พินัยกรรม
  จำนวนคนเข้าชม  10032

หลักการของพินัยกรรม


 โดย .. มุร็อด บินหะซัน
 

          พินัยกรรมเป็นนิติกรรมอย่างหนึ่ง  ซึ่งกฎหมายอิสลามได้ให้การยอมรับ  แม้จะมีลักษณะขัดกับหลักการก็ตาม  กล่าวคือตามหลักการนั้นการทำนิติกรรมจะทำได้ในขณะที่บุคคลยังมีชีวิตอยู่เท่านั้นหากบุคคลได้ตายไปแล้วไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนได้อีกต่อไป  เพราะทรัพย์สินทั้งหมดได้ตกเป็นของทายาทไปแล้ว อย่างไรก็ตามการทำพินัยกรรมนั้น  แม้ว่าจะกระทำในช่วงเวลาที่ผู้ทำยังมีชีวิตอยู่ก็จริง  แต่กำหนดให้มีผลหลังจากผู้ทำได้เสียชีวิตแล้ว  จึงเหมือนกับการทำนิติกรรมหลังจากผู้ทำได้เสียชีวิตไปแล้ว 

          แต่กฎหมายอิสลามได้เปิดช่องหรือโอกาสให้เจ้าของทรัพย์สินมีโอกาสกำหนดการเผื่อตายด้วยการให้เขาสามรถกระทำบางอย่างโดยหวังผลบุญ หรือเพื่อตอบแทนบุคคลที่เคยมีบุญคุณต่อเขา หรือแม้แต่เพื่อหวังให้ความช่วยเหลือเพื่อนพ้องหรือญาติมิตรสหายบางคน  ซึ่งไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของเขา  ขณะเดียวกันหากเขาได้ยกทรัพย์ให้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ก็กลัวว่าจะทำให้มีผลกระทบต่อฐานะของตัวเองได้ กฎหมายอิสลามจึงเปิดโอกาสให้เขาทำนิติกรรมโดยให้มีผลเมื่อเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว    (อิสมาแอ  อาลี, 2546 : 94)
 
  พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสว่า 
  
  “การทำพินัยกรรมให้แก่ผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองและญาติสนิทโดยชอบธรรมนั้น  ได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้า  เมื่อความตายได้มายังคนหนึ่งคนใดในพวกเจ้าทั้งหลายหากพวกเจ้าได้ทิ้งทรัพย์สมบัติไว้ ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของผู้ยำเกรงทั้งหลาย”   (สูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 180)
 
  พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสไว้อีกว่า 
  
  “ทั้งนี้หลังจากพินัยกรรมที่เขาได้สั่งเสียไว้  หรือหลังจากหนี้สิน” (อันนิสาอฺ อายะฮฺที่ 11)
 
  พระองค์อัลลอฮฺได้ตรัสไว้อีกว่า
  
  “หลังจากพินัยกรรมที่พวกเจ้าสั่งเสียมันไว้หรือหลังจากหนี้สิน”  (อันนิสาอฺ อายะฮฺที่ 12)  
                     
          พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานอายะฮฺแรกได้บ่งบอกถึงบทบัญญัติการทำพินัยกรรมให้กับบิดามารดาและญาติสนิท  ส่วนสองอายะฮฺถัดมาได้บ่งบอกถึงการดำเนินการจัดการตามพินัยกรรมนั้นต้องกระทำภายหลังจากการใช้หนี้เสียก่อน          (al-Zuhaili, 1987 : 10)  
                     
         ส่วนหลักฐานจากอัลหะดีษนั้น  หะดีษของท่านสะอัด บุตรอบีวักก็อศที่ต้องการทำพินัยกรรมเศษหนึ่งส่วนสามหรือครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินทั้งหมดของเขา เพราะไม่มีทายาทที่จะรับมรดก  นอกจากบุตรสาวของเขาเพียงคนเดียวเท่านั้น โดยท่านนะบี ได้กล่าวกับเขาว่า      
  
  “แท้จริงอัลลอฮฺได้ทรงมอบให้แก่พวกเจ้าหนึ่งในสามจากทรัพย์สินของพวกเจ้าตอนที่พวกเจ้าเสียชีวิต  เพื่อเพิ่มความดีของพวกเจ้า  ทั้งนี้เพื่อพระองค์จะได้ทรงเพิ่มผลงานของพวกเจ้า” (หะดีษบันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ  หะดีษหมายเลข 2709)  
 
 ท่านนะบีได้กล่าวไว้อีกว่า
  
  “ไม่ใช่สิทธิของมุสลิมคนหนึ่งที่เขาจะนอนเป็นเวลาสองคืน โดยที่เขามีสิ่งที่ต้องการทำพินัยกรรม    นอกเสียจากว่าพินัยกรรมของได้ถูกบันทึกไว้อยู่ที่เขา”   (หะดีษบันทึกโดยอิบนุมาญะฮฺ   หะดีษหมายเลข 2699)  
 

  ความหมายของพินัยกรรม
  
       พินัยกรรม  ตามคำนิยามของนักกฎหมายอิสลามหมายถึง  การยกกรรมสิทธิ์ให้กับผู้อื่นที่มีผลภายหลังจากการตายโดยความเสน่หา จะเป็นวัตถุหรือผลประโยชน์ก็ตาม (al-Zuhaili, 1987 : 8)

 

  องค์ประกอบของพินัยกรรม
  
           องค์ประกอบของการทำพินัยกรรมมี   4  ประการ

ผู้ทำพินัยกรรม

ผู้รับพินัยกรรม

ทรัพย์สินพินัยกรรม

ศีเฆาะฮฺ  (al-Sharbini, 1958 : 39)

ที่มา : มิฟตาฮู่ลอุลูมิดดีนียะห์ บ้านดอน