โรคหู คอ จมูกที่พบบ่อยในเด็ก
  จำนวนคนเข้าชม  21113

โรคหู คอ จมูกที่พบบ่อยในเด็ก
  
 


       เนื่องจากหู คอ จมูก เป็นช่องทางที่ผู้มาเยือนอย่างไวรัส เชื้อโรค สิ่งแปลกปลอม สามารถเดินทางผ่านเข้ามาได้โดยตรง โดยเฉพาะเด็กที่ไม่สามารถบอกอาการต่าง ๆ ได้ดีนัก ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรเป็นฝ่ายช่างสังเกตเพื่อนำอาการไปบอกเล่าให้แพทย์ฟัง เพื่อที่แพทย์จะได้วินิจฉัย และทำการรักษาได้อย่างถูกต้องทันการ
      
       ทั้งนี้ โรคหู คอ จมูกที่พบบ่อยในเด็กมีดังนี้

      
       1. โรคของคอ : คออักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ
      
       อาการที่ตรวจบพบ ถ้าเด็กโตจะสามารถบอกได้ว่าเจ็บคอ แต่เด็กเล็กมักจะรับประทานนมได้น้อยลง น้ำลายไหล เพราะกลืนจะรู้สึกเจ็บ ถ้าเป็นมากจะมีไข้ มีแผลในปาก มีกลิ่นปาก อาจคลำพบก้อนเล็ก ๆ ที่บริเวณด้านข้างของลำคอ เนื่องจากมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอโตและอักเสบ
      
       ดังนั้น พ่อแม่หรือคนเลี้ยงต้องช่างสังเกต ถ้าเด็กได้รับการรักษาในระยะ 1 - 2 วันแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบแพทย์อีกครั้ง
      
       2. โรคของจมูก : จมูกอักเสบจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย จากการก่อภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ หรือมีสิ่งแปลกปลอมในจมูก
      
       อาการที่พบคือ มีน้ำมูกไหล หายใจไม่สะดวก แน่นจมูก เลือดกำเดาไหล จมูกมีกลิ่นเหม็น นอนกรน
      
       น้ำมูกไหล อาการร่วมด้วยคือ หายใจไม่สะดวกเพราะแน่นจมูก กวนโยเย ขยี้จมูก ลักษณะของน้ำมูกอาจใส หรือข้น เหลืองหรือเขียว เยื่อจมูกบวมแดงหรือบวมซีด เนื่องจากน้ำมูกไหลจึงต้องเช็คจมูกบ่อย ๆ จนรอบ ๆ จมูกเป็นแผล เด็กต้องหายใจทางปาก อาการเหล่านี้ ถ้าพบในช่วงดึกที่ยังไม่สามารถพบแพทย์ได้ ให้ช่วยเด็กไปก่อนโดยการให้เด็กนอนหัวสูง หรืออุ้มเด็กซบกับไหล่ อย่าให้พัดลมหรือลมจากเครื่องปรับอากาศเป่าตรงมาที่ตัวเด็ก เพราะจะยิ่งทำให้แน่นจมูกมากขึ้น ใส่เสื้อให้อุ่น อย่าให้อุณหภูมิในห้องเย็นเกินไป
      
       เลือดกำเดาไหล ถ้าเลือดกำลังออกจากจมูก ให้บีบจมูกด้านนอกส่วนปลายจมูก (ซึ่งจะตรงกับตำแหน่งที่เลือดออกจากด้านในจมูก) นั่งโน้มตัวมาด้านหน้าเล็กน้อย ถ้ามีเลือดไหลลงคอด้วยให้บ้วนใส่ภาชนะไว้ เพื่อจะได้ทราบปริมาณเลือดคร่าว ๆ ว่ามากน้อยเพียงใด เอาผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งวางบริเวณหน้าผาก เพื่อให้เส้นเลือดหดตัว ถ้าสาเหตุที่ทำให้เลือดออกอยู่ในจมูกจะมีเลือดออกไม่มาก และจะหยุดได้เองหากปฏิบัติตามวิธีห้ามเลือดดังกล่าว
      
       จมูกมีกลิ่นเหม็น อาจมีสาเหตุมาจากไซนัสอักเสบ ถ้าจมูกมีน้ำมูกข้นและเหม็นข้างเดียว มักมีสาเหตุมาจากสิ่งแปลกปลอมในจมูก ซึ่งเด็กอาจตั้งใจใส่เข้าไปหรือเพียงแค่สูดดมแต่เผอิญสิ่งนั้นหลุดเข้าจมูก เด็กจะไม่บอกเพราะกลัวโดนดุ คนเลี้ยงต้องสังเกตและพาไปพบแพทย์
      
       นอนกรน มักมีสาเหตุมาจากต่ออะดินอยซึ่งอยู่ด้านหลังจมูกโต ทำให้ทางผ่านของลมหายใจแคบ ทำให้เกิดเสียงกรน ต่ออะดินอยด์โตนำไปสู่การมีจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ฯลฯ
      
       จมูกอักเสบจากสารก่อภูมิแพ้ เด็กอาจจะมีอาการจาม น้ำมูกใส แน่นจมูก อาจคันจมูก คันตา คันคอ คันหูร่วมด้วย เหล่านี้เกิดจากเด็กได้รับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งอาจเป็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก เช่น ตุ๊กตาขนปุย นุ่น ผ้าห่ม พรม ไรฝุ่น ขนของสัตว์เลี้ยง
      
       3. โรคของหู : หูชั้นกลางอักเสบ หูชั้นนอกอักเสบ ขี้หูอุด สิ่งแปลกปลอมในหูชั้นนอก ฯลฯ
      
       อาการที่ตรวจพบ คือปวดหู หูอื้อ เด็กบางคนจะบอกว่ามีเสียงใหญ่ ๆ ในหู เวลากลางคืนมีเสียงกึกกักในหู อาจกดเจ็บบริเวณหน้าหู จับที่ใบหูแล้วเจ็บ มีน้ำสีขุ่น ๆ หรือหนองไหลจากหู หรือมีแก้วหูทะลุ
      
       หูชั้นกลางอักเสบ เด็กมักมีประวัติว่ามีน้ำมูกหรือเจ็บคอ หรือมีอาการของหวัดมา 2 - 3 วันจึงมีอาการปวดหู เนื่องจากหูชั้นกลางมีท่อต่อกับด้านหลังจมูก เรียกว่าท่อยูสเตเชี่ยน ทำหน้าที่ปรับความดันอากาศภายในหูชั้นกลางให้เท่ากับความดันอากาศภายนอก โดยอาศัยการเปิดปิดของท่อยูสเตเชี่ยน เมื่อเด็กมีด้านหลังจมูกอักเสบ ทำให้ท่อยูสเตเชี่ยนไม่สามารถเปิดปิดได้ตามปกติ เป็นผลให้เกิดหูชั้นกลางอักเสบ ทำให้เด็กปวดหู หูอื้อ ให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ มิฉะนั้นจะเกิดเป็นหนองในหูชั้นกลาง และดันให้แก้วหูทะลุได้
      
       ขี้หูอุด การมีขี้หูอุดตันช่องหูจะทำให้เกิดการปวดหูได้ โดยเฉพาะหลังการไปว่ายน้ำ หรืออาบน้ำแล้วน้ำเข้าหู เพราะน้ำจะทำให้ขี้หูพองตัวไปดันช่องหู ทำให้มีอาการปวดหู กรณีนี้อย่าพยายามแคะหูเอง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อช่องหู ควรให้แพทย์ทำให้ดีกว่า
      
       สิ่งแปลกปลอมภายในหู เด็กมักไม่บอกว่าเอาอะไรใส่หูเพราะเกรงโดนดุ บางครั้งเพื่อนอาจเอื้อเฟื้อใส่ให้ ในกรณีเช่นนี้หากเอาออกเองไม่ได้ ก็ควรไปพบแพทย์
      
       สำหรับผู้ปกครอง การดมหู จมูก ปากของลูกบ่อย ๆ จะช่วยให้ทราบว่าลูกมีอาการอักเสบหรือไม่ เพราะกลิ่นของอวัยวะปกติจะแตกต่างจากกลิ่นยามอักเสบ มีหนอง และรักษาได้ไม่ยากหากพามาพบแพทย์ในเวลาอันสมควร
      
      
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลสมิติเวชค่ะ

Life & Family