รู้ทัน 'ไวรัสโรต้า' วายร้ายทำเด็กเล็ก 'ท้องร่วงรุนแรง'
  จำนวนคนเข้าชม  7606

รู้ทัน 'ไวรัสโรต้า' วายร้ายทำเด็กเล็ก 'ท้องร่วงรุนแรง'
 
 

       เม็ดฝนสาดโปรยเข้ามาในประเทศไทยอีกระลอก ทำให้เชื้อโรคทั้งหลายต่างเริงระบำต้อนรับหน้าฝนกันอย่างพร้อมหน้า เพราะเป็นช่วงที่ฟัก และแพร่เชื้อไปสู่คน หรือสัตว์ได้ดี และหนึ่งในเชื้อนั้นคือ “เชื้อไวรัสโรต้า” สาเหตุทำให้เกิดโรคท้องร่วงในเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กวัย 6 เดือนถึง 2 ขวบ ซึ่งนับเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโรต้ามากที่สุด
 
       จากข้อมูลสถิติทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงจำนวนเด็กเสียชีวิตด้วยเชื้อไวรัสโรต้า 5 แสนรายต่อปีทั่วโลก โดยร้อยละ 90 เป็นเด็กเล็กที่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย และแอฟริกา ด้วยเหตุผลที่พ่อแม่ในหลายประเทศของภูมิภาคนี้ ยังขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับ “เชื้อไวรัสโรต้า” จึงขาดการเตรียมตัว เพื่อปกป้องลูกน้อยให้รอดพ้นจากเชื้อไวรัสดังกล่าวนี้ได้ทันการณ์
      
       โรคท้องร่วงที่เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้านี้ “นพ.พรเทพ สวนดอก” กุมารแพทย์สาขาโรคติดเชื้อ ศูนย์การแพทย์โรงพยาบาลกรุงเทพ เคยให้ข้อมูลกับทีมงานในข่าว “รวมฮิตโรคเด่น-เด็กเสี่ยงเป็นมากที่สุดในหน้าฝน” ว่า โรคท้องเสีย เกิดขึ้นเพราะลำไส้อักเสบจากการติดเชื้อโรต้าไวรัส ซึ่งมาจากของเล่น อาหาร ของใช้ใกล้ตัวเด็กที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะเด็กเล็กที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และไม่เข้าใจเรื่องของสุขอนามัย จึงมักนำของเล่น หรือของใช้ที่มีเชื้อนี้เข้าปากโดยไม่รู้ตัว จากนั้นจะถูกขับออกทางอุจจาระของผู้ป่วย เกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่า ในเด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ขวบแทบทุกคนจะเคยติดเชื้อนี้มาแล้ว
      
       อาการส่วนใหญ่ที่พบ คุณหมอบอกว่า เด็กจะมีอาการท่วงเสีย อาเจียน บางรายจะมีไข้สูง กินได้น้อย งอแง ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ ดังนั้นเด็กทารกควรให้กินนมแม่จะช่วยได้ระดับหนึ่ง และดูแลสุขลักษณะการกิน การเล่นให้เหมาะสม ต้องสะอาด และปลอดภัย ขณะเดียวกันไม่ควรพาเด็กเข้าเนอสเซอรี่เร็วเกินไป เพราะเด็กที่อยู่ด้วยกันเยอะๆ การแพร่กระจายของเชื้อจะมีได้ง่าย
 
 
       อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันที่มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย ซึ่งได้รับอนุมัติใช้ทั้งหมด 2 ชนิด คือวัคซีนที่มีส่วนประกอบของเชื้อโรต้า 1 สายพันธุ์ และ 5 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดรับประทาน (หยอด) ที่มีข้อมูลความปลอดภัย และสามารถเริ่มให้กับทารกอายุตั้งแต่ประมาณ 6-12 สัปดาห์ การต้องเริ่มให้ในช่วงอายุดังกล่าวนั้น เป็นเพราะในช่วงสัปดาห์แรกๆ เด็กทารกจะยังได้รับภูมิคุ้มกันที่สร้างจากรก และการกินนมแม่ การสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโรต้า จึงควรเริ่มต้นในช่วงอายุประมาณ 2 เดือน และครั้งที่สองตอนอายุครบ 4 เดือน ซึ่งเด็กอาจจะเริ่มมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคที่อยู่รอบๆ ตัวแล้ว
      
       ทั้งนี้ เมื่อต้นปีได้เกิดความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ในแวดวงสาธารณสุขโลก เมื่อกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาเชิงกลยุทธิ์ขององค์การอนามัยโลก หรือ SAGE ออกมาแนะนำให้มีการนำวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าบรรจุในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อช่วยปกป้องเด็กเล็กทั่วโลกให้รอดพ้นจากการนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล หรือเสียชีวิตจากโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า
 
 
       ด้านความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในครั้งนี้ เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณเตือนภัยครั้งสำคัญอีกครั้ง เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยของเชื้อไวรัสโรต้าให้กับพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก และในกลุ่มคู่สมรสที่เตรียมตัวมีบุตรคนใหม่ ทั้งนี้เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น ซึ่งวัคซีนตัวนี้ทารกสามารถรับได้ไปพร้อมๆ กับวัคซีนตัวอื่นๆ ในเวลาเดียวกันได้ ซึ่งทารกที่ได้รับวัคซีนนี้แล้ว จะมีความเสี่ยงต่ำกว่าทารก หรือเด็กอื่นๆ ที่ต้องนอนโรงพยาบาลด้วยอาการท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรต้า
      
       อย่างไรก็ตาม ในหลายประเทศทั่วโลกทั้งในทวีปอเมริกา และยุโรป ได้มีการบรรจุวัคซีนโรต้าลงในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันแห่งชาติแล้ว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าให้กับเด็กทารกทุกๆ คน เช่นเดียวกับวัคซีนป้องกันโรคพื้นฐานอื่นๆ เช่น คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นต้น
      
       ขณะที่อีกหลายประเทศ ในแถบเอเชีย และแอฟริกา รัฐบาลยังไม่มีการบรรจุวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้าในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ดังนั้น จึงตกเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพของลูกน้อย พร้อมกับหาข้อมูลสุขภาพให้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อรู้เท่าทันเชื้อโรคใหม่ๆ ที่จะเตรียมคุกคามเด็กเล็กให้เจ็บป่วย และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในแต่ละปี
 

 

Life & Family / Manager online