คุณเป็นพ่อแม่แบบไหน
  จำนวนคนเข้าชม  8042

เช็คสักนิดว่า "คุณเป็นพ่อแม่แบบไหน"
  
 

       “ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ ดูแน่ๆ ต้องดูที่ยาย” สำนวนไทยที่ยังคงนำไปใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย เพราะหากเปรียบเด็กเหมือนผลไม้ เราก็จะเห็นว่า ต้นไม้แต่ละต้นก็ให้ผลที่ต่างกันออกไป หากต้นไม้นั้นเป็นพันธุ์ไม้ที่ดี มีความแข็งแรง ผลของมันก็จะดีตามต้นไม้ แต่หากต้นไม้นั้น เอนไปเอนมา ไม่ได้รับการบำรุง และสายพันธุ์ของต้นไม้ชนิดนั้นๆไม่ใช่สายพันธุ์ที่ดี โอกาสที่ผลจะออกมาดี สวย น่ารับประทานก็ดูเหมือนจะยากอยู่ไม่น้อย
      
       ดังนั้นพ่อแม่ทุกคนควรสำรวจตัวเองว่า เราเป็นพ่อแม่แบบไหนกันแน่ ลูกของเรายึดเราเป็นแบบอย่างหรือไม่ หรือมีใครมาว่าลูกบ้างหรือเปล่าว่า พ่อแม่ไม่เคยสั่งเคยสอน!
      
       และหลังจากที่สำรวจตัวเองแล้ว ทีนี้ลองมาดูกันว่า ที่ผ่านมาเวลาอบรมสั่งสอนลูก เพื่อตบให้เข้าที่เข้าทางนั้น พ่อแม่เป็นแบบนี้กันหรือไม่

 
       1.ประเภทรักมากและปกป้องมากเกินไป
      
       พ่อแม่แบบนี้มักให้ความรักกับลูกมากมายเกินความจำเป็น ทะนุถนอมมากเกินไป ปฏิบัติดูแลลูกเหมือนเป็นเด็กเล็กๆทั้งๆที่ลูกก็โตแล้ว แต่พ่อแม่ก็ยังประคบประหงมเหมือนไข่ในหินไม่ยอมให้ห่างสายตา ไม่ยอมให้ทำอะไรเลยเพราะกลัวจะเป็นอันตราย ลูกไม่ต้องคิดหรือตัดสินใจทำอะไรเลย พ่อแม่จะเป็นคนจัดการให้หมด
      
       การเลี้ยงดูลูกแบบนี้ ทำให้ทักษะในการช่วยเหลือตัวเองช้า การที่จะพัฒนาไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นใจในตัวเองมีน้อยมาก เพราะไม่เคยตัดสินใจอะไรด้วยตัวเองเลย ทำให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีลักษณะเหมือนเด็กคือเลี้ยงเท่าไรก็ไม่รู้จักโต และในที่สุด...พ่อแม่ก็รังแกฉัน
      
       2.ประเภทที่ไม่ต้องการลูก
      
       พ่อแม่ที่มีทัศนคติแบบนี้ก็จะไม่รักลูกและพาลเกลียดลูก ซึ่งอาจเนื่องมาจากการมีลูกทำให้พ่อแม่ต้องลำบากยิ่งขึ้นอีกหรือขณะแม่ตั้งครรภ์มี อาการไม่สบายมากทำงานไม่ได้ ทำให้รู้สึกว่าลูกคนนี้นำความทุกข์มาให้โดยอาจจะเกิดตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์หรือเกิดภายหลังคลอดลูกแล้วก็ได้ พ่อแม่ก็ซักทอดว่าเป็น เพราะลูกคนนี้ทำให้ครอบครัวต้องลำบาก
      
       นอกจากนี้พ่อหรือแม่อาจจะเกลียดลูก ซึ่งตนโทษว่าเป็นเหตุให้แม่หรือพ่อบังเอิญมาตายระหว่างตั้งครรภ์หรือการคลอด ลูกคนนั้น พ่อแม่ที่มีความรู้สึกเช่นนี้ก็จะปฏิบัติต่อลูกด้วยความรุนแรง ทั้งวาจา พฤติกรรม และสีหน้า และไม่สนใจลูก ทำให้ลูกพัฒนาไปเป็นเด็กที่กระด้าง ก้าวร้าว ชอบทะเลาะวิวาท หงุดหงิด และมีลักษณะต่อต้านสังคม อาจจะเกิดปัญหาสุขภาพจิต ติดยาเสพติด ติดเหล้า ติดการพนัน ลักขโมยเป็นต้น
  
       3.ประเภทตามใจมากจนไม่มีขอบเขต
      
       พ่อแม่มักจะตามใจลูกทุกอย่าง โดยเฉพาะ ทางวัตถุ ลูกจะได้ทุกอย่างตามที่เขาต้องการเท่าที่ฐานะทางเศรษฐกิจ ของพ่อแม่จะ อำนวย และไม่รู้จักอบรมลูกว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก อะไรควรอะไรไม่ควรปฏิบัติ ปล่อยให้ลูกทำตามใจตัวเองตามความพอใจ ผลเสียก็คือ เมื่อลูกออกสู่สังคมนอกบ้าน ก็จะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ยาก ทำให้เกิดปัญหาในการปรับตัว เอาแต่ใจตัวเองและ ขาดความอดทน มีสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นที่ไม่ราบรื่น อันจะเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาอีกมากมาย
      
       4.ประเภทวิตกกังวลหวาดกลัวมากเกินกว่าเหตุ
      
       พ่อแม่มักจะตีตนไปก่อนไข้ แสดงความวิตกกังวล ในตัวลูกมากเกินกว่าเหตุ เช่นกลัวว่าลูกจะได้รับอุบัติเหตุ ลูกจะถูกหลอกไป ไม่ค่อยยอม ให้ออกไปเที่ยวข้างนอกกลัวโดนแดดหรือกร่ำฝนจะไม่สบาย เวลาลูกไม่สบายเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยก็แสดงความวิตกกังวลมาก ย้ำถามย้ำปฏิบัติต่อลูก จนทำให้เด็กพลอยวิตกกังวลไปด้วย การเลี้ยงลูกแบบนี้จะทำให้ลูกเติบโตเป็นเด็กที่มีแต่ความวิตกกังวล หวาดกลัวห่วงใยในเหตุการณ์ต่างๆจนไม่มีความสุขและขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง
      
       5.ประเภทเจ้าระเบียบจัด
      
       พ่อแม่แบบนี้จะเป็นคนระเบียบจัดต้องการให้ทุกอย่าง เรียบร้อย เป็นระเบียบถูกต้อง ทุกอย่างไม่รู้จักผ่อนปรนให้ ต้องคอยชี้แจงซ้ำซาก ตลอดเวลา ถ้าลูกทำไม่ได้ดังใจก็จะโกรธและตำหนิรุนแรงและคอยจุกจิกจู้จี้กับลูก แม้ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ การเลี้ยงลูกแบบนี้จะทำให้เด็กพัฒนาไปเป็นเด็กที่เต็มไปด้วยความผิดหวัง และมีปมด้อย เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรดี ไม่มีความสามารถเพราะทำอะไรไม่เคยถูกใจพ่อแม่เลย
      
       ทั้งนี้จะเห็นว่าการเลี้ยงลูกประเภทดังกล่าวทั้ง 5 แบบนี้ ทำให้การพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กเป็นไปในทางที่ไม่เหมาะสม ฉะนั้น พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการอบรมเลี้ยงดูลูกที่จะทำให้เกิดผลเสียดังกล่าว แต่ควรปฏิบัติเลี้ยงดูลูกโดยทางสายกลางเป็นสิ่งที่ดีที่สุด คือไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป
      
       พ่อแม่ควรอบรมเลี้ยงดูลูกให้เหมาะสมกับความสามารถและวัยของเด็ก ไม่ควรใช้อารมณ์แต่ควรอบรมสั่งสอนลูกอย่างมีเหตุผล มีวินัยที่ดีแต่ต้องไม่เข้มงวดจนเกินไป และไม่ควรตามใจเด็กจนเกินไป หรือปล่อยปละละเลย จนเกินไป ควรให้ความรักอย่างเหมาะสมและมีเหตุผล ไม่ใช่รักมากอย่างไม่มีขอบเขต ตลอดจนพ่อแม่ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กได้เลียนแบบ
      
       เรียบเรียงข้อมูลจาก มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว

 
Life & Family