การละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้อื่น
  จำนวนคนเข้าชม  10876

การละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้อื่น


           อัล-ฆ็อสบฺ คือการยึดเอาทรัพย์สินของผู้อื่นในลักษณะบังคับโดยมิชอบ ทั้งที่เป็นอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์


ประเภทของการอธรรม

         การอธรรมมีอยู่  3 ประเภท คือ การอธรรมที่อัลลอฮฺจะไม่ปล่อยไว้ การอธรรมที่มีการให้อภัย และการอธรรมที่ไม่มีการอภัยให้

การอธรรมที่ไม่มีการอภัยนั้นคือการตั้งภาคีกับอัลลอฮฺ พระองค์จะไม่ทรงให้อภัยให้

การอธรรมที่มีการให้อภัย คือการอธรรมระหว่างมนุษย์กับอัลลอฮฺ

ส่วนการอธรรมที่จะไม่ถูกปล่อยไว้คือการอธรรมระหว่างมนุษย์ ซึ่งอัลลอฮฺกำหนดให้มีการลงอาญาสะสางระหว่างกัน


หุกมของอัล-ฆ็อสบฺ

          การยึดทรัพย์ผู้อื่นถือว่าต้องห้าม ไม่อนุญาตให้ใครก็ตามเอาสิ่งหนึ่งสิ่งใดของผู้อื่น ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม ยกเว้นเขาพอใจจะให้

1. อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

ความว่า  “และพวกเจ้าจงอย่ากินทรัพย์สินของพวกเจ้าระหว่างกันโดยมิชอบ และจงอย่าจ่ายมันให้แก่ผู้พิพากษา(เป็นสินบน) เพื่อที่พวกเจ้าจะกินส่วนหนึ่งจากทรัพย์สินของผู้อื่นด้วยการกระทำที่เป็นบาป ทั้งๆ ที่พวกเจ้าก็รู้กัน”  (อัล-บะเกาะเราะฮฺ 188)

2. รายงานจากท่านซะอีด บิน ซัยด์ ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ว่าท่านได้ยินท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า

«مَنْ أَخَذَ شِبْراً مِنَ الأَرْضِ ظُلْـماً فَإنَّـهُ يُطَوَّقُـهُ يَوْمَ القِيَامَةِ مِنْ سَبْعِ أَرَضِينَ».  متفق عليه. 

ความว่า “ใครก็ตามที่เอาพื้นดินเพียงคืบเดียวด้วยความอธรรม (มิชอบ) เขาจะถูกม้วนด้วยผืนดินเจ็ดชั้นในวันกิยามะฮฺ” (บันทึกโดยอัล-บุคคอรีย์ หมายเลข 3198 คำรายงานนี้เป็นของท่าน และบันทึกโดยมุสลิม หมายเลข 1610)


หุก่มการใช้ผืนดินที่ยึดมา

          1. เมื่อมีการยึดผืนดินหนึ่งแล้วมีการเพาะปลูกพืชหรือสร้างสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินนั้น จำเป็นที่จะต้องถอดถอนสิ่งนั้นออกและชดใช้สิ่งที่ลดลงและทำให้เหมือนเดิมหากเจ้าของเรียกร้อง แต่หากมีการยินยอมตกลงกันเป็นราคาแทนก็ถือว่าใช้ได้

          2. หากผู้ยึดที่ดินผู้อื่นส่งที่ดินนั้นคืนหลังจากที่เขา(เพาะปลูกและ)เก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ ถือว่ามันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ยึดแต่เขาจะต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินแก่เจ้าของที่ดินด้วย และถ้าหากพืชพันธุ์นั้นยังอยู่ เจ้าของที่ดินจะมีสิทธิเลือกระหว่างการปล่อยมันไว้จนถึงเวลาเก็บเกี่ยวแล้วจึงเก็บค่าเช่าตามราคาท้องตลาด หรือเขาเอาเป็นของตนโดยใช้ทุนเองในการซื้อ


หุก่มการคืนสิ่งที่ยึดมา

           วาญิบที่ผู้ที่ยึดทรัพย์ผู้อื่นจะต้องส่งคืนสิ่งที่ยึดไปแก่เจ้าของ แม้เขาจะขาดทุนมากกว่าหลายเท่าก็ตาม เพราะมันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นจึงต้องส่งคืน และถ้าหากเขานำสิ่งนั้นไปทำการค้าถือว่ากำไรที่ได้เป็นของทั้งสองคนคนละครึ่ง หากสิ่งที่ยึดไปมีค่าเช่า ผู้ยึดจะต้องส่งคืนพร้อมค่าเช่าตามท้องตลาดตลอดระยะเวลาที่อยู่ในมือของผู้ยึด


หุก่มการเปลี่ยนสิ่งที่ยึดมา

          หากผู้ยึดด้ายทำการทอด้ายที่ยึด หรือตัดผ้าที่ยึดให้สั้นลง หรือประกอบงานไม้จากไม้ที่ยึด เป็นต้น ถือว่าวาญิบที่เขาจะต้องส่งคืนมันแก่เจ้าของพร้อมกับจ่ายค่าปรับการลดลงของสิ่งที่ยึดไปโดยที่เขาจะไม่ได้อะไรเลย
 

หุก่มการคละเคล้าสิ่งที่ยึดมากับสิ่งอื่น

           หากผู้ยึดได้นำสิ่งที่เขายึดไปผสมกับสิ่งชนิดเดียวกันที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเขาจนไม่อาจแยกแยะได้ เช่นน้ำมัน ข้าว เป็นต้น หากมันไม่ได้ทำให้ราคาลดลงหรือเพิ่มขึ้นจากเดิมให้ถือว่าทั้งสองเป็นหุ้นส่วนกันตามสัดส่วนปริมาณของแต่ละคน หากมันทำให้ราคาต่ำลงผู้ยึดจะต้องชดเชย และหากราคาของอีกฝ่ายสูงขึ้น ฝ่ายนั้นก็จะได้สัดส่วนที่ขึ้นไปนั้น


หุก่มเมื่อสิ่งที่ยึดมาเสียหาย

           หากสิ่งที่ถูกยึดเสียหาย หรือมีตำหนิ และมันมีสิ่งที่เหมือนกันในท้องตลาด ก็ให้ชดเชยด้วยสิ่งที่เหมือนกันนั้น แต่หากมันไม่มีสิ่งที่เหมือนกันในท้องตลาด(เช่นของโบราณ)ก็ให้ชดเชยเป็นราคาของสิ่งนั้น ตามราคาในวันที่มันไม่มีสิ่งที่เหมือนอีกต่อไป


หุก่มการใช้ของที่ยึดโดยผู้ที่ยึดมา

           การจัดการ(การนำไปใช้)สิ่งที่ถูกยึดของผู้ยึดเช่น ขาย แต่งงาน ทำหัจญ์ เป็นต้น ให้ถือว่ามันขึ้นอยู่กับการอนุญาตหรือการยินยอมของเจ้าของทรัพย์ คือหากเจ้าของทรัพย์ยินยอมให้ถือว่าการนำไปใช้หรือจัดการนั้นเป็นผล และหากเขาไม่ยินยอมก็ให้ถือว่าการนำไปใช้นั้นเป็นโมฆะ


จะยึดคำพูดใครในกรณีกำหนดค่าเสียหาย

           คำกล่าวเกี่ยวกับราคาของสิ่งที่เสียหาย ปริมาณ หรือลักษณะของมัน ให้ยึดถือคำพูดของผู้ยึด ยกเว้นหากเจ้าของมีหลักฐาน(ว่าสิ่งที่ถูกยึดมีราคา ปริมาณ หรือลักษณะที่ขัดแย้งกับคำพูดของผู้ยึด) และคำกล่าวว่าส่งคืนแล้วหรือไม่ และมีมีตำหนิเกิดขึ้นหรือไม่ ให้ยึดคำพูดของเจ้าของหากไม่มีหลักฐาน


หุก่มการทำให้การครอบครองของผู้อื่นหมดไป

          1. หากมีการเปิดกรงหรือประตู หรือแก้เชือกที่ผูกปิดภาชนะหรือรังหรือเชือกล่ามสัตว์ออก แล้วทำให้สิ่งที่อยู่ในนั้นหายไป หรือเกิดความเสียหายถือว่าผู้ที่ทำจะต้องชดใช้ แม้ว่าผู้นั้นจะบรรลุศาสนภาวะหรือไม่ก็ตาม เพราะถือว่าเขาเป็นผู้ทำให้มันหลุดไป

          2. ใครที่ครอบครองสุนัข สิงโต หมาป่า หรือนกที่มีอันตรายแล้วปล่อยมันจนมันทำลายสิ่งหนึ่งสิ่งใดถือว่าบุคคลนั้นต้องรับผิดชอบชดใช้


หุก่มสิ่งที่ถูกทำลายโดยสัตว์เลี้ยง

          หากสัตว์เลี้ยงทำความเสียหายแก่สิ่งหนึ่งเช่น ทำลายพืชพันธุ์ ในยามค่ำคืน เจ้าของสัตว์ต้องรับผิดชอบชดใช้เพราะเขาจะต้องดูแลมัน(ไม่ให้ไปไหน)ในยามค่ำคืน แต่มันทำความเสียหายในตอนกลางวันเจ้าของสัตว์ไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้เพราะว่าเจ้าของสวนจะดูแลสวนของต้นในตอนกลางวัน ยกเว้นหากเจ้าของสัตว์ละเลยก็ถือว่าต้องชดใช้สิ่งที่มันทำให้เสียหาย


หุก่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคืนของที่ยึดมา

          1. หากต้องการคืนสิ่งที่ยึดไปแต่ไม่รู้ว่าเป็นของผู้ใดให้ทำการมอบให้แก่ศาลหรือฝ่ายปกครองหากฝ่ายปกครองนั้นมีความยุติธรรม หรือทำการบริจาคสิ่งนั้นแทนเจ้าของ แต่เขาต้องชดใช้หากภายหลังเกิดพบว่าเจ้าของไม่ยินยอม

           2. หากในมือผู้ยึดมีทรัพย์สินที่ยึดมา หรือทรัพย์ที่ขโมยมา ทรัพย์ที่เป็นอะมานะฮฺหรือทรัพย์ที่ถูกฝากไว้ หรือทรัพย์ที่จำนองไว้ เป็นต้น แต่ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ ถือว่าอนุญาตให้เขาทำการบริจาคมันหรือเอามันไปใช้เป็นสาธารณะประโยชน์แก่บรรดามุสลิมและเขาก็จะพ้นภาระความรับผิดไปได้ หรือเขาจะมอบให้กับผู้ปกครองที่ยุติธรรมก็ได้


หุก่มทรัพย์สินที่หะรอม

          ใครที่ได้ทรัพย์(รายได้)จากสิ่งที่หะรอม เช่นเงินราคาเหล้าสุรา ต่อมาเขาได้กลับตัว(เตาบัต) ถ้าหากเขาไม่รู้ว่ามันต้องห้าม แล้วพึ่งมารู้ ถือว่าอนุญาตให้เขาบริโภคมันได้ แต่ถ้าหากเขารู้ตั้งแต่แรกแล้วว่ามันหะรอมแล้วมากลับตัวถือว่าให้เขาใช้จ่ายมันไปในหนทางที่ดีโดยที่เขาไม่นำมันไปบริโภค


หุก่มการทำลายทรัพย์สินที่หะรอม

           ไม่ต้องชดใช้สำหรับการทำลายเครื่องดนตรี ไม้กางเขน ภาชนะใส่เหล้า หนังสือประเภทที่เชิญชวนสู่การหลงทางและไร้สาระ อุปกรณ์ไสยศาสตร์ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะว่ามันล้วนเป็นสิ่งที่ต้องห้ามไม่อนุญาตให้ทำการซื้อขาย แต่การทำลายนั้นต้องมีคำสั่งศาลหรือฝ่ายปกครองเสียก่อน เพื่อให้เกิดประโยชน์และป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น


หุก่มสิ่งที่โดนไฟไหม้

          ใครที่จุดไฟในกรรมสิทธิ์ของเขาแต่มันลุกลามไปยังกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นโดยการละเลย(สะเพร่า)จนเกิดความเสียหายถือว่าผู้จุดไฟจะต้องรับผิดชอบชดใช้ แต่จะถือว่าไม่ต้องชดใช้หากเกิดมีลมพัดพาเปลวไฟไปเองเพราะไม่ใช่เป็นการกระทำของเขาและไม่ได้เกิดจากการละเลยของเขาเช่นกัน


หุก่มของสัตว์เลี้ยงที่ตายบนท้องถนน

           หากสัตว์เลี้ยงขึ้นไปกีดขวางบนทางหลวงที่สร้างด้วยยางมะตอยเป็นต้น แล้วรถเกิดชนสัตว์จนพิการหรือตายถือว่ามันสูญเปล่า ผู้ชนไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ หากเขาไม่ได้ละเลยหรือมีเจตนา และเจ้าของสัตว์ถือว่าบาปเพราะปล่อยละเลยไม่ดูแลให้ดีจนทำให้มันไปกีดขวางท้องถนน


หุก่มของทรัพย์สินที่ยึดมา

           หะรอมสำหรับผู้ยึดที่จะใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ยึดมา และวาญิบที่เขาจะต้องส่งมันคืน เช่นเดียวกับทุกๆ สิ่งที่ได้มาโดยอธรรม

รายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวว่า 

«مَنْ كَانَتْ لَـهُ مَظْلَـمَةٌ لأَخِيهِ مِنْ عِرْضِهِ أَوْ شَيْءٍ فَلْيَتَـحَلَّلْـهُ مِنْـهُ اليَوْمَ قَبْلَ أَنْ لا يَكُونَ دِيْنَارٌ وَلا دِرْهَـمٌ، إنْ كَانَ لَـهُ عَمَلٌ صَالِـحٌ أُخِذَ مِنْـهُ بِقَدْرِ مَظْلَـمَتِـهِ، وَإنْ لَـمْ يَكُنْ لَـهُ حَسَنَاتٌ أُخِذَ مِنْ سَيِّئَاتِ صَاحِبِـهِ فَحُـمِلَ عَلَيْـهِ». أخرجه البخاري.

ความว่า “ใครที่มีสิ่งอธรรมที่ได้มาจากพี่น้องของเขาไม่ว่าจะเป็นเกียรติหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จงขออภัยจากเจ้าของของมันเถิดในวันนี้  ก่อนที่จะไม่มีเงินดีนารฺและดิรฮัมอีกต่อไป ในตอนนั้นหากเขามีการงานที่เป็นความดี(ผลบุญ) มันจะต้องถูกเอาไปเท่าๆ กับจำนวนความอธรรมของเขา(ที่ก่อไว้)  และหากเขาไปมีความดีใดเหลืออีกเลย เขาก็จะต้องรับบาปกรรมของคู่ปรับของเขา โดยเขาจะแบกรับภาระบาปนั้นแทน” (บันทึกโดยอัล-บุคคอรีย์ หมายเลข 2449)

          เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่บุคคลหนึ่งจะทำการปกป้องตัวเขาเองและทรัพย์สินของเขา หากมีผู้ที่มีเจตนาต้องการฆ่า หรือเอาทรัพย์สินของเขาไป

 รายงานจากท่านอบู ฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า

جَاءَ رَجُلٌ إلَى رَسُولِ الله صلى الله عليه وسلم  فَقَالَ: يَا رَسُوْلَ الله أَرَأَيْتَ إنْ جَاءَ رَجُلٌ يُرِيدُ أَخْذَ مَالِي؟ قَالَ: «فَلا تُعْطِهِ مَالَكَ» قَالَ أَرَأَيْتَ إنْ قَاتَلَنِي؟ قَالَ: «قَاتِلْـهُ» قَالَ: أَرَأَيْتَ إنْ قَتَلَنِي؟ قَالَ: «فَأَنْتَ شَهِيْدٌ» قَالَ: أَرَأَيْتَ إنْ قَتَلْتُـهُ؟ قَالَ: «هُوَ فِي النَّارِ». أخرجه مسلم.

ความว่า ได้มีชายผู้หนึ่งมาหาท่านนบี  ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม แล้วกล่าวว่า โอ้ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺท่านจะว่าอย่างไรหากมีบุคคลหนึ่งจะมายึดเอาทรัพย์สินของฉัน ?

ท่านนบีได้กล่าวว่า “ท่านจงอย่ายอมให้ทรัพย์ของท่านแก่เขา”

ชายผู้นั้นกล่าวถามอีกว่า แล้วถ้าหากเขาจะฆ่าฉันล่ะ?

ท่านนบีก็กล่าวว่า “ท่านก็จงต่อสู้กับเขา”

เขาถามต่อว่า แล้วถ้าหากเขาฆ่าฉันตาย?

ท่านนบีก็ตอบ “ท่านก็ถือว่าเป็นผู้ที่ตายชะฮีด”

เขาถามอีกว่า “แล้วถ้าหากฉันฆ่าเขาตายล่ะ?”

ท่านนบีตอบว่า “เขาก็จะต้องตกนรก”

(บันทึกโดยมุสลิม 140)

 

มุหัมมัด บิน อิบรอฮีม อัตตุวัยญิรีย์

ที่มา : หนังสือ มุคตะศ็อร อัลฟิกฮิล อิสลามีย์

แปลโดย : อิสมาน จารง

Islam House