มุสลิมสุดโต่ง การยึดมั่นในหลักการ และอิสลามานุวัตร
  จำนวนคนเข้าชม  23926

มุสลิมสุดโต่ง    การยึดมั่นในหลักการอิสลาม และอิสลามานุวัตร

อ.อับดุลสุโก  ดินอะ


          คำว่ามุสลิมสุดโต่ง( Extremism )    การยึดมั่นในหลักการอิสลาม(Islamic Fundamentalism ) "อิสลามานุวัตร" (Islamization)  เริ่มมีใช้มากขึ้นในสื่อทั้งไทยและเทศและแน่นอนปี 2550หรือในอนาคต  อาจจะเป็นปีทองของคำเหล่านี้ก็เป็นได้ โดยเฉพาะ 2 คำแรกที่ผู้อ่านมีทัศนคติที่ไม่ดี  ดังนั้นการติดอาวุธให้กับผู้อ่านและนักวิจัยจึงเป็นเรื่องจำเป็น ความเป็นจริงความสุดโต่งมีอยู่ในตัวของศาสนิกทุกศาสนา (ไม่ใช่หลักคำสอน)ที่ไม่เข้าใจหลักคำสอน

ศาสตราจารย์ ดร.อิรฟาน อับดุลฮาหมีด ฟัตาห์ อาจารย์ประจำวิชาศาสนาเปรียบเทียบมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย ได้บรรยายให้ นิสิตปริญญาเอก(รวมทั้งผู้เขียนในปี 2548 ) วิชาศาสนาเปรียบเทียบว่า

"แต่ละศาสนาจะมีศาสนิกอยู่ 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้เป็นแนวคิดสุดโต่ง 2.ผู้ที่ละเลยต่อศาสนา 3.ผู้มีแนวคิดสายกลาง กลุ่มที่หนึ่งและสอง จะนำความเสื่อมเสียให้กับสังคมและเป็นภัยคุกคามต่อโลก ในขณะที่ผู้ที่มีแนวคิดสายกลางจะนำความผาสุกและสันติสุขต่อโลกนี้"

           ในขณะเดียวกัน กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มคนที่ละเลยต่อศาสนา(บางคน) ไม่ปฏิบัติในสิ่งที่ศาสนาได้ใช้ และละเว้นในสิ่งที่ศาสนาห้าม ส่วนมากกลับมีบทบาทมากในสังคม และสิ่งที่อันตรายที่สุดคือ เมื่อกลุ่มคนเหล่านี้มีอำนาจในการตัดสินใจในนโยบายสาธารณะและการออกกฎหมายของประเทศ กลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในองค์กรของรัฐหรือองค์กรเอกชนที่ทำมาค้าขาย(ที่เกี่ยวกับปัจจัยยังชีพของประชาชน) แน่นอน กลุ่มคนเหล่านี้จะไม่สนใจในธรรมมาภิบาล กลุ่มคนเหล่านี้จะเข้าหาศาสนาบ้างก็ในแง่พิธีกรรมเท่านั้น เช่น เมื่อขึ้นบ้านใหม่และตาย ก็จะเชิญผู้นำศาสนามาทำพิธีกรรม เป็นต้น แต่แนวทางการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กลับไม่นำศาสนามาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต

         สมัยศาสดามุฮัมมัด เคยเตือนสาวกของท่านถึงพิษภัยของลัทธิคลั่งศาสนาไว้ว่า

"พวกเจ้าจงระวังความคลั่งในศาสนา เพราะแท้จริงสิ่งที่ทำให้ชนรุ่นก่อนต้องพินาศก็คือ ความคลั่งในศาสนานั่นเอง"

           เพราะฉะนั้นมุสลิมสุดโต่งจะมีเฉพาะบางคน บางกลุ่มที่ไม่เข้าใจหลักการ  เจตนารมณ์และเป้าหมายที่แท้จริงของศาสนา  และผู้มีใจเป็นธรรมก็ต้องยอมรับว่าศาสนิกของตนโดยเฉพาะมุสลิมมีกลุ่มเหล่านี้จริงๆ

       
          ในขณะคำว่า "ฟันดะเมนทะลิสม์" (Fundamentalism) โดยภาษาแล้วหมายถึง การยึดติดอยู่กับหลักการสำคัญหรือยึดติดอยู่กับคำสอนพื้นฐาน "ฟันดะเมนทะลิสม์" มีสองความหมายด้วยกัน ความหมายหนึ่งของคำว่า "อิสลามิก ฟันดะเมนทะลิสม์" ก็คือการยึดมั่นในหลักการที่ในภาษาอาหรับเรียกว่า "อิตติบะอ์"หรือการยึดมั่นทั้งในลายลักษณ์อักษรและเจตนารมณ์

            ยุคปัจจุบันเป็นยุคของเสรีภาพทางศาสนา ถ้าใครบางคนกล่าวว่าเขายึดถือศาสนาของเขาตามตัวอักษรก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปคัดค้านเพราะเขาผู้นั้นปฏิบัติตามเสรีภาพทางศาสนา ในขณะความหมายที่สองของ "อิสลามิก ฟันดะเมนทะลิสม์" ถูกแปลในความหมายว่าหมายถึงการใช้กำลังบังคับคนอื่นให้นับถือศาสนาของตนเองดังนั้นผู้เขียนมีทรรศนะว่า "อิสลามิก ฟันดะเมนทะลิสม์ในความหมายที่สอง"จะขัดกับเจตนารมณ์และเหตุผลของอิสลามทันที แนวความคิดที่สองของคำว่า "อิสลามิก ฟันดะเมนทะลิสม์" นี้เองได้ก่อให้เกิดสิ่งที่ยุคปัจจุบันเรียกกันว่า "ลัทธิสุดโต่ง" (Extremism) หรือลัทธิก่อการร้ายอิสลาม ทั้งๆที่ความจริงแล้วคำว่า "ลัทธิสุดโต่ง" หรือ "ลัทธิก่อการร้าย" นั้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัวของมันเอง

          ความเป็นจริงหลักคำสอนของอิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติ มันไม่ถูกต้องอย่างแน่นอนที่จะถือว่าอิสลามเป็นที่มาของคำว่าลัทธิก่อการร้ายหรือลัทธิสุดโต่ง ศาสดาแห่งอิสลามได้กล่าวว่า

"ศาสนาที่ถูกประทานแก่ฉันเป็นศาสนาแห่งความกรุณาปรานีและใจกว้าง" 

            ในคำภีร์กุรอานของอิสลามส่งเสริมผู้ถูกกดขี่ให้ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตัวเองและสั่งมุสลิมให้ช่วยเหลือคนที่ถูกกดขี่และได้รับความเดือดร้อนภายใต้เงื่อนไขของการญิฮาด  การก่อการร้ายมิใช่การญิฮาด มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า "ฟะซาดในภาษาภาษาอาหรับ" (การก่อความเสียหายและความหายนะต่อสังคมโลก) ซึ่งขัดกับคำสอนของอิสลาม มีบางคนที่ใช้คำนี้อย่างผิดๆไปสนับสนุนการก่อการร้ายเพื่อแนวทางของตนเองแต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะนำมาใช้สนับสนุนเพราะ อัลลอฮฺได้ดำรัสความว่า :

"เมื่อได้มีการกล่าวแก่พวกเขาว่า ‘จงอย่าก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดิน’  พวกเขากล่าวว่า ‘เปล่า เราเพียงแต่ต้องการแก้ไขสิ่งต่างๆต่างหาก’ แท้จริง  พวกเขาคือผู้สร้างความเสียหาย แต่พวกเขาหาได้ตระหนักไม่" (กุรอาน 2:11-12)

          อิสลาม ต้องการให้มนุษย์ทั้งหมดทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิมสามารถอยู่ร่วมกันอย่างยุติธรรมในความสันติและความสมานฉันท์ อิสลามได้ให้แนวทางที่ครบถ้วนสมบูรณ์แก่มุสลิมเพื่อหาความสงบทั้งในชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคมและอิสลามใช้ให้มุสลิมมีมิตรไมตรีต่อผู้อื่นบนพื้นฐานของความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยเช่นกัน มีโองการอัลกุรอานมากมายที่กล่าวถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับต่างศาสนิก เช่นอัลลอฮได้ตรัสความว่า

"อัลลอฮมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ไม่ได้ต่อต้านเจ้าในเรื่องศาสนาและพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้าในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขาและให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮทรงรักผู้มีความยุติธรรม" (60:8)

            ที่ประชุมภายใต้วัตถุประสงค์พิเศษของผู้นำชาติมุสลิมที่นครมักกะฮ์  ประเทศซาอุดิอารเบีย  ตามคำร้องขอของ กษัตริย์อับดุลเลาะห์ บิน อับดุล อาซิส แห่งซาอุดิอารเบีย เมื่อวันที่ 7-8 ธันวาคม ปี 2548 ได้ประกาศ "ปฏิญญาเมกกะฮ์"   ยอมรับว่ามีมุสลิมหลายคนและหลายกลุ่มมีแนวคิดสุดโต่ง

         อีกคำหนึ่งคือกระแสอิสลามานุวัตร (Islamization current) เป็นกระแสหรือวาทกรรมทางปัญญาของปัญญาชนมุสลิมสมัยปัจจุบัน กระแสดังกล่าวเป็นการโต้เถียงกันอย่างมีเหตุผล ทั้งนี้โดยมีจุดประสงค์ต่าง ๆ อันหลากหลายตามความถนัดของนักวิชาการมุสลิมในหลายสาขาวิชา ท่ามกลางกระแสการอิสลามานุวัตรนักวิชาการทั้งมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์อิสลามานุวัตรเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับอิสลามานุวัตร อย่างไรก็ดีความคลุมเครือในบัญญัติคำศัพท์ยังคงมีอยู่ ดังนั้นการจำกัดความหมายดังกล่าวจึงเป็นเรื่องจำเป็นเบื้องต้นในการทำความเข้าใจ

"อิสลามานุวัตร" (Islamization) ถูกจำแนกว่าเป็นกระบวนการองค์รวมของการกล่อมเกลาทางศาสนา  บ้างก็บอกว่าเป็นมรรควิธี (Method) ที่จะนำมาซึ่งสังคมใหม่ ที่อุทิศให้กับหลักคำสอนของอิสลามในทุกแง่มุม  ความจริงอิสลามานุวัตรเป็นประวัติศาสตร์ทางปัญญาของอิสลาม ซึ่งปัญญาชนมุสลิมในอดีตถึงปัจจุบันได้เพียรพยายามทำตามแบบอย่างท่านศาสดากล่าวคือการกระทำใด ๆ ก็ตามให้สอดคล้องกับหลักการคำสอนของพระเจ้า

          ขณะที่ปัจจุบันอิสลามนุวัตรถือว่าเป็นกระบวนการการสังเคราะห์(Synthesis) ที่นักวิชาการมุสลิมร่วมสมัยได้พยายามคิดค้นและแสวงหาทางออกให้กับสังคมมุสลิม ที่กำลังประสบวิกฤติการพัฒนาตามแบบฉบับของอิสลาม อิสลามานุวัตรจึงเป็นผลโดยตรงมาจากการสังเคราะห์แนวทางการพัฒนาเพื่อให้สอดประสานกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ในสังคมสมัยใหม่ ซึ่งมีต้นแบบการพัฒนามาจากแนวทางการพัฒนาตามรูปแบบตะวันตกที่เน้นแนวทางการพัฒนาเชิงประจักษ์ (Emperical) เชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific) หรือการเน้นแนวทางการพัฒนาแบบโลกียนิยม (Secularism) ซึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการการทำให้เป็นแบบวิถีโลก(Secularization) ที่ต้องการลดความสำคัญและอิทธิพลของศาสนาออกไปจากชีวิตความเป็นจริงในด้านหนึ่ง    (โปรดดู อิสลามศึกษา: อิสลามานุวัตร และ อิสลามานุวัตรองค์ความรู้  นิพนธ์ โซะเฮง : อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น จ.กาญจนบุรี)

          หวังว่าผู้อ่านน่าจะได้รับความรู้อีกแง่มุมหนึ่งจากศัพท์ของคำว่า:  มุสลิมสุดโต่ง (Extremism)    การยึดมั่นในหลักการอิสลาม (Islamic Fundamentalism )  "อิสลามานุวัตร" (Islamization) ซึ่งเป็นกระแสโลกที่ต้องทำความเข้าใจ

 

ที่มา  ศูนย์ข่าวอิศรา