การซื้อขาย
  จำนวนคนเข้าชม  7189

การซื้อขาย


          อิสลามเป็นศาสนาที่สมบูรณ์แบบ ถูกประทานลงมาเพื่อวางระบบการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างเจ้าผู้ทรงสร้างและมนุษย์ผู้ถูกสร้างด้วยบัญญัติการปฏิบัติศาสนกิจ (อิบาดะห์) ต่างๆที่จะช่วยขัดเกลาและชำระล้างจิตใจให้ใสสะอาด และเพื่อวางระบบการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน เช่น การซื้อขาย การแต่งงาน มรดก การลงอาญา และอื่นๆ เพื่อให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันฉันท์พี่น้องอย่างสันติ ยุติธรรม และมีเมตตาต่อกัน

ประเภทของข้อตกลง (ในอิสลาม) มี 3 ประเภท

1-   ข้อตกลงที่เป็นการแลกเปลี่ยนกัน เช่นการซื้อขาย การเช่า-จ้าง การร่วมลงทุน เป็นต้น

2-  ข้อตกลงที่เป็นการให้หรือการบริจาค เช่นการยกให้ การให้ทานบริจาค การให้ยืม การประกันหรือชดใช้ เป็นต้น

3-  ข้อตกลงที่เป็นทั้งการให้และเป็นการแลกเปลี่ยนกัน เช่นการให้กู้ยืม ซึ่งเป็นการให้ทานเพราะมีความหมายของการให้ทานบริจาค และเป็นการแลกเปลี่ยนเพราะมีการชดใช้คืนเท่าเดิมเป็นต้น


การซื้อขาย คือการแลกเปลี่ยนทรัพย์สินด้วยทรัพย์สินเพื่อการครอบครอง

          มุสลิมไม่ว่าเขาจะประกอบอาชีพใดก็ตาม เพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของเอกองค์อัลลอฮฺเกี่ยวกับงานนั้น และเพื่อสร้างความพึงพอใจแก่พระองค์ ด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ และฟื้นฟูสุนนะฮฺของท่านรสูลศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมในการงานดังกล่าว พร้อมกับขวานขวายสาเหตุที่ (นำมาซึ่งเครื่องยังชีพ) ตามที่ได้ถูกสั่งใช้ให้ปฏิบัติ ต่อมาอัลลอฮฺทรงประทานริสกีที่ประเสริฐแก่เขาพร้อมกับชี้นำเขาให้นำริสกีที่ได้มานั้นไปใช้จ่ายในหนทางที่ดีและถูกต้อง


เคล็ดลับ (หิกมะห์) ในการบัญญัติการซื้อขาย

          เนื่องจากว่า เงิน ทรัพย์สิน และสินค้าต่างๆกระจัดกระจายอยู่ตามผู้คน ในขณะที่มนุษย์มีความต้องการต่อสิ่งที่สหายของเขาครอบครองอยู่ ซึ่งสหายของเขาจะไม่ยอมมอบสิ่งที่เขาครอบครองอยู่ให้แก่เขาโดยปราศจากสิ่งแลกเปลี่ยน

          ดังนั้น ด้วยการอนุมัติให้มีการซื้อขาย ทำให้เขาได้สมหวังในสิ่งที่เขากำลังต้องการอยู่ และทำให้เขาได้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ไม่เช่นนั้นแล้ว มนุษย์ก็จะหันไปใช้วิธีการปล้นสะดม ลักขโมย ฉกชิง ใช้กลอุบาย และกฆ่าฟันกัน (เพื่อให้ได้ครอบครองในสิ่งที่ตัวเองต้องการ)
 
          ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺจึงได้ทำให้การซื้อขายเป็นสิ่งที่อนุมัติ (หะลาล) เพื่อให้มนุษย์ได้บรรลุถึงผลประโยชน์และระงับความชั่วร้ายดังกล่าว ซึ่งการซื้อขายนั้นถือว่าเป็นที่อนุญาตโดยมติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์ (อิจญ์มาอฺ)   อัลลอฮฺตรัสว่า

«وَأَحَلَّ اللهُ الْبَيْعَ وَحَرَّمَ الرِّبَا»

ความว่า “และอัลลอฮฺได้ทรงอนุมัติการซื้อขายและทรงห้ามริบา(ดอกเบี้ย)”  (อัลบะเกาะเราะฮฺ  275)


เงื่อนไขของการซื้อขายที่ถูกต้อง

     1- ความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย ยกเว้นผู้ถูกบังคับโดยชอบธรรม

     2- บุคคล (ผู้ซื้อและผู้ขาย) ที่จะทำข้อตกลงกันต้องเป็นบุคคลที่สามารถดำเนินการเองได้ โดยที่ทั้งสองฝ่ายต้องเป็นไท (ไม่ใช่ทาส) บรรลุศาสนภาวะ และมีสติปัญญาที่สามารถแยกแยะผิดชอบชั่วดี

     3- สินค้าที่จะทำการซื้อขายต้องเป็นสิ่งที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่นยุง และแมลงสาบ และไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายสิ่งที่ประโยชน์ของมันเป็นที่ต้องห้าม เช่นเหล้า และหมู เช่นเดียวกับไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขายในสิ่งที่เป็นประโยชน์แต่เป็นที่อนุญาตเฉพาะในภาวะที่จำเป็นและฉุกเฉินเท่านั้น เช่นสุนัข ซากสัตว์ ยกเว้นซากปลา และตั๊กแตน

      4- สินค้าที่จะทำการซื้อขายต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขาย หรือได้รับอนุญาตให้ทำการซื้อขายในเวลาที่ทำความตกลงซื้อขาย

     5- วัตถุสินค้าที่จะทำการซื้อขายต้องเป็นทีรู้กันอย่างชัดเจนระหว่างทั้งสองฝ่าย จะด้วยการมองเห็นหรือรู้ลักษณะของมันก็ได้

     6- ราคาของสินค้าต้องมีการระบุอย่างชัดเจน

     7- สินค้าต้องเป็นสิ่งที่สามารถส่งมอบได้ ดั้งนั้นจึงไม่อนุมัติให้ทำการซื้อขายปลาที่อยู่ในทะเล หรือนกที่บินอยู่ในอากาศ เป็นต้น เพราะมีความหมายของการหลอกลวงอยู่


         เงื่อนไขต่างๆเหล่านี้ ถูกกำหนดขึ้นเพื่อป้องกันความอยุติธรรม ความหลอกลวง และริบาที่อาจจะเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย (หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง)

การตกลงซื้อขายจะเป็นผลด้วยหนึ่งในสองลักษณะต่อไปนี้

     1-คำพูด โดยการที่ผู้ขายกล่าวว่า “ฉันขาย” หรือ “ฉันให้ท่านครอบครอง” เป็นต้น และผู้ซื้อก็กล่าวว่า “ฉันซื้อ” หรือ” ฉันรับมอบ” เป็นต้น ตามแต่ธรรมเนียมที่ปฏิบัติกัน (ในสังคมนั้นๆ)

     2-การกระทำ นั่นคือการหยิบยื่นให้แก่กัน เช่น ผู้ซื้อกล่าวว่า “ขอเนื้อให้แก่ฉัน100บาท” ผู้ขายก็ยื่นให้โดยไม่ได้พูดอะไรเลย และการปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้ที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ (ของแต่ละท้องถิ่น) เมื่อใดที่มีความพึงพอใจจากทั้งสองฝ่าย (ก็ถือว่าใช้ได้)


ความประเสริฐของการวะรอฺอ์ (ระมัดระวัง) ในการทำนิติกรรมระหว่างกัน

          มุสลิมทุกคนจำเป็นต้องทำให้การซื้อขาย อาหารและเครื่องดื่ม และการทำนิติกรรมต่างๆของเขาถูกต้องตามสุนนะฮฺ ด้วยการรับเอาสิ่งที่หะลาลอย่างชัดแจ้ง แล้วทำนิติกรรมกับมัน และหลีกห่างจากสิ่งที่หะรอมอย่างชัดแจ้ง และไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับมัน ส่วนสิ่งที่ไม่ชัดเจนและคลุมเครือก็ควรจะละทิ้งเสียเพื่อปกป้องศาสนาและเกียรติของตัวเขาไม่ให้ตกไปสู่สิ่งที่หะรอม (โดยไม่รู้ตัว)

มีรายงานจากท่าน อัน-นุอฺมาน บุตร อัลบะชีร เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ  กล่าวว่า ท่านได้ยินท่านรสูลุลลอฮฺ (ซล) กล่าวว่า

«إِنَّ الْحَلاَلَ بَيِّنٌ، وَإِنَّ الْحَرَامَ بَيِّنٌ، وَبَيْنَهُمَا مُشْتَبِهَاتٌ لاَ يَعْلَمُهُنَّ كَثِيرٌ مِنْ النَّاسِ، فَمَنْ اتَّقَى الشُّبُهَاتِ اسْتَبْرَأَ لِدِينِهِ وَعِرْضِهِ، وَمَنْ وَقَعَ فِي الشُّبُهَاتِ وَقَعَ فِي الْحَرَامِ، كَالرَّاعِي يَرْعَى حَوْلَ الْحِمَى يُوشِكُ أَنْ يَرْتَعَ فِيهِ، أَلاَ وَإِنَّ لِكُلِّ مَلِكٍ حِمًى، أَلاَ وَإِنَّ حِمَى اللَّهِ مَحَارِمُهُ، أَلاَ وَإِنَّ فِي الْجَسَدِ مُضْغَةً، إِذَا صَلَحَتْ صَلَحَ الْجَسَدُ كُلُّهُ، وَإِذَا فَسَدَتْ فَسَدَ الْجَسَدُ كُلُّهُ، أَلاَ وَهِيَ الْقَلْبُ». متفق عليه

          ความว่า “แท้จริงสิ่งหะลาล(อนุญาต)นั้นชัดเจน และสิ่งหะรอม(ต้องห้าม)ก็ชัดเจน และระหว่างทั้งสองนั้นมีสิ่งคลุมเครือมากมายที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ(ว่าหะลาลหรือหะรอม) ดังนั้นผู้ใดที่ระวังจากสิ่งคลุมเครือแท้จริงเขาได้ทำให้เกียรติและศาสนาของเขาปลอดภัย และผู้ใดกระทำในสิ่งที่คลุมเครือก็ถือว่าแท้จริงแล้วเขาได้ตกลงสู่สิ่งต้องห้าม เปรียบดังเช่นคนเลี้ยงสัตว์ที่เลี้ยงสัตว์ของตนใกล้กับเขตหวงห้ามซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าสัตว์ของเขาจะละเมิดเขตนั้น, พึงสังวรเถิดว่า กษัตริย์ทุกคนจะมีเขตหวงห้ามของพระองค์ และเขตหวงห้ามของอัลลอฮฺก็คือสิ่งหะหอมต่างๆที่พระองค์ทรงห้าม พึงสังวรเถิดว่า ในร่างกายนั้นมีก้อนเนื้อยู่ก้อนหนึ่งเมื่อใดที่มันดีร่างกายทั้งหมดก็จะดีด้วย และเมื่อใดที่มันเสื่อมเสียร่างกายทั้งหมดก็จะเสื่อมเสียตามไปด้วย พึงสังวรเถิดว่า ก้อนเนื้อก้อนนั้นคือหัวใจ” (รายงานโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข 52 และมุสลิม หมายเลข 1599 และสำนวนเป็นของท่านมุสลิม)

         สิ่งคลุมเครือต่างๆในเรื่องทรัพย์สินนั้นสมควรใช้จ่ายมันในสิ่งที่ห่างไกลจากการใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และการใช้จ่ายที่ใกล้ที่สุดก็คืออาหารและเครื่องดื่มที่จะเข้าสู่ท้อง หลังจากนั้นก็คือสิ่งที่อยู่ภายนอก(ร่างกาย) เช่นเสื้อผ้า แล้วก็สิ่งที่ห่างขึ้นที่เป็นพาหนะต่างๆเช่นม้า รถและอื่นๆ


ผลดี (ประโยชน์) ของทรัพย์สินที่หะลาล

1-อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

«فَإِذَا قُضِيَتِ الصَّلاَةُ فَانتَشِرُوا فِي الأَرْضِ وَابْتَغُوا مِن فَضْلِ اللهِ وَاذْكُرُوا اللهَ كَثِيرًا لَّعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ»

ความว่า  “ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นจากละหมาด (ญุมอัต) แล้ว พวกท่านจงแยกย้ายไปบนหน้าแผ่นดิน และจงแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประทาน และจงระลึกถึงพระองค์มากๆ เพื่อพวกเจ้าจะได้รับความสำเสร็จ” (อัลญุมุอะฮฺ อายะฮฺที่10)

2-จากท่าน อัลมิกดาด เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ  จากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ท่านได้กล่าวว่า

«مَا أَكَلَ أَحَدٌ طَعَامًا قَطُّ خَيْرًا مِنْ أَنْ يَأْكُلَ مِنْ عَمَلِ يَدِهِ، وَإِنَّ نَبِيَّ اللهِ دَاوُدَ عَلَيْهِ السَّلاَم كَانَ يَأْكُلُ مِنْ عَمَلِ يَدِهِ» 

ความว่า “ไม่มีผู้ใดทานอาหารคนใดที่จะดีกว่าผู้ที่ทานอาหารที่ได้จากการทำงานด้วยมือของเขาเอง และแท้จริงท่านนบีของอัลลอฮฺ ดาวูด อะลัยหิสสะลาม ท่านจะทานอาหารที่ได้จากการทำงานด้วยมือของท่านเอง” (รายงานโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข 2072)
  
• บรรดาเศาะหาบะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จะทำการค้าขาย และทำธุรกิจระหว่างกัน แต่เมื่อใดที่สิทธิหนึ่งสิทธิใดของอัลลอฮฺได้ถูกบัญชามายังพวกเขา การค้าและการซื้อขายเหล่านั้นก็ไม่อาจทำให้พวกเขาลืมระลึกถึงอัลลอฮฺได้จนกว่าพวกเขาจะได้ชำระสิทธินั้นๆของพระองค์

• การประกอบอาชีพของแต่ละบุคคลจะมีความแตกต่างกัน และอาชีพที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละบุคคลก็คืออาชีพที่เหมาะสมกับสภาพของเขา เช่นการเกษตร การอุตสาหกรรม หรือการพาณิชย์ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ศาสนากำหนด

• มนุษย์วาญิบ (จำเป็น) ต้องเพียรพยายามและอุตสาหะในการแสวงหาริสกีที่หะลาล เพื่อที่เขาจะได้บริโภค ใช้จ่ายในการเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว และในหนทางของอัลลอฮฺ พร้อมทั้งพยายามหลีกห่างจากการขอทานจากเพื่อนมนุษย์  และรายได้ที่ประเสริฐที่สุดคือรายได้ที่มาจากการหยาดเหงื่อของเขาเองและทุกการซื้อขายล้วนเป็นสิ่งที่ประเสริฐ.

รายงานจากอบูฮุรอยเราะห์ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ จากท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«وَالَّذِي نَفْسِي بِيَدِهِ لأَنْ يَأْخُذَ أَحَدُكُمْ حَبْلَهُ فَيَحْتَطِبَ عَلَى ظَهْرِهِ خَيْرٌ لَهُ مِنْ أَنْ يَأْتِيَ رَجُلاً فَيَسْأَلَهُ أَعْطَاهُ أَوْ مَنَعَهُ». متفق عليه

ความว่า “ขอสาบานด้วยพระเจ้าที่ชีวิตของฉันอยู่ในมือของพระองค์ ว่า การที่คนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านเอาเชือกแล้วนำไปเก็บและมัดฟืนแบกไว้บนหลังเขา(แล้วเอาไปขาย) ย่อมเป็นการดีกว่าสำหรับเขาที่จะไปขอทานจากผู้อื่น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะให้หรือไม่ให้แก่เขาก็ตาม” (รายงานโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข 1470  และมุสลิม หมายเลข 1042  และสำนวนเป็นของอัลบุคอรีย์)

ความประเสริฐของการประนีประนอมในการซื้อขาย 

          มนุษย์ควรจะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และประนีประนอมในการทำธุระกรรมต่างๆของเขาเพื่อที่จะได้มาซึ่งความเมตตาและโปรดปรานจากอัลลอฮฺ

 มีรายงานจากท่านญาบีร บุตร อับดิลลาฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ว่า แท้จริงท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า

«رَحِمَ اللهُ رَجُلاً سَمْحًا إِذَا بَاعَ وَإِذَا اشْتَرَى وَإِذَا اقْتَضَى»

ความว่า “อัลลอฮฺจะทรงเมตตาแก่ชายผู้หนึ่งที่มีความประนีประนอมเมื่อยามที่เขาขาย เมื่อยามเขาซื้อ และเมื่อยามที่เขาเรียกเก็บหนี้ (รายงานโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข 2076)

อันตรายของการชอบสาบานในการขาย

          ถึงแม้ว่าการสาบานในการขายจะเป็นผลดีต่อสินค้า (ทำให้สมารถขายได้ดี) แต่มันจะทำให้กำไรที่ได้มาไม่มีความจำเริญ (บะเราะกะฮฺ)  แท้จริงท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ห้ามการสาบานโดยท่านได้กล่าวว่า

«إِيَّاكُمْ وَكَثْرَةَ الْحَلِفِ فِي الْبَيْعِ، فَإِنَّهُ يُنَفِّقُ ثُمَّ يَمْحَقُ»

ความว่า “พวกท่านจงระวังจากการชอบสาบานบ่อยๆในการซื้อขาย เพราะแท้จริงมันจะช่วยให้ขายได้ หลังจากนั้นความบะเราะกะฮฺ (จำเริญ) ก็จะสูญสิ้นไป (รายงานโดยมุสลิม หมายเลข 1607)

          ความซื่อสัตย์ในการซื้อขายเป็นสาเหตุที่จะได้มาซึ่งความจำเริญ และการพูดโกหกเป็นสาเหตุที่จะทำให้ความจำเริญถูกขาดหายไป


มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัต-ตุวัยญิรีย์

สำนักงานเผยแพร่และสอนอิสลาม อัร-ร็อบวะฮฺ กรุงริยาด

ผู้แปล : อิสมาน จารง

Islam House