จิตใจที่พอเพียง
  จำนวนคนเข้าชม  6757

 

จิตใจที่พอเพียง

โดย : อาจารย์ กอเซ็ม เดชเลย์

 

 

มีรายงานจากท่านอัมรฺ อิบนิ เอาฟฺ อัลอันซอรี กล่าวว่า ท่านรอซูล กล่าวว่า :

          ท่านทั้งหลายจงรับแจ้งข่าวดี และท่านทั้งหลายจงคาดหวังสิ่งที่จะทำให้ท่านทั้งหลายปิติยินดีเถิด ขอสาบานต่ออัลเลาะห์ว่า ฉัน(ท่านรอซูล) ไม่ได้หวั่นกลัวว่า ความจนจะประสบกับพวกท่านทั้งหลาย แต่ฉันหวั่นกลัวว่า พวกท่านทั้งหลายจะได้รับริสกีที่มากมานในโลกดุนยา เฉกเช่นที่บรรดาชนรุ่นก่อนเคยได้รับมาแล้ว แล้วพวกท่านทั้งหลายต่างแก่งแย่งชิงดี เพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขสบายในโลกดุนยา เช่นเดียวกับที่ชนรุ่นก่อนเคยแก่งแย่งชิงดีกัน แล้วดุนยาก็จะทำให้พวกท่านทั้งหลายได้รับความหายนะเหมือนกับที่ได้ทำให้บรรดาชนรุ่นก่อนได้รับความหายนะมาแล้ว

บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม


สาเหตุของฮะดีษ

          บรรดานักวิชาการฮะดีษได้กล่าวไว้เกี่ยวกับสาเหตุของฮะดีษนี้ว่า :

 
          ท่านนบี ได้แต่งตั้งให้ท่านอบูอุบัยดะห์ อิบนิล ญัรรอฮฺ  เป็นผู้เก็บส่วย(ภาษีคุ้มครอง) จากชาวเมืองบาห์เรน เพราะพวกเขามิได้นับถือศาสนาอิสลาม แต่ว่าพวกเขาเป็นพวกบูชาไฟ(มะยูส) ครั้งหนึ่งท่านอบูอุบัยดะห์ได้กลับมายังมะดีนะห์พร้อมทรัพย์สินที่เก็บได้มาจากเมืองบาห์เรน เมื่อชาวอันซอรทราบข่าวการมาถึงของท่านอบูอุบัยดะห์ อิบนิล ญัรรอฮฺ  ก็ได้มาร่วมละหมาดซุบฮฺกับท่านรอซูล เพื่อทวงสิทธิ และส่วนแบ่งจากภาษีที่ได้รวบรวมมา หลังจากที่ท่านรอซูล เสร็จการละหมาดและกำลังจะกลับ บรรดาชาวอันซอรก็มาดักรอท่าน ท่านรอซูล จึงยิ้มเมื่อท่านเห็นพวกเขาและกล่าวขึ้นว่า :

          ฉันคิดว่าพวกท่านคงจะได้ยินเรื่องที่อบูอุบัยดะห์ กลับมาจากเมืองบาห์เรน พร้อมกับทรัพย์สินจำนวนหนึ่ง

พวกเขาเหล่านั้นตอบว่า :

          ใช่ครับ

ท่านรอซูล จึงได้กล่าวฮะดีษนี้จนกระทั่งจบตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น


คำอธิบาย

          บรรดาซอฮาบะห์ของท่านรอซูล นั้นมีทั้งชาย หญิง พวกเขาเหล่านั้นได้รับการอบรมอย่างสมบูรณ์จากสถาบันที่ดีที่สุด นั่นก็คือสถาบันของท่านนบีมุฮัมหมัด ซึ่งเป็นสถาบันแห่งการปลูกฝังการศรัทธา(อีมาน) ดังนั้นดุนยา(ความเพลิดเพลิน ความสุขสบาย และทุกสิ่งทุกอย่าง) จึงมิได้ทำให้พวกเขาหลงลืมอัลเลาะห์ บรรดาซอฮาบะห์ของท่านรอซูล นั้นแม้ว่าท่านเหล่านั้นจะมีความยากจน หรือมีความต้องการมากเพียงใดก็ตาม แต่จิตใจของพวกท่านเหล่านั้นชั่งสูงส่ง น่ายกย่อง เป็นบุคคลที่มีเกียรติ และเจียมเนื้อเจียมตัวยิ่งนัก

          ดังที่อัลเลาะห์ ได้กล่าวถึงคุณลักษณะของพวกเขาเหล่านั้นไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ว่า :

           คือให้บริจาคทาน) แก่บรรดาผู้ที่ยากจนที่ถูกจำกัดตัวอยู่ในหนทางของอัลเลาะห์ โดยที่พวกเขาไม่สามารถจะเดินทางไปในดินแดนอื่นๆได้ (เพื่อประกอบอาชีพ) ผู้ที่ไม่รู้คิดว่าเขาเป็นผู้มั่งมี อันเนื่องมาจากความสงบเสงี่ยมเจียมตัว โดยที่พวกเจ้าจะรู้จักเขาได้ด้วยเครื่องหมายของพวกเขา พวกเขาจะไม่ขอผู้คนในสภาพที่เซ้าซี้
 

(อัลบะเกาะเราะห์ 2 : 273)

          บรรดาซอฮาบะห์ของท่านรอซูล ได้ทราบข่าวการกลับมาจากเมืองบาห์เรนของท่านอบูอุบัยดะห์ ซึ่งท่านอบูอุบัยดะห์ได้กลับมาพร้อมกับทรัพย์สินจำนวนมาก ท่านเหล่านั้นจึงได้มาร่วมละหมาดซุบฮฺพร้อมกับท่านรอซูล เพื่อจะได้ทวงถามสิทธิที่พวกเขาจะได้รับ หลังจากท่านรอซูล ละหมาดเสร็จและกำลังจะเดินกลับเข้าบ้าน ท่านเหล่านั้นได้เข้าไปหาท่านรอซูล อย่างมีมารยาทและนอบน้อม ถ่อมตน และเนื่องด้วยความละอายที่มีต่อท่านรอซูล พวกท่านเหล่านั้นมิได้เอ่ยปากขอส่วนแบ่งจากทรัพย์สมบัติเหล่านั้น แต่ท่านรอซูลเฉลียวฉลาด และมีสายตาอันเฉียบแหลม พอที่จะทราบถึงเป้าหมายที่แท้จริงของพวกเขา ท่านรอซูล(ซ.ล.)จึงยิ้ม ซึ่งเป็นรอยยิ้มแห่งความพอใจ และอบอุ่นใจ ท่านได้บอกแก่พวกเขาว่า พวกเขาจะได้รับตามที่พวกเขาปรารถนา

          แท้ที่จริงการกระทำของท่านนบี นั้น เป็นการสั่งสอนที่สูงส่ง และเป็นการแนะนำที่ถูกต้อง เพราะในคำพูดของท่านแฝงไว้ซึ่งการยินยอม การให้ แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งคำตักเตือนอันมีคุณค่า และมีประโยชน์ ท่านนบี ได้ใช้คำพูดที่บริสุทธิ์ และมีความหมายลึกซึ้ง ซึ่งจะทำให้พวกเขาจดจำ และไม่หลงลืมคำพูดของท่านได้เลย ดังกล่าวคือความสุขสบาย  และความเพริดแพร้วในดุนยา ช่างไม่เป็นการเหมาะสมเลยที่พวกเขาจะมาลำบากลำบนเพื่อให้ได้มา แต่ท่านนบี ได้บอกว่าให้เอาดุนยา  หรือแสวงหาสิ่งอำนวยความสะดวกในโลกดุนยาเพียงแค่ให้เพียงพอต่อความต้องการ และความจำเป็นเท่านั้น แต่ให้หันมาเอาใจใส่ในสิ่งที่จะทำให้เขาได้รับความสุขในโลกอาคิเราะห์ มนุษย์นั้นไม่ว่าเขาจะรวบรวมสะสมเงินทอง ทรัพย์สมบัติไว้มากเพียงใดก็ตาม เขาจะยังไม่รู้จักเพียงพอ กลับจะยิ่งขวนขวายหามาเพิ่มเติมมากขึ้นอีก

ดังที่ท่านนบี ได้กล่าวไว้ว่า :

          หากว่าลูกหลานของอาดัมนั้นมีหุบเขาที่ทำมาจากทองถึงสองลูก ก็ยังคงปรารถนาที่จะมีหุบเขาที่สาม และไม่มีสิ่งใดจะมาเติมเต็ม(ทำให้พอเพียง) แก่ลูกหลานอาดัมได้ เว้นแต่ดินเท่านั้น(ความตาย) และพระองค์อัลเลาะห์นั้นทรงให้อภัยแก่ผู้ที่ขออภัย กลับเนื้อกลับตัว

          ดังนั้นสำหรับผู้มีสติปัญญาแล้ว จะไม่เอาตัวของเขาไปหมกมุ่นอยู่กับสิ่งไร้ประโยชน์ และละทิ้งสิ่งที่มีค่ายิ่งสำหรับเขา เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกดุนยาเป็นต้นว่า ความสุข ความสบาย ทรัพย์สิน เงินทอง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงของมนุษย์ เพราะความสุขที่แท้จริงนั้นไม่ใช่การมีอำนาจ มีพระราชวัง บ้านเรือนที่ใหญ่โตสวยหรู มีทรัพย์สินเงินทอง มีหน้ามีตา ยศถาบรรดาศักดิ์หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน แต่ว่าความสุขที่แท้จริงนั้นคือความยำเกรงต่ออัลเลาะห์ การมีจิตใจที่พอเพียง

ดังที่นักกวีท่านหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า :

          ฉันไม่เห็นว่าความสุขนั้น คือการสะสมเงินทอง แต่ฉันเห็นว่าผู้ที่มีความยำเกรงต่างหาก คือผู้ที่มีความสุข

 


 

 

 

เผยแพร่โดย : สายสัมพันธ์