การศึกษาสมัย คุลาฟาอ์ อัล รอชิดีน
  จำนวนคนเข้าชม  9319

 

การศึกษาสมัย คุลาฟาอ์ อัล รอชิดีน


          สมัยคุลาฟาอ อัล รอชิดีนถือเป็นสมัยที่ต่อเนื่องจากสมัยของท่านศาสดา  บรรดาคำสอนและตัวอย่างต่าง ๆ ที่บรรดาเศาะหาบะฮได้ร่ำเรียนหรือประสบมา ยังติดตาตรึงใจพวกเขาอยู่เสมอ แม้ในยุคต้น ๆ มีกลุ่มชนบางกลุ่มที่แสดงความเป็นปรปักษ์กับอิสลาม แต่กลุ่มดังกล่าวมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับสมัยต่อมา และได้ถูกกำราบลงอย่างง่ายดาย

          การศึกษาในสมัยนี้มีส่วนคล้ายกับการศึกษาในสมัยของท่านศาสดา  เพราะบรรดาคุลาฟาอ อัลรอชิดีนเป็นผู้ปฏิบัติตามซุนนะฮ์ อย่างเคร่งครัด อีกทั้งเคาะลีฟะฮทั้งสี่เป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับท่านศาสดา  ยิ่งไปกว่านั้นการปฏิบัติของคุละฟาอทั้งสี่เป็นที่ยอมรับในแง่ของชะรีอะฮ์ 

ท่านนะบีมุฮัมมัด  กล่าวว่า

اوصيكم بتقوى الله والسمع والطاعة وان عبدا حبشيا فإنه من يعش منكم بعدى فسيري اختلافا كثيرا ، فعليكم بسنتي وسنة الخلفاء المهديين الراشدين ، تمسكوا بها وعضوا عليها بالنواجذ وإياكم ومحدثات الامور فإن كل محدثة بدعة وكل بدعة ضلالة. رواه ابوداود

“ ฉันขอเตือนท่านทั้งหลายให้พึงยำเกรงอัลลอฮ์ ท่านจงเชื่อฟังและภักดีต่อผู้ปกครองแม้เขาจะเป็นทาสผิวดำจากอบิสสิเนีย ( เอธิโอเปียในปัจจุบัน )

แน่นอนใครมีชีวิตอยู่ต่อไปหลังจากฉัน เขาจะได้เห็นความขัดแย้งอย่างมากมาย

ดังนั้นท่านทั้งหลายพึงยึดมั่นในแบบฉบับของฉัน และแบบฉบับของคุละฟาอ อัล  รอชิดีนผู้ได้รับทางนำ 

ท่านจงยึดไว้ให้มั่นและจงกัดไว้ด้วยฟันกราม  ท่านทั้งหลายพึงระวังเรื่องบิดอะฮต่างๆ เพราะที่จริงทุกบิดอะฮ์เป็นเรื่องหลงผิด ”  

 (รายงานโดยอบู ดาวูด)

          แม้ว่าการกระทำหรือการชี้แนะของคุละฟาอทั้งสี่จะเป็นที่ยอมรับ แต่พวกเขายังคงปฏิบัติตามแบบฉบับอย่างเคร่งครัด อะไรที่นะบี  ปฏิบัติไว้ พวกเขาก็จะปฏิบัติตาม อะไรที่ท่านได้ห้าม พวกเขาก็จะละทิ้ง แม้ว่าในสมัยนี้คุละฟาอต้องประสบกับปัญหานานัปการ ซึ่งไม่เคยปรากฏในสมัยของท่านศาสดา   แต่คุละฟาอทั้งสี่ก็ไม่ย่อท้อ และยังคงยึดมั่นกับหลักคำสอนตลอดมา

          จากความใกล้ชิดอีกทั้งยังได้ประสบพบเห็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและการศึกษา คุละฟาอทั้งสี่จึงตระหนักดีว่าตัวอย่างที่แท้จริงของพวกเขาคือแบบอย่างจาก ศาสดามุฮัมหมัด  ดังนั้นการศึกษาในสมัยคุละฟาอทั้งสี่ จึงไม่แตกต่างอะไรกับการศึกษาในสมัยของท่านศาสดา  และการศึกษาในสมัยคุละฟาอ์ มีความผูกพันธ์กับอัล กุรอานและอัล หะดีษอย่างแน้นแฟ้น

          ในสมัยของคุละฟาอทั้งสี่นี้แนวคิดนอกรีตแทบจะไม่มี  หรือมีแต่น้อยมาก มุสลิมส่วนใหญ่ยึดมั่นกับตัวอย่างของท่านศาสดา   อย่างจริงจัง หลังจากการเสียชีวิตของท่านศาสดา   มัสยิดซึ่งเป็นสถาบันการศึกษายังคงดำเนินต่อไป (Afendi and Baloch, 1980 : 143)

     - อับดุลลอฮ อิบนุ อุมัร (Abd Allah Ibnu Umar) สัยด อิบนุ ษาบิต (Zayd Ibnu Thabit) ญาบิร อิบนุ อับดุลลอฮ (Jabir Ibnu Abd Allah) และอาอิชะฮ (Aishah) มารดาแห่งศรัทธาชนเป็นผู้สอนอยู่ที่มัสยิดกูฟะฮ

     - อบู มูซา อัล อัชอารี (Abu Musa al Ash ari) สอนอยู่ที่มัสยิดบัศเราะฮ

      - และอบู ดัรดาอ (Abu Darda') สอนอยู่ที่มัสยิดดามัสกัส (Lunggulung, 1986 : 49)

          นอกจากนี้เศาะหาบะฮบางคนจะถูกส่งไปยังเมืองต่าง ๆ เพื่อสอนศาสนาแก่ประชาชนที่พึ่งเข้ารับอิสลาม การปฏิบัติทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นสิ่งที่ท่านศาสดามุฮัมหมัด   ได้ปฏิบัติเสมอมา  มัสยิดมีความสำคัญและได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ

          ในสมัยของเคาะลีฟะฮอุมัร ท่านได้แนะนำบรรดานักปราชญ์มุสลิมให้ตระหนักถึงหน้าที่ของตนเอง หน้าที่ของผู้เรียนซึ่งสรุปได้ดังนี้ 

1. ให้แสวงหาความรู้ 

2. ผู้ที่จะแสวงหาความรู้ต้องมีจิตใจที่สงบและมีมารยาทที่ดีงาม 

3. ผู้แสวงหาความรู้ต้องถ่อมตน และเคารพครูบาอาจารย์ 

4. ผู้สอนต้องถ่อมตนต่อนักเรียนของเขา 

5. อย่าเป็นนักปราชญ์ที่หยิ่งยโส เพราะความรู้จะไม่ให้ประโยชน์อะไรเลย หากผู้รู้นั้นมีมารยาทที่เลวทราม (Dalip, 1990 : 74)
 

 

Islamic Information center of psu Fathoni