เริ่มให้นมแม่อย่างไร ไม่เจ็บหัวนม
  จำนวนคนเข้าชม  7799


เริ่มให้นมแม่อย่างไร ไม่เจ็บหัวนม 
 

 
 
       อาการเจ็บหัวนมเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คุณแม่ส่วนมากล้มเลิกความตั้งใจที่จะให้นมลูก ซึ่งการจะแก้ปัญหาเหล่านั้น อาจต้องเริ่มตั้งแต่การให้ลูกดูดนมครั้งแรกให้ถูกต้อง โดยต้องทำความเข้าใจว่า การเริ่มให้นมนั้น ให้ลูกเป็นฝ่ายแสดงว่าต้องการที่จะหาอะไรเข้าปากก่อน เพราะโดยปกติทารกแรกเกิดจะมีปฏิกริยาตอบสนองต่ออะไรก็ตามที่มาเขี่ยโดนที่มุมปากให้อ้าปากงับอยู่แล้ว และเมื่องับหัวนมเข้าไปแล้วหัวนมก็ไปกระตุ้นเพดาน ให้ลูกใช้ลิ้นดุน ดูดหัวนม และกลืน ดังนั้นคุณแม่อย่าไปคิดว่าลูกจะดูดนมไม่ได้ หรือดูดไม่เป็น
      
     
  ให้นมแม่อย่างไร..ให้ถูกวิธี
      
       แม่ควรเตรียมตัวด้วยโดยฝึกบีบน้ำนมด้วยตนเอง โดยในวันแรก อาจจะออกมาเพียงส่วนของหัวน้ำนม (มีลักษณะใส แต่ทรงคุณค่ามาก เพราะเต็มไปด้วยภูมิต้านทาน ถ้าพลาดนมส่วนนี้ไปลูกจะมีโอกาสที่จะเจ็บป่วยได้บ่อย) ให้คุณแม่ลองบีบส่วนนี้ทิ้งไว้ให้เพื่อเป็นกลิ่นให้ลูกมาดม เมื่อลูกได้กลิ่น มาเลียและมาอมหัวนมเล่น อย่าใจร้อน ค่อย ๆ ดูไป เล่นกับลูกไป เทคนิคง่าย ๆ ที่คุณแม่ทำได้แน่นอน เพียงลองให้ลูกเล่นกับเต้านมและหัวนมแม่ ให้ลูกส่ายหัวไปมา ค้นหาหัวนมแม่ แม่เพียงประคองศรีษะลูกที่ยังมีกล้ามเนื้อคอไม่แข็งแรงให้มาพบกับหัวนม แต่อย่าจับบังคับให้ต้องมางับหัวนม ควรให้เวลาลูกเล่นกับเต้านมและหัวนมสักครู่ ให้ลูกชินกับกลิ่นแม่ อุณหภูมิกายแม่ ความแข็งและนิ่มของเต้านมแม่ เมื่อลูกเริ่มชินกับการอมหัวนม แม่จึงค่อยเริ่มสอนลูกให้อมให้ลึก โดยช่วยประคองศรีษะลูกเอาไว้
      
       ก้าวผ่าน อุปสรรค เพื่อลูกน้อยที่แม่รัก
      
       คุณแม่ที่เพิ่งมีลูกครั้งแรกอาจยังไม่มีประสบการณ์ของการถูกดูดที่หัวนม เมื่อลูกเริ่มดูดจะรู้สึกเจ็บ ๆ จี้ ๆ คัน ๆ แต่เมื่อลูกดูดไปแล้วยังไม่มีน้ำนมไหลออกมาเลย ลูกจะดูดถี่ และแรงขึ้นๆ จนบางครั้ง จะรู้สึกเจ็บหัวนมขึ้นมาได้ ซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยแม่ช่วยบีบให้น้ำนมไหลเข้าปากเด็กสักเล็กน้อย แต่ถ้าบีบเท่าไรมันก็ยังไม่ออก ก็อาจขอน้ำนมจากคุณพยาบาลมาสักถ้วยเล็กๆ แล้วใช้หลอดหยดเข้าปากลูก พร้อมกับประคองจัดท่าลูกให้อมหัวนมให้ลึก ๆ จะทำให้ปากลูกอ้ากว้างขึ้น เมื่อลูกได้รับน้ำนมเข้าปาก ลูกจะมีปฏิกริยาโดยสัญชาตญาณลดความรุนแรงในการดูดลงมาเป็นการดูดอย่างปกติ รวมทั้งการที่ลูกได้อมหัวนมได้มิด สนิท แน่น แก้มลูกเด็กแนบเต้านมแม่ เกิดสุญญากาศในปากของลูก ทำให้ลูกไม่ต้องออกแรงดูดมาก นั่นจะช่วยบรรเทาความเจ็บแม่ไปได้มากเช่นกัน
 

 


 ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก ศูนย์นมแห่งประเทศไทย