ตลาดหลักทรัพย์ ตามทัศนะอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  9515

ตลาดหลักทรัพย์ ตามทัศนะอิสลาม 

นิพล  แสงศรี

          สถาบันวินิจฉัยเกี่ยวกับนิติศาสตร์อิสลาม ได้พิจารณาเรื่องตลาดหลักทรัพย์ (ตลาดหุ้น) และสัญญาที่จัดทำขึ้นเพื่อการซื้อขาย หุ้นบริษัท และพันธบัตร ทั้งของภาครัฐและเอกชน  และยังรวมถึงการทำสัญญาซื้อขายรูปแบบต่างๆ  โดยกำหนดเป้าหมายและรูปแบบซื้อขายไว้ได้แก่

     1. เป้าหมายของตลาดหลักทรัพย์คือ การทำให้ตลาดมีความมั่นคง  ถาวร  และเป็นแหล่งรวมหรือพบปะระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย  ตลอดจนเป็นสถานที่ประกอบธุรกิจและการค้า  สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ดี  มีประโยชน์  และยับยั้งการเอารัดเอาเปรียบระหว่างกัน  แต่ประโยชน์ดังกล่าวมักเกิดขึ้นพร้อมกับสิ่งต้องห้ามหลายประการ  เช่น  การพนัน  การเสี่ยง  การเอารัดเอาเปรียบ  ตลอดจนอาจจะเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย  ซึ่งทำให้ไม่สามารถหาข้อชี้ขาดตามหลักกฎหมายอิสลามแบบรวมๆได้  แต่จะต้องหาข้อชี้ขาดและอธิบายเป็นประเด็นๆ

     2. การทำสัญญาซื้อขายสินค้าแบบชำระเงินทันที โดยผู้ขายได้ขายสินค้าที่สามารถส่งมอบทันทีนั้นถือเป็นสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้ ตราบใดที่สัญญาดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ขัดกับหลักกฎหมายอิสลาม  ส่วนกรณีที่ผู้ขายได้ขายในสิ่งที่ไม่สามารถส่งมอบได้  ก็ให้ใช้เงื่อนไขการซื้อขายแบบสะลัม

     3. การทำสัญญาซื้อขายหุ้นแบบชำระเงินทันที  หากผู้ขายได้ขายหุ้นที่สามารถส่งมอบได้  ย่อมถือเป็นสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้  ตราบใดที่บริษัทและองค์กรดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ขัดกับหลักกฎหมายอิสลาม  เช่น  ธนาคารดอกเบี้ยหรือบริษัทสุรา  การซื้อขายหุ้นดังกล่าวย่อมเป็นที่ต้องห้าม 

     4. การทำสัญญาซื้อขายพันธบัตร ไม่ว่าจะเป็นแบบชำระทันทีหรือสัญญาผ่อนชำระ คือสิ่งที่ขัดกับหลักกฎหมายอิสลามเพราะเกี่ยวข้องกับระบบดอกเบี้ย

     5. การทำสัญญาซื้อขายหุ้นและสินค้าแบบจ่ายเงินล่วงหน้า   โดยผู้ขายไม่มีหุ้นหรือสินค้าเป็นของตนเอง (กำลังเป็นที่นิยมในตลาดหุ้นและตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบัน) ถือเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาต¹

     6. การทำสัญญาซื้อขายแบบจ่ายเงินล่วงหน้าในตลาดหลักทรัพย์  ไม่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งจากการซื้อขายแบบสะลัมที่กฎหมายอิสลามอนุมัติ  เพราะมีความแตกต่างกันด้วยเหตุผล 2  ประการคือ

          1) การทำสัญญาซื้อขายแบบจ่ายเงินล่วงหน้าในตลาดหลักทรัพย์นั้น  ไม่มีการจ่ายเงินในสถานที่ๆทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกัน

          2) ตลาดหลักทรัพย์นำสิ่ง (สินค้า) ที่ทำสัญญาซื้อขายไปแล้วมาขายต่อแก่บุคคลอื่นด้วยรูปแบบที่แตกต่างกัน  ทั้งๆที่สินค้านั้นเป็นสิทธิของผู้ขายคนแรก (ก่อนผู้ซื้อคนแรกจะรับมอบ)  วัตถุประสงค์ดังกล่าวเพื่อจะได้เกิดการรับ หรือการจ่ายด้วยราคาที่เหลื่อมล้ำกันระหว่างกลุ่มผู้ซื้อและกลุ่มผู้ขาย  สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะขาดทุนหรือได้กำไร  ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการพนัน  ขณะที่การซื้อขายแบบสะลัมก็ไม่อนุญาตให้ขายสินค้าต่อก่อนที่ผู้ซื้อจะรับสินค้าเช่นกัน

          นอกจากนั้นสถาบันวินิจฉัยเกี่ยวกับนิติศาสตร์อิสลามยังให้ความเห็นว่า  ผู้มีหน้าที่รับชอบ (โดยเฉพาะประเทศอิสลาม) จะต้องไม่ปล่อยให้ตลาดหลักทรัพย์ภายในประเทศดำเนินการอย่างอิสระ และสามารถกระทำทุกอย่างได้ตามความต้องการ  ทั้งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งต้องห้ามและไม่เกี่ยวข้องก็ตาม  และไม่ปล่อยให้นักเก็งกำไรปั่นราคาในตลาดหรือกระทำทุกอย่างตามความปรารถนา  แต่จะต้องคอยกำกับดูแลการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ให้ดำเนินไปอย่างสอดคล้องกับกฎหมายอิสลาม


การดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทจดทะเบียน

          ดร.ซามีย์ บิน อิบรอฮีม อัล-ซุวัยลัม²   หนึ่งจากผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญด้านธนาคารและตลาดหุ้นชะรีอะฮฺ กล่าวว่า บริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทจดทะเบียนจะถูกพิจารณาจาก  2  ประการ

  •  สภาพและการดำเนินงานบริษัท
  •  ประเภทของสัญญาซื้อขายหุ้น

           หากบริษัทฯดำเนินกิจการในสิ่งขัดต่อกฎหมายอิสลาม เช่น ผลิตภาพยนตร์หรือเพลงต้องห้าม  หรือผลิตและจำหน่ายสิ่งต้องห้าม เช่น สิ่งมึนเมา สุกร และซากสัตว์ตาย หรือดำเนินกิจการเกี่ยวกับการประกันภัยเชิงพาณิชย์  หรือดำเนินกิจการเกี่ยวกับการพนัน  ตลอดจนเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย เช่น ธนาคาร  การซื้อขายหุ้นจากบริษัทดังกล่าวถือเป็นสิ่งต้องห้าม

           หากบริษัทฯดำเนินกิจการถูกต้องตามกฎหมายอิสลาม  แต่การลงทุนของบริษัทฯยังมีบางสิ่งบางอย่างของระบบดอกเบี้ยเข้ามาเกี่ยวข้อง  เพราะระบบดอกเบี้ยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปและลำบากแก่การหลีกเลี่ยงหรือแยกเยอะ ขณะทุกคนมีความต้องการจะนำเงินมาลงทุนตามช่องทางต่างๆ  นักนิติศาสตร์อิสลามบางท่านจึงได้กำหนดสินทรัพย์รวมของบริษัทเป็นเปอร์เซ็นต์แน่นอน  กล่าวคือ หนี้ดอกเบี้ยจะต้องไม่เกิน 1 ใน 3 ของสินทรัพย์รวม  การวินิจฉัยดังกล่าวยึดถือผลประโยชน์ทางสังคมเป็นหลัก (al-Masaleh al-Mursalah)  ถ้ามิเช่นนั้นแล้ว  ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยย่อมคือสิ่งที่ต้องห้าม  ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเล็กน้อยหรือมากมายก็ตาม  ทั้งนี้เพราะปรากฏหลักฐานและมตินักปราชญ์อย่างชัดเจน

          ดังนั้นหากบริษัทฯถือตามทัศนะข้างต้น การดำเนินกิจการของบริษัทฯตามหลักกฎหมายอิสลามย่อมถือว่าไม่เป็นไร  แต่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับหนี้ดอกเบี้ยจะต้องไม่เกิน 1 ใน 3 ของสินทรัพย์รวมและต้องสอดคล้องกับการแจกแจงรายละเอียดของสินทรัพย์รวม (บัญชี) กรณีนี้นักลงทุนจำเป็นต้องแยกหนี้ดอกเบี้ยออกจากกำไร  หากพบว่าหนี้ดอกเบี้ยมีมูลค่าเท่ากับ 1 ใน 3 ของสินทรัพย์รวม  ก็จำเป็นต้องตัด 1 ใน 3 ของดอกเบี้ยออกไปทันที

          หากการดำเนินกิจงานของบริษัทปะปน (ผสม) ระหว่างสิ่งที่อนุญาตและสิ่งที่ไม่อนุญาต ไม่ว่าจะเป็นการผลิตหรือการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทั้งที่อนุญาตและไม่อนุญาต  ให้พิจารณารายได้ส่วนใหญ่และคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยรายได้นั้นจะต้องไม่เกินเปอร์เซ็นต์ที่กำหนด  นักวิชาการบางท่านกำหนดไว้ที่ 5 %  จนถึง 10 %    หากมิเช่นนั้นเงินที่ได้มาจากสิ่งต้องห้ามย่อมคือสิ่งต้องห้ามเช่นกัน  ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเล็กน้อยหรือมากก็ตาม³ 

 

1 เนื่องจากมีรายงานจากฮากีม บิน ฮิซาม ได้ถามท่านนบีมุฮัมมัด  ว่า ชายคนหนึ่งมาหาฉันและขอให้ฉันขายในสิ่งที่ฉันยังไม่มีขาย ดังนั้นฉันจึงบอกขายสิ่งที่มีในตลาดแก่เขา  ท่านจึงกล่าวว่า  ท่านอย่าขายในสิ่งที่ไม่ใช่สิทธิของท่าน (บันทึกโดยอันนะซาอีย์  4613, อัรติรมีษีย์ 1232, อะบูดาวูด 3505)

2 ผู้จัดการการศูนย์วิจัย ค้นคว้า และพัฒนาตามกฎหมายอิสลามของธนาคาร al-Rajhi Bank (RB) และเป็นที่ปรึกษาของธนาคาร  Islamic Development Bank (IDB)  และเป็นผู้จัดการของสถาบัน  Islamic Institute for Research and Training (IIRT)
 
3 http://www.borsaegypt.com/archive/index.php/t-198263.html