การปฏิบัติในสิ่งที่ง่าย และละทิ้งซึ่งความยากลำบาก
  จำนวนคนเข้าชม  10290

 

การปฏิบัติในสิ่งที่ง่าย และละทิ้งซึ่งความยากลำบาก (ตอนที่ 1)

 

โดย : อาจารย์ กอเซ็ม เดชเลย์


มีรายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะห์ กล่าวว่า : ฉันเคยได้ยินท่านรอซูล กล่าวว่า :

          สิ่งใดที่ฉันได้ห้ามท่านทั้งหลายให้ออกห่าง พวกท่านทั้งหลายก็จงออกห่าง และสิ่งใดที่ฉันได้ใช้ให้พวกท่านทั้งหลายปฏิบัติ พวกท่านทั้งหลายก็จงนำมาปฏิบัติตามความสามารถของพวกท่านทั้งหลาย แท้จริงสิ่งที่ทำให้ชนรุ่นก่อนๆประสบกับความพินาศก็คือ การที่พวกเขาถามมาก และการที่พวกเขาขัดแย้งกับบรรดานบีของพวกเขา

บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม

 

ความสำคัญของฮะดีษ

         ฮะดีษนี้มีความสำคัญอย่างมาก และมีประโยชน์อันสูงส่ง ควรค่าแก่การท่องจำและค้นคว้า เพราะฮะดีษนี้พูดถึงกฏเกณฑ์ที่สำคัญอันหนึ่งของอิสลาม อีกทั้งยังเป็นคำพูดของท่านรอซูลที่มีใจความสั้นๆแต่ให้ความหมายมากมายและสมบูรณ์

สาเหตุและที่มาของฮะดีษ

          สาเหตุและที่ของฮะดีษตามที่ปรากฏในซอฮีฮฺของอิมามมุสลิม จากรายงานของท่านอบูฮุรอยเราะห์ กล่าวว่า :  ท่านรอซูล กล่าวว่า :

         โอ้ประชาชนทั้งหลาย แท้จริงอัลเลาะห์ได้กำหนดการทำฮัจญ์แก่พวกท่าน ดังนั้นพวกท่านจงทำฮัจญ์กันเถิด

ได้มีชายคนหนึ่งกล่าวว่า :

         ท่านรอซูลครับ การทำฮัจญ์นั้นจะต้องทำทุกปีเลยหรือ? 

ท่านรอซูล ก็นิ่งเงียบ(มิได้ให้คำตอบ) จนกระทั่งชายผู้นั้นถามซ้ำๆกันถึงสามครั้ง ท่านรอซูล จึงได้กล่าวว่า :

          ถ้าหากฉันบอกว่าใช่ มันก็จะเป็นสิ่งจำเป็น(วาญิบ) และพวกท่านก็จะไม่สามารถทำได้

และท่านรอซูล ก็ได้กล่าวอีกว่า :

          พวกท่านจงปล่อยไปเถิดในสิ่งที่ฉันละทิ้ง(เว้นไว้) ให้กับพวกท่าน แท้จริงชนรุ่นก่อนๆนั้นได้รับความพินาศเนื่องจากพวกเขาถามมาก และพวกเขาขัดแย้งกับบรรดานบีของพวกเขา ดังนั้นเมื่อฉันใช้ให้พวกท่านปฏิบัติสิ่งหนึ่ง พวกท่านก็จงปฏิบัติสิ่งนั้นตามความสามารถ และเมื่อฉันห้ามพวกท่านจากสิ่งหนึ่ง พวกท่านก็จงละทิ้งเสีย

คำอธิบาย

          คำว่า “ห้าม” ตามที่ปรากฏในอัลกุรอาน และฮะดีษมีความหมายหลายความหมายด้วยกัน แต่ความหมายของคำว่า “ห้าม” ในฮะดีษนี้ ก็คือ ห้ามเนื่องจากเป็นบาปและเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

          ห้ามเนื่องจากเป็นบาป(ฮะรอม) อาทิเช่น ห้ามการทำซินา การดื่มสุรา ดอกเบี้ย การลักขโมย การฆ่าโดยปราศจากเหตุอันสมควร ข้อห้ามในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นนั้น จำเป็นต้องออกห่าง และไม่อนุญาตให้ผู้ใดกระทำโดยเด็ดขาด เว้นแต่เมื่อมีความจำเป็นและจะอนุญาตให้กระทำได้ภายใต้กฏเกณฑ์และเงื่อนไขที่อัลเลาะห์ ได้ทรงกำหนดเอาไว้เท่านั้น

          ห้ามเนื่องจากเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ(มักรูฮฺ) เช่น ห้ามรับประทานกระเทียมหรือหัวหอมดิบสำหรับผู้ที่ต้องการจะไปละหมาดญะมาอะห์ หรือละหมาดวันศุกร์ ข้อห้ามในลักษณะเช่นนี้อนุญาตให้กระทำได้ จะด้วยความจำเป็นหรือไม่ก็ตาม แต่ทว่าละทิ้งและออกห่างจะเป็นการดีกว่า

ความจำเป็นที่อนุญาตให้กระทำในสิ่งต้องห้าม

          บางครั้งมุสลิมอาจตกอยู่ในสภาพที่มีความจำเป็นจะต้องกระทำในสิ่งที่เป็นที่ต้องห้าม ซึ่งหากเขางดเว้นจากสิ่งดังกล่าวแล้ว เขาอาจจะต้องพบกับความหายนะหรือเสียชีวิตได้ ดังกล่าวนี้เองเราจะทราบว่าบทบัญญัติของอัลเลาะห์นั้น ได้ผ่อนผันให้กับปวงบ่าวและอนุญาตให้กระทำในสิ่งที่เป็นที่ต้องห้าม โดยไม่มีโทษหรือความผิดใดๆ

อัลเลาะห์ตรัสไว้ว่า :

          แล้วผู้ใดได้รับความคับขัน โดยมิใช่ผู้เสาะแสวงหา และมิใช่เป็นผู้ละเมิดขอบเขตแล้วไซร้ ก็ไม่มีบาปใดๆแก่เขา แท้จริงอัลเลาะห์เป็นผู้ทรงอภัยโทษเสมอ

          (อัลบะเกาะเราะห์ 2 : 173)

          ตัวอย่างเช่น : อนุญาตให้รับประทานซากสัตว์สำหรับผู้ที่ไม่มีอาหาร และไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้ แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังก็คือ คนส่วนใหญ่เมื่อนำกฏเกณฑ์ข้อนี้ไปใช้ หรือไปปฏิบัติก็จะปฏิบัติโดยไม่พิจารณาถึงขอบเขตของคำว่า จำเป็น

          ด้วยเหตุนี้บรรดานักวิชาการจึงให้คำจำกัดความคำว่า “จำเป็น” คือ :  ความจำเป็นที่จะทำให้มนุษย์ได้รับอันตรายถึงชีวิต หรือทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายได้รับอันตราย หรืออาจเป็นเหตุทำให้อาการป่วยทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และในขณะเดียวกันนักวิชาการได้จำกัดความคำว่า “อนุญาต” ว่าหมายถึงอนุญาตให้กระทำสิ่งที่ห้ามเท่าที่จะทำให้พ้นขีดอันตรายได้หมดความจำเป็น

          ดังนั้นผู้ที่มีความจำเป็นที่จะต้องรับประทานซากสัตว์ก็มิใช่รับประทานจนอิ่ม หรือกักตุนเอาไว้ และสิ่งที่ไม่ถือว่าเป็นความจำเป็นเช่นกันก็คือ การแสวงหาสิ่งอำนวยความสะดวกในโลกนี้ เพื่อความเพียบพร้อม เช่นผู้ที่มีทุนจำกัด ไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยเพื่อจุดประสงค์ที่จะให้การค้าขายของเขาใหญ่โตหรือกว้างขวาง และผู้ใดที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ ก็ไม่จำเป็นที่เขาจะต้องนั่งร่วมวงดื่มสุราโดยเพิกเฉยหรือไม่ปฏิเสธแต่ประการใด และใครที่มีสามีที่ละเลย ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนา ก็ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องแต่งกายที่ไม่เรียบร้อย ที่ผิดหลักศาสนา หรือละความละอายเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการและเพื่อเอาใจสามี

ความยากลำบากจะนำมาซึ่งความง่ายดาย

          เป็นทื่ทราบกันดีว่าบทบัญญัติของอัลเลาะห์ นั้น มีเป้าหมายเพื่อให้มนุษย์ได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ด้วยเหตุนี้ บทบัญญัติจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อความง่ายดายและความสะดวกสะบายแก่ปวงบ่าว

อัลเลาะห์ ตรัสว่า :

          อัลเลาะห์ทรงประสงค์ให้มีความสะดวกแก่พวกเจ้า และไม่ทรงประสงค์ให้มีความลำบากแก่พวกเจ้า 

          (อัลบะเกาะเราะห์  2 : 185)

พระองค์ตรัสว่า :

          และพระองค์มิได้ทรงทำให้เป็นการลำบากแก่พวกเจ้าในเรื่องศาสนา

         (อัลฮัจญ์ 22 : 78)

และท่านรอซูล ได้กล่าวว่า :

          แท้จริงศาสนานี้ (หมายถึงศาสนาอิสลาม) เป็นศาสนาที่ง่ายดาย ดังนั้นท่านทั้งหลายจงทำให้เป็นสิ่งที่ง่ายดายและอย่าทำให้เป็นที่ยากลำบาก

         (บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์)

ขอบเขตของความยากลำบากซึ่งนำมาซึ่งความง่ายดาย

          ความยากลำบากบางอย่างนั้นจะติดอยู่กับบทบัญญัติของศาสนาโดยไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะว่าเป็นธรรมชาติของบทบัญญัตินั้นๆ ความยากลำบากในลักษณะนี้ ไม่มีผลทำให้เกิดการผ่อนผันหรือยกเว้น

          เป็นต้นว่าไม่อนุญาตให้ผู้หนึ่งละศีลอดในตอนกลางวันของเดือนรอมฎอนเนื่องจากความหิว หรือไม่ประกอบพิธีฮัจญ์สำหรับผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์ มีค่าใช้จ่ายพอเพียงในการทำฮัจญ์ อันเนื่องมาจากความลำบากในการเดินทางหรือเพราะต้องห่างครอบครัวหรือบ้านเกิด

          และความยากลำบากบางอย่างนั้นมิได้เป็นธรรมชาติของบทบัญญัติสามารถที่จะแยกแยะออกจากกันได้ในสภาพส่วนใหญ่ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นฉับพลัน กะทันหันโดยไม่คาดคิด ซึ่งเกินความต้องการของบทบัญญัติ ความยากลำบากชนิดนี้มีอยู่สองระดับด้วยกันคือ ;

1-มีความยากลำบากเพียงน้อยนิด

          เช่นการเดินทางเพียงระยะทางสั้นๆ หรือเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย หรือเสียประโยชน์ทางด้านวัตถุ ความยากลำบากในลักษณะนี้ไม่ทำให้ข้อบังคับหรือข้อปฏิบัตินั้นหมดไป

2-มีความยากลำบากมาก ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้ตัวเขา ทรัพย์สิน เกียรติยศของเขาได้รับอันตราย

         เช่นผู้ที่จะเดินทางไปทำฮัจญ์ แต่รู้ว่าในระหว่างทางนั้นมีโจรปล้นสะดม หรือเกรงว่าขณะไม่อยู่บ้านจะมีคนมาลักทรัพย์ หรือทำอันตรายต่อคนในครอบครัว ความยากลำบากเช่นนี้ มีผลทำให้เกิดการผ่อนผัน หรือทำให้ข้อบังคับนั้นหมดไป

 

โปรดติดตามตอนต่อไป


การปฏิบัติในสิ่งที่ง่าย และละทิ้งซึ่งความยากลำบาก 2 >>>Click