การด่าทอ และการสาปแช่ง
  จำนวนคนเข้าชม  27570

 

การด่าทอ และการสาปแช่ง

 

โดย : ผู้หวังความเมตตาจากอัลเลาะห์

 

          มีคนบางกลุ่ม บางประเภทที่ไม่รู้จักระงับลิ้น ไม่สามารถควมคุมวาจาของตนเองได้ มีการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นโดยการใช้คำพูดที่หยาบคาย ไม่สุภาพ ด่าทอ สาปแช่ง เพียงเพราะไม่พอใจหรือขัดแย้งกับเขาในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่นนี้นับเป็นการทำร้ายกันและกัน เป็นการกระทำที่ขัดกับคำสอนของอิสลาม

          มุสลิมจะไม่ทำร้ายผู้อื่นแม้จะด้วยวาจา มุสลิมที่ละหมาด ถือศีลอด และปฏิบัติศาสนกิจอื่นๆ ตามคำสั่งของอัลเลาะห์ และรอซูลของพระองค์ จะยังไม่เป็นมุสลิมที่แท้จริงตราบใดที่เขายังละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น ด้วยการทำร้ายเขาด้วยมือ และวาจา

ดังฮะดีษที่ว่า :

المسلم من سلم المسلمون من لسا نه ويده

 “มุสลิมที่แท้จริงคือ ผู้ที่มุสลิมทั้งหลายปลอดภัยจากลิ้นและมือของเขา”
(บันทึกโดยอิมามอัลบุคอรีย์ และอิมามมุสลิม)

โทษของผู้ที่ด่าทอ

        อัลกุรอานและซุนนะห์ได้ระบุโทษของผู้ที่ด่าทอไว้ดังนี้ อัลเลาะห์ ตรัสว่า :

          “และบรรดาผู้กล่าวร้ายแก่บรรดาผู้ศรัทธาชาย และบรรดาผู้ศรัทธาหญิงในสิ่งที่พวกเขามิได้กระทำ แน่นอน พวกเขาได้แบกการกล่าวร้ายและบาปอันชัดแจ้งไว้”
  (อัลอะห์ซาบ 33 : 58)

ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิ มัสอู๊ด กล่าวว่า : ท่านรอซูล กล่าวว่า :

سباب المسلم فسوق وقتاله كفر

 “การด่าทอมุสลิมนับเป็นการละเมิด และการรบราฆ่าฟันกันนับเป็นการปฏิเสธศรัทธา”
(บันทึกโดยอิมาม อัลบุคอรีย์ อิมามมุสลิม อัตติรมิซีย์ และอันนะซาอีย์)

โทษของผู้ที่สาปแช่ง

          การสาปแช่ง(ละอฺนัต) คือการขับไล่ให้ห่างจากความเมตตา(เราะห์มะห์) ของอัลเลาะห์ สาปแช่งเขามิให้เข้าสวรรค์

จากรายงานที่บันทึกโดยท่านอิมามอัตติรมิซีย์ ท่านรอซูล กล่าวว่า :

“ไม่ใช่ผู้ศรัทธา(มุอฺมิน) ผู้ซึ่งด่าทอ ใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น ผู้ที่สาปแช่งมาก ผู้ที่หยาบคาย ผู้ที่ลามก”

ท่านซะละมะห์ บิน อัลอักวะห์ กล่าวว่า :
         
           “พวกเรา(บรรดาเศาะฮาบะห์) เมื่อเราเห็นผู้ใดสาปแช่งพี่น้องมุสลิมด้วยกัน เราจะเห็นว่าเขาได้ทำบาปใหญ่แล้ว”
(บันทึกโดยอัฎฎอบรอนีย์ ด้วยสายสืบที่ดี)

ท่านอบี อัดดัรดาอ์ กล่าวว่า : ท่านรอซูล กล่าวว่า :

           “แท้จริงบ่าวคนหนึ่ง เมื่อใดที่เขาสาปแช่ง คำสาปแช่งนั้นจะขึ้นสู่ฟากฟ้า ประตูฟากฟ้าทั้งหลายจะถูกปิดไม่ยอมรับคำสาปนแช่งนั้นๆ แล้วคำสาปแช่งก็จะลงมายังพื้นดิน ประตูแห่งผืนแผ่นดินก็จะถูกปิดไม่ยอมรับคำสาปแช่งนั้นๆ แล้วคำสาปแช่งก็จะหันซ้ายและขวา เมื่อไม่พบหนทางไป ก็จะกลับมาหาผู้ที่ถูกสาปแช่งหากเขาผู้นั้นสมควรได้รับคำสาปแช่งนั้นๆ แต่ถ้าเขาไม่สมควรที่จะถูกสาปแช่ง คำสาปนั้นๆก็จะตีกลับไปหาผู้สาปแช่ง"
(บันทึกโดยอิมามอบูดาวูด)

จะสาปแช่งใครได้บ้าง!!

          ท่านอิมาม อันนะวะวีย์ได้กล่าวว่า :  การสาปแช่งมุสลิมนั้นเป็นที่ต้องห้าม(ฮะรอม) โดยมติเอกฉันท์ของบรรดาอุละมาอฺ และมุสลิมทั้งหลาย แต่อนุญาตให้สาปแช่งผู้ที่มีลักษณะเลวร้าย(โดยไม่เจาะจงเป็นรายบุคคล) เช่นการกล่าวว่า ขอให้อัลเลาะห์ สาปแช่งบรรดาผู้อธรรม ผู้ปฏิเสธศรัทธา พวกยิว และพวกคริสต์ บรรดาผู้ละเมิด และบรรดาผู้ปั้นเจว็ด อย่างนี้เป็นต้น

ท่านอิมามอันนะวะวีย์ได้ยกฮะดีษหลายบทที่ซอฮีฮฺ ที่ยืนยันในเรื่องนี้ เช่นฮะดีษที่ว่า :

1. “อัลเลาะห์ทรงสาปแช่งหญิงที่ต่อผม และหญิงที่ขอให้ผู้อื่นต่อผมให้…”
2. “อัลเลาะห์ ทรงสาปแช่งผู้ที่กินดอกเบี้ย และผู้ที่ให้ดอกเบี้ย...”
3. “อัลเลาะห์ ทรงสาปแช่งผู้ที่ลักขโมย...”
4. “อัลเลาะห์ ทรงสาปแช่งผู้ที่เชือดสัตว์เพื่อื่นจากอัลเลาะห์...”
5. “อัลเลาะห์ ทรงสาปแช่งผู้ที่สาปแช่งบิดา มารดาของตน...”
6. “อัลเลาะห์ ทรงสาปแช่งพวกยิว และคริสต์ ที่ยึดเอาหลุมฝังศพ(กุโบ๊ร) ของบรรดานบีของพวกเขาเป็นมัสยิด”
7. “อัลเลาะห์ทรงสาปแช่งผู้ที่เลียนแบบบุรุษจากหมู่สตรี และผู้ที่เลียนแบบสตรีจากหมู่บุรุษ”

          ท่านอิมาม อันนะวะวีย์ กล่าวอีกว่า : ส่วนการเจาะจงสาปแช่งเป็นรายบุคคลแก่ผู้ที่ประพฤติชั่ว เช่น พวกยิว พวกคริสต์ ผู้ทำซินา หรือผู้กินดอกเบี้ย ถ้าดูจากฮะดีษต่างของท่านรอซูล แล้ว ไม่นับว่าเป็นการต้องห้าม(ฮะรอม) แต่ประการใด

           ส่วนท่านอิมาม อัลฆ่อซาลีย์ ได้กล่าวไว้ในหนังือ อัลอิฮฺยาอฺ ของท่านว่า : การเจาะจงสาปแช่งนั้นเป็นที่ต้องห้าม ยกเว้นผู้ที่เราประจักษ์ชัดเจนแล้วว่า เขาได้ตายไปในสภาพที่ปฏิเสธศรัทธา (กาเฟร) เช่น อบูละฮับ อบูญะฮฺลิ (ลุงทั้งสองท่านของท่านรอซูล ที่กลั่นแกล้ง ทำร้ายท่านรอซูล ต่างๆนานา) หรือ ฟาโรห์ ฮามาน เป็นต้น

          ท่านอิมามฆ่อซาลีย์ เสริมอีกว่า : เพราะการสาปแช่งนั้นคือการขับไล่ และการให้ห่างไกลจากความเมตตา(เราะห์มะห์) ของอัลเลาะห์ สาปแช่งเขามิให้เขาสวรรค์ และเราไม่ทราบแน่ชัดว่า จุดจบของผู้ที่ละเมิด หรือผู้ปฏิเสธศรัทธาที่เราสาปแช่งไว้นั้นคืออะไร? การที่ท่านไปสาปแช่งเขาหมายความว่า ท่านขอให้เขาไม่ได้รับความโปรดปราน ความเมตตาจากอัลเลาะห์ตลอดไป และจะทำเช่นนี้ไม่ได้ นอกจากผู้ที่ตายในฐานะปฏิเสธศรัทธาเท่านั้น ดังนั้นการสาปแช่งผู้ที่เราไม่ทราบแน่ชัดว่าเขาตายในสภาพปฏิเสธศรัทธาหรือไม่นั้น เป็นสิ่งกระทำไม่ได้

         ท่านกล่าวอีกว่า : ส่วนบรรดาผู้ที่ท่านรอซูล ได้เจาะจงสาปแช่งไว้นั้น เป็นไปได้ว่าท่านรอซูล ทราบแน่แล้วว่า พวกเขาจะตายในสภาพที่เป็นกาเฟร

          ท่านอิมามอัลฆ่อซาลีย์ยืนยันว่า การเจาะจงสาปแช่งเป็นรายบุคคล เป็นสิ่งต้องห้าม

          ดังฮะดีษที่บันทึกโดยท่านอิมามอัลบุคอรีย์ จากรายงานของท่านอุมัร อิบนุลค็ฎฎอบ (รอฏิยัลลอฮุอันฮุ) ว่า :

         มีชายคนหนึ่งในสมัยท่านนบี มีนามว่า อัลดุลเลาะห์ ชายผู้นี้มักจะถูกเฆี่ยนเสมอ อันเนื่องมาจากการดื่มสุรา และในวันหนึ่งเขาถูกนำมายังท่านรอซูล ในสภาพที่มึนเมา ท่านรอซูลจึงสั่งให้เฆี่ยนเขา จึงมีชายคนหนึ่งเอ่ยขึ้นมาในขณะนั้นว่า :
      
         ข้าแต่อัลเลาะห์โปรดทรงสาปแช่งเขา (ให้พ้นจากความเมตตาของพระองค์) กี่ครั้งแล้วที่เขาถูกนำพามาเพื่อการนี้(ลงโทษ)

ท่านนบีจึงกล่าวว่า :

          “พวกท่านทั้งหลาย อย่าได้สาปแช่งเขาเลย ฉันขอสาบานต่ออัลเลาะห์ ว่า ฉันรู้ดีว่าเขารักอัลเลาะห์ และรอซูลของพระองค์มากเพียงใด”

 

 เผยแพร่โดย : สายสัมพันธ์