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และสหาย ( ซอฮาบะฮฺ ) ของท่านกระทำสงครามโดยมีเจตนารมณ์เพื่อต่อต้านการรุกรานเท่านั้น อิสลามไม่เคยยกย่อง “การทำสงคราม เพื่ออำนาจ” ว่าเป็นอุดมการณ์ที่น่านิยมแต่อย่างใด


2. การทำสงครามเพื่อปกป้อง คุ้มครองและช่วยเหลือผู้ถูกอธรรม  

จากคัมภีร์อัลกุรอ่าน ความว่า

“มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นแก่พวกเจ้ากระนั้นหรือ ที่พวกเจ้าไม่สู้รบในหนทางของอัลลอฮ

ทั้งๆ ที่บรรดาผู้อ่อนแอ ไม่ว่าชายและหญิง และเด็กๆ ต่างกล่าวกันว่า

โอ้พระเจ้าของเรา โปรดนำพวกเราออกไปจากเมืองนี้ (มักกะฮฺ) ซึ่งชาวเมืองเป็นผู้ข่มเหงรังแก

และโปรดให้มีขึ้นแก่พวกเราซึ่งผู้คุ้มครองคนหนึ่ง ณ ที่พระองค์

และและโปรดให้มีขึ้นแก่พวกเราซึ่งผู้ช่วยเหลือคนหนึ่ง ณ ที่พระองค์”

อันนิซาอฺ 4 : 75
        

           ดังกล่าวนี้ เป็นคำสั่งใช้ไม่ให้นิ่งดูดาย หรือวางเฉยเมื่อพบผู้โดนกดขี่หรือถูกข่มเหงรังแก  ฉะนั้น การทำสงครามต่อสู้ในที่นี้จึงสามารถกระทำได้เพื่อปกป้องผู้อ่อนแอ และผู้ถูกข่มเหงรังแก นอกจากนี้ ในการปกป้องนั้นอิสลามยังใช้ให้มีการเตรียมพร้อมเพื่อป้องกัน ไม่ใช่เตรียมพร้อมเพื่อรุกราน หากแต่ใช้ให้ตระเตรียมกำลังรบและสรรพาวุธเท่าที่สามารถจะจัดหาได้ทั้งนี้เพื่อป้องกันการรุกรานที่อาจมีขึ้น ดังใจความตอนหนึ่ง ความว่า

“และพวกเจ้าจงเตรียมไว้สำหรับ (ป้องกัน) พวกเขา สิ่งที่พวกเจ้าสามารถ อันได้แก่กำลังอย่างหนึ่งอย่างใด

และการผูกม้าไว้ โดยที่พวกเจ้าจะทำให้ศัตรูของอัลลอฮ และศัตรูของพวกเจ้าหวั่นเกรงด้วยสิ่งนั้น และพวกอื่นๆอีกจากพวกเขา

ซึ่งพวกเจ้ายังไม่รู้จักพวกเขา อัลลอฮ์ทรงรู้จักพวกเขาดี และสิ่งที่พวกเจ้าบริจาคในหนทางของอัลลอฮนั้นไม่ว่าจะเป็นสิ่งใดก็ตาม

สิ่งนั้นจะถูกตอบแทนแก่พวกเจ้าโดยครบถ้วนโดยที่พวกเจ้าจะไม่ถูกอธรรม”  

อัล-อันฟาล 8 : 60 

ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

“ผู้ใดจัดเตรียมการสู้รบในหนทางของอัลลอฮ์ เขาก็เท่ากับได้ทำสงครามด้วย

ผู้ใดที่อยู่แนวหลัง เพื่อดูแลผู้อยู่ภายใต้การดูแลของเขา เขาก็เท่ากับได้ทำสงครามด้วย”  

บันทึกโดย อิหม่าม มุสลิม

 
3. การทำสงครามเพื่อปราบปรามรัฐที่ฝักใฝ่การขยายอำนาจ

          แม้ว่าแหล่งที่มาแห่งอำนาจจะมีมาจากแหล่งต่างๆ เช่น การมีความรู้ การมีความสามารถเฉพาะที่เหนือกว่า ฯลฯ อันเป็นอำนาจบริสุทธิ์ที่มิได้ตั้งอยู่บนการละเมิดสิทธิของผู้ใด  แต่ในสังคมมนุษย์ก็ยังมีอีกมากมายที่แสวงอำนาจด้วยการรุกราน รังแก  ทำลายผู้อื่น ดังนั้น สืบเนื่องจากอาณาจักรมุสลิมต้องเผชิญกับความมุ่งมาดที่จะปราบมุสลิมให้ราบคาบ การป้องกันตัวของมุสลิมจากฝ่ายศัตรูจึงเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง คือแทนที่จะเป็นฝ่ายคอยตั้งรับเฉยๆ ก็เป็นการตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการยกกำลังไปปราบปรามรัฐที่ฝักใฝ่การขยายอำนาจไม่หยุดหย่อน

 ดังในบทบัญญัติจากอัลกุรอานที่ว่า

“ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงยึดถือไว้ซึ่งความระมัดระวังของพวกเจ้า แล้วจงออกไปเป็นกลุ่ม ๆ  หรือออกไปโดยรวมเป็นกลุ่มเดียวกัน”

อันนิซาอฺ  4 : 71

          สำหรับผลการวินิจฉัยของนักนิติศาสตร์มุสลิมในการให้คำจำกัดความเกี่ยวกับรัฐใดเป็นแดนสันติหรือแดนศัตรูนั้น ได้ข้อสรุปว่า  หากการเป็นมุสลิมของผู้ใด ดำรงอยู่ได้ด้วยความปลอดภัยในรัฐใด ก็ถือว่ารัฐนั้นเป็นแดนสันติ  

 

                                   
สงครามที่ไม่อนุมัติ      

                                                             
          เป็นที่ชัดเจนว่าแม้อิสลามจะมีการอนุมัติให้ทำสงครามสู้รบได้ แต่ก็จำกัดไว้ให้เพียงสงครามบางประเภทดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นเท่านั้น ส่วนการทำสงครามอื่นจากนี้ไม่เป็นที่อนุมัติโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสงครามที่ถูกทำให้เข้าใจผิดกันว่าเป็นสงครามตามคำสั่งใช้ในบทบัญญัติอิสลามทั้งๆ ที่ดังกล่าวเป็นสงครามที่ต้องห้ามอย่างชัดเจนในหลักการอิสลาม เช่น


1. การทำสงครามเพื่อบังคับให้เปลี่ยนศาสนา

          ตามแนวคิดอิสลามการทำสงครามเพื่อบังคับให้คนอื่นหันมานับถืออิสลาม หรือเพื่อร่วมมือสนับสนุนรัฐบาลอื่นใดในเชิงการเมืองนั้น ไม่ถือเป็นเหตุสมควรที่จะยอมให้ทำสงครามได้ อิสลามได้สร้างเงื่อนไขไว้ว่า การเข้ารับอิสลามของแต่ละคน ต้องเกิดจากเจตนาอันบริสุทธิ์และความต้องการอันเสรีเท่านั้น ไม่ใช่ด้วยการบังคับขู่เข็ญ และอิสลามถือว่าการบังคับในเรื่องดังกล่าวเป็นอาชญากรรมและสร้างตราบาปให้แก่มนุษย์ที่มีความอิสระและสิทธิเสรีภาพในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง

อิสลามบัญญัติไว้ชัดเจนในอัลกุรอาน ความว่า

“ไม่มีการบังคับใด ๆ(ให้นับถือ) ในศาสนาอิสลาม  แน่นอน ความถูกต้องนั้นได้เป็นที่กระจ่างแจ้งแล้วจากความผิด” 

อัล-บะกอเราะฮฺ 2 :256

บรรดาผู้ศรัทธาในยุคแรกของอิสลาม  ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า

         “อย่าได้ยัดเยียดศาสนาอิสลามให้แก่ใครเป็นอันขาด เราจะทำสงครามก็เฉพาะกับผู้ที่รุกรานโจมตีเราเท่านั้น และถ้าอีกฝ่ายยอมรับนับถือศาสนาอิสลามโดยสมัครใจก็เป็นเรื่องที่ต้องอำนวยความปลอดภัยให้แก่เลือดเนื้อและทรัพย์สินของพวกเขา เราจะไม่ฆ่าพวกที่มิได้ทำหน้าที่โจมตีสู้รบเป็นอันขาด และจะไม่บังคับให้ใครต้องยอมรับนับถืออิสลามด้วย”

          คัมภีร์อัลกุรอานได้ห้ามการหักหาญชิงชัยกันในเรื่องศาสนา    ทั้งยังได้ประณามการขับเคี่ยวขู่เข็ญ กันเอง สร้างความวุ่นวายในหมู่ผู้ศรัทธาว่าเป็นสิ่งเลวร้ายเสียยิ่งกว่าการฆ่า    อัลกุรอานถือว่าการก่อการร้ายเพื่อโค่นล้มศาสนาเป็นความชั่วร้ายยิ่งกว่าการฆาตกรรมชีวิตบุคคล   ดังจะเห็นได้ชัดในอายะฮฺต่อไปนี้

“ และการก่อความวุ่นวายนั้น ร้ายแรงยิ่งกว่าการประหัตประหารเสียอีก

และจงอย่าสู้รบกับพวกเขา ณ  มัสยิดอัลฮะรอม จนกว่าพวกเขาจะทำร้ายพวกเจ้าในที่นั้น”

อัล-บะกอเราะฮฺ 2 :191


2. การทำสงครามเพื่อการรุกรานผู้อื่น

การรุกรานทำร้ายผู้อื่นไม่เป็นสิ่งที่อนุมัติในอิสลาม ดังปรากฏในอัลกุรอ่าน ความว่า

“ และพวกเจ้าจงต่อสู้ในทางของอัลลอฮต่อบรรดาผู้ที่ทำร้ายพวกเจ้า และจงอย่ารุกรานแท้จริง อัลลอฮไม่ทรงชอบบรรดาผู้รุกราน ” 

อัล-บะกอเราะฮฺ2 : 190
                                                

           ดังกล่าวเป็นการย้ำว่าอิสลามอนุมัติให้โต้ตอบได้เฉพาะกับผู้ที่ทำการสู้รบด้วยเท่านั้น บุคคลอื่นผู้ไม่เกี่ยวข้องใดๆในเหตุการณ์ มุสลิมไม่มีสิทธิ์โต้ตอบ ทำร้าย ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆโดยเด็ดขาด

.
.

Click <<<< Part 1

Next 3 >>>>Click