ยาก่อนอาหาร ยาหลังอาหาร ถ้ากินสลับกันได้หรือไม่
  จำนวนคนเข้าชม  12317

ยาก่อนอาหาร ยาหลังอาหาร ถ้ากินสลับกันได้หรือไม่

 

                จากโครงการ "ล้านคำถามเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกร" โดยความร่วมมือของสภาเภสัชกรรม กับ อย. ในวารสารวงการยา โดย ภก.วิรัตน์ ตองรอด พบว่ามีประเด็นคำถามที่น่าสนใจ และเป็นคำถามที่พบได้บ่อยจากการตอบปัญหาการใช้ยาของประชาชน เรื่องช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการใช้ยานี้ จะใช้ยาถี่หรือบ่อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยาชนิดนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ยา A มีระยะเวลาการออกฤทธิ์ประมาณ 8 ชั่วโมง ในการใช้ยาจึงควรแนะนำให้ใช้ยา A นี้ทุก 8 ชั่วโมง ซึ่งอาจระบุเวลาแน่นอนเลยว่าเวลา 6:00 น. 14:00 น. และ 22:00 น. ซึ่งในทางปฏิบัติ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้นอนอยู่ในโรงพยาบาลที่มีพยาบาลเป็นผู้ให้ยาหรือมีการตั้งนาฬิกาปลุกเตือน ก็อาจทำให้ลืมใช้ยาได้ง่าย จึงมีการประยุกต์ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้ยานี้ตามมื้ออาหาร ด้วยการกำหนดให้ใช้ยาวันละ 3 ครั้งตามมื้ออาหาร เพราะผู้ป่วยสะดวกสบายในการใช้และไม่ค่อยลืมการใช้ยา

                ส่วนการใช้ยาก่อนอาหารหรือหลังอาหารนั้น ขึ้นอยู่กับว่าการรับประทานอาหารมีผลต่อการดูดซึมยาชนิดนั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของยาแต่ละชนิด

                ยาส่วนใหญ่ที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน อาหารจะไม่มีผลต่อการดูดซึมของยา คือ ไม่ว่าจะรับประทานยานั้นก่อนหรือหลังอาหารทันที หรือก่อนหรือหลังอาหาร 15 นาที  หรือเป็นชั่วโมงๆ ก็ให้ผลในการรักษาได้เหมือนกัน หรือใช้ยากลุ่มนี้เวลาใดก็ได้ ช่วงเวลาที่รับประทานยาไม่มีผลต่อยา ถ้ายาชนิดใดที่เป็นเช่นนี้จะแนะนำให้รับประทาน "หลังอาหาร" ซึ่งในทางปฏิบัติอาจรับประทานหลังอาหารทันที หรือหลังอาหารสัก 15 นาทีก็ได้ จะให้ผลเช่นเดียวกัน

          ชนิดที่สอง เป็นชนิดที่ต้องรับประทานก่อนอาหาร ทั้งนี้ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ ประการแรก ถ้ารับประทานยาใกล้หรือพร้อมหรือหลังอาหาร น้ำย่อยในกระเพาะอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดจะมาทำลายยา ทำให้ยาสูญเสียฤทธิ์ในการรักษาไป ตัวอย่างยากลุ่มนี้ได้แก่ ยาเพนนิซิลิน วี ยาแอมพิซิลิน เป็นต้น ประการที่สองจะเป็นยาต้านการอาเจียนหรือยาแก้อาเจียนที่ควรรับประทานยาก่อนรับประทานอาหาร เพื่อให้ยาดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตเข้าสู่สมองไปออกฤทธิ์ต้านการอาเจียนก่อนที่เราจะรับประทานอาหาร เพราะอาหารอาจไปกระตุ้นให้เกิดอาเจียนได้ ยาชนิดที่สองนี้จึงแนะนำให้ใช้ "ก่อนอาหาร 1/2 - 1 ชั่วโมง"

                ยา ชนิดที่สามเป็นชนิดที่ต้องรับประทาน "หลังอาหารทันที" ด้วยเหตุผล 2 ประการเช่นกัน คือ ประการแรก ยาบางชนิดจะถูกดูดซึมได้ดียิ่งขึ้นเมื่อรับประทานพร้อมอาหารหรือหลังอาหาร ทันที เช่น ยาต้านเชื้อรา ketoconazole เป็นต้น ส่วนอีกประการหนึ่งยาบางชนิดอาจระคายเคืองหรือกัดกระเพาะอาหารได้ จึงแนะนำให้รับประทานยานี้หลังอาหารทันที เช่น ยาต้านการอักเสบของข้อและกล้ามเนื้อ (NSAIDs) ยาแอสไพริน เป็นต้น

                ส่วนประเด็นที่ว่า "สลับกันได้หรือไม่" นั้น ก็คงมียาเพียงชนิดที่หนึ่งที่ใช้ "หลังอาหาร" ชนิดเดียวเท่านั้นที่สลับกันได้ โดยอาจนำยาที่ระบุว่า "หลังอาหาร" นี้มารับประทานก่อนอาหาร เมื่อรับประทานยานี้แล้วก็รับประทานอาหารต่อได้เลย แต่ขอให้ใช้ในลักษณะเดียวกัน คือ ถ้าจะใช้ก่อนอาหารก็ควรใช้ก่อนอาหารทุกมื้อ หรือถ้าจะใช้หลังอาหารก็ควรใช้หลังอาหารทุกมื้อเช่นกัน ทั้งนี้ เพื่อความสม่ำเสมอของระดับยาที่มีผลต่อการรักษาและไม่ลืมเรื่องการใช้ยา

                อย่างไรก็ตาม ถ้าท่านยังข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อให้ความกระจ่างในเรื่องระยะเวลาที่ถูกต้องในการใช้ยาของท่าน

 

 


ข้อมูลจาก   Health Today