ความเสียสละในอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  37157


ความเสียสละในอิสลาม

 إن الحمد لله نحمده ونستعينه ونستغفره ونتوب إليه، ونعوذبالله من شرور أنفسنا وسيئات أعمالنا، من يهده الله فلامضل له، ومن يضلل فلاهادي له، وأشهد أن لا إله الا الله وحده لا شريك له، وأشهد أن محمدا عبده ورسوله، اللهم صلّ وسلّم على نبينا محمد وعلى آله وصحبه، ومن دعا بدعوته بإحسان إلى يوم الدين.
 أما بعد، فقال الله تعالى ياأيها الذين آمنوا اتقواالله حق تقاته ولا تموتن الا وأنتم مسلمون.

พี่น้องผู้ร่วมศรัทธาทุกท่าน

           เป็นที่ทราบกันดีว่าสังคมในยุคปัจจุบัน เป็นสังคมแห่งการแข่งขันเกือบทุกๆ ด้าน ทั้งการแข่งขันเพื่อแสวงหาปัจจัยยังชีพ แข่งขันกันเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ แข่งขันกันเพื่อแสวงหาอำนาจและบารมี หรือแข่งขันกันเพื่อเอาตัวรอดโดยลำพังจากเหตุการณ์ที่เลวร้ายต่างๆ

           เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความเจริญก้าวหน้าในด้านวัตถุและเทคโนโลยีทุกวันนี้ ทำให้หลายๆ คนคลั่งไคล้แนวคิดวัตถุนิยม และยึดผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก ขาดความเสียสละและแล้งน้ำใจ จนกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวไปในที่สุด

           ความเสียสละและความมีน้ำใจ กำลังจะจางหายไปจากสังคมของเรามากขึ้นทุกที ซึ่งจะเห็นได้จากการที่สังคมเกิดความวุ่นวาย ความโกลาหล ต่างคนต่างก็เห็นแก่ตัว จะเอาชนะกัน ชิงดีชิงเด่น ดื้อดึง ดื้อรั้น แม้แต่การจราจรบนท้องถนนในทุกวันนี้ โดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน จะเห็นได้ว่าแต่ละคนต่างก็รีบเร่งเพื่อไปให้ถึงจุดหมายของตนเองอย่างรวดเร็ว โดยไม่สนใจว่า การขาดความเสียสละและการมีน้ำใจนั้น อาจเกิดอุบัติเหตุได้ เว้นแต่จะมีขบวนรถบุคคลสำคัญผ่านมา  หรือไม่ก็มีรถพยาบาลต้องการส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือมีรถดับเพลิงมาขอทางเพื่อไปดับไฟให้ทันท่วงที เท่านั้น จึงจะยอมเสียสละหลีกทางให้ ลดความเร็วของรถและความรีบร้อนของตนเอง

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความเสียสละและความมีน้ำใจในการจราจรบนท้องถนนนั้น จำเป็นต้องมีทุกๆ วันและทุกๆ โอกาส จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเสียสละและความมีน้ำใจให้ติดเป็นลักษณะนิสัยของทุกๆ คน แล้วความปลอดภัยจากอุบัติเหตุก็จะมามีมากขึ้น นอกจากนั้นยังจะเห็นได้จากการที่คนอนาถา คนยากคนจน และคนด้อยโอกาสถูกทอดทิ้งและเกิดช่องว่างระหว่างคนมีฐานะกับผู้ด้อยโอกาสดังกล่าว ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นปัญหาของสังคม

พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่าน

           เมื่อมีความเห็นแก่ตัว ความโลภและความตระหนี่ก็จะตามมา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่อิสลามได้ประณาม ดังที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

ความว่า การสะสมทรัพย์สมบัติเพื่ออวดอ้าง ได้ทำให้พวกเจ้าเพลิดเพลิน จนกระทั่งพวกเจ้าเข้าไปอยู่ในหลุมฝังศพ (อัตตะกาษุร 1-2)

และพระองค์ตรัสอีกว่า

ความว่า  และบรรดาผู้ที่ตระหนี่ในสิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงประทานแก่พวกเขาจากความกรุณาของพระองค์นั้น  จงอย่าได้คิดเป็นอันขาดว่าเป็นการดีแก่พวกเขา หากแต่มันเป็นความชั่วแก่พวกเขา

พวกเขาจะถูกคล้องสิ่งที่พวกเขาตระหนี่มันไว้ในวันกิยามะฮฺ และสำหรับอัลลอฮฺนั้นคือมรดกแห่งชั้นฟ้าและแผ่นดิน และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้อย่างละเอียดในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำกัน ( ซูเราะฮฺ อาลิอิมรอน อายะฮฺที่ 180 )

และอีกอายะฮฺหนึ่งอัลลอฮฺได้ตรัสว่า

ความว่า  พึงรู้เถิดว่าพวกเจ้านี้แหล่ะคือหมู่ชนที่ถูกเรียกร้องให้บริจาคในหนทางของอัลลอฮฺ แต่มีบางคนในหมู่พวกเจ้าเป็นผู้ตระหนี่ ดังนั้นผู้ใดตระหนี่เขาก็ตระหนี่แก่ตัวเขาเอง เพราะอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงมั่งมี แต่พวกเจ้าทั้งหลายเป็นผู้ขัดสน  ( ซูเราะฮฺมุฮัมมัด อายะฮฺที่ 38 )

ท่านนบีได้กล่าวว่า

«وَاتَّقُوا الشُّحَّ فَإِنَّ الشُّحَّ أَهْلَكَ مَنْ كَانَ قَبْلَكُمْ » أخرجه مسلم : 2578

ความว่า  และจงระวังความตระหนี่ เพราะแท้จริงความตระหนี่นั้นได้ทำลายประชาชาติก่อนหน้าพวกท่านมาแล้ว  ( บันทึกโดยมุสลิม  หะดีษที่ 2578 )

พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่าน

            อิสลามยังได้กำชับให้มุสลิมทุกคนเป็นคนที่รักพี่น้องมุสลิมด้วยกันเหมือนกับที่เขารักตัวเอง ชอบที่จะชั่งใจผู้อื่น และเอาใจเขามาใส่ใจเรา ในทุกๆเรื่อง ท่านนบีได้กล่าวว่า

«لَا يُؤْمِنُ أَحَدُكُمْ حَتَّى يُحِبُّ لِإَخِيْهِ مَا يُحِبُّ لِنَفْسِهِ » رواه البخاري

ความว่า ความศรัทธาของคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกเจ้ายังไม่สมบูรณ์จนกว่าเขาจะรักพี่น้องของเขาเหมือนกับที่เขารักตัวเอง (บันทึกโดย อัลบุคอรีย์)

และในหะดีษอีกบทหนึ่ง ท่านนบีได้กล่าวว่า

«واللهِ !،  لَا يُؤْمِنُ مَنْ بَاتَ شَبْعَاناً وَجَاْرُهُ جَاْئِعٌ» أخرجه الهيثمي في مجمع الزوائد والمنذري في الترغيب والترهيب وحسنه الألباني.

ความว่า ข้าขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า ความศรัทธายังไม่สมบูรณ์สำหรับผู้ที่นอนหลับ ท้องก็อิ่ม ในขณะที่เพื่อนบ้านของเขากำลังหิวโหย (บันทึกโดยอัลหัยษะมีย์ ใน มัจญ์มะอฺ อัซซาวาอิด และ อัลมุนซิรีย์ ใน อัตตัรฆีบ วะ อัตตัรฮีบ และอัลอัลบานีย์ เห็นว่าเป็นหะดีษหะซัน)

พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่าน

           เราต้องมาทบทวนกันแล้วว่าความเสียสละในอิสลามเป็นเช่นไร มีความสำคัญและยิ่งใหญ่แค่ไหน และจะมีวิธีการการฝึกฝนตนเองให้เป็นคนที่มีความเสียสละอย่างไร 

 ความเสียสละจะสอดคล้องกับคำในภาษาอาหรับว่า الإيثار  ซึ่งมีความหมายว่า

تَقْدِيْمُ الْإِنْسَانِ غَيْرَهُ عَلٰى نَفْسِهِ فِيْمَا هُوَ فِيْ حَاجَةٍ إِلَيْهِ مِنْ أُمُوْرِ الدُّنْيَا اِبْتِغَاءَ ثَوَابِ الْآخِرَةِ

          ซึ่งมีใจความว่า การยอมสละความจำเป็นของตนเองและยึดความจำเป็นของผู้อื่นมาก่อนในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับดุนยา โดยหวังการตอบแทนที่ดีในโลกอาคิเราะฮฺ

 


พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่าน

           ผู้ที่เป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องความเสียสละก็คือท่านนบี ตามการรายงานของท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า

«مَا شَبِعَ رَسُوْلُ اللهِ ثَلاَثَةَ أَيَّامٍ تِبَاعاً، وَلَوْ شِئْنَا لَشَبِعْنَا، وَلٰكِنْ كَانَ يُؤْثِرُ عَلىٰ نَفْسِهِ» صحيح مسلم.

ความว่า ท่านรอซูลุลลอฮฺ เคยไม่อิ่มท้องนานถึงสามวันติดต่อกัน หากเราต้องการเราก็อิ่มได้ แต่เป็นเพราะท่านรอซูลุลลอฮฺ นั้นยอมเสียสละให้ผู้อื่นก่อน (บันทึกโดยมุสลิม)

         และมีรายงานจากท่านสะฮฺลุน ว่าท่านนบีได้รับผ้าคลุมเป็นหะดิยะฮฺ(ของขวัญ)จากผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งท่านจำเป็นต้องใช้ผ้าคลุมนั้นมาก แต่ก็ได้มีเศาะฮาบะฮฺคนหนึ่งเห็นแล้วอยากได้จึงขอจากท่าน ท่านบี  ก็ยินดีมอบให้แก่เขา จนทำให้เศาะฮาบะฮฺท่านอื่นๆ มาตำหนิ

          เศาะฮาบะฮฺคนดังกล่าวที่รู้ดีว่าท่านบีจำเป็นต้องใช้มันและท่านนบีก็ไม่เคยปฏิเสธคำร้องขอจากใครอีกด้วย เศาะฮาบะฮฺคนดังกล่าวก็ตอบว่า

وَاللَّهِ مَا سَأَلْتُهُ لِأَلْبَسَهُ إِنَّمَا سَأَلْتُهُ لِتَكُونَ كَفَنِي، قَالَ سَهْلٌ فَكَانَتْ كَفَنَهُ

ฉันขอสาบานต่ออัลลอฮฺว่า ฉันไม่ได้ขอผ้าคลุมนั้นเพื่อมาสวมใส่ แต่ฉันขอมาเพื่อเป็นผ้าห่อศพสำหรับฉัน แล้วท่านสะฮฺลุน (ผู้รายงานหะดีษนี้) ก็บอกว่า ผ้าคลุมผืนนั้นก็ถูกนำไปใช้เป็นผาห่อศพของเขาจริงๆ (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ 1198)

พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่าน

          นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเสียสละของท่านนบี ที่ได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่าง นอกจากตัวอย่างจากท่านนบีแล้ว บรรดาเศาะฮาบะฮฺก็มีความเสียสละในลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกัน ตามการรายงานของท่านอะบู ฮุร็อยเราะฮฺว่า ได้มีชายคนหนึ่งซึ่งกำลังหิวมาหาท่านนบีในขณะที่ท่านอยู่ในมัสยิด แล้วก็ขออาหารจากท่าน ท่านนบีจึงได้กลับไปยังบ้านภริยาของท่านคนหนึ่งเพื่อหาอาหาร แต่ปรากฏว่า ไม่มีอาหารใดๆ เลยนอกจากน้ำ

ท่านนบีจึงกล่าวว่า "ผู้ใดที่จะยอมรับชายคนนี้เป็นแขกของเขาในค่ำคืนนี้ แล้วอัลลอฮฺจะให้ความเมตตาแก่เขา"

ชายชาวอันศอรฺผู้หนึ่งจึงตอบรับ เขาได้นำแขกไปยังบ้านของเขาแล้วถามภรรยาว่า "มีอาหารอะไรบ้างในบ้านของเรา"

เธอตอบว่า "ไม่มีเลยนอกจากอาหารของลูกๆ"

เขาจึงสั่งให้ภรรยากล่อมลูกนอนหลับโดยไม่ต้องรับประทานอาหาร  แล้วพอแขกเข้ามาในบ้านเขาจึงดับตะเกียงแล้วนำอาหารของลูกๆ มาให้แขก แล้วเขาก็นั่งพร้อมกับแขกเพื่อให้แขกของเขาเข้าใจว่า เขาก็รับประทานอาหารอยู่ด้วย แล้วแขกก็รับประทานอาหารจนอิ่ม ในขณะที่เขาและครอบครัวนอนด้วยความหิว พอรุ่งเช้าเขากับแขกก็ไปหาท่านนบี

ท่านนบีจึงกล่าวแก่เขาว่า "อัลลอฮฺทรงโปรดปรานการกระทำของท่านและภรรยาของท่านต่อแขกเมื่อคืนนี้" แล้วอัลลอฮฺก็ทรงประทานอายะฮฺ(ที่ 9) ซูเราะฮฺ อัลหัชรฺ
 
ความว่า และบรรดาผู้ที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่นครมะดีนะฮฺ (ชาวอันศอรฺ) และพวกเขาก็ศรัทธาก่อนหน้าการอพยพของชาวมุฮาญิรีน พวกเขารักใคร่ผู้ที่อพยพมายังพวกเขา และจะไม่พบความต้องการหรือความอิจฉาริษยาอยู่ในทรวงอกของพวกเขาในสิ่งที่ถูกประทานให้ และพวกเขายินยอมเสียสละสิทธิให้แก่ผู้อื่นก่อนตัวของพวกเขาเองถึงแม้ว่าพวกเขายังมีความต้องการอยู่มากก็ตามและผู้ใดก็ตามที่สามารถขจัดความตระหนี่ออกจากตัวของเขาได้ พวกเขาเหล่านี้แหละคือกลุ่มชนที่ประสบความสำเร็จ  (อายะฮฺที่ 9 จากสูเราะฮฺ อัลหัชรฺ และหะดีษนี้บันทึกโดยมุสลิม  หะดีษที่ 3829 )

พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่าน

          อีกตัวอย่างหนึ่งของความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของบรรดาเศาะฮาบะฮฺ ตามการรายงานของท่านหุซัยฟะฮฺ อัลอะดะวีย์ ได้ไปเข้าร่วมในสงครามยัรมูกเพื่อตามหาลูกพี่ลูกน้องของเขาพร้อมกับน้ำจำนวนหนึ่ง และเขาก็กล่าวว่า "แม้ว่าฉันจะพบเขาในสภาพใกล้จะสิ้นลมแล้วก็ตาม ฉันก็จะให้เขาดื่มน้ำจำนวนนี้"

และหลังจากนั้นเขาก็ได้พบกับญาติของเขาซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส เขาก็กล่าวว่า "ฉันจะป้อนน้ำให้แก่ท่าน"

ญาติของเขาก็พยักหน้าแล้วกล่าวว่า ฉันต้องการน้ำ  แต่ในขณะที่เขาจะป้อนน้ำให้นั้น พลันได้ยินเสียงร้องของชายอีกคนหนึ่ง ญาติของเขาจึงชี้ให้ท่านหุซัยฟะฮฺนำน้ำไปให้ชายคนนั้นดื่ม เขาจึงเดินไปยังชายคนนั้นแล้วพบว่าเขาคือฮิชาม อิบนุล อาศ

และในขณะที่เขาจะป้อนน้ำให้ฮิชามอยู่นั้น เขาก็ได้ยินเสียงร้องของชายอีกคนหนึ่ง ฮิชามจึงชี้ให้เขานำน้ำไปให้ชายคนดังกล่าวดื่ม เขาจึงเดินไปยังชายคนนั้นแต่ก็พบว่าเขาได้เสียชีวิตแล้ว ท่านหุซัยฟะฮฺจึงรีบกลับไปหาฮิชามแต่ก็พบว่าเขาได้เสียชีวิตแล้ว  เขาจึงรีบกลับไปหาญาติของเขาอีกแต่ก็พบว่าเขาได้เสียชีวิตแล้วเช่นกัน

           นี่คือความเสียสละอันยิ่งใหญ่ที่เราจะต้องนำมาเป็นบทเรียนและปลูกฝังในจิตใจของเรา ในเสี้ยววินาทีที่ความตายกำลังจะมาหา แต่ด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยจิตสำนึกของความเสียสละ จึงยินดีที่จะสละความสุข ความต้องการของตัวเองให้แก่พี่น้องคนอื่น เพื่อหวังให้พี่น้องของเขาได้ดื่มน้ำแก้ความกระหายอย่างที่สุดในเวลานั้น แต่ในที่สุดแล้วพวกเขาทั้งหมดนี้ก็จะได้น้ำดื่มกินในสวรรค์แทน

พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่าน

           จากตัวอย่างข้างต้นนี้ เรามาลองสำรวจรอบๆ ตัวเรา หรือในสังคมบ้านเราดูสิว่า จะมีคนอย่างฮิชาม อิบนุล อาศ สักกี่คน คิดว่าคงหายากพอสมควร ดังนั้นเราจะต้องฝึกฝนตนเองให้เป็นอย่างฮิชาม อิบนุล อาศ และอบรมสั่งสอน ปลูกฝังให้แก่ลูกหลานให้เป็นอย่างฮิชาม อิบนุล อาศให้ได้ เพราะสังคมจะขาดความเสียสละและความมีน้ำใจไม่ได้เป็นอันขาด

           ดังนั้นวิธีการที่จะฝึกฝนและขัดเกลาจิตใจให้เป็นคนที่มีความเสียสละ มีน้ำใจ และรักในการให้ พอจะสรุปได้ดังนี้

      ประการที่หนึ่ง  ให้มีจิตสำนึกอยู่เสมอว่าอัลลอฮฺคือผู้ประทานให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่มนุษย์อย่างล้นเหลือ ทรัพย์สินที่เราได้มาก็มาจากการประทานของอัลลอฮฺ ดังนั้นเราก็จะต้องเป็นผู้หยิบยื่นให้แก่ผู้อื่นด้วย จะได้สำนึกอยู่เสมอว่าในทรัพย์สินของเราก็ยังมีสิทธิของผู้อื่นอยู่ด้วยเช่นกัน ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า

﴿كُلاًّ نُّمِدُّ هٰـؤُلَاءِ وَهٰـؤُلَاءِ مِنْ عَطَآءِ رَبِّكَ وَمَا كَانَ عَطَاءُ رَبِّكَ مَحْظُوراً﴾ (سورة الإسراء: آية 20)

ความว่า ทั้งหมด เราช่วยเขาเหล่านี้และเขาเหล่านั้น(คือบางคนปรารถนาเรื่องของโลกดุนยาและบางคนก็ปรารถนาเรื่องของโลกอาคิเราะฮฺ) โดยการประทานให้จากพระเจ้าของเจ้า และการประทานให้ของพระเจ้าของเจ้านั้น มิได้ถูกห้ามแก่ผู้ใดเลย(ได้กันทุกคน)
 
     ประการที่สอง  ยึดแบบอย่างของท่านนบี ในความเสียสละและความมีน้ำใจของท่านที่ได้ปฏิบัติเป็นตัวอย่าง ในการเสียสละสิ่งที่ท่านเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
 
     ประการที่สาม  นำแบบอย่างของบรรดาเศาะฮาบะฮฺที่ได้เสียสละทรัพย์สิน เงินทอง เพื่อส่วนรวม ดังเหตุการณ์ก่อนเดินทางไปยังเมืองตะบูกเพื่อทำสงคราม  ท่านนบีได้เรียกร้องให้บรรดาเศาะฮาบะฮฺบริจาคทรัพย์สิน ท่านอุมัรจึงได้มาหาท่านนบีพร้อมกับทรัพย์สินอันมากมาย ท่านนบีจึงถามเขาว่า แล้วท่านเหลืออะไรไว้แก่ครอบครัวของท่าน เขาตอบว่า ฉันเหลือครึ่งหนึ่งจากทรัพย์สินของฉันแก่พวกเขา  จากนั้นท่านอบูบักรก็ได้มาหาท่านนบีพร้อมกับทรัพย์สินของเขาทั้งหมด ท่านนบีจึงถามเขาว่า แล้วท่านเหลืออะไรไว้แก่ครอบครัวของท่าน เขาตอบว่า ฉันเหลืออัลลอฮฺและรอซูลแก่พวกเขา
 
     ประการที่สี่  ให้มีความรู้สึกว่าอยากได้ผลบุญ และการตอบแทนที่ดี อันมากมายมหาศาลที่จะตามมา หลังจากที่มีการเสียสละให้แก่ผู้อื่น ดังอายะฮฺที่อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

ความว่า และพวกเจ้าจะต้องไม่บริจาคสิ่งใด นอกจากเพื่อแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮฺเท่านั้น และสิ่งดีใดๆ ที่พวกเจ้าบริจาคไป มันจะถูกตอบแทนโดยครบถ้วนแก่พวกเจ้าและพวกเจ้าจะไม่ถูกอยุติธรรม (อัลบะเกาะเราะฮฺ 272)

อัลลอฮฺได้ตรัสอีกว่า

ความว่า บรรดาผู้บริจาคทรัพย์ของเขาทั้งในเวลากลางคืนและกลางวัน ทั้งโดยปกปิดและเปิดเผยนั้น พวกเขาจะได้รับรางวัลขอลพวกเขา ณ พระผู้เป็นเจ้าของพวกเขา และไม่มีความกลัวอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นแก่พวกเขาและอีกทั้งพวกเขาก็จะไม่เสียใจอีกด้วย (อัลบะเกาะเราะฮฺ 274)

และในอีกอายะฮฺหนึ่งอัลลอฮฺได้ตรัสอีกว่า

ความว่า และสิ่งใดที่พวกเจ้าได้บริจาคไปนั้น พระองค์จะทรงทดแทนมัน และพระองค์นั้นทรงเป็นผู้ที่ดีเลิศแห่งบรรดาผู้ประทานปัจจัยยังชีพคนอื่นๆ (สะบะอ์ 39)

 
พี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่าน

          จากหลักคำสอนของอิสลามข้างต้นทั้งจากอัลกุรอาน อัลหะดีษ และตัวอย่างจากบรรดาเศาะฮาบะฮฺในเรื่องของความเสียสละและความมีน้ำใจนั้น คิดว่าท่านทั้งหลายคงได้ข้อคิดและบทเรียนที่ดีๆ ที่สามารถนำไปใช้ให้เห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งพวกเราทุกคนต่างก็ทราบกันดีว่า ความเสียสละนั้นสามารถที่จะกระทำได้ในหลายๆ รูปแบบแล้วแต่ความสามารถของแต่ละบุคคล เช่น ความเสียสละทางด้านทรัพย์สินเงินทอง ความเสียสละทางด้านอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ความเสียสละทางด้านความรู้และเวลา หรือความเสียสละทางด้านแรงกายและใจ ซึ่งสิ่งเหล่าคิดว่าสามารถกระทำได้ไม่ยากนัก หากเรามาช่วยกันรณรงค์ให้สังคมของเรามีความตระหนักในความเสียสละและความมีน้ำใจ แน่นอนสังคมของเราก็จะมีแต่ความสงบสุข.

بارك الله لي ولكم في القرآن العظيم، ونفعني وإياكم بما فيه من الآيات والذكر الحكيم، وتقبل مني ومنكم تلاوته، إنه هو السميع العليم. واستغفر الله لي ولكم من كل ذنب فاستغفروه إنه هو الغفور الرحيم.

 

โดย  อ.อัสมัน แตอาลี


Islam House