ต้องรักท่านนะบี มากกว่าสิ่งอื่นใด
  จำนวนคนเข้าชม  11413

จำเป็นต้องรักท่านนบี  มากกว่าสิ่งอื่นใด

ผู้เขียน : ฟัฎล์ อิลาฮีย์ เซาะฮีร


          การรักท่านนบี  เป็นส่วนหนึ่งของการศรัทธา และแท้จริงได้มีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่ามุสลิมแต่ละคนจำเป็นต้องมีความรักต่อท่านนบี  มากกว่าตัวของเขาเอง มากกว่าบิดามารดาของเขา มากว่าลูกเมียของเขา และมากกว่าทรัพย์สินเขาเขาและมนุษย์ทุกๆ คน และผู้ใดที่ไม่มีความรักต่อท่านนบี  เช่นที่กล่าวมานี้ เท่ากับว่าเขาได้นำตัวเขาสู่การลงโทษของอัลลอฮฺไม่ช้าก็เร็ว และต่อไปนี้ผู้เขียนจะขอนำเสนอเพียงบางส่วนของหลักฐานต่างๆ พร้อมกับการชี้แจงที่พอสังเขป

1. จำเป็นต้องรักท่านนบี  มากกว่ารักตัวเอง

อับดุลลอฮฺ บิน ฮิชาม เล่าว่า ครั้งหนึ่งเราอยู่พร้อมกับนบี  และท่านเอามือไปจับมืออุมัร บิน อัลค็อฏฏอบ

อุมัรได้กล่าวแก่ท่านว่า"โอ้รสูลของอัลลอฮฺ แท้จริงท่านเป็นคนที่ฉันรักมากกว่าสิ่งอื่นใดนอกจากตัวฉันเองเท่านั้น"

ดังนั้นท่านนบี จึงกล่าวขึ้นว่า "ไม่ ฉันขอสาบานด้วยพระนามของผู้ที่ตัวฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ จนกว่าตัวฉันจะเป็นที่รักของเจ้ามากกว่าตัวของเจ้าเอง"

ดังนั้นอุมัรจึงกล่าวแก่ท่านว่า "แท้จริง ขณะนี้ ฉันขอสาบานด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ว่าแท้จริงท่านนั้นเป็นที่รักของฉันมากกว่าตัวของฉันเอง"

ดังนั้นนบี  จึงกล่าวว่า "บัดเดี๋ยวนี้แหละ โอ้อุมัร"

(อัลบุคอรีย์ หมายเลข 6632)

          อัลอัยนีย์ได้กล่าวอธิบายคำกล่าวของท่านนบี ที่ว่า "ไม่ ฉันขอสาบานด้วยพระนามของผู้ที่ตัวฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ จนกว่าตัวฉันจะเป็นที่รักของเจ้ามากกว่าตัวของเจ้าเอง" หมายความว่า การศรัทธาของเจ้ายังไม่สมบูรณ์ (อุมดะตุลกอรี 23/169)และท่านได้อธิบายคำกล่าวขอท่านนบีที่ว่า "บัดเดี๋ยวนี้แหละ โอ้อุมัร" หมายความว่า การศรัทธาของเจ้าได้สมบูรณ์แล้ว

(อุมดะตุลกอรี 23/169)

          เป็นที่สังเกตในหะดีษว่า ท่านนบี  ได้กล่าวด้วยการสาบาน ในขณะที่ท่านเป็นคนซื่อสัตย์ในทุกคำพูดของท่านอยู่แล้วและไม่จำเป็นต้องอาศัยวิธีการสาบานเช่นนั้น แต่การสาบานเช่นนี้เป็นการย้ำเน้นหนักขึ้นไปอีก

(อุมดะตุลกอรี 1/143)

 
2. จำเป็นต้องรักนบี  มากกว่ารักบิดามารดาและรักลูก

อบู ฮุร็อยเราะฮฺ เล่าว่า แท้จริงท่านนบี  กล่าวว่า

"ดังนั้นฉันขอสาบานด้วยพระนามของผู้ที่ตัวฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า

ผู้หนึ่งผู้ใดในหมู่พวกเจ้าจะยังไม่ศรัทธา

จนกว่าฉันจะกลายเป็นคนที่เขารักมากกว่าผู้ให้บังเกิดของเขาและลูกของเขา"

(อัลบุคอรีย์ หมายเลข 14)

          ในหะดีษนี้ ท่านนบี  ได้กล่าวด้วยการสาบานอีกครั้ง และจากคำอธิบายจากอิบนุ หะญัร (ฟัตหุลบารี 1/59) ต่อหะดีษนี้ทำให้เราเข้าใจคำว่า "ผู้ให้บังเกิด" ในหะดีษนั้นได้รวมทั้งบิดาและมารดาด้วย (ไม่ใช่เฉพาะบิดาผู้เดียว)


3. จำเป็นต้องรักนบี  มากกว่าครอบครัว ทรัพย์สินและมนุษย์ทุกๆคน

อนัส เล่าว่า ท่านนบี  กล่าวว่า

"บ่าวคนหนึ่งจะยังไม่ศรัทธาจนกว่าฉันจะกลายเป็นคนที่เขารักมากกว่าครอบครัวของเขา

มากกว่าทรัพย์สินของเขา และมากกว่ามนุษย์ทุกๆคน" 

(มุสลิม หมายเลข 69 อบู ยะอฺลา หมายเลข 3895)
 

4. เตือนผู้ที่รักบางอย่างมากกว่าท่านนบี

          อัลลอฮฺทรงข่มขู่ด้วยการลงโทษแก่ผู้ที่มีคนใดคนหนึ่งในหมู่บิดา ลูกหลาน พี่น้อง ภรรยา และเครือญาติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งในบรรดาทรัพย์สิน การค้า และที่พักอาศัยที่ทำให้เขารักและห่วงแหนมากกว่าอัลลอฮฺและรสูลของพระองค์ และการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ ด้วยดำรัสของพระองค์ที่ว่า

«قُلْ إِن كَانَ آبَاؤُكُمْ وَأَبْنَآؤُكُمْ وَإِخْوَانُكُمْ وَأَزْوَاجُكُمْ وَعَشِيرَتُكُمْ وَأَمْوَالٌ اقْتَرَفْتُمُوهَا وَتِجَارَةٌ تَخْشَوْنَ كَسَادَهَا وَمَسَاكِنُ تَرْضَوْنَهَا أَحَبَّ إِلَيْكُم مِّنَ اللهِ وَرَسُولِهِ وَجِهَادٍ فِي سَبِيلِهِ فَتَرَبَّصُواْ حَتَّى يَأْتِيَ اللهُ بِأَمْرِهِ وَاللهُ لاَ يَهْدِي الْقَوْمَ الْفَاسِقِينَ»

          "จงกล่าวเถิด (มุหัมมัด) ว่า หากบรรดาบิดาของพวกเจ้าและบรรดาลูกๆของพวกเจ้าและบรรดาพี่น้องของพวกเจ้า และบรรดาคู่ครองของพวกเจ้า และบรรดาญาติของพวกเจ้า และบรรดาทรัพย์สมบัติที่พวกเจ้าแสวงหาไว้ และสินค้าที่พวกเจ้ากลัวว่าจะจำหน่ายมันไม่ออก และบรรดาที่อยู่อาศัยที่พวกเจ้าพึงพอใจมันนั้น เป็นที่รักใคร่แก่พวกเจ้ายิ่งกว่าอัลลอฮฺและรสูลของพระองค์ และการต่อสู้ในทางของพระองค์แล้วไซร้ ก็จงรอคอยกันเถิด จนกว่าอัลลอฮฺจะทรงนำมาซึ่งคำสั่งของพระองค์ และอัลลอฮฺนั้นจะไม่ทรงนำทางแก่กลุ่มชนที่ละเมิด"

(อัตเตาบะฮฺ : 24)


        อิบนุ กะษีร ได้กล่าวอธิบายอายะฮฺนี้ว่า "หมายความว่า ถ้าหากว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ เป็นที่รักของเจ้ามากกว่าอัลลอฮฺและรสูลของพระองค์ และการต่อสู้ในหนทางของพระองค์ ดังนั้นพวกเจ้าก็จงรอดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเจ้าจากการลงโทษของพระองค์ และภัยพิบัตที่จะประสบกับพวกเจ้า"

(มุคตะศ็อรตัฟสีรอิบนุกะษีร, อัรริฟาอีย์, 2/324)

มุญาฮิดและอัลหะสันกล่าวอธิบายพระดำรัสที่ว่า

«حَتَّى يَأْتِيَ اللهُ بِأَمْرِهِ»

"จนกว่าอัลลอฮฺจะนำคำสั่งของพระองค์มาสู่พวกเขา" หมายถึงการลงโทษที่ทันทีทันใดหรือการลงโทษในภายภาคหน้า

(อัลกุรฏุบีย์ 8/95-96)

          อัซซะมัคชะรีย์ กล่าวอธิบายอายะฮฺนี้ว่า "นี่เป็นอายะฮฺที่แข็งกร้าวมาก ไม่พบว่ามีอายะฮฺใดที่แข็งกร้าวกว่าอายะฮฺนี้"

(อัลกัชชาฟ 2/181)

          อัลกุรฏุบีย์ กล่าวว่า "อายะฮฺนี้เป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าจำเป็นต้องรักอัลลอฮฺและรสูลของพระองค์ และไม่มีความขัดแย้งในสิ่งนี้ และความรักดังกล่าวต้องมาก่อนความรักในสิ่งอื่นทั้งหลาย"

(ตัฟสีรอัลกุรฏุบีย์ 8/95)

 

ผลตอบแทนจากการรักนบี


        แท้จริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้มีใครมารักท่านนบี  และห่วงแหนท่าน เพราะถึงแม้ว่าจะมีใครให้ความรักแก่ท่านมากมายเพียงใด หรือไม่มีเลยก็ตาม ก็ไม่ทำให้สถานภาพความเป็นนบีของท่านมีความสง่างามและโดดเด่นเพิ่มขึ้น หรือต้อยต่ำและด่างพร้อยแม้แต่นิด เพราะท่านมีองค์อภิบาลแห่งสากลโลกเป็นที่รักอยู่แล้วแต่เนื่องเพราะการทุ่มเทความรักให้กับท่านนบี  การน้อมรับคำบัญชาของท่านและการยึดปฏิบัติตามแบบอย่างการดำเนินชีวิตของท่านเป็นข้อแม้หลักที่จะทำให้พระองค์อัลลอฮฺทรงรักใคร่เอ็นดูและอภัยโทษต่อบาปต่างๆที่บ่าวของพระองค์ได้สร้างสมมา ดังนั้นการทุ่มเทความรักทั้งกายและใจให้กับท่านนบี  จึงเป็นสิ่งที่มุสลิมทุกคนจำเป็นต้องมอบให้ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด

อัลลอฮฺตรัสว่า

«قُلْ إِن كُنتُمْ تُحِبُّونَ اللهَ فَاتَّبِعُونِي يُحْبِبْكُمُ اللهُ وَيَغْفِرْ لَكُمْ ذُنُوبَكُمْ وَاللهُ غَفُورٌ رَّحِيمٌ» (آل عمران : 31 )

"จงกล่าว(แก่ประชาชาติของเจ้า)เถิด(โอ้มุหัมมัด) ว่า ถ้าหากว่าพวกเจ้ารักอัลลอฮฺจริง

พวกเจ้าก็จงปฏิบัติตาม(แนวทางของ)ฉัน แล้วอัลลอฮฺจะทรงรักพวกเจ้า และทรงอภัยโทษต่อบาปต่างๆแก่พวกเจ้า

และอัลลอฮฺคือผู้ทรงประทานอภัยและทรงเมตตายิ่ง"

(อาล อิมรอน : 31)

          ดังนั้นความรักของผู้ใดก็ตามที่มีต่อท่านนบี  จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แก่เขา นอกจากว่าอัลลอฮฺจะทรงยอมรับและรักชอบเขาด้วย ถึงตอนนั้นเขาก็จะมีความสุขทั้งบนโลกนี้และโลกอาคีเราะฮฺ

          และต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของผลตอบแทนที่บรรดาผู้ศรัทธาจะได้รับจากผลของการรักท่านนบี  ทั้งบนโลกนี้และในวันอาคีเราะฮฺ อินชาอัลลอฮฺ


1. การรักนบีเป็นหนทางสู่ความหวานชื่นของอิหม่าน

          อัลลอฮฺทรงกำหนดแนวทางต่างๆเพื่อให้บ่าวของพระองค์ดำเนินตาม และแสวงหาความหวานชื่นของอิหม่าน และส่วนหนึ่งของบรรดาแนวทางดังกล่าวคือ การมอบความรักให้กับท่านนบี มากยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ทั้งปวง

อนัส เล่าว่า นบี  กล่าวว่า 

        "มีอยู่สามสิ่ง ผู้ใดที่มีสิ่งเหล่านั้นอยู่ในจิตใจ เขาจะพบกับความหวานชื่นของอิหม่าน (สามสิ่งนั้นคือ) หนึ่ง อัลลอฮฺและรสูลของพระองค์เป็นที่รักของเขามากกว่าสิ่งใดๆ  สอง เขาไม่รักใครคนใดคนหนึ่งนอกจากเพื่ออัลลอฮฺ  สาม เขารังเกียจที่จะหวนคืนสู่การปฏิเสธศรัทธาเสมือนกับที่เขารังเกียจที่จะถูกโยนลงในกองเพลิง"

(อัลบุคอรีย์, 16, มุสลิม 43)

          อุละมาอ์กล่าวว่า ความหมายของ "ความหวานชื่นของอิหม่าน" ในที่นี้ หมายถึง มีความเบิกบานใจ ภาคภูมิใจ อิ่มเอิบ และตื้นตันใจที่ได้ภักดีต่ออัลลอฮฺและรสูลของพระองค์ ยอมแบกรับและอดทนต่อความยากลำบากในแนวทางศาสนา และให้ความสำคัญต่อเรื่องศาสนายิ่งกว่าความสุขสบายและทรัพย์สินทางโลก

(ชัรหุ อันนะวะวีย์ 2/13, ฟัตหุลบารีย์ 1/61)
 

2. ผู้ที่รัก ท่านนบี  จะได้พำนักอยู่กับท่านในวันอาคีเราะฮฺ

อนัส บิน มาลิก เล่าว่า มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี แล้วกล่าวว่า "โอ้รสูลของอัลลอฮฺ เมื่อไหร่จะถึงวันกียามะฮฺ ?"

ท่านนบีถามเขาว่า "แล้วเจ้าเตรียมอะไรไว้สำหรับวันกิยามะฮฺ ?"

ชายผู้นั้นตอบว่า "ความรักที่มีต่ออัลลอฮฺและรสูลของพระองค์" 

ท่านนบีตอบว่า "ถ้าเช่นนั้น เจ้าก็จะได้พำนักอยู่กับคนที่เจ้ารัก" 

              อนัสกล่าวว่า ดังนั้นเราไม่เคยมีความยินดีใดๆ หลังจากการเข้ารับอิสลามของเรา มากยิ่งกว่าคำกล่าวของท่านนบี  ที่ว่า "ดังนั้น เจ้าจะได้พำนักอยู่กับคนที่เจ้ารัก" 

            อนัส กล่าวต่อไปว่า "ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงรักอัลลอฮฺ รักรสูลของพระองค์ รักอบูบักร์ และรักอุมัร เพราะฉันหวังว่าฉันจะได้อยู่พร้อมกับพวกเขา(ในวันอาคีเราะฮฺ) ถึงแม้ว่าฉันไม่ได้ปฏิบัติเฉกเช่นที่พวกเขาได้ปฏิบัติก็ตาม"

(มุสลิม 2639, อัลบุคอรีย์ 6167 ในความหมายที่ใกล้เคียง)

         และในอีกรายงานหนึ่ง อับดุลลอฮฺ บิน มัสอูด เล่าว่า  มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี  แล้วกล่าวว่า

"โอ้รสูลของอัลลอฮฺ, ท่านจะว่าอย่างไรเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่รักและชื่นชมชนกลุ่มหนึ่งซึ่งเขาไม่ทันพบกับพวกเขา?"

ท่านนบี ตอบว่า "(ในวันอาคีเราะฮฺ)แต่ละคนจะได้พำนักอยู่กับคนที่เขารัก"

(อัลบุคอรีย์ 6169, มุสลิม 2640)


อัลลอฮุอักบัร ! ช่างเป็นการตอบแทนที่เลอเลิศและยิ่งใหญ่เหลือเกินสำหรับผู้ที่รักนบี

 

 

 

 

 

 


ผู้แปล : อุษมาน อิดรีส / 
Islam House