7 เทคนิค 'ควร-ไม่ควร' พิชิตใจ 'ลูกกินยาก'
  จำนวนคนเข้าชม  111107

7 เทคนิค 'ควร-ไม่ควร' พิชิตใจ 'ลูกกินยาก'
 
 

       "กินเดี๋ยวนี้นะ ไม่กินแม่จะตี" "โอ๊ย ทำไมกินยากกินเย็นแบบนี้นะลูก ไม่เห็นเหมือนลูกข้างบ้านเลย เดี๋ยวแม่จะเอาไปให้บ้านอื่นเขาเลี้ยงแล้วนะ ถ้าหนูไม่ยอมกิน" หรือ "ได้โปรดกินข้าวนะลูก ถ้ากินหมดชาม แม่จะซื้อของเล่นให้"
      
       คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า แค่เรื่องกินข้าว ก็ทำให้แม่กับลูกเกิดเรื่องร้าวฉานต่อกันได้ โดยเฉพาะเด็กอายุ 2-6 ขวบที่อยู่ในวัยกำลังโต แต่คุณแม่บางคนไม่เข้าใจพัฒนาการของลูก ที่อาจจะกินได้น้อยลง
      
       ส่งผลให้เวลาทานข้าว หรือป้อนข้าวลูกกลายเป็นมื้อที่น่าเบื่อ อารมณ์เสีย และหงุดหงิดขึ้นมาได้ นอกจากนี้ยังส่งผลเสียต่อทัศนคติการกินของลูกและกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่กับคุณลูกให้เกิดการผิดใจ น้อยใจ และห่างเหินกันได้อีกด้วย
      
       วันนี้ จึงขอนำเสนอ 7 เทคนิค ควร-ไม่ควร พิชิตลูกกินยาก มาฝากทุกครอบครัวกัน จะได้ผลมากหรือน้อย ต้องลองปฏิบัติกันดูครับ
      
       * 'ควร' 7 ข้อ ลองทำดู แล้วจะดี *
      
       1. ตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง
      
       คุณแม่ต้องมีความมุ่งมั่นในเรื่องสุขภาพของลูก ซึ่งควรพบแพทย์ เพื่อประเมินภาวะโภชนาการของเด็ก ให้เกิดความมั่นใจว่าลูก “ปกติ” ดี เพราะบางครั้งอาจมีโรคใดๆ แฝง ทำให้ลูกไม่กินอาหารก็เป็นได้
      
       นอกจากนี้ควรสังเกตกราฟการเจริญเติบโต ด้วยการชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูงเทียบกับเกณฑ์ปกติตามวัยของลูก และบันทึกชนิด ปริมาณของอาการที่ลูกกินเข้าไป รวมทั้งขนม และนมในแต่ละมื้อ และแต่ละวันด้วย
      
      
หมายเหตุ
      
       สูตรการคำนวณน้ำหนักตามอายุ (ใช้ได้ตั้งแต่อายุ 1-10 ขวบ)
       น้ำหนักเฉลี่ย = 8 + (2 x อายุเป็นปี)
      
       อย่างไรก็ดี ช่วงน้ำหนักปกติ จะมากหรือน้อยกว่าน้ำหนักเฉลี่ยที่คำนวณได้ตามสูตรประมาณ 2 กิโลกรัม
      
       2. ต้องแน่ใจว่าลูกจะหิวเมื่อถึงเวลากิน
      
       คุณพ่อ หรือคุณแม่ต้องให้ลูกกินเป็นเวลา โดยกำหนดเวลารับประทานอาหารแต่ละมื้อให้ชัดเจน ถ้าลูกเกเรไม่ยอมกินภายใน 30 นาที – 1 ชั่วโมง ให้เก็บรอในอีกมื้อถัดไป พอลูกหิวก็จะกินเอง โดยไม่ต้องให้เคี่ยวเข็ญ แต่คุณแม่ต้องแข็งใจให้มากหน่อยนะครับ
      
       อย่างไรก็ดี ไม่ควรให้ลูกกินขนม หรือของว่างต่างๆ ระหว่างมื้อ หากลูกอยากกินก็อนุญาตให้กินได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องรอหลังจากกินอาหารมื้อหลักให้หมดก่อน ที่สำคัญ ควรให้ลูกออกกำลังกายอย่างพอเพียง หรือถ้าในเด็กที่มีอาการขาดอาหาร หรือวิตามิน อาจให้วิตามินรวมสูตรสำหรับเด็กเบื่ออาหาร เพื่อกระตุ้นความอยากอาหารได้
      
       3. อาหารต้องน่ากิน
      
       คุณแม่จำนวนมากมักตอบไม่ได้ว่า ลูกชอบกินอาหารลักษณะไหน จริงอยู่ว่า คุณแม่อาจรู้ว่าลูกชอบกินอะไร แต่ไม่รู้ว่าชอบรสชาติแบบไหน ชอบแบบแข็งหรือแบบน้ำ หรือหน้าตาแบบไหน แล้วจะให้ลูกกินง่ายได้อย่างไร ถ้ายังไม่รู้ว่าลูกชอบหรือไม่ชอบอะไร
      
       อย่างไรก็ดี การฝึกการกินของลูก ช่วงแรกเริ่มควรเตรียมแต่อาหารที่ลูกชอบ กินง่าย ตกแต่งให้น่ากิน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้อยากกินเอง เป้าหมายสำคัญคือ การสร้างวินัยในการกิน จนลูกปฏิบัติได้สม่ำเสมอ แล้วจึงค่อยเพิ่มอาหารชนิดอื่นๆ และที่สำคัญควรปรับเปลี่ยนรูปแบบ และเมนูอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้เด็กเกิดความอยากอาหารมากขึ้น
      
       4. บรรยากาศดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
      
       คุณแม่ควรจัดที่นั่งรับประทานอาหารให้เหมาะสม ไม่มีสิ่งของอื่นใดมาเบี่ยงเบนความสนใจของลูก เช่น ทีวี หรือของเล่น นอกจากนี้ควรร่วมวงพร้อมหน้า สนทนาแต่เรื่องดีๆ และจัดบรรยากาศขณะกินให้ลูกสนุก จนเกิดความสบายใจ นั่นจะทำให้ลูกสนใจ และอยากกินอาหารขึ้นมาได้

 
       5. ส่งเสริมลูกกินด้วยตัวเอง
      
       คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกกินอาหารด้วยตนเอง ด้วยการจัดเก้าอี้ จาน ช้อน ส้อม ไว้เฉพาะสำหรับลูก เพื่อให้สนุกกับการช่วยเหลือตัวเอง แต่ทั้งนี้ต้องมีผู้ใหญ่ค่อยช่วยด้วย อะไรที่ลูกทำได้แล้ว ให้ลด และเลี่ยงการทำให้ลูกอีก แต่ขอให้ชมเชยความสามารถที่เพิ่มขึ้นของลูก เพื่อให้เกิดกำลังใจในการทำด้วยตัวเองต่อไป
      
       ที่สำคัญเด็กในวัยนี้ ไม่ควรเอาระเบียบเอาเป็นเงื่อนไขมากจนเกินไป และไม่ควรเน้นเรื่องความสะอาด และความเรียบร้อย เพราะจะทำให้เด็กเบื่อ และเซ็งได้ อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการเริ่มต้นการช่วยเหลือตัวเองของลูก ควรให้ลูกมีส่วนร่วมในการจัดโต๊ะอาหารตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไป
      
       6. ตักอาหารทีละน้อยๆ
      
       คุณพ่อคุณแม่ควรตักอาหารครั้งละน้อยๆ ให้ลูกมีกำลังใจว่ากินได้หมด รวมทั้งควรให้ลูกตักด้วยตัวเอง ถ้าหมดแล้วจึงค่อยเติม เพื่อที่ลูกจะได้ไม่เคยชินกับการกินเหลือ หรือต้องถูกบังคับให้กินจนหมดจาน
      
       7. อดทน จริงจัง สม่ำเสมอ และสงบ
      
       การจะปรับให้ลูกกินง่ายขึ้น คุณพ่อคุณแม่จะต้องมีการฝึกวินัยการกินตั้งแต่เริ่มแรก และปฏิบัติตามนั้นอย่างสม่ำเสมอด้วยใจเป็นกลาง (Neutral Attitude) รวมถึงฝึกวินัยเชิงบวก และส่งเสริมการช่วยเหลือตนเองให้ลูกอย่างจริงจัง ไม่ใจอ่อน หรืออ่อนใจเพราะสงสารลูก ที่สำคัญ ไม่ควรแสดงให้ลูกรู้ว่า คุณพ่อคุณแม่กังวล หรือหงุดหงิดเรื่องการกินของเขาดังนั้นเพื่อป้องกันการใช้การไม่กินมาต่อรอง จนกลายเป็นพฤติกรรมทางด้านอารมณ์เรื้อรังต่อไป
      
     
 * ไม่ควร 7 อย่าง เลี่ยงได้ก็ดี ลูกน้อยมีสุข *
      
       1. อย่าพูดคำว่า “อย่า หยุด ห้าม ไม่เอา ไม่ได้นะ หรือต้องทำ” เพราะเด็กจะยิ่งต่อต้าน เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อการกิน คิดว่าเวลาอาหารเป็นเวลาแห่งความทุกข์ ไม่กดดัน มิเช่นนั้น ลูกอาจพาลต่อต้าน หรือเกลียดคุณแม่ไปเลยก็ได้
      
       2. อย่าต่อรอง อ้อนวอน ติดสินบน เพราะจะทำให้เด็กเคยตัว และใช้การไม่กินอย่างใดอย่างหนึ่งมาเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับพ่อแม่
      
       3. ไม่หากิจกรรมมาให้ลูกทำขณะกินอาหาร เช่น ดูทีวี เล่นของเล่น คุณแม่บางคนอาจจะคิดว่าลูกเพลิดเพลินแล้วจะกินข้าวได้ แต่หารู้ไม่ว่า จะยิ่งทำให้วอกแวก และไม่อยากกินข้าวในที่สุด
      
       4. อย่าบังคับถ้าลูกไม่หิว เวลาเราไม่หิว เราก็ยังไม่อยากกิน เด็กก็ไม่ต่างกัน ที่มีความอยากอาหารในแต่ละวัน แต่ละมื้อไม่เท่ากัน การที่คุณแม่คาดหวังให้ลูกกินได้มากเท่าๆ กันทุกมื้อจึงเป็นไปไม่ได้
      
       5. ไม่ควรให้เด็กกินขนมระหว่างมื้อ ให้รอจนกว่าจะถึงมื้อต่อไป เด็กที่รู้จักความหิว จะกินเองได้ดีกว่าเด็กที่ไม่เคยหิว และคุณแม่ต้องไม่ใจอ่อน เห็นว่าลูกไม่กินข้าว กลัวว่าจะขาดสารอาหาร จึงให้กินขนมอื่นๆ แทน นั่นจะทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมจดจำได้ว่า ถ้าไม่กินข้าว จะได้กินขนมแทน เป็นต้น
      
       6. อย่าพยายามเกินจำเป็น ทุกอย่างต้องใช้เวลา ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ดังนั้นอย่ากดดันตัวเอง และลูกเกินจนเกินไป
      
       7. ถ้าคุณแม่หงุดหงิดระหว่างการฝึกวินัยลูก ต้องสงบสติอารมณ์ และคิดเสียว่าเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งนี้อย่าลงที่เด็ก ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม
      
       ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การทำให้ลูกกินได้ ง่ายนิดเดียว เพียงใช้หลัก ควร-ไม่ควร 7 อย่าง คุณแม่หรือคุณพ่อก็จะอารมณ์ดี และไม่หงุดหงิดขณะเวลากินอาหารของลูกแล้ว ทีมงานขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวนะครับ
      
       ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก “คู่มือคุณแม่-ลูกกินแน่ แค่แม่รู้ใจ” จาก Seven Seas

Life & Family